คอลัมนิสต์

วิศวกรหุ่นยนต์2ปริญญา ต้องรอทีแคสรอบ5กรกฎานี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิศวกรหุ่นยนต์2ปริญญา ต้องรอทีแคสรอบ5กรกฎานี้ : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย... ชุลีพร อร่ามเนตร  [email protected] 

 

          เตรียมเพิ่มหลักสูตรพันธุ์ใหม่ “วิศวกรหุ่นยนต์” 2 ปริญญาข้ามสถาบัน จุฬาฯ-สจล. ผลิตบัณฑิตร่วม คาดรุ่นแรกรับ 40 คน แบ่งเปิดรับตรงจุฬาฯ 20  คน สจล. 20 คน ผ่านระบบทีแคส รอบ 5 รับตรงอิสระในเดือนก.ค.นี้  รองรับความต้องการของประเทศ ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมนำร่องของประเทศ ชี้ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตร

          ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) จัดทำหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์ เพื่อเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2561 นี้ โดยการทีแคส รอบ 5 รับตรงอิสระ รุ่นแรกจะเปิดรับ 40 คน แบ่งเป็น จุฬาฯ เปิดรับตรง 20 คน และสจล.เปิดรับตรง 20 คน ผู้เรียนที่สอบติดรับตรงเข้ามหาวิทยาลัยใดจะเสียค่าใช้จ่ายและยึดตามระบบระเบียบของมหาวิทยาลัยนั้น โดยผู้เรียนจะหมุนเวียนเรียนทั้ง 2 สถาบัน และได้รับปริญญาจากทั้ง 2 แห่ง

          อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวว่า ประเทศกำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับหุ่นยนต์ หรือปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ยังไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ หรือเอไอ ได้เพียงพอกับความต้องการของประเทศ ทำให้ต้องจัดอบรมระยะสั้นเพื่อพัฒนากลุ่มสายงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรเครื่องกล ฯลฯ เพื่อพัฒนาคนให้ตอบสนองการพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว 

 

วิศวกรหุ่นยนต์2ปริญญา ต้องรอทีแคสรอบ5กรกฎานี้

 

          อีกทั้งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยไทยจะมุ่งจับมือกับมหาวิทยาลัยต่างชาติ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกัน ดังนั้นหลักสูตรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ จากความร่วมมือของ 2 สถาบัน จึงเป็นการพัฒนาหลักสูตรที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถของทรัพยากรบุคคลให้สามารถแข่งขัน โดยการเรียนการสอนจะอาศัยบูรณาการความรู้ร่วมกัน และผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญา


          ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสจล. กล่าวว่า ความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อตอบสนองวาระแห่งชาติในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ตรงกับความต้องการของประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบันพบว่าในด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้อยู่มาก 2 หลักสูตรดังกล่าว ถือเป็นต้นแบบให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้เห็นถึงความสำคัญในการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน 

          ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีศักยภาพแตกต่างกันไป ความร่วมมือจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ ดึงจุดเด่นของแต่ละที่มาร่วมเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกัน ภายใต้การใช้ทรัพยากรทางวิชาการร่วมกัน ตลอดจนส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกันเพื่อการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ อีกทั้งยังส่งเสริมความร่วมมือในการให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อีกด้วย
“หลักสูตรดังกล่าวจะรับนักเรียน ม.6 ที่มีความรู้ความสามารถ และสนใจงานด้านนี้ โดยจะเปิดรับโดยพิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงาน (พอร์ตโฟลิโอ) ซึ่งเด็กที่ได้เหรียญจากการแข่งขันระดับโลก เช่น โอลิมปิกวิชาการ จะถือว่ามีแต้มต่อที่สูง หากหลักสูตรเรียบร้อยผ่านการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับทราบ ก็จะเปิดรับสมัครนักเรียนทันที ซึ่งการรับหลักสูตรนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะเป็นการสนองนโยบายรัฐบาล และได้รับอนุมัติแล้วจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และจะเปิดเรียนได้ทันเดือนสิงหาคมนี้ แน่นอน และในระยะยาว สจล.มุ่งเป้าที่จะเข้าไปร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อยกระดับศักยภาพในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" อธิการบดีสจล. กล่าว

 

วิศวกรหุ่นยนต์2ปริญญา ต้องรอทีแคสรอบ5กรกฎานี้

 

          ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งมีความเชี่ยวชาญ และมีศักยภาพในการผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ แต่การจะให้แต่ละแห่งมาเปิดหลักสูตรใหม่ ก็อาจจะดำเนินการได้ล่าช้ากว่าจะเปิดสอน หากเปิดหลักสูตรร่วมกันจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกัน และเป็นการดึงศักยภาพของแต่ละที่มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนด้านนี้ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น หลักสูตรดังกล่าวไม่ว่าจะเรียนที่จุฬาฯ หรือสจล. ผู้เรียนได้ความรู้จากทั้ง 2 แห่งอย่างแน่นอน
   
          สำหรับระบบการเรียนการสอนนั้น หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรใหม่ การเรียนการสอนจะมีการบรรยายไม่เกิน 100 หน่วยกิต เน้นการปฏิบัติงาน เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ โดยยึดตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ดูรายละเอียดได้ที่ www.eng.chula.ac.th หรือที่ www.kmitl.ac.th

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ