คอลัมนิสต์

เหตุเกิดที่อนุบาลปัตตานี... พ.ศ.นี้ยังห้ามนักเรียนสวมฮิญาบ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหตุเกิดที่อนุบาลปัตตานี... พ.ศ.นี้ยังห้ามนักเรียนสวมฮิญาบ? : รายงาน  โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

          งานนี้ต้องปรบมือให้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สามารถปลดชนวนขัดแย้งรอบใหม่ที่ปลายด้ามขวานได้ฉับไว จากปัญหา “การห้ามนักเรียนหญิงมุสลิมสวมฮิญาบ” หรือ “ผ้าคลุมผม” ไปโรงเรียน ของโรงเรียนอนุบาลปัตตานี โรงเรียนเด็กเล็กและชั้นประถมชื่อดังของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

          เพราะหากช้าไปอีกนิดเดียวอาจมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ เพราะจากการตรวจสอบความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย พบว่าเริ่มมีการปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงกันแล้ว โดยเฉพาะข้อความที่ว่า “ไม่ต้องไปเรียน เผาให้หมดเลย”

          ขณะที่ฝ่ายคนพุทธเองก็มีความรู้สึกอีกด้านที่เป็นลบไม่แพ้กัน...

          ล่าสุดเมื่อบ่ายวานนี้ วงประชุมร่วมกันระหว่าง นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กับรองศึกษาธิการจังหวัด รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ปัตตานีเขต 1 (รอง ผอ.สพป.เขต 1 ปัตตานี) และผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ต้องบอกว่าจบลงด้วยดี ด้วยการอนุญาตให้นักเรียนมุสลิมสามารถแต่งกายตามหลักศาสนาได้ ตามที่ผู้ปกครองนักเรียนบางกลุ่มเรียกร้อง

          แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ ยังคงให้แต่งตามระเบียบของโรงเรียน กล่าวคือ นักเรียนชายนุ่งกางเกงขายาวสีเดียวกับนักเรียนทั่วไป ส่วนนักเรียนหญิง ให้คลุมฮิญาบสีขาว หรือสีเดียวกับสีกระโปรง

          แต่ปัญหายังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะต้องมีกระบวนการทำความเข้าใจกับ “ครู” ซึ่งมีปรากฏการณ์ดราม่า ลาหยุดพร้อมกัน 20 กว่าคนเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว จนถูกมองว่าไม่ต้อนรับนักเรียนสวมฮิญาบ ซึ่งประเด็นนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ก็กำชับให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำความเข้าใจกับครู โดยเน้นย้ำเรื่องการสอนเด็กนักเรียนให้มีคุณภาพ เช่นเดียวกับการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองศาสนาอื่นด้วย โดยเฉพาะผู้ปกครองชาวพุทธที่มีความรู้สึกกับเรื่องนี้ไม่น้อยเหมือนกัน


          เพราะต้องเข้าใจว่า โรงเรียนอนุบาลปัตตานีไม่เคยอนุญาตให้นักเรียนแต่งกายตามหลักศาสนามาก่อน ถือเป็นกติกาที่รับรู้รับทราบร่วมกันตั้งแต่ก่อนส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน แต่ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีการเคลื่อนไหว และมีการระดมสร้างแนวร่วมกันมากมายพอสมควร จากทั้งในและนอกโรงเรียน

          ปรากฏการณ์นี้ถือว่าน่าศึกษา เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า post-violence ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัญหาสังคมที่บาดลึกจากความรุนแรงที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 1 ทศวรรษครึ่ง จนก่อความรู้สึกหวาดระแวง ลุกลามไปจนถึงเกลียดชังกันระหว่างผู้คนสองศาสนา
ให้สวมได้...หรือเข้าใจผิด ?

          เรื่องนี้ต้องบอกว่ามีที่มาที่ไป ไม่ใช่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นมา แต่มีการขยับขับเคลื่อนเป็นกระบวนการพอสมควร เริ่มจากปลายเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งเป็นช่วงปิดภาคการศึกษา หรือ “ปิดเทอมใหญ่” มีผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ร้องเรียนไปยัง “มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ” ว่าทางโรงเรียนไม่อนุญาตให้เด็กนักเรียนคลุมฮิญาบไปเรียนหนังสือ ทางมูลนิธิจึงเรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยด่วน
ต่อมา ทีมงานมูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หรือ มมส. 3จ. ได้ไปที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี และได้พบกับรองผู้อำนวยการโรงเรียน มีการพูดคุยกันเบื้องต้นถึงทิศทางการแก้ไขปัญหาตามข้อเท็จจริง พร้อมทั้งออกหนังสือให้ทางโรงเรียนเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทาง มมส. 3จ. ก็ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากทางโรงเรียน ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้นักเรียนหญิงมุสลิมสวมฮิญาบ

          วันที่ 30 เมษายน ทีมกฎหมาย มมส. 3จ. ได้ทำหนังสือไปถึงโรงเรียนอีกฉบับหนึ่ง แต่ก็ไม่มีสัญญาณตอบรับจากเลขหมายที่ท่านเรียก...เช่นเดิม

          แต่จากหนังสือของ มมส. 3จ. และการพูดคุยทางโทรศัพท์กับผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานีหลายครั้ง รวมทั้งผู้ปกครองของนักเรียนก็ได้รับข้อมูลว่า ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนหญิงมุสลิมคลุมฮิญาบ หรือสวมเครื่องแต่งกายที่ถูกต้องตามหลักการศาสนาได้ โดยต้องเป็นไปตามกรอบระเบียบปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการด้วย จึงทำให้ผู้ปกครองมั่นใจในท่าทีของผู้อำนวยการโรงเรียน และตัดสินใจรวบรวมความสมัครใจของผู้ปกครองหลายคน เพื่อให้ลูกๆ ของตนได้สวมเครื่องแต่งกายในวันเปิดเทอมวันแรกตรงตามหลักการทางศาสนา ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ปกครองบางคนรอให้ชุดนักเรียนตัดเสร็จก่อน โดยพร้อมที่จะให้ลูกสวมใส่ด้วยเช่นกัน

          กระทั่งวันที่ 16 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมวันแรกของโรงเรียน เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มมส. 3จ. พร้อมผู้ปกครอง 3 ครอบครัว และเด็กนักเรียนหญิงของโรงเรียนอนุบาลปัตตานีอีก 4 คน แต่งกายด้วยเครื่องแบบนักเรียนมุสลิม เดินทางเข้าไปในโรงเรียน โดยมี นายประจักษ์ ชูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ออกมาต้อนรับ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ห้ามมาตั้งแต่แรก และยินดีหากจะแต่งกายตามหลักการศาสนาอิสลาม นักเรียนหญิงสวมฮิญาบได้ ส่วนนักเรียนชายก็สามารถสวมใส่กางเกงขายาวได้เช่นกัน สร้างความชื่นมื่นให้แก่ผู้ปกครองของเด็กนักเรียนมุสลิมทุกคนที่โรงเรียนอนุญาต

          แต่แล้ว วันที่ 18 พฤษภาคม ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี ได้นัดผู้ปกครองนักเรียน และคณะกรรมการสถานศึกษา ร่วมพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันที่ห้องประชุมบัวชมพู โดยมี นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นกรรมการสถานศึกษา เข้าประชุมด้วย จากนั้นสถานการณ์ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป

          มติกก.สถานศึกษาห้ามสวมฮิญาบ!
          “ในที่ประชุมมีกรรมการมุสลิม 2 คน จากจำนวนทั้งหมด 15 คน ได้อธิบายหลักการศาสนาอิสลามเรื่องการคลุมฮิญาบ ซึ่งกรรมการทุกคนก็เข้าใจ แต่ที่ประชุมเสียงข้างมากยืนยันว่าจะไม่มีการแก้กฎของโรงเรียน ซึ่งยังไม่ชัดว่าจะคลุมฮิญาบได้หรือไม่ ต้องไปถามผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎมหาเถรสมาคมด้วย”

          เป็นคำบอกเล่าถึงผลการประชุมจาก นายแวดือราแม มะมิงจิ

          “ทุกคนเข้าใจว่าอิสลามจะต้องสวมใส่ชุดตามที่ศาสนากำหนด แต่ในที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากว่าจะไม่มีการแก้ระเบียบเดิมของโรงเรียน ส่วนเสียงที่เห็นด้วยให้มีการใส่ผ้าคลุมมีแค่ 2 เสียง มันก็เลยจบ ไม่สามารถค้านอะไรได้ รวมทั้งตำแหน่งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดก็ไม่สามารถเข้าไปตัดสิน เพราะมีระเบียบหลายขั้นตอน ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องศาสนา”

          จากนั้นทางโรงเรียนจึงอนุญาตให้ผู้ปกครอง 3 รายที่ให้บุตรหลานสวมฮิญาบมาโรงเรียน ได้มีโอกาสเข้ารับฟังผลการประชุม สรุปก็คือเสียงข้างมากของคณะกรรมการสถานศึกษาไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎระเบียบใหม่ จึงยืนยันไม่ให้มีการคลุมฮิญาบมาเรียน หากต้องการให้บุตรหลานคลุมฮิญาบก็ให้ย้ายไปเรียนที่อื่น หากยังมาเรียนด้วยการคลุมฮิญาบ ก็จะไม่มีการเรียนการสอนแก่นักเรียนที่ฝ่าฝืนกฎของโรงเรียน
ปัญหาทำท่าจะลุกลาม เมื่อ นายแวดือราแม มะมิงจิ แถลงลาออกจากการเป็นกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนอนุบาลปัตตานี อ้างว่าต้องรับผิดชอบกับศาสนาที่ไม่สามารถให้นักเรียนมุสลิมแต่งกายตามหลักอิสลามได้

          บานปลาย...ครูหยุดสอน 20 คน!
          สถานการณ์บานปลายมากขึ้นไปอีก เมื่อมีการยืนยันข้อมูลว่า มีครูของโรงเรียนหยุดสอนราว 20 คน อ้างว่าลาป่วย

          ศิษย์เก่าของโรงเรียนอนุบาลปัตตานีคนหนึ่งซึ่งไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา เป็นผู้ให้ข้อมูลที่น่ากังวลนี้

          “มีความรู้สึกเป็นห่วง เพราะผู้ปกครองตั้งคำถามเรื่องครูหยุดสอนเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ประมาณ 20 คน บางคนก็ลาป่วย บางคนก็ลากิจ แต่พอไม่สอนกันหลายๆ ห้อง ทำให้ผู้ปกครองที่เป็นไทยพุทธหลายคนพูดกันว่า ครูหยุดสอนเพราะผู้ปกครองเด็กมุสลิมให้เด็กใส่ฮิญาบมาโรงเรียนใช่ไหม ก็กลายเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่ มันคนละเรื่องกันกับที่ครูหยุดสอน เขาไม่ได้มองที่ครูว่าที่ไม่มาสอนเพราะอะไร แต่เขามองว่าเพราะผู้ปกครองเด็กมุสลิมให้เด็กใส่ฮิญาบมาโรงเรียน กลายเป็นเรื่องบาดหมางกันในพื้นที่ ทั้งที่เป็นเรื่องเล็กๆ”

          ศิษย์เก่ารายนี้บอกว่า ปัจจุบันการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมระหว่างคนต่างศาสนา พัฒนาไปมาก ร้านอาหารมุสลิมก็มีคนพุทธไปรับประทาน ส่วนร้านอาหารของคนพุทธ คนจีน ก็มีคนมุสลิมเป็นเด็กหน้าร้าน ฉะนั้นปัญหานี้จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ น่าจะพูดคุยกันให้เข้าใจได้ ไม่ควรให้เรื่องเด็ก 3-4 คนที่ต้องการแต่งกายตามหลักศาสนามาทำให้เกิดความบาดหมางกัน เพราะไม่ได้ไปละเมิดสิทธิ์ใคร ทั้งๆ ที่เราอยู่ในบริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม บริบทของสังคมชายแดนใต้

          โรงเรียนบนที่ธรณีสงฆ์...
          จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2510 เปิดการเรียนการสอนในปี 2511 ตั้งอยู่ริมถนนมะกรูด ต.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี อยู่ตรงข้ามวัดนพวงศาราม มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “โรงเรียนวัดนพวงศาราม” ที่ดินส่วนใหญ่เป็น “ที่ธรณีสงฆ์” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ที่ดินวัด”

          จากการสอบถามทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ทราบว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีกฎระเบียบชัดเจนเรื่องการห้ามสวมฮิญาบของนักเรียนหญิงมุสลิม หรือการสวมใส่กางเกงขายาวของนักเรียนชายมุสลิม แต่ทางโรงเรียนมี “ระเบียบการแต่งกาย” ที่ชัดเจนและบังคับใช้กับนักเรียนทุกคน ซึ่งกำหนดเครื่องแต่งกายและทรงผมเหมือนโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป ตลอดมาจึงไม่มีนักเรียนมุสลิมสวมฮิญาบหรือใส่กางเกงขายาว แม้ปัจจุบันทางโรงเรียนจะเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 และมีเด็กนักเรียนมุสลิมในสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ก็ตาม แต่นักเรียนทุกคนต้องแต่งกายตามระเบียบของโรงเรียน

          หัวอกผู้ปกครอง...
          ผู้ปกครองของนักเรียนชั้น ป.5 และ ป.1 ที่ให้ลูกแต่งกายตามหลักศาสนา สวมฮิญาบไปโรงเรียน อธิบายถึงสิ่งที่เธอคิด

          “ลูกสาวอายุ 11 ปี ตามหลักศาสนาจะต้องปกปิดร่างกายเหลือแต่ใบหน้าและฝ่ามือ เป็นศาสนบัญญัติ ลูกสาวต้องการสวมเองด้วย เราไม่ได้บังคับ เมื่อพี่สวม น้องสาวก็จะสวมด้วย เมื่อทางคณะกรรมการสถานศึกษามีข้อตกลงแบบนี้ เรายังยืนยันที่จะให้ลูกคลุมฮิญาบมาเรียนในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ รวมทั้งผู้ปกครองท่านอื่นก็ยืนยันด้วยเช่นกัน เพราะหากเราไม่เริ่ม เด็กรุ่นหลังก็จะไม่มีโอกาสแน่นอน ทางเรายืนยันว่าจะยืนหยัดสู้ต่อไปเพื่อลูกได้แต่งกายตามหลักศาสนา ซึ่งไม่ได้ขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการและกฎหมาย หลังจากนี้อาจมีการแจ้งความเพื่อเรียกร้องต่อไป”

          แต่เมื่อไปฟังความเห็นของผู้ปกครองของนักเรียนที่นับถือศาสนาพุทธ ก็จะพบว่าประเด็นนี้เปราะบางอย่างยิ่ง

          “ถ้าเขาให้เด็กใส่ผ้าคลุมผมมาโรงเรียน เราก็จะให้ลูกไว้ผมยาวบ้าง และจะบอกคนอื่นด้วยให้ไว้ผมยาว”

          “บทสรุปที่ยังไม่ใช่บทจบ”
          จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า การปลดชนวนปัญหาด้วยการอนุญาตให้นักเรียนมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนาได้ ยังอาจไม่ใช่ “บทจบ”ของปัญหานี้อย่างสมบูรณ์ เพราะยังมีความรู้สึกของนักเรียนด้วยกันเอง ท่าทีของครู และผู้ปกครองต่างศาสนา โดยเฉพาะกลุ่มคนพุทธซึ่งมีความรู้สึกอยู่แล้วว่าตนเองเป็น “ชนกลุ่มน้อย” และถูกกดดันมาตลอด ซึ่งทั้งหมดนี้ยังต้องการการทำความเข้าใจ และต้องการเวลาในการสมานแผลทางความรู้สึก อันเป็นผลจากสถานการณ์ไฟใต้ที่ยืดเยื้อยาวนาน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ