คอลัมนิสต์

เลขาสภาฯ แจงงบซื้อของ "สเปคเทพ" : ไม่ให้ก็ไม่เอา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลังจาก ครม. ไม่ผ่านงบไอทีสร้างสภาใหม่ และ ประธาน สนช. บอกเป็นเรื่องของฝ่ายข้าราชการ คราวนี้ลองมาดูคำชี้แจงของ เลขาธิการสภาบ้าง

 หลัง“พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” ออกคำสั่งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่หร้อมอาคารประกอบ โดยเฉพาะ“สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” ชี้แจงการเสนอของบประมาณส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมกับระบบสาธารณูปโภค วงเงินกว่า8,000 ล้านบาท ที่ถูก “รัฐบาล” ท้วงติงว่า ขอเกินความจำเป็น

 ทีมดูแลโครงการรัฐสภาแห่งใหม่ นำโดย“สรศักดิ์” พร้อมด้วยทีมที่ปรึกษา และ ฝ่ายวางแผน ออกแบบระบบไอที รัฐสภาแห่งใหม่ นัดสื่อมวลชนแถลง พร้อมแจกแจงรายละเอียด โดย“สรศักดิ์” ปฏิเสธ ว่า การของบประมาณก้อนใหญ่ไม่แพงเกินไปเพราะได้คำนึงถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จะมาในอีก 20 ปีข้างหน้า รวมถึงวัสดุและอุปกรณ์ในชุดที่ใช้ในการประชุม เป็นไปตามความต้องการต่อการใช้สอย ที่เอื้อกับการใช้งานและแก้ปัญหา

 สำหรับรายละเอียดที่เสนอของบประมาณไปนั้น“สรศักดิ์” ยอมรับเป็นสูตรคิดราคาที่ได้จากการสืบราคา ไม่ใช่อ้างอิงจากราคากลางที่สำนักงบประมาณและไม่ใช่ราคาสินค้าที่วางขายตามท้องตลาด เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีคุณลักษณะเฉพาะที่เอื้อต่อการใช้ต่อกิจการของรัฐสภา ทั้งด้านความอึด ถึก และทนต่อการใช้งานที่ยาวนาน เช่น จอโทรทัศน์ ใช้สเปค อินดัสเทรล ที่รองรับการใช้งานหนัก ใช้งานเกิน24ชั่วโมง พร้อมกับต้องมีเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหา เช่น การเสียบบัตรแทนกันทำให้ต้องปรับระบบแสดงตน เป็น2 แบบคู่กัน คือ ทาบบัตร และ สแกนลายนิ้วมือ

 กับอีกประเด็นสำคัญ คือ รายการที่เสนอของบฯ มีกี่รายการและราคาจริงเป็นเท่าใด แม้ “สรศักดิ์” บอกก่อนหน้านี้ว่าจะตอบทุกคำถาม แต่ประเด็นนี้ เขากลับบ่ายเบี่ยง บอกแค่ว่า รายละเอียดมีมากถึง3 แฟ้มใหญ่หากสื่อมวลชนจะตรวจสอบ ควรไปตรวจสอบหลังจากที่เราได้รับอนุมัติงบประมาณมาณแล้ว เพราะยังขั้นตอนการจัดซื้อ การประกวดราคา ส่วนรายการที่มีหากยกให้ไปหมด เขาอาจถูกตีตาย

 ขณะเดียวกันการตรวจสอบเรื่องนี้ “เลขาฯสภา” ยอมรับว่ามีหน่วยงานตรวจสอบ2 แห่ง คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขอข้อมูลไปแล้ว

 ส่วนข้อท้วงติงที่มาจาก“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสบแห่งชาติ (คสช.), ประธานสนช. และภาคส่วนของสังคมนั้น “เลขาธิการฯสภา”ยอมรับจะพิจารณาปรับลดในรายการที่สามารถปรับลดได้ เช่น ไมโครโฟนพร้อมระบบสนับสนุน มูลค่าชุดละ1.7แสนบาท, นาฬิกาเรือนละ7.5หมื่นบาท จะไม่เอาแล้ว

 ซึ่งหมายถึงการยอมลดสเปคของวัสดุ รวมถึงอาจลดจำนวนที่สั่งซื้อ เช่น ไมโครโฟนที่คำนวณให้ 1เครื่องต่อ1คน อาจปรับให้เป็น 2 คนใช้ร่วมกัน เป็นต้น แต่ชั้นนี้ยังตอบไม่ได้ว่า จะลดวงเงินที่เสนอไปรอบแรกนั้นกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องรอหารือกับคณะทำงาน ในวันที่21 พฤษภาคมนี้

 โดยทีมงานออกแบบและวางแผนระบบไอที เตรียมรายการปรับลดวงเงินงบประมาณ และ ลดสเปคของวัสดุไว้แล้ว2-3 แนวทาง รอเพียงการเคาะของ ผู้มีหน้าที่ตัดสินใจเท่านั้นดังนั้นต้องรอดูว่า งบส่วนไอที มูลค่า6,493ล้านบาทนั้นจะลดเหลือเท่าใด

 อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ถูกซักถามถึงความชัดเจนต่อกรอบการปรับลดงบประมาณ ที่จะไม่กระทบต่อความต้องการและภารกิจของผู้แทนราษฎรในอนาคต“สรศักดิ์” ระบุว่า บางรายการจะอ้างอิงตามราคากลางของหน่วยงานรัฐ หรือราคาที่หน่วยงานราชการอื่นเคยจัดซื้อ หากวัสดุใดไม่มีราคากลางกำหนด จะใช้วิธีหารค่าเฉลี่ยของราคาขายในท้องตลาด

 กับการเสนอของบประมาณก้อนใหญ่อีกรอบที่จะมาถึง “สรศักดิ์” ยืนยันว่าต้องทำให้ผ่าน เพราะหากถูกตีกลับอีก เท่ากับว่าจะเกิดผลเสียหายทั้งโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่

 และขณะนี้ถึงขั้นทำหนังสือเป็นสัญญาต่อกันระหว่าง“สำนักงานเลขาธิการสภาฯ”กับ“บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด” ว่าจะไม่เรียกร้องค่าเสียหาย ในความล่าช้างานก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นจากกรณีนี้

 นั่นหมายถึงว่า ปมนี้อาจเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่ง ที่เอกชนใช้เป็นข้ออ้าง ขอขยายสัญญาออกไปได้

 

ประเด็นนี้ คำตอบคือ มีปัญหาต่อเนื่อ3ปียาวๆโดย“โชติจุฑา อาจสอน ที่ปรึกษาโครงการ ในทีมCAMA” บอกว่า ทีมงานเตรียมการตั้งแต่30ตุลาคม2557แต่เจอปัญหา มีข้อร้องเรียน ตลอดปี2558-2560ว่ามีต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลอื่น จนต้องสั่งสอบ และยกเลิก ทำให้ต้องเริ่มทำงานกันใหม่ จนได้ข้อยุติในที่สุด เมื่อต้นปี 2561 นี่เอง

 “ตอนที่วางแพลนไว้ คือ เดือนมกราคม2561 ต้องได้งบประมาณ จากนั้นคือขั้นตอนที่เกี่ยวข้องทั้งทำทีโออาร์ จัดซื้อจัดจ้างซึ่งใช้เวลา แต่ตอนนี้เวลาเกินเลยที่กำหนดไป 4 เดือน ดังนั้นทุกอย่างคือช้าหมด คิดง่ายๆ หากเสนองบผ่านเดือนมิถุนายน ได้งบต้องผ่านขั้นตอนต่างๆคาดว่าเดือนกันยายนถึงจะเริ่มเข้าพื้นที่วางสายงานระบบไอที ผู้รับจ้างเขาจะมีเวลาแค่4เดือนทำงานก่อนที่ทุกฝ่ายจะย้ายเข้าไปใช้อาคารปีกแรก เดือนมกราคม2562” ที่ปรึกษาให้ข้อมูล

 

แต่ด้วยเงื่อนเวลาที่ถูกเร่งรัด กับข้อท้วงติงจากฝ่าย อนุมัติงบประมาณ จึงเป็นปมเดิมพันกันว่า อาคารรัฐสภาจะเสร็จตามกำหนดเวลาหรือไม่ และอาจส่งผลต่อการขยายสัญญา จากเดิมที่รอบที่3 ต่อให้อีก 674 วัน ซึ่งจะสิ้นสุด 15 ธันวาคม 2562ไว้หรือไม่

 อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงอีกประการของการเสนอขอจัดสรรงบก้อนใหญ่ของรัฐสภานั้น ตัวเลขชุดแรกที่ถูกตีกลับมีกรอบวงเงินงบประมาณ อยู่ที่8,648 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.งานสาธารณูปโภค และงานระบบประกอบอาคาร มูลค่า 1,413 ล้านบาท, 2 .งานด้านไอที มูลค่า 6,493 ล้านบาท, 3.งานจ้างที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงานก่อสร้างสำหรับงานนอกสัญญาหลัก มูลค่า229ล้านบาท และ 4.ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครางการ, ควบคุมงานก่อสร้างและเร่งรัดงานก่อสร้าง มูลค่า512 ล้านบาท ซึ่งครม.อนุมัติส่วนที่4นี้ไปแล้ว

 ดังนั้น คงไม่ใช่แค่ งบด้านไอที ที่ต้องจับตาถึงการปรับลด แต่ยังมี งบส่วนอื่นที่ยังรอการอนุมัติ ว่าจะมีปัญหา และถูกท้วงติงอีกหรือไม่ เมื่อถึงเวลาเข้าสู่การพิจารณา ของ “ครม.”.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ