คอลัมนิสต์

เปิดร่าง กม.ทดลอง"กัญชา"กับ "คน"เพื่อการแพทย์ครั้งแรก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไม่ธรรมดา !!ประเทศไทย หากร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ผ่านออกมาบังคับใช้ ทำให้ใช้"กัญชา" ทดลองกับ"คน" เพื่อการแพทย์ได้ โดย ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

         ภายหลัง ครม. เห็นชอบ ร่างกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ,ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด และร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด

            โดยประเด็นที่ถูกจับตา คือ ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่เนื้อหาส่วนหนึ่ง อนุญาตให้ทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษ ผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติด และเสพหรือครอบครองยาเสพติดตามประเภทและปริมาณที่กำหนด เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์   

             ในการผ่านร่างกฎหมายนี้ มีเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกจับตา คือ กัญชา และพืชเสพติดอื่นๆ ที่ถูกกำหนดเป็นยาเสพติดประเภท 5 จะสามารถขออนุญาตให้สามารถปลูก สกัด และทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่ยังไม่อนุญาตให้นำมาใช้เสรีหรือการเสพเพื่อความบันเทิง

             ตามขั้นตอนการผ่านร่างกฎหมาย เมื่อผ่านครม.แล้ว ยังต้องผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประเมินคร่าวๆ ยังใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6 เดือน กฎหมายจึงจะมีผลบังคับใช้

             ทางฟาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ศิรินทร์ยา สิทธิชัย  เลขาธิการป.ป.ส. ก็ออกมายืนยันว่าสนับสนุนการใช้พืชกัญชารักษาโรคและใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ แต่ไม่อนุญาตให้นำมาใช้เสรีหรือการเสพเพื่อความบันเทิงเพราะเกรงเกิดปัญหาและส่งผลกระทบกับเยาวชนในระยะยาว ดังนั้นกัญชายังถือเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 มีโทษเหมือนเดิม การเสพ“กัญชา”จะใช้เพื่อประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการรักษาโรคจะกระทำไม่ได้

              ที่ผ่านมา ม.รังสิต เคยยื่นขออนุญาตขอครอบครองกัญชา และขอใช้กัญชาของกลาง เพื่อทดลองสกัดกัญชามาทำสเปรย์รักษาโรคมะเร็ง และบรรเทาอาการปวด โดยทดลองใช้เป็นผลสำเร็จในสัตว์ทดลอง เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดมีผลบังคับใช้จะสามารถขยายการทดลองไปใช้รักษากับคนได้อย่างถูกกฎหมาย เป็นครั้งแรก

             ทั้งนี้กัญชา มีสาร 2 ชนิดหลักที่ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ได้แก่ 1. สาร CBD (Cannabidiol) ซึ่งมีฤทธิ์ลดอาการคลื่นไส้อาเจียนและการบวมอักเสบของแผล 2. สาร THC (Tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้ความรู้สึกผ่อนคลายและลดอาการปวด ขณะเดียวกันยังเป็นสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ผู้เสพจะมีอาการตื่นเต้น ช่างพูด หัวเราะตลอดเวลา

               หลังกฎหมายเปิดให้ทดลองกับมนุษย์ จะได้รู้กันชัดๆ ว่า “กัญชา”ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้จริงหรือไม่ และกัญชาจะมีสรรพคุณทางยาครอบคลุมการรักษาอาการป่วยโรคพาคินสัน หอบหืด ลมชัก และโรคอื่นใดอีกบ้าง

                อย่างไรก็ตาม ยูเอ็นยังถือว่ากัญชา เป็นพืชที่มี 2 สถานะ คือ มีประโยชน์ทางการแพทย์นำไปใช้เป็นยารักษาโรค และมีฤทธิ์ต่อจิตประสาทเช่นเดียวกับฝิ่นและโคคา จึงห้ามผลิต ห้ามปลูก นอกจากรัฐจะปลูกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์การวิจัยทางการแพทย์ โดยต้องมีการควบคุม เพราะพืชหรือต้นไม้ที่นำไปผลิตเป็นยารักษาโรคจะต้องปลอดจากสารเคมีทุกชนิด

               สรุปได้ว่า การปลดล็อคกัญชาให้พ้นจากสถานะพืชเสพติดยังทำไม่ได้ แต่สามารถอนุญาตให้ปลูกเพื่อวิจัย หรือเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือผลิตยารักษาโรคได้ โดยอนุญาตให้เป็นรายๆไป มีการควบคุมดูแลผลผลิต พื้นที่ปลูกต้องได้รับใบอนุญาต ผลผลิตที่ได้จะถูกส่งเข้าส่วนกลางและโรงงานยาเท่านั้น

              สำหรับร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งผลักดันมานานหลายปี เป็นการรวบรวมกฎหมายยาเสพติด 7 ฉบับ กระจายอยู่ในความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน เป็นกฎหมายฉบับเดียว 184 มาตรา โดยประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ คือ ผู้ป่วยสามารถใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพื่อการรักษาโรคได้ ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น จากการปรับปรุงบทลงโทษ ให้ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด

             โดยเนื้อหาในภาพรวมของกฎหมาย แบ่งเป็น 3 ภาค ภาคแรก เป็น การป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด มาตรา 1-103 ซึ่งมีประเด็นที่เป็นนวัตกรรมใหม่สอดแทรกอยู่มากมาย เช่น สามารถนำมาตรการทางปกครองมาใช้แทนการลงโทษทางอาญากับผู้รับอนุญาตที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ,ป.ป.ส. มีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่เพื่อให้สามารถผลิต เสพ หรือครอบครองยาเสพติดบางชนิด เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย หรือการลดอันตรายจากยาเสพติดได้, รมว.สาธารณสุข มีอำนาจประกาศกำหนดยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่สามารถเสพเพื่อการรักษาโรค หรือเพื่อการศึกษาวิจัยได้ ตลอดจนมีอำนาจประกาศให้ท้องที่ใดเสพใบกระท่อมตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดได้ โดยไม่เป็นความผิด

              และ การกำหนดบทสันนิษฐานการมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพในปริมาณเล็กน้อย เพื่อให้สามารถสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาโดยไม่ถูกดำเนินคดี

 

           ภาค 2 การบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด เป็นมาตรการเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้เสพยาเสพติด จัดให้มีศูนย์คัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด รวมถึงส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดรักษาไปยังสถานที่บำบัดรักษาที่เหมาะสม

          ส่วนภาคที่ 3 เป็นบทกำหนดโทษ

          ถึงอย่างไร เราคงหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกับยาเสพติด ยอมรับให้นำมาใช้เป็นยารักษาโรคซึ่งเป็นการยอมรับและอยู่ร่วมในแบบที่ไม่ใช่การจำนนยอมแพ้ แต่ต้องเอาชนะด้วยการบำบัดรักษาภายใน 3 ปีนี้ หรือจนกว่ามีผลรับรองการรักษาในมนุษย์

            “กัญชา”จึงยังไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนทั่วไปจะปลูกเพื่อการพาณิชย์หรือเสพได้

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ