คอลัมนิสต์

4 ปีคสช."ปฏิรูปการศึกษา"ไม่สะเด็ดน้ำ-ไม่ต่อเนื่อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

4 ปีคสช."ปฏิรูปการศึกษา"ไม่สะเด็ดน้ำ-ไม่ต่อเนื่อง : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย... เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ  [email protected] 


          22 พฤษภาคมนี้ จะครบ 4 ปีเต็มที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เข้ามาบริหารประเทศเพื่อการปฏิรูปประเทศ ล่าสุดสำนักโพลล์ต่างๆ ได้เผยผลสำรวจความเห็นประชาชน อาทิ สวนดุสิตโพล “ประชาชนได้อะไร? จาก 4 ปีรัฐบาลคสช.” พบ 54.6% สมหวังที่บ้านเมืองสงบสุข 41.78% ผิดหวังเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น และที่ฝากถึงรัฐบาลคือ ให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ตั้งใจทำงาน ซื่อสัตย์ แก้ปัญหาปากท้อง ปัญหาทุจริต ใช้อำนาจที่เหมาะสม โดยประชาชนให้คะแนนรัฐบาล 5.42 คะแนน

          ส่วนนิด้าโพล “4 ปี คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ” พบ 46.85% ความสุขคนไทยเท่าเดิม ส่วน 52.99% มีความสุขที่บ้านเมืองสงบไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง เรื่องที่ไม่มีความสุข เช่น 30.81% เศรษฐกิจในภาพรวม 15.08% ปากท้องเกษตรกร 11.89% ค่าครองชีพสูง เป็นต้น 

          เจาะลึกเฉพาะ “ปฏิรูปการศึกษา” เสียงสะท้อนจาก “นักวิชาการการศึกษา” ว่าตลอดห้วงเวลา 4 ปีปฏิรูปการศึกษาในมือรัฐบาล คสช. ยังไม่สะเด็ดน้ำ ปฏิรูปที่ควรเริ่มจากครูและผู้เรียนยังไม่เกิด และยังคงวุ่นวายกับการแก้ปัญหาเดิม ทั้งโครงสร้าง หรือการกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาคที่ยังไม่เบ็ดเสร็จแท้จริง สิ่งที่รัฐบาล คสช.และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน คือใช้ “รัฐมนตรี” เปลือง !! โดยมีถึง 3 คนด้วยกัน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ และปัจจุบัน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์

 

4 ปีคสช."ปฏิรูปการศึกษา"ไม่สะเด็ดน้ำ-ไม่ต่อเนื่อง

 

          “ขจัดทุจริต”ผลงานเด่น
          สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) กล่าวว่า จากโจทย์ปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ จะเห็นว่าหลายหน่วยงานทยอยส่งการบ้าน เห็นความก้าวหน้า ขณะที่ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษา ยังไม่มีการส่งการบ้าน ทั้งนี้ การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับทุกคน ที่ผ่านมาแม้จะมีการเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาผลักดันนโยบายใหม่ๆ แต่ก็ยังต้องพะวักพะวนกับปัญหาเดิมที่สะสมมานานจะเดินไปข้างหน้าก็ไม่ได้ เพราะต้องล้างระบบเก่าวางมือเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในแง่ตัวเงิน ทุจริตเชิงนโยบาย หรือการบริหารงานบุคคล 4 ปีมานี้ผลงานต่างๆ ที่ทำมาแต่เรื่องการแก้ไขปัญหาทุจริตกลายเป็นพระเอกที่เข้าตาประชาชนซึ่งเห็นผลชัดในปีนี้

          เปลี่ยนรมต.บ่อยไม่ต่อเนื่อง
          “สิ่งที่รัฐบาล คสช.และรัฐบาลจากการเลือกตั้งเหมือนกันคือ เปลี่ยนตัวรมว.ศึกษาธิการบ่อย ทำให้งานขาดการต่อเนื่อง แต่ถ้าให้คะแนนการทำงานเต็ม 10 ผมให้ 6.5 คะแนนจากการปฏิรูปงานประจำ และทำได้ดีเรื่องการจัดการทุจริต ส่วนงานอื่นๆ แม้จะก้าวหน้าแต่ผลงานยังไม่สะเด็ดน้ำ ขาดความชัดเจน หลายเรื่องยังมีความลักลั่น เช่น การกระจายอำนาจไปสู่ภูมิภาค มีทั้งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ยังคาราคาซังในเรื่องของอำนาจหน้าที่ทั้งที่รัฐบาลมีอำนาจตัดสินใจให้เด็ดขาดได้" สุขุม กล่าว

          แนะใช้ม.44อย่ากลัวเสียคะแนน
          ในปี 2562 รัฐบาลคสช.ประกาศจะให้มีการเลือกตั้ง สุขุม กล่าวว่า อยากให้รัฐบาล คสช.มีความเด็ดเดี่ยว กล้าตัดสินใจและใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับปรับปรุง) พ.ศ.2557 อย่างเด็ดขาดให้สมกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร อย่ากลัวคนติติงหรือกลัวเสียคะแนนจนไม่กล้าใช้เพราะไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา ยังมีเรื่องๆ อื่นที่จำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษเข้ามาแก้ไข เพื่อให้งานเดินหน้าไปได้ หากปล่อยทิ้งไว้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะบริหารได้ยาก

 

4 ปีคสช."ปฏิรูปการศึกษา"ไม่สะเด็ดน้ำ-ไม่ต่อเนื่อง

 

          ขาดคนเข้าใจบริหารการศึกษา
          ด้าน สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกําแพงแสน กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาล คสช.4 ปีที่ผ่านมา ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง หรือเห็นผลสำเร็จ ยิ่งทำยิ่งสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่า อยากตั้งคำถามว่ารัฐบาลและกระทั่ง รมว.ศึกษาธิการ ฝ่ายบริหาร มีความเข้าใจถึงปัญหาการศึกษามากเพียงใด ที่ผ่านมาเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย ซึ่งการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มีความหลากหลาย ต้องการคนที่รู้และเข้าใจปัญหา แต่การเลือกผู้ทำหน้าที่ส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ผู้ที่เข้าใจเท่าใดนัก แม้ปัจจุบันจะมี รมช.ศึกษาธิการ ที่เคยเป็นอธิการบดีมาก่อน มีความเข้าใจเรื่องการศึกษา แต่ก็มามุ่งทำเรื่องการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ไม่ได้มาดูงานด้านอื่นๆ ขณะที่ข้อเสนอจากทั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษากลับไม่ถูกหยิบมาใช้

          ย้ำปฏิรูปต้องเริ่มที่ครู-เด็ก
          ทั้งนี้ ให้ประเมินการทำงานมองว่าสอบตก ให้แค่ 4 คะแนนเท่านั้น เพราะการปฏิรูปการศึกษาต้องเริ่มจากครูและเด็ก หลายประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ ก็ทำเรื่องเหล่านี้ เพราะครูคือกำลังสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน แต่ที่ผ่านมาศธ.ยังเน้นไปที่ปฏิรูปโครงสร้างเพิ่ม ศธจ. ศธภ. และกำลังจะเพิ่มสพท. ส่วนการพัฒนาครูที่ให้คูปองอบรม 10,000 บาท ทำมาเป็นเวลา 2 ปีก็ยังพบปัญหาทั้งระบบ กระบวนการใช้เวลานาน 1-2 เดือนหลักสูตรไม่ตรงที่ครูต้องการ การทำงานอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ เรื่องที่เป็นข้อดีคือ การใช้อำนาจมาตรา 44 จัดการในหลายๆ เรื่อง เช่น ปัญหาทุจริต ปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย

          “ผมเสนอว่าอยากให้รัฐบาลและ ศธ. เร่งดำเนินการที่คั่งค้างให้เสร็จทั้งการปฏิรูปโครงสร้าง การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ตลอดจนแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ที่จำเป็นให้เรียบร้อย ที่สำคัญขอให้ยกระดับและพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู การเพิ่มเงินเดือน คัดเลือกคนที่มีใจรักการเป็นครูอย่างแท้จริง และบังคับใช้มาตรการลงโทษผู้ที่กระทำผิดวินัยจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเด็ดขาด ไม่ทำแบบลูบหน้าปะจมูกเช่นที่ผ่านมา” สุมิตร กล่าว

 

4 ปีคสช."ปฏิรูปการศึกษา"ไม่สะเด็ดน้ำ-ไม่ต่อเนื่อง

 

          คุมกำเนิดหลักสูตรอุดมศึกษาเห็นผล
          วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มก. ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) กล่าวว่า 4 ปีผ่านไปการทำงานของ คสช.เรื่องอุดมศึกษานั้นนโยบายถึงจะเดินมาถูกทาง ถึงคิดได้ว่าควรมีนโยบายในการคุมกำเนิดหลักสูตร และมหาวิทยาลัยเกิดใหม่

          “คสช.เข้ามาเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย แก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษา ทว่าการปฏิรูปต้องใช้เวลา ไม่สามารถทำได้ทันที แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นโยบายด้านการศึกษายังหลงทาง ทำให้เกิดวิกฤติที่นั่งในมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น จนปีนี้มีนโยบายคุมกำเนิด ปิดหลักสูตรที่ไม่จำเป็น เปิดเฉพาะหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า อยากให้มีการสานต่อ และเห็นด้วยที่จะให้มีการรวมกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เข้ากับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นกระทรวงการอุดมศึกษาและวิจัย เพราะมหาวิทยาลัยไม่ควรทำหน้าที่ให้ปริญญาอย่างเดียว แต่ต้องศึกษาวิจัยมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ” วีรชัย กล่าว

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังคงเห็นภาพเดิมๆ ทั้งเรื่องการสอบแข่งขันตั้งแต่ระดับอนุบาล นักเรียนไปกระจุกอยู่ในโรงเรียนดังๆ ขณะที่โรงเรียนต่างจังหวัด คุณภาพ การจัดการเรียนการสอน สื่อต่างๆ ยังไม่เท่าเทียมในเมือง เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คนรวยได้เปรียบกว่าคนจน

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ