คอลัมนิสต์

ตลาดหนังเมืองคานส์โอกาส-รายได้หนัง(คน)ไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตลาดหนังเมืองคานส์โอกาส-รายได้หนัง(คน)ไทย : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย... เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ  [email protected] 

 

          ภาพยนตร์ไทย (หนังไทย) เป็นที่รู้จักในแวดวงภาพยนตร์นานาชาติมากขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา หนังไทยหลายเรื่องถูกนำไปฉายบนจอเงินในต่างประเทศ หลายเรื่องจับมือร่วมทุนสร้างยังมีการเจรจาซื้อขายภาพยนตร์ไทยที่ถ่ายทำเสร็จแล้วไปฉายในต่างประเทศ มีงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติต่างๆ เป็นตลาดกลางในการพบปะ ว่ากันว่าปีที่ผ่านมา (2560) รายได้การซื้อขายเข้าสู่ประเทศไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท และตามแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2560-2564 ตั้งเป้าสู่ “ศูนย์กลางการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งเอเชีย”

 

ตลาดหนังเมืองคานส์โอกาส-รายได้หนัง(คน)ไทย

 

          เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ หรือ Festival de Cannes ครั้งที่ 71 สาธารณรัฐฝรั่งเศส จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แม้การเดิน “พรมแดง” ของเหล่าดารานักแสดง ผู้กำกับชื่อดังจะเป็นสีสันที่ถูกจับตามองและพูดถึง และเป็นตลาดหนังขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่คนในแวดวงภาพยนตร์ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังจากทุกมุมโลกไม่พลาดโดยตบเท้าเข้าร่วมมากกว่าแสนคนต่อปี เป็นตลาดหนังที่ครบวงจร ทั้งการฉายภาพยนตร์ต่างชาติที่บางเรื่องถูกคัดเลือกเปิดตัวที่นี่ครั้งแรก การพบปะนักลงทุนต่างชาติและเจรจาซื้อขายหนัง

          ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นปีที่ 14 ในนาม “ทีมไทยแลนด์” บูรณาการความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กท.) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) โดยจัดตั้ง “คูหาประเทศไทย (Thailand Pavilion)” ที่รองนายกรัฐมนตรี “วิษณุ เครืองาม” ในฐานะประธานกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ผู้นำคณะเปิดตัวต่อผู้ประกอบการ นักลงทุนต่างชาติ ตอกย้ำนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย เพื่อนำเสนอความเป็นไทย สถานที่ต่างๆ ที่สวยงามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมาเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำหนัง โดยมีมาตรการจูงใจคืนเงินให้ 15-20% ในการใช้เงินไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

ตลาดหนังเมืองคานส์โอกาส-รายได้หนัง(คน)ไทย

 

          ขณะเดียวกันตลาดหนังแห่งนี้ยังเป็นอีกเวทีแห่งโอกาสในการนำเสนอหนังไทยสู่ตลาดโลก คนทำหนังและผู้ประกอบการที่จะได้พบปะนักลงทุนชาติต่างๆ ซึ่งปีนี้ วธ.เดินหน้า โครงการสร้างภาพยนตร์เพื่อการร่วมลงทุนประจำปี 2561 (Thai Film Pitching at Cannes 2018) ได้คัดเลือกภาพยนตร์ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.เรื่อง “หิ่งห้อย” (The Fireflies) 2.เรื่อง “ดิน ฟ้า มหาสมุทร” (Solids by the Seashore) และ 3.เรื่อง “สวรรค์ในอก” (Down to Heaven) มานำเสนอผลงานตนเองให้แก่กลุ่มผู้ร่วมทุนกว่า 50 บริษัทที่คูหาประเทศไทยในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
   
          ต้องปอง จันทรางกูร และทักษกร ประดับพงษา ทีมผู้สร้างหิ่งห้อย บอกว่า การได้มาพิชชิงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับคนทำหนัง ได้นำเสนอผลงาน ความคิดต่อนักลงทุน หนังของพวกเขาเล่าถึงเรื่องราวนักควงกระบองไฟจากเกาะพะงันที่ได้ไปทำงานในบาร์เซโลนา ประเทศสเปน สะท้อนชีวิตคนไทยพลัดถิ่นไปอยู่ต่างแดนเพียงลำพัง ด้วยความหวังมีชีวิตที่ดีกว่าและวันหนึ่งก็ถูกกลืนหายไปกับสังคมวัฒนธรรมใหม่จนหลงลืมรากบรรพชน ลืมครอบครัวตนเอง หนังจะสอดแทรกให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของครอบครัว
    
          โดยจากการพูดคุยแนวโน้มเป็นไปด้วยดี นักลงทุนชาวยุโรปหลายคนให้ความสนใจและขอให้ส่งบทไปให้ดูอีกครั้ง ทั้งนี้ขณะนี้พวกเรามีการตกลงร่วมมือกับโปรดิวเซอร์ของสเปนในการหาผู้ร่วมทุน หากการเจรจาที่นี่สำเร็จหนังเรื่องนี้ก็จะเป็นการร่วมทุนสร้างของ 3 ประเทศ และตามแผนจะเริ่มถ่ายทำในต้นปี 2562 ทั้งที่สเปนและไทย

 

ตลาดหนังเมืองคานส์โอกาส-รายได้หนัง(คน)ไทย

 

          ขณะที่ ปฏิภาณ บุญฑริก และชาติชาย ไชยยนตร์ ทีมผู้สร้าง “ดิน ฟ้า มหาสมุทร” กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีตัวศิลปินได้ทบทวนงานตนเองว่าแนวคิดแข็งแรงพอไหม ได้รู้แนวคิดของนักลงทุนเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวศิลปินในการคิดและสร้างหนังมากที่สุด ซึ่งหนังของพวกเขาจะเน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรม ค่านิยมของศาสนาอิสลามในภาคใต้ สอดแทรกเรื่องการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ของชายหาด ขยายผลไปสู่การอนุรักษ์ระบบนิเวศของประเทศ โดยเรื่องราวจะไม่มีบทสรุปแต่จะเป็นการตั้งคำถามให้ผู้ชมได้คิดและหาคำตอบเอง

          ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ และดรสะรณ โกวิทวณิชชา ทีมผู้สร้าง “สวรรค์ในอก” กล่าวว่า แนวคิดของเรื่องนี้สะท้อนความจริงสังคมไทยเรื่องความหลากหลายทางเพศเเละคนไร้สัญชาติเเม้จะมีการยอมรับเเต่ยังขาดความเข้าใจ หนังจึงมุ่งเล่าเรื่องผ่านตัวตน ความฝันเเละความเชื่อเพื่อย้ำเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการตั้งคำถามผ่านหนัง ซึ่งจากที่พูดคุยก็ได้รับความสนใจเพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิพื้นฐานและเป็นเรื่องที่ต่างชาติให้ความสำคัญ และตามแผนจะเริ่มถ่ายทำในปี 2562

          หนังของ 3 ทีมผู้สร้างไม่ใช่กลุ่มแรกที่มีโอกาสมาพบปะนักลงทุนต่างชาติ ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วย รมว.วัฒนธรรม อธิบายว่า วธ.ทำโครงการนี้มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ภาพยนตร์ มุ่งส่งเสริมการร่วมมือลงทุนกับต่างประเทศ และไม่ได้มาแค่เพียงเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เท่านั้น แต่ยังไปงานเทศกาลที่ประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ด้วย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม ก็ให้ความสำคัญ โดยมุ่งเปิดโอกาสให้ผู้กำกับหนังไทยได้แสดงผลงานให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกและส่งเสริมคนทำหนังให้เกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงาน หนังทุกเรื่องที่ผ่านคัดเลือกทีมผู้สร้างล้วนมีประสบการณ์ มีผลงานเป็นที่รู้จักได้รับการยอมรับ

 

ตลาดหนังเมืองคานส์โอกาส-รายได้หนัง(คน)ไทย

 

          “การเจรจาร่วมทุนไม่ได้สำเร็จได้เพียงครั้งเดียว หลายครั้งก็มีการพบปะพูดคุยกันต่อภายหลังแต่ก็เป็นจุดเริ่มที่ทำให้สร้างสัมพันธ์ต่อเนื่อง ปัจจุบันมีภาพยนตร์กว่า 20 เรื่องได้รับการสนับสนุนจากโครงการนี้ เเละทุกเรื่องที่สร้างเสร็จได้รับเชิญไปจัดฉายในเทศกาลหนังระดับโลก” ฉวีรัตน์ กล่าว

          สำหรับบรรยากาศภายในตลาดภาพยนตร์ หรือมาเช่ดูฟิล์ม ที่มีการเจรจาซื้อขายธุรกิจด้านภาพยนตร์ในระดับนานาชาติปีนี้ มีผู้ประกอบการไทย 10 ค่ายดังเข้าร่วม เช่น บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า, บริษัท เบนีโทน ฟิล์ม จำกัด ฯลฯ ส่วนใหญ่มองปีนี้คึกคักกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นเทศกาลที่ใหญ่กลุ่มลูกค้าจึงกว้างมากกว่าเทศกาลหนังที่จัดขึ้นในที่อื่นๆ โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป ละตินอเมริกัน เเละชาวเอเชีย ชื่นชอบหนังบู๊แอ็กชั่น หรือแนวสยองขวัญ ได้รับความนิยมมากที่สุด อย่างไรก็ตามเทศกาลหนังเมืองคานส์ไม่เพียงโอกาสขยายพื้นที่ตลาดหนังไทยเท่านั้น ยังเป็นการเผยเเพร่ศิลปวัฒนธรรม ความสวยงามของประเทศไทยสู่สายตานานาประเทศทั่วโลกอีกด้วย

 

ตลาดหนังเมืองคานส์โอกาส-รายได้หนัง(คน)ไทย

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ