คอลัมนิสต์

เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าคุ้มครองสังคมทั้งระบบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าคุ้มครองสังคมทั้งระบบ : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย... ชุลีพร อร่ามเนตร [email protected]

 

          “โครงการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดที่รัฐบาลได้มอบให้เด็ก โดยเป็นการปิดช่องว่างให้เด็กเล็กได้เข้าถึงความมั่นคงทางการเงิน และเป็นการลงทุนในการพัฒนาต้นทุนมนุษย์ของประเทศ” ดร.สมชัย จิตสุชน กล่าว

          เรื่องเด็กเล็กเป็นเรื่องของสังคมทั้งสังคมที่ต้องดูแล เพราะเด็กคือทรัพยากรของคนทั้งประเทศ และจากการดำเนินการโครงการเงินอุดหนุนเด็ก พบว่าเป็นโครงการที่ดี บรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับเด็กเล็ก แต่จากการประเมินการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย กลับพบว่ามีเด็กที่อยู่ในครอบครัวจนและเสี่ยงจนไม่ได้รับเงินอุดหนุน เนื่องจากปัญหาความซับซ้อนในการค้นหากลุ่มเป้าหมายในปัจจุบัน

          วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรด้านเด็ก จัดสัมมนาเรื่อง “เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า : จุดเริ่มต้นของการคุ้มครองทางสังคมทั้งระบบ” เพื่อนำเสนอผลการประเมินเบื้องต้นของโครงการเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็ก พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักวิชาการ เครือข่ายแรงงาน ภาคประชาชน และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสวัสดิการทางสังคม สะท้อนมุมมองและแนวทางแก้ไข

          จ่ายอุดหนุนเด็กยากจน 0-3 ปี
          สุนี ไชยรส ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดทำโครงการนำร่องทดลองจ่ายอุดหนุนให้แก่เด็กยากจนอายุ 0-1 ปี คนละ 400 บาท ในปี 2558 และเมื่อดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งรัฐบาลได้ประกาศขยายวงเงินอุดหนุนเด็กเล็กจาก 400 บาท เป็น 600 บาท และขยายระยะเวลาอุดหนุนเด็กเล็ก 0-1 ปี เป็น 0-3 ปี แต่กำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเด็กยากจน 


          โครงการดังกล่าวถือเป็นเรื่องดี ทั้งนี้การดำเนินการมา 2 ปี มีทั้งผลเชิงบวกและเชิงลบที่เกิดขึ้น มหาวิทยาลัยรังสิต อยากเห็นการคุ้มครองทางสังคมทั้งหมด การสัมมนาครั้งนี้นอกจากเป็นการนำเสนอผลงานวิจัย ผลการประเมินโครงการแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรม และการผลักดันให้โครงการเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า เป็นจุดเริ่มต้นการคุ้มครองสังคมทั้งระบบ

          เด็กกว่า 500,000 คนเข้าถึงเงินอุดหนุน
          โทมัส ดาวิน ผู้แทนจากยูนิเชฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้ของประชากรสูงขึ้น ซึ่งถ้าประเทศไทยกำลังมองการพัฒนาตนเองเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้า และมีรายได้ต่อประชากรมากขึ้น แสดงว่าต้องมีการลงทุนเด็กให้มีคุณภาพ เพราะเด็กจะเป็นทรัพยากรที่สร้างรายได้ต่อไปในอนาคต 

          อีกทั้งแนวโน้มประชากรในไทย จำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุมีมากขึ้น อีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีภาระ เนื่องจากคนวัยทำงานสร้างรายได้น้อยกว่าผู้สูงอายุ จึงมีความจำเป็นที่เด็กต้องมีคุณภาพ มีความสามารถ และสร้างรายได้ ฉะนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เป็นปัญหาของเด็ก แต่เป็นการสนับสนุนเด็ก เป็นเรื่องความอยู่รอดของประเทศ
      
          “ปัจจุบันมีเด็กกว่า 500,000 คนที่เข้าถึง แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จำเป็นต้องช่วยกันสนับสนุนให้เด็กที่เข้าไม่ถึงสามารถเข้าถึงระบบดังกล่าว และควรขยายช่วงอายุ เพราะครอบครัวยากจนที่ได้รับเงินอุดหนุนในโครงการดังกล่าวอายุ 0-3 ปี แต่การบริการของประเทศไทยให้การสนับสนุนอีกครั้งตอนอายุ 6 ปี ทำให้เกิดช่องว่างระหว่าง 3-6 ขวบ รัฐบาลจึงควรครอบคลุมแนวคิดไปถึง 0-6 ปี เพื่อสวัสดิการสังคมตอบสนองทั้งระบบ” โทมัส กล่าว

          ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินอุดหนุนของพ่อแม่ส่งเสริมพัฒนาเด็กเล็ก การสนับสนุนคุ้มครองอย่างถ้วนหน้า ทำให้แก้ปัญหาการตกหล่น และรอยเลื่อน ช่องว่างต่างๆ ในสังคมได้

          เงินอุดหนุนเด็กส่งผลชีวิตดีขึ้น
          สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอผลการประเมินผลกระทบโครงการเงินอุดหนุนเด็กเล็ก กล่าวว่า จากการศึกษาเชิงปริมาณ โดยมีการเก็บกลุ่มตัวอย่าง 5,700 คน ใน 9 จังหวัด ซึ่งมีการสำรวจ 2 รอบ และมีการศึกษาเชิงคุณภาพ สนทนากับกลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์/แม่ที่ได้รับและไม่ได้รับเงินอุดหนุน เจ้าหน้าที่รัฐ อาสาสมัคร และผู้ใหญ่บ้านใน 4 จังหวัด ผลการดำเนินงานของโครงการพบว่าเริ่มได้อย่างรวดเร็ว และมีปัญหาในการดำเนินการน้อยกว่าที่คาดไว้ เป็นระบบที่ดี มีการติดตามและการประเมินผลอย่างเป็นระบบ ประชากรกลุ่มเป้าหมายมีการรับรู้สูง แต่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเงื่อนไขและคุณสมบัติการได้รับสิทธิ มีการจ่ายเงินล่าช้าในปีงบประมาณ 2560 และ 2561

          ทั้งนี้ งานวิจัยผลประเมินผลกระทบโครงการเบื้องต้น พบว่าโครงการดังกล่าวพัฒนาผลลัพธ์ทางด้านโภชนาการในกลุ่มเด็กที่จนให้ดีขึ้น โดยครึ่งหนึ่งของเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนมีภาวะผอมแห้ง แคระแกร็น ซึ่งเมื่อครอบครัวได้รับเงินอุดหนุน ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เข้าถึงการบริการสาธารณสุขก่อนคลอด ส่งผลต่อโภชนาการของเด็กดีขึ้น รวมถึงช่วยแม่ที่ตกงานหรือว่างงานให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนในเด็กมากขึ้น ดังนั้น ควรจะมีการผลักดันโครงการดังกล่าวไปให้ครอบคลุมโดยเร็วที่สุด

          “การได้รับเงิน 600 บาท ถึงจะไม่มากแต่ช่วยภาวะทางโภชนาการ ส่งเสริมทางสติปัญญา ร่างกายของเด็กให้ดีขึ้น และต้องดำเนินการให้ถ้วนหน้า เพื่อแก้ปัญหาความผิดพลาด คนจนตกหล่น 30% และคนรวยได้รับอุดหนุน สาเหตุที่คนจนตกหล่นนั้น เพราะคนจนไม่ได้สมัคร เนื่องจากมองว่ากระบวนการยุ่งยาก ไม่มีเวลา เอกสารไม่ครบ ไม่แน่ใจว่าตนเองมีสิทธิ กลัวจะได้เงินล่าช้า ความเข้าใจที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ซึ่งโอกาสในการเข้าถึงเงินอุดหนุนไม่ได้ขึ้นอยู่กับรายได้ แต่มีปัจจัยอื่นๆ โครงการเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าจะช่วยขจัดความท้าทายอันเกิดมาจากการคัดกรอง และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กได้” สมชัย กล่าว

          ลงทุนปฐมวัยสร้างต้นทุนมนุษย์
          ไมเคิล แซมซัน Economics Policy and Research Institute กล่าวว่า เวทีโลกชื่นชมโครงการเงินอุดหนุนเด็กของไทย ว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง และเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบไม่ซับซ้อน สร้างความเชื่อมโยงและใช้เครือข่ายทางสังคมที่มีอยู่

          รวมถึงดำเนินการโครงการโดยนำเอาความท้าทายด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประเทศต้องพบในศตวรรษที่ 21 เป็นการพัฒนาสู่การเติบโตของประเทศในอนาคต ซึ่งถ้าเด็กเล็กไม่ได้รับการพัฒนาที่ดีจะส่งผลต่อสภาวะทางร่างกายและสติปัญญา โดยมีเอกสารทางการแพทย์ชี้ชัดให้เห็นว่า สมองของเด็กจะได้รับการพัฒนามากที่สุดใน 2,000 วันแรก ดังนั้น การลงทุนในเด็กทั้งในช่วงก่อนคลอด และช่วงปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าด้านต้นทุนมนุษย์

          อย่างไรก็ตาม โครงการอุดหนุนเงินถ้วนหน้า มีความจำเป็นสำหรับครอบครัวยากจน และต้องได้รับการสนับสนุนตามช่วงอายุที่เหมาะสม เพราะเงินอุดหนุนถ้วนหน้าจะช่วยขจัดความท้าทายในการคัดกรอง จำนวนเงินสูงแต่ค่าบริการจัดการ ค่าใช้จ่ายลดต่ำลง ขจัดความบาดหมางในชุมชน อาจเป็นประโยชน์ในเชิงการเมือง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ