คอลัมนิสต์

อาชีวะ-เอกชนจับคู่ธุรกิจนำ"สิ่งประดิษฐ์"ใช้จริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาชีวะ-เอกชนจับคู่ธุรกิจนำ"สิ่งประดิษฐ์"ใช้จริง : คอลัมนฺ์... เจาะประเด็นร้อน

 

          โครงการนี้ช่วยการันตีศักยภาพของเด็กอาชีวะได้ว่าจากสิ่งที่เคยเป็นเพียงงานวิจัยแต่วันนี้ผลงานจำหน่ายได้จริงสร้างรายได้" พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ 

          รัฐบาลประกาศนโยบายเดินหน้า “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ ‘เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม’ (Value–Based Economy) เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ต้องเปลี่ยนจากที่แต่ก่อนลงมือทำมากแต่ได้ผลตอบแทนน้อย มาเป็นลงมือทำน้อยๆ แต่ได้ผลตอบแทนมหาศาล โดยการเอาความคิดสร้างสรรค์เป็นแรงผลักดัน และนำนวัตกรรมเข้ามาช่วย และเมื่อบริบทของเศรษฐกิจเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าไปสู่การบริการมากขึ้น ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเติบโตท่ามกลางบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

          กว่า 29 ปีที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดการแข่งขันและประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาในสังกัดได้แสดงถึงศักยภาพในการผลิตและสร้างสรรค์นวัตกรรม ซึ่งหลายชิ้นงานสามารถต่อยอดสู่การใช้งานได้จริงในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้ เป็นอีกหนึ่งพลังที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
 
          เหตุนี้ “บิ๊กน้อย” หรือ “พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์” รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ให้กำกับดูแล สอศ.จึงได้ริเริ่มให้เกิด “โครงการขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม" 
  
          พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า จากนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมภายใต้โมเดล ‘ประเทศไทย 4.0’  เพื่อสร้างความเข้มแข็งจากภายใน คือ การยกระดับนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ ชุมชน และเครือข่ายในทุกภาคส่วนของประเทศ เพราะเมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศเข้มแข็งแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป คือ การเชื่อมโยงกับภายนอก ทั้งในรูปแบบภูมิภาค เช่น กลุ่มประเทศอาเซียน และการเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก  

            อาชีวะผลิตสิ่งประดิษฐ 7 พันชิ้นต่อปี
          ขณะที่แต่ละปีพบว่ามีผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สอศ. กว่า 910 แห่ง สร้างสรรค์ขึ้นใน 11 ประเภท จำนวนกว่า 7,000 ผลงาน ประกอบด้วย ประเภทที่ 1 ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ ประเภทที่ 3 สิ่งประดิษฐ์ประเภทผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ประเภทที่ 4 สิ่งประดิษฐ์ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ประเภทที่ 5 ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 
 
          ประเภทที่ 6 ด้านการแพทย์และชีวอนามัย ประเภทที่ 7 สิ่งประดิษฐ์ด้านอาหาร สิ่งประดิษฐ์ ประเภทที่ 8 สิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีการเกษตร ประเภทที่ 9 สิ่งประดิษฐ์ด้านหัตถศิลป์ ประเภทที่ 10 ด้านซอฟต์แวร์และระบบสมองกลฝังตัว รวมไปถึงสิ่งประดิษฐ์ด้านหุ่นยนต์ประเภทต่างๆ และประเภทที่ 11 ฟาร์มอัจฉริยะ และยานพาหนะไฟฟ้า
   
          ต่อมาการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษา ได้รับการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมาต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาเพื่อให้สถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนหลากหลายสาขาวิชาที่ต่างกัน สามารถส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมการประกวด และโจทย์ในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมทั้ง 11 ประเภทนั้น มีความสอดคล้องกับ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve ในการขับเคลื่อนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ด้วย  ได้แก่ 
  
          1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness & Bio-Med) 3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกล ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics) 4.กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, Internet of Things, Artificial Intelligence & Embedded Technology) และ 5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services) 

          วาง 4 แนวทางเจรจาจับคู่ธุรกิจ
          พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวต่อไปว่า เช่นนี้ในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลจึงมอบหมายให้สอศ.เดินหน้า “โครงการขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม” โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงาน คือ ให้มีการประชุมสถานศึกษาสังกัด สอศ.ภายในภูมิภาคเพื่อคัดเลือกและจัดเตรียมผลงานที่มีศักยภาพเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ประสานงานเชิญผู้ประกอบการในพื้นที่ที่สนใจให้ความร่วมมือนำผลงานไปใช้ในกิจการภาคอุตสาหกรรมและพาณิชกรรม ภายใต้ แนวทางความร่วมมือ 4 มิติ ดังนี้ 1.เจรจาซื้อสิ่งประดิษฐ์ หรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ 2.ให้แนะนำเพิ่มเติมจากสิ่งประดิษฐ์เดิมแล้วจะซื้อสิ่งประดิษฐ์หรือต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ 3.ให้โจทย์นักศึกษาอาชีวศึกษาในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อที่จะซื้อต่อไป และ 4.ให้คำแนะนำหรือช่วยเป็นที่ปรึกษาในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์ทั้งปัจจุบันและอนาคต เพื่อไปดำเนินการทางธุรกิจต่อไป ที่สำคัญต้องมีการ ติดตามผลการจับคู่ธุรกิจที่เกิดขึ้นในการจัดงานและประสานงานให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการพัฒนา ต่อยอดผลงานและการจำหน่ายผลงานจริงตามที่ได้ตกลงจับคู่หรือเสนอแนะหัวข้อการวิจัยและพัฒนาผลงานไว้ด้วย 
   
          เวลานี้ได้เริ่มจัดกิจกรรมโครงการขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมไปแล้ว 2 ครั้ง ประเดิมครั้งแรกในภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 7–9 เมษายน 2561 โดยวิทยาลัยในพื้นที่และใกล้เคียง 45 แห่ง นำ 89 ผลงานได้จัดนิทรรศการและมี 45 สถานประกอบการเข้าร่วม มีผลงานที่มีการจับคู่/ชื้อขาย/ได้รับการสนับสนุน 24 ผลงาน และอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงความร่วมมือ 24 แห่ง

          ส่วนครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 4–7 พฤษภาคม มีสถานศึกษาเข้าร่วมจัดแสดงผลงานทั้งสิ้น 100 แห่ง จำนวน 298 ผลงาน และมีสถานประกอบการ 98 แห่งเข้าร่วม โดยมีผลงานที่มีการจับคู่/ชื้อขาย/ได้รับการสนับสนุน 98 ผลงาน อยู่ระหว่างการเจรจาตกลงความร่วมมือ 11 แห่ง
   
          “ผลการจัดกิจกรรมทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีสถานประกอบการในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วม และส่วนใหญ่เป็นการเสนอความร่วมมือ แสดงความต้องการสิ่งประดิษฐ์เฉพาะด้านที่สามารถตอบโจทย์ในการดำเนินธุรกิจประเภทนั้นๆ เพื่อให้สถานศึกษาดำเนินการวิจัยและจัดสร้างให้ เช่น เครื่องตัดสับหญ้า อุปกรณ์ด้านการเกษตรและสถานบริการยานยนต์ เป็นต้น ที่สำคัญโครงการนี้ช่วยการันตีศักยภาพของเด็กอาชีวะได้ว่าจากสิ่งที่เคยเป็นเพียงงานวิจัย แต่วันนี้ผลงานสามารถจำหน่ายได้จริง สามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น และยังเกิดการจับคู่ธุรกิจสมดังเจตนารมณ์ของการผลักดันสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม เกิดการต่อยอดเชิงพาณิชย์ นำมาสู่การสร้างรายได้” พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าว
    
          เตรียมจัดโรดโชว์อีก 3 ภูมิภาค 
          การขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้แต่จะขยายผลในวงกว้าง พล.อ.สุรเชษฐ์ อธิบายว่า ตามแผนการดำเนินงานจะจัดโครงการขับเคลื่อนนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมไปสู่ภูมิภาคต่างๆ โดยในวันสุดท้ายของการจัดงานแต่ละภูมิภาคจะมีการลงนามความร่วมมือและการแสดงความจำนงจับคู่ธุรกิจด้วย ซึ่งภาคกลางจะจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมอาชีวศึกษา วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จ.ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 13–15 มิถุนายน คาดว่าจะมีการจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 25 คู่ 
   
          จากนั้นจะจัดที่ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 14–16 กรกฎาคม ณ วิทยาลัยเทคนิคลำพูน คาดว่าจะมีการจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 20 คู่ และสุดท้าย ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม ณ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี คาดมีการจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 25 คู่ อย่างไรก็ตาม การจัดงานแต่ละภูมิภาคจะมีสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษามาจัดแสดงไม่น้อยกว่า 200 ผลงาน
     
          เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยดึงพลังความสามารถของเด็กอาชีวะได้ปรากฏสู่สายตาของผู้ประกอบการ สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมหลายชิ้นกำลังจะถูกดึงลงจากหิ้งเข้าลู่ทางของภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยมีผู้ประกอบการเข้ามาร่วมเลือกซื้อและให้คำแนะนำก็จะทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมได้เองภายในประเทศ ลดการนำเข้า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการขับเคลื่อน “ประเทศไทย 4.0” คือ การก้าวไปสู่การเป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” ด้วยนวัตกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ ซึ่งหากประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปได้จริงจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางและสามารถลดการพึ่งพาต่างชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ เป็นการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
 

 

อาชีวะ-เอกชนจับคู่ธุรกิจนำ"สิ่งประดิษฐ์"ใช้จริง

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ