คอลัมนิสต์

เช็ก "โรดแม็พฯ" หลังกฎหมาย ส.ว. ผ่านศาล รธน. ฉลุย ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สำรวจ "โรดแม็พเลือกตั้ง" หลังกฎหมาย ส.ว. ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ... มีจุดสะดุด ต้องจับตาตรงไหนอีก??

 

                ผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญไปเรียบร้อยแล้วสำหรับร่างกฎหมาย ส.ว. หรือชื่อเต็มๆ ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเดินหน้าตามโรดแม็พไปสู่การเลือกตั้งจะไม่สะดุดแล้ว

                ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์เห็นว่าร่างกฎหมายส.ว.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญหลังจากนี้ร่างกฎหมายส.ว. ก็จะเข้าสู่กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้ต่อไป

                สำหรับประเด็นของกฎหมาย ส.ว.ที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งมีคำวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญอยู่ในบทเฉพาะกาลที่กำหนดเกี่ยวกับ “การได้มาของส.ว.ชุดแรก” ในส่วน 50 คนที่ให้มาจากกระบวนการเลือกตามสูตรที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดไว้

                จากเดิม กรธ.กำหนดให้มาจากการเลือกกันเองของ 20 กลุ่มอาชีพ โดยแต่ละคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสามารถสมัครได้โดยอิสระด้วยตัวเอง ได้มีการแก้ไขลดลงเหลือ 10 กลุ่มอาชีพ และเพิ่มช่องทางการเข้ามาอีก 1 ทาง คือ ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรนิติบุคคล

                ถ้าถามเหตุผลลึกๆ ว่าทำไม สนช.ต้องแก้ไขที่มาในส่วนของ 50 ส.ว.ชุดแรก ก็ต้องบอกว่าเพราะไม่มั่นใจ “ที่มา” ตามแบบของกรธ. ว่าจะสนับสนุน “การปฏิรูปประเทศ” ตามแบบของฝ่ายคสช.ได้ จึงต้องปฏิบัติการ “ล็อกซ้อนล็อก” กันอีกครั้ง

                ทั้งนี้ในบททั่วไปของรัฐธรรมนูญให้ส.ว.มี 200 คนมาจากกระบวนการเลือกกันเองตามสูตรที่ กรธ.ชุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” กำหนด

                แต่ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้มี ส.ว.ชุดแรก 250 คน มีที่มา 2 ทางคือ คสช.เลือก 200 คน และอีก 50 คนมาตามสูตรของ กรธ. ซึ่ง 250 คน เป็นตัวเลขที่มีนัยทางการเมือง เพราะเป็นครึ่งหนึ่งของส.ส. ซึ่ง ส.ว.ชุดแรกจะมาร่วมโหวตนายกฯ ในสภาด้วย

เปิด 3 ทาง!! ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน กฎหมาย ส.ว.วันนี้

(อ่านต่อ...อภินิหารกฎหมาย !! "ล็อคซ้อนล็อค" เพื่อไม่ให้เสียของ)

 

                เมื่อผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว กฎหมายส.ว.จะเป็นร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับที่สามที่มีผลบังคับใช้ ที่ก่อนหน้านี้กฎหมาย กกต. และกฎหมายพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ไปแล้วแต่อย่าลืมว่ากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ต้องดำเนินการให้เสร็จมีทั้งหมด 4 ฉบับ หลังจากทั้ง 4 ฉบับบังคับใช้แล้ว จึงจะเริ่มนับหนึ่งเพื่อไปสู่การเลือกตั้งภายใน 150 วันได้

                กฎหมายลูกอีกฉบับที่เหลือ คือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ขณะนี้ยังรอคิวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยล่าสุดศาลนัดตัดสินในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้

                นักกฎหมายบางคนมองว่า ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีความเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญมากกว่ากฎหมาย ส.ว.

                ประเด็นของกฎหมายเลือกตั้งส.ส. ที่สนช. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมี 2 ประเด็น คือ

                1.การตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามเป็นข้าราชการฝ่ายการเมือง (มาตรา 35) ซึ่งมีการมองว่าเรื่องการจะเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวเป็นเรื่องของเสรีภาพ ไม่ใช่สิทธิ การไปเขียนห้ามไว้จึงอาจเป็นการเขียนกฎหมายเกินขอบเขตการจำกัดสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 95

                2.การช่วยเหลือผู้พิการในการลงคะแนนเลือกตั้ง โดยให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยลงคะแนนแทน และให้ถือเป็นการออกเสียงโดยตรงและลับ (มาตรา 92) อาจจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 85 ที่กำหนดให้วิธีการออกเสียงเลือก ส.ส.ให้ทำโดยตรงและลับ

                พิจารณาทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว ประเด็นหลังดูจะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะกรณีนี้ทำให้มีการนึกย้อนไปถึงเรื่องการตั้งคูหาเลือกตั้ง แบบ “หันก้นออก” ที่เคยทำให้ศาลปกครองสั่งให้การเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะมาแล้ว

                หากถามถึงแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะออกทางไหนได้บ้าง และแต่ละทางจะส่งผลต่อโรดแม็พเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร จะมี 3 ทาง ดังนี้

เช็ก "โรดแม็พฯ" หลังกฎหมาย ส.ว. ผ่านศาล รธน. ฉลุย ?

                ทางแรก ศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ และเห็นว่าประเด็นที่ขัดรัฐธรรมนูญเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ และวินิจฉัยให้ร่างกฎหมาย ส.ว.ตกไปทั้งฉบับ

                หากเป็นทางนี้ก็จะกระทบโรดแม็พเลือกตั้งแน่นอน เพราะต้องไปเริ่มต้นยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนของกรธ.ไปจนถึง สนช. ซึ่งถ้าใช้บรรทัดฐานเดิมในการจัดทำ รวมเบ็ดเสร็จนานที่สุดก็เป็นปี คือขั้นตอน กรธ. 8 เดือน สนช. 2 เดือน บวกขั้นตอนหากมีการตั้ง กมธ.ร่วม และส่งศาลรัฐธรรมนูญอีก (หากมี)

                ทางที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่าประเด็นที่ขัดไม่เป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายและสั่งให้ตกไปเฉพาะประเด็นที่ขัด

                หากเป็นแบบนี้อาจจะง่ายกว่าทางแรก เพราะไม่ต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แค่ไปปรับแก้ตัดส่วนที่ขัดออก แต่ก็จะมีปัญหาว่า“ ใคร” จะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเอาไว้

                แต่มีนักกฎหมายให้ความเห็นว่า แม้ไม่มีกำหนดไว้แต่ก็น่าจะเป็นหน้าที่ของสนช. ซึ่งเทียบเคียงได้กับกรณีที่ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเมื่อตอนคำถามพ่วงผ่านประชามติ ตอนนั้นก็ไม่ได้เขียนกำหนดไว้ชัดๆ แต่สุดท้ายก็เป็น กรธ.ไปดำเนินการ

                แต่ปมนี้ก็อาจจะทำให้ระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายเนิ่นช้าออกไปจนกระทบกับโรดแม็พเลือกตั้งได้

                แนวทางที่สาม คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หากเป็นกรณีก็ไม่เกิดปัญหาจากคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องนี้

                นั่นคือปมหนึ่งที่จะทำให้โรดแม็พสะดุดหรือไม่

                ในวันเดียวกัน (30 พ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย เรื่องคำสั่งมาตรา 44 ที่ 53/2560 ที่แก้กฎหมายพรรคการเมืองด้วย ซึ่งมี 2 ประเด็น คือ เรื่องสถานะของมาตรา 44 ในการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งสามารถทำได้หรือไม่ และเรื่องเงื่อนไขในการยืนยันสมาชิกพรรค ที่มีการมองว่าคำสั่งตามมาตรา 44 เป็นการเพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควร ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ

                อย่างไรก็ตามเนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้ไปแล้ว หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีปัญหาก็จะไม่เกี่ยวกับการนับวันไปสู่วันเลือกตั้ง ถ้าจะมีก็คือเรื่องขั้นตอนการปฏิบัติ ซึ่งไม่น่าจะถึงกับกระทบโรดแม็พ

                นี่คือปัจจัยส่วนหนึ่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อโรดแม็พการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีปัจจัยอื่นอีก

                รอดูสถานการณ์กันต่อไป...

 

==============

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

ศาลรธน. ผ่าน ​ร่างกฎหมาย ส.ว. ไม่ขัดรธน. (คลิกอ่านต่อ)

เช็ก "โรดแม็พฯ" หลังกฎหมาย ส.ว. ผ่านศาล รธน. ฉลุย ?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ