คอลัมนิสต์

หาเสียงกับกลุ่มLGBTกฎหมายมี-ศักดิ์ศรีมา!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หาเสียงกับกลุ่ม LGBTกฎหมายมี ศักดิ์ศรีมา!คิดบวก สไตล์ "แดนนี่ เดอะบีช" : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน 

 

          ลองมา “คิดบวก” กันว่า คงไม่ใช่แค่เพราะวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ตรงกับวัน “วันสากลยุติการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ” หรือ IDAHOT    ที่ทำให้บรรดานักเลือกตั้งพากันหยิบยกเรื่องการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่ม LGBT ขึ้นมาพูดถึงอย่างน้ำลายแตกฟอง

          จนถึงขนาดที่ประชาชนชาวเฟซบุ๊ก “gthai movie เกย์เว้ยเฮ้ย” ยังตื่นเต้น แตกตื่นกันว่า “คุณพระ! ทำไมอยู่ๆ พวกเราถึงเนื้อหอมในหมู่นักการเมืองได้ล่ะเนี่ย"

          แต่ปรากฏว่าในการแสดงความคิดเห็นส่วนมากกลับออกมาในแนว “ไม่เชื่อ ไม่หวัง และไม่มีทางเป็นไปได้!!” แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้น!!

          สอบถามไปยัง “แดนนี่” กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ผู้ที่ด้านหนึ่งเขาเป็นเจ้าของอาณาจักรสีรุ้งมากมายภายใต้แบรนด์ “เดอะบีช กรุ๊ป” ที่น้อยคนจะไม่รู้จัก “แดนนี่ เดอะบีช” คนนี้

 

          และอีกด้านหนึ่งเรื่องการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมของชาว LGBT เขาคร่ำหวอดมากว่า 20 ปี จึงสามารถบอกเล่าพัฒนาการของกลุ่มหลากหลายทางเพศในเมืองไทย” ได้อย่างเห็นภาพเป็น 3 กล่อง

          กล่องแรก หรือช่วงราว 30 ปีก่อน ที่คนไทยมองกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นคนผิดธรรมชาติ เป็นตัวประหลาด ซึ่งหลายคนก็พยายามต่อสู้ว่าพวกเขาไม่ได้ผิดปกติ ไม่ได้เจ็บป่วยทางจิต

 

หาเสียงกับกลุ่มLGBTกฎหมายมี-ศักดิ์ศรีมา!

 

          กล่องที่ 2 จนในที่สุดชาวโลกมีการรับรองคนกลุ่มนี้ขึ้นมาด้วยหลักการทางสิทธิมนุษยชนต่างๆ นานา จนคนไทยก็เริ่มทยอยยอมรับตามมาเรื่อยๆ

          กล่องที่ 3 แต่เมื่อยอมรับแล้ว เข้าใจแล้ว (และยังมีการพูดถึงชาว LGBT ในบริบทของการตลาด การโฆษณา เป็นที่กว้างขวาง) แต่ในทางกฎหมายที่จะออกมาเพื่อรองรับตัวตนของพวกเขา บ้านเรากลับยังไม่มี


          ยิ่งกับกลุ่มนักการเมือง ที่แม้ช่วงหลายปีมานี้จะเริ่มมีการหาเสียง โดยพูดถึงการผลักดันกฎหมายเพื่อชาวสีรุ้งมากขึ้น แต่ก็เป็นลักษณะของ “ประปราย” ไม่เห็นผลจริงสักครั้ง!

          แต่มาวันนี้ “แดนนี่” กิตตินันท์ กลับมองว่านักการเมืองกำลังจะเอาจริงในการผลักดันทางกฎหมายสำหรับชาวสีรุ้งแล้ว เพราะองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ข้อ

          1.เรากำลังมาถึงยุคที่ปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศก็คือเรื่องเดียวกับ “สิทธิมนุษยชน” ที่ทุกคนย่อมเห็นดีเห็นงามด้วยทั้งสิ้น ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ!

          ทั้งนี้ LGBT L ย่อมาจากกลุ่มหญิงรักหญิง (Lesbian) G คือ ชายรักชาย (Gay) B คือกลุ่มผู้รักคนทั้งสองเพศ (Bisexual) และ T คืิอกลุ่มผู้ข้ามเพศ (Transgender) โดยปัจจุบันยังมี Q เพิ่มเข้ามา คือ Queer เพื่ออธิบายถึงกลุ่มเพศทางเลือกโดยมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่จำกัดแค่ชายรักหญิง หรือหญิงรักชาย

          2.เมื่อรัฐบาล คณะรักษาความสงบแหงชาติ (คสช.) ประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นักการเมืองไทยจึงเริ่มมีการตื่นตัวและมองมายังกลุ่ม LGBT ที่จะนำมาใช้ในการวางแผนหาเสียง เพราะต้องยอมรับว่าพื้นฐานคะแนนเสียงของชาวสีรุ้งก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

 

หาเสียงกับกลุ่มLGBTกฎหมายมี-ศักดิ์ศรีมา!

 

          ข้อมูลช่วงปี 2560 ของ LGBT-Captial.com ระบุว่า LGBT มีอยู่ในภูมิภาคเอเชียสูงถึงราว 270 ล้านคน หรือเท่ากับ 60% ของชาว LGBT ทั้งหมด โดยจีนเป็นประเทศที่มีชาว LGBT สูงสุดถึง 85 ล้านคน ตามด้วยอินเดีย 80 ล้านคน ญี่ปุ่น 8 ล้านคน และประเทศไทยที่มีสูงถึง 4 ล้านคน ซึ่งเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย

          ที่สำคัญคือ 3. เพราะมันถึงเวลาแล้ว!

          “เป็นไทม์มิ่งที่พอเหมาะพอดี ถ้าจะเปรียบเทียบตอนนี้เป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อเหตุการณ์  เหมือนน้ำกำลังเดือดอยู่บนเตา โยนหมูลงไปมันก็สุก จากเมื่อก่อนที่เหมือนน้ำตั้งอยู่บนเตา แต่ยังแค่อุ่นๆ เอาอะไรโยนลงไปมันก็ยังดิบ ก็ไม่รู้พรรคไหนเริ่มก่อนเริ่มหลัง แต่แนวมาแล้ว และน่าจะกลายเป็นแนวนโยบายของแทบจะทุกพรรคไปเลยก็ได้”

          แถมไปๆ มาๆ ครั้งนี้ การผลักดันกฎหมายในส่วนของนักการเมืองน่าเป็นการเข้าไปถึงรอบลึกมากกว่าที่จะเททิ้งไว้กลางทางเหมือนที่แล้วมาก็ได้

          สำหรับประเด็นเรื่องกฎหมาย นายกสมาคมฟ้าสีรุ้ง ระบุว่า จริงอยู่ที่ทุกวันนี้สังคมจะยอมรับการมีตัวตนและการใช้ชีวิตคู่ของกลุ่มชาวสีรุ้งพอสมควร จนหลายคนมองว่าเมืองไทยคือแดนสวรรค์สำหรับคนกลุ่มนี้ แต่ในความเป็นจริงทางกฎหมายกลับไม่เป็นเช่นนั้น!

          โดยเฉพาะการแต่งงานร่วมชีวิตที่มีความสำคัญมากเพราะถือเป็นอีกเรื่องที่ตามหลักสิทธิมนุษยชน พวกเขาควรได้รับการยอมรับอย่างมีศักดิ์ศรี

          แต่...ถ้าจะให้ที่อยู่ที่ยืนของชาวสีรุ้งเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ แดนนี่ชี้ว่า บ้านเราต้องมีกฎหมายหลักๆ 2 บริบทขึ้นมาให้ได้ คือ

          1.ร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ.…ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 ข่าวล่าสุดแจ้งว่ากำลังเร่งให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ หากแต่ดูบรรยากาศแล้วก็ยังมีข้อท้วงติงที่ยังต้องรอดูกันต่อไปว่าจะลงเอยแบบไหน

          2.การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 เรื่องกฎหมายคู่สมรส ข้อนี้นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งเน้นย้ำว่าเป็นบริบทที่นักการเมืองพยายามนำมาใช้หาเสียงขณะนี้ เพราะมีความสำคัญมากในแง่ของการให้ศักดิ์ศรีทางกฎหมาย สิทธิต่างๆ เทียบเท่าชายหญิงแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์! จากที่ผ่านมาหลายคู่มักถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งที่เป็น “พลเมืองของรัฐ” เหมือนกัน!

          เช่น เรื่องของสิทธิในการตัดสินใจรักษาพยาบาลและจัดการศพ, การรับบุตรบุญธรรมร่วมกันและการอุ้มบุญ, สิทธิการให้และรับมรดกแม้จะเป็นสิ่งที่หามาร่วมกัน, สิทธิในการทำนิติกรรมร่วมกัน ฯลฯ

          ต้นเหตุสำคัญก็คือคำว่า “ชายและหญิง” แทนที่จะเปลี่ยนไปใช้คำว่า “บุคคล” นั่นเอง เพราะเนื้อหาในหมวด 2 “เงื่อนไขแห่งการสมรส” มาตรา 1448 มีว่า

 

หาเสียงกับกลุ่มLGBTกฎหมายมี-ศักดิ์ศรีมา!

 

          “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อ “ชายและหญิง” มีอายุสิบเจ็ดปี บริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้”

          อย่างไรก็ดี แดนนี่กลับมองว่าการแก้ไขเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยากเพราะในเจตคติของสังคมไทยยังผูกติดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสองขั้วชายหญิงเท่านั้น

          ดังนั้นเมื่อกลับมาที่การฝากความหวังไว้ที่นักการเมืองที่จะเข้ามาในอนาคต ถามว่ามีแววไหม แดนนี่จึงชี้ชวนให้มองกันว่า หากจะเดินหน้าอย่างจริงจังก็น่าจะทำได้ ยกตัวอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันมีคำสั่งให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งไต้หวันภายในปี 2562 เพื่อให้กลุ่มหลากหลายทางเพศได้รับความเสมอภาคในการสมรส ซึ่งหากสำเร็จจะถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่จะได้ใช้กฎหมายนี้

          แต่ท้ายที่สุดแล้วฟังน้ำเสียงแห่งความหวังก็ยังมีความทำใจยอมรับความผิดหวังไว้เล็กๆ เมื่อนายกสมาคมฟ้าสีรุ้งกล่าวว่า

          "หากถึงจุดหนึ่งเมื่อนักการเมืองได้นำพาเรื่องนี้ไปถึงขั้นไปต่อสู้ร่วมกับเราในการร่างพ.ร.บ.แล้ว แต่พอถึงเวลามันตกไปก็ต้องยอมรับว่าในทางการเมืองอาจไม่ได้บริหารโดยพรรคเดียวก็ได้ หรือผู้ที่กำหนดนโยบายกฎหมายต่างๆ อาจจะมีที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย"

          “เหมือนประเทศฝรั่งเศสที่เขาโหวตกันแล้วได้ 300 กว่าเสียง ผ่านออกมาเป็นกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันสังคมก็ยังมีที่ไม่ยอมรับพวกอนุรักษนิยมก็เผาบ้านเผาเมือง ไปผูกคอคนตายในโบสถ์ก็มี แต่นั่นมันผ่านแล้วนะ”

          “ก็ถือว่าคุณได้ต่อสู้ร่วมกันกับเราแล้ว ได้ทำตามสัญญาแล้ว ตรงนี้ผมขอใช้คำว่า Pass In Love คือผ่านด้วยความรัก ไม่ผ่านด้วยกฎหมายก็ไม่เป็นไร เพราะผมเป็นคนมองบวก อะไรที่เกิดสิ่งนั้นก็ดีแล้ว"

          เว้นแต่ถ้าบางคนจะมองว่าสุดท้ายก็็ Nothing เหมือนเดิมคือไม่ทำอะไรเลย!

          “อันนี้ถึงจะเรียกว่า “เท” ของจริง คือลืมไปเลยจากการหาเสียงที่ได้สัญญามหาชนไว้ ซึ่งก็อาจจะเป็นพฤติกรรมหรือเนเจอร์เดิมๆ ของพรรคการเมืองก็ได้ ก็ต้องรอไปลุ้นเอา”

          แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่างน้อยที่สุดขอให้มีกฎหมายสำเร็จออกมาสักเรื่องก็ยังดีโดยเฉพาะมีความเป็นไปได้ที่เราจะได้เห็นร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ....ในไม่ช้า

 

หาเสียงกับกลุ่มLGBTกฎหมายมี-ศักดิ์ศรีมา!          

          "เพราะถ้าไม่ได้เลยก็จะเป็นปัญหาของประเทศต่อสายตาชาวโลกในเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่เราจะมามัวมองเรื่องปัญหาสวัสดิการ มรดก อะไรต่างๆ อยู่ไมได้แล้ว ผมถึงเคยพูดติดตลกบ่อยๆ ว่า ถ้าจะรอให้ประเทศไทยมีเรื่องสิทธิมนุษยชนเต็มใบเราก็อาจจะเป็นประเทศสุดท้ายในโลกที่ผ่านกฎหมายเรื่องการแต่งงานเพศเดียวกัน”

          แต่อะไรก็แล้วแต่ในเมื่อถ้านักการเมืองผู้คนนำเรื่องนี้มาพูดแล้วก็ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เป็นการพัฒนาการทางความคิดซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ก็ตามในวันนี้ แต่เรารู้ว่าในที่สุด..มันต้องมีสักวัน...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ