คอลัมนิสต์

เปิด 3 ทาง!! ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน กฎหมาย ส.ว.วันนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วันนี้!! ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยร่างกฎหมาย ส.ว. แนวทางคำตัดสินมีทางไหนบ้าง?? แต่ละทางจะส่งผลต่อโรดแม็พเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร??

 

                วันนี้ที่แล้วศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยร่างกฎหมาย ส.ว. หรือ ชื่อเต็มๆว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้จะเป็นอีกจุดที่ถูกจับตาว่าจะส่งผลต่อโรดแม็พการเลือกตั้งหรือไม่

                ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้การเริ่มต้นนับเวลา 150 วันไปสู่การเลือกตั้ง เริ่มเมื่อวันที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับบังคับใช้ คือ กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส., กฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.,กฎหมาย กกต. และ กฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งตอนนี้ 2 ฉบับหลังประกาศใช้แล้ว ส่วน 2 ฉบับแรก ถูกส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

                นั่นหมายความว่า นอกจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้แล้วที่อาจส่งผลกระทบต่อโรดแม็พเลือกตั้ง เมื่อถึงวันที่ศาลต้องวินิจฉัยร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ก็จะมีลักษณะเช่นเดียวกัน

                ถ้าจำกันได้ ตอนแรก สนช.จะไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเห็นว่าไม่น่าจะมีประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากว่าอาจจะมีปัญหาตามมาภายหลัง สุดท้าย สนช.จึงส่งเรื่องไป ซึ่งกรณีของร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ที่ส่งไปทีหลังก็เช่นกัน

                กลับมาดูที่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้

                กรณีนี้ สนช.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ผ่านมา นั่นคือศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการทำคำวินิจฉัย

                ประเด็นที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่อยู่ในส่วนของบทเฉพาะกาลที่กำหนดเกี่ยวกับ “การได้มาของ ส.ว.ชุดแรก” ในส่วน 50 คนที่ให้มาจากกระบวนการเลือกตามสูตรที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดไว้

                จากเดิมที่ กรธ.กำหนดให้มาจากการเลือกกันเองของ 20 กลุ่มอาชีพ โดยแต่ละคนที่มีคุณสมบัติสามารถสมัครได้โดยอิสระด้วยตัวเอง ได้มีการแก้ไขเป็น 10 กลุ่มอาชีพ และเพิ่มช่องทางการเข้ามาอีก 1 ทาง คือ ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรนิติบุคล

                เหตุผลของฝ่ายที่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ คือ การลดจำนวนกลุ่มและเพิ่มช่องทางในการสมัครเป็นการรอนสิทธิของผู้สมัคร ส.ว. ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่เขียนเปิดกว้างไว้

                อย่างไรก็ตาม ในมุมของฝ่ายที่เห็นว่าไม่ขัด มองว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 107 ที่เขียนเรื่ององค์ประกอบของและที่มาของ ส.ว.ไว้นั้น เป็นการเขียนกรอบกว้างๆ ส่วนรายละเอียดเป็นเรื่องที่สามารถกำหนดได้ในกฎหมายลูก โดยการลดจำนวนกลุ่มเหลือ 10 กลุ่ม ก็ไม่ใช่การตัดออกไปเลย แต่เป็นการเอากลุ่มที่ใกล้เคียงกันมาอยู่ด้วยกัน ส่วนการเพิ่มช่องทางให้มาจากการเสนอของนิติบุคคลก็ไม่ใช่รอนสิทธิในการสมัครอิสระ และไม่ได้มีการกำหนดจำนวนไว้ว่าแต่ละช่องทางต้องมีเท่าไร

                นั่นเป็นเหตุผลของทั้งสองฝ่ายโดยสรุป แต่ถ้าถามเหตุผลลึกๆจริงๆว่า ทำไม สนช.ต้องแก้ไขที่มาในส่วนของ 50 สว.ชุดแรก  ก็ต้องบอกว่า เพราะไม่มั่นใจ “ที่มา” ตามแบบของ กรธ. ว่าจะสนับสนุน “การปฏิรูปประเทศ” ตามแบบของฝ่าย คสช.ได้ จึงต้องปฏิบัติการ “ล็อคซ้อนล็อค” กันอีกครั้ง

(อ่านต่อ...อภินิหารกฎหมาย !! "ล็อคซ้อนล็อค" เพื่อไม่ให้เสียของ)

เปิด 3 ทาง!! ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน กฎหมาย ส.ว.วันนี้

                ทั้งนี้ในบทถาวรของรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.มี 200 คน มาจากกระบวนการเลือกกันเองตามสูตรที่ กรธ.ชุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” กำหนด แต่ในบทเฉพาะกาลกำหนดให้มี ส.ว.ชุดแรก 250 คน มีที่มา 2 ทาง คือ คสช.เลือก 200 คน และอีก 50 คนมาตามสูตรของ กรธ.

                ซึ่ง 250 คน เป็นตัวเลขที่มีนัยทางการเมือง เพราะเป็นครึ่งหนึ่งของ ส.ส. ซึ่ง ส.ว.ชุดแรกจะมาร่วมโหวตนายกฯในสภาด้วย

                ทีนี้มาดูกันว่าแนวทางการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ว่าจะออกทางไหนได้บ้าง และแต่ละทางจะส่งผลต่อโรดแม็พเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไร

 

เปิด 3 ทาง!! ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสิน กฎหมาย ส.ว.วันนี้

                ทางแรก ศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ และเห็นว่าประเด็นที่ขัดรัฐธรรมนูญเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ และวินิจฉัยให้ร่างกฎหมาย ส.ว.ตกไปทั้งฉบับ

                หากเป็นทางนี้ บอกได้เลยว่ากระทบโรดแม็พเลือกตั้งแน่นอน เพราะต้องไปเริ่มต้นยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ขั้นตอนของ กรธ.ไปจนถึง สนช. ซึ่งถ้าใช้บรรทัดฐานเดิมในการจัดทำ รวมเบ็ดเสร็จนานที่สุดก็เป็นปี คือขั้นตอน กรธ. 8 เดือน สนช. 2 เดือน บวกขั้นตอนหากมีการตั้ง กมธ.ร่วม และส่งศาลรัฐธรรมนูญ (อีก)

                นี่ยังไม่คิดในทางร้ายสุดๆว่า หากมีการวนลูปเดิมอีก

                ทางที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่าประเด็นที่ขัดไม่เป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมาย และสั่งให้ตกไปเฉพาะประเด็นที่ขัด

                หากเป็นแบบนี้อาจจะง่ายกว่าทางแรก เพราะไม่ต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แค่ไปปรับแก้ตัดส่วนที่ขัดออก แต่ก็จะมีปัญหาว่า “ใคร” จะเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเอาไว้

                “สมชาย แสวงการ” สนช.ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย ส.ว. ให้ความเห็นว่า แม้ไม่มีกำหนดไว้ แต่ก็น่าจะเป็นหน้าที่ของ สนช. ซึ่งเทียบเคียงได้กับกรณีที่ต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเมื่อตอนคำถามพ่วงผ่านประชามติ ตอนนั้นก็ไม่ได้เขียนกำหนดไว้ชัดๆ แต่สุดท้ายก็เป็น กรธ.ไปดำเนินการ

                อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมองให้มีปัญหา ปมนี้ก็อาจจะทำให้ระยะเวลาในการดำเนินการแก้ไขร่างกฎหมายเนิ่นช้าออกไปจนกระทบกับโรดแม็พเลือกตั้งได้

                แนวทางที่สาม คือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ กรณีก็ไม่เกิดปัญหาอะไร

                แต่ย้ำอีกครั้ง อย่าลืมว่าอีกปมใหญ่ที่อาจจะกระเทือน คือ ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ยังอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน

                ฉะนั้นแม้ปมกฎหมาย ส.ว.จะผ่านไป ก็ใช้ว่าโรดแม็พเลือกตั้งจะราบรื่น ยังมีปมกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และ “ปมอื่นๆ” อีกมากมายรออยู่...

               ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่าร่างกฎหมาย ส.ว.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ (คลิกอ่านต่อ) 

=================

เรื่องโดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ