คอลัมนิสต์

เปิดกฎหมายอีอีซีให้อะไร - เว้นอะไร 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดกฎหมายอีอีซีให้อะไร - เว้นอะไร  : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน   โดย...  อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

 

          เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา “ราชกิจจานุเบกษา” ได้ลงประกาศ “พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” หรือที่เราเรียกกันว่า พระราชบัญญัติอีอีซี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจของรัฐบาล และที่ผ่านมาก็มีการตีปี๊บโปรโมทผลงานครั้งนี้ไม่น้อย ซึ่งการนำ “แจ็ค หม่า” มาร่วมลงทุนก็เป็นหนึ่งในโครงการอีอีซีด้วย

          แต่เราลองมาดูกันว่า กฎหมายฉบับนี้ได้ให้สิทธิพิเศษอะไรกับนักลงทุน หรือมีอะไรที่เราต้องเตรียมตัวรับกันบ้าง

          มาตรา 6 ได้กำหนดพื้นที่อีอีซีไว้ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราช
          กฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

          ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 ได้กำหนดว่า การดำเนินโครงการหรือกิจการใดภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชนหรือชุมชนตามที่มีให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงานประเมินผลภายใน 120 วัน นับแต่ได้รับรายงาน

          และการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย สามารถทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามกฎหมายเดิมกำหนดเฉพาะให้ผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

          ในมาตรา 33 ยังระบุกรณีที่หากมีความจำเป็นในการสนับสนุนหรืออำนวยความสะดวก แล้วเป็นหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งหรือหลายหน่วย   ครม.สามารถกำหนดให้ทั้งหมดหรือบางหน่วยเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวได้   

          หรือหากมีกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับอนุมัติหรืออนุญาตจากหน่วยงานรัฐหน่วยงานใด ให้กรรมการนโยบายเป็นผู้อนุมัติแทนหน่วยงานได้เลย และให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจมีหน้าที่อนุมัติ สามารถทำได้เพียงการอำนวยความสะดวกแก่หน่วยงานที่สำนักงานอีอีซี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย


          ขณะที่ มาตรา 43 ยังกำหนดให้ การกระทำใดภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังต่อไปนี้ (1) กฎหมายว่าด้วยการขุดดินและถมดิน (2) กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร (3) กฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนเครื่องจักร (4) กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข (5) กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เฉพาะเพื่อการอนุญาตให้คนต่างด้าวตามมาตรา 45(1) หรือ (2) อยู่ต่อในราชอาณาจักร (6) กฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ (7) กฎหมายว่าด้วยโรงงาน และ (8) กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หากกฎหมายกำหนดให้ผู้ดำเนินการหรือผู้กระทำต้องได้รับอนุมัติใบอนุญาต ก็ให้ถือว่าเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายอีอีซี เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ

          เรียกได้ว่ามีอำนาจแทนหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญกันเลยทีเดียว

          นอกจากเรื่องอนุมัติที่ไม่ต้องทำตามกฎหมายปกติแล้ว ยังมีเรื่องสิทธิประโยชน์อีกมาก ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อการประกอบกิจการหรือห้องชุดเพื่อการประกอบกิจการ หรือการอยู่อาศัยตามมาตรา สิทธิในการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร สิทธิในการที่จะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน สิทธิประโยชน์อื่นตามมาตรา ซึ่งก็เป็นอำนาจของกรรมการกำหนดนโยบาย

          ส่วนเรื่องที่ดินนั้น มาตรา 49 กำหนดให้ ผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือห้องชุดภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน  ซึ่งตามปกติคนต่างด้าวไม่สามารถที่จะถือครองที่ดินหรือกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้เลย 

          รวมถึงการให้บุคคลผู้มีความรู้ความสามารถพิเศษอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและก่อให้เกิดนวัตกรรมเข้ามาประกอบกิจการหรือทำงานได้ และอาจได้รับการลดหย่อนภาษี สิทธิเกี่ยวกับการเข้าเมืองและการขออนุญาตตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนดก็ได้ และสิทธิดังกล่าวรวมถึงบุพการีและบุตรด้วย

          สำหรับการเช่าที่ หรือเช่าช่วงอสังหาริมทรัพย์ กำหนดว่า “มิให้นำความในมาตรา 540 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับ” โดยสามารถเช่าได้เป็นเวลาถึง 50 ปี และต่อสัญญาได้อีก 49 ปี  

          หมายความว่าการเช่าที่ดินสามารถเช่าได้ถึง 99 ปี  หรือเกือบ 1 ศตวรรษกันเลยทีเดียว  

          ส่วนเรื่องคนทำงานนั้นก็ยกเว้นกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยสามารถนำคนต่างด้าวดังต่อไปนี้เข้ามาทำงานได้แม้จะเกินระยะเวลาที่กำหนดก็ตาม

          ขณะที่ผู้นำเข้าหรือส่งออกก็จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

          จะเห็นได้ว่ากฎหมายอีอีซีฉบับนี้มีสาระสำคัญอยู่ที่การยกเว้นกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจตามกฎหมายหลายฉบับ โดยมีเป้าประสงค์เพียงเพื่อเร่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ที่เข้ามาร่วมลงทุนจะมีความได้เปรียบและสิทธิประโยชน์มากมาย

          และในทางกลับกันย่อมเป็นความเสียเปรียบในอีกหลายๆ ทางของประเทศชาติและประชาชน  แต่รัฐบาลน่าจะคิดว่า “คุ้ม” เมื่อแลกกับการเจริญเติบโตและความก้าวหน้าที่จะได้มา

          ที่เหลือเวลาก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สิ่งที่ทำมาได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ขอแค่ประโยชน์ที่ว่า ระหว่างทางอย่าไปตกถึงมือใครคนใดคนหนึ่งก็พอ เพราะเท่าที่ดูอำนาจของคณะกรรมการอีอีซีช่างมหาศาลเสียนี่กระไร 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ