คอลัมนิสต์

บทเรียนราคาแพงเมื่อพ่อแม่ทิ้งลูกอยู่ลำพัง..!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บทเรียนราคาแพงเมื่อพ่อแม่ทิ้งลูกอยู่ลำพัง..!! : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย... ทีมข่าวอาชญากรรม

 

          ความสูญเสียเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ไม่มีใครอยากให้เกิดก่อนเวลาอันควร โดยเฉพาะ “พ่อแม่” ที่ไม่ว่าคนไหนก็ไม่อยากเห็นลูกอันเป็นแก้วตาดวงใจต้องสิ้นลมหายใจจากไปก่อนตัวเอง ซึ่งเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็มักจะ “พรากชีวิต” แบบคาดไม่ถึงได้เสมอ

          ดึกสงัดของแต่ละวันเป็นช่วงนอนหลับพักผ่อนของผู้คนส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่สำหรับ รัตติกาล ประกายแก้ว “คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว” ที่ต้องออกไปทำงานกลางคืน เพื่อจุนเจือครอบครัว โดยเฉพาะปากท้องของลูกๆ 4 คน ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-สวิส ได้แก่ “น้องดีดี้” พาเมลา โบเรล อายุ 11 ขวบ “น้องต้นกล้า” ลูก้า โบเรล อายุ 10 ขวบ “น้องดานี่” ชนิดา โบเรล อายุ 7 ขวบ และ “น้องอเล็กซ์” คนัธชา โบเรล อายุ 5 ขวบ แม้ทุกวันจะมีตากับยายของเด็กๆ คอยดูแล แต่เมื่อถึงเวลาต้องนอนหลับพักผ่อน หนูน้อยทั้ง 4 คน ก็ต้องอยู่กันเองตามลำพัง โดยมี “น้องดีดี้” พี่สาวคนโตเป็นคนดูแลน้องๆ แทน 

 

บทเรียนราคาแพงเมื่อพ่อแม่ทิ้งลูกอยู่ลำพัง..!!

 

          และแล้วการอยู่เพียงลำพังของหนูน้อย 4 พี่น้องลูกครึ่งไทย-สวิส ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เพราะเช้าวันใหม่เวลาประมาณ 01.30 น. วันที่ 1 พฤษภาคม หนูน้อยเกิดอุบัติเหตุร่วงจากระเบียงหลังห้องพักชั้น 4 ย่านรามคำแหง 34 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. ส่งผลให้น้องคนสุดท้องเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 5 ขวบ ส่วนพี่ๆ อีก 3 คน บาทเจ็บสาหัส เรื่องราวที่เกิดขึ้นแม้ไม่ใช่เหตุสะเทือนขวัญ แต่เป็นเหตุการณ์สุดสะเทือนใจของผู้เป็นแม่และผู้คนในสังคมที่ได้รับรู้เรื่องราว หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจึงเร่งมือเข้าเยียวยา


          คล้อยหลังความสลดหดหู่ไม่กี่วัน สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงเกี่ยวกับ “บทเรียน” กรณีเด็กตกตึก และเด็กตายในเนิร์สเซอรี่ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพิเคราะห์ถึงการประเมินสถานการณ์การให้เด็กอยู่บ้านตามลำพัง พ่อแม่จะประเมินสถานการณ์อย่างไรเมื่อเด็กต้องอยู่คนเดียว รวมถึงหน่วยงานใดที่มีหน้าที่ช่วยเหลือเด็กลักษณะนี้

 

บทเรียนราคาแพงเมื่อพ่อแม่ทิ้งลูกอยู่ลำพัง..!!

 

          รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า โดยหลักการแล้วเด็กจะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองเมื่ออายุประมาณ 12 ปี แต่เด็กต้องได้รับการฝึกฝน ได้รับการสอน จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย และได้รับการประเมินแล้วว่าสามารถอยู่ได้ตามลำพัง โดยต้องฝึกเด็กตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป มีการฝึกการทดสอบการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงกรณีฉุกเฉินด้วย ซึ่งเป็นลักษณะเด็กอยู่คนเดียว (Home Alone) 

          กรณีเด็ก 4 พี่น้องลูกครึ่งไทย-สวิสไม่ใช่ลักษณะเด็กอยู่คนเดียว แต่มีพี่คนโตวัย 11 ปี ต้องดูแลน้องอีก 3 คน ซึ่งฝ่ายคุณตาเล่าว่าเหตุน่าจะเกิดจากพี่คนโตช่วยแม่ล้างจาน อาจทำจานตกลงไปก่อน และจะเก็บจานอาหารที่ทำตกลงไป ทำให้พลัดตก น้องๆ อีก 3 คน ก็พยายามที่จะช่วยเหลือพี่ทำให้ตาข่ายรับน้ำหนักไม่ไหว ซึ่งหากพี่ไม่เก็บจานหรือน้องๆ ใช้วิธีการเรียกเพื่อนบ้านมาช่วย อาจจะไม่เกิดเป็นเหตุการณ์ที่ต้องมีการบาดเจ็บสูญเสียแบบนี้ 

 

บทเรียนราคาแพงเมื่อพ่อแม่ทิ้งลูกอยู่ลำพัง..!!

 

          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าเด็กอยู่คนเดียว หรือเด็กที่ต้องดูแลน้องโดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ ต้องมีทั้งวุฒิภาวะ และต้องได้รับการฝึกฝน โดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก ได้จัดทำโครงการทักษะความปลอดภัยที่แบ่งตามอายุของเด็ก 10 ทักษะความปลอดภัยที่เด็กต้องเรียนรู้ในโรงเรียน โดยพฤติกรรม Home Alone จะเริ่มสอนตอนอายุ 10 ปี ให้เด็กเรียนรู้เรื่องการตัดสินใจ การแก้ปัญหาฉุกเฉิน การถูกล่อลวง ฯลฯ ขณะเดียวกันเหตุฉุกเฉินมีอีกหลายกรณีไม่ใช่เรื่องเด็กตกตึกเท่านั้น ดังนั้น ต้องช่วยกันสร้างแนวคิดให้สังคมหันมาสนใจ โดยต้องยกระดับความรู้สึกร่วมรับผิดชอบให้เพิ่มขึ้น

          “ตอนนี้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ คือ บ้านพักเด็ก ซึ่งมีครบทุกจังหวัด แต่ไม่เพียงพอรองรับได้ไม่หมด สิ่งที่พยายามเรียกร้องคือ การคุ้มครองเด็กระดับท้องถิ่น ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อให้ท้องถิ่น ชุมชน ไม่ต้องส่งเด็กมาที่บ้านพักเด็กซึ่งมีเพียง 1 แห่งต่อ 1 จังหวัด จึงต้องมีการผลิตนักพัฒนาเด็กและครอบครัวชุมชนให้เกิดขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาศูนย์เด็กบ้านหลังเรียน พัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่สามารถรองรับเด็กได้ ลักษณะเหมือนโรงเรียนประจำ และใช้พื้นที่ในชุมชนเช่นพื้นที่โรงเรียนเพื่อเป็นศูนย์ในการดูแลเด็กกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในช่วงวันหยุด ช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาเพื่อขยายงานในการคุ้มครองเด็กของบ้านพักเด็กให้ลงถึงชุมชนได้” รศ.นพ.อดิศักดิ์ ระบุ

 

บทเรียนราคาแพงเมื่อพ่อแม่ทิ้งลูกอยู่ลำพัง..!!

 

          ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก จะต้องมีข้อมูลให้พ่อแม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ ซึ่งในความเป็นจริงมีอยู่แล้ว แต่พ่อแม่ไม่ไปขอความช่วยเหลือ แต่ถึงอย่างไรเรื่องนี้ยังขาดความชัดเจนต่อสังคมไทย เนื่องจากกรณีเด็ก 4 คน ควรจะถูกค้นพบปัญหาได้ตั้งแต่เพื่อนบ้าน ไม่ใช่เห็นว่าพี่เป็นเด็กดีสามารถดูแลน้องได้ ซึ่งในความเป็นจริงเด็กอายุ 11 ปี ไม่ควรดูแลน้องถึง 3 คนตามลำพัง เพื่อนบ้านต้องโทรแจ้ง 1300 เพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือ โรงเรียนที่มีกระบวนการเยี่ยมบ้านเด็ก เมื่อครูพบว่าเด็กนักเรียนของตนเองอายุ 11 ปี ต้องอยู่บ้านตามลำพังข้ามคืน โดยต้องดูแลน้องถึง 3 คนและยังดูแลน้องที่มีเด็กอายุต่ำสุด 5 ขวบอีก ครูต้องไปเยี่ยมบ้านและต้องตัดสินใจให้การช่วยเหลือเด็ก ดังนั้น การลงสำรวจพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ของบ้านพักเด็ก รวมถึงโรงเรียนที่มีกระบวนการให้ครูเยี่ยมบ้านเด็ก มีความจำเป็นมาก เมื่อพบเด็กอยู่คนเดียวตามลำพัง ต้องดูแลน้องตามลำพังกลางคืน หรือเพื่อนบ้าน ต้องโทรแจ้ง 1300 เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่

          การสูญเสียลูกชายคนสุดท้องวัยเพียง 5 ขวบ และลูกอีก 3 คน ยังนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล นับว่าเป็นวิบากกรรมครั้งใหญ่สุดในชีวิตของหญิงที่ชื่อ “รัตติกาล” ซึ่งเธอเล่าทั้งน้ำตาว่า ขอขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง และขอบคุณทุกคนที่โอนเงินบริจาคช่วยเหลือ ซึ่งหลังจากนี้จะนำเงินไปดูแลรักษาลูกทั้ง 3 คน และจะนำเงินส่วนหนึ่งไปเป็นทุนประกอบอาชีพ เพราะไม่อยากออกไปทำงานและทิ้งลูกไว้ตามลำพังอีกแล้ว หลังจากนี้ก็จะหาห้องใหม่ โดยได้ไปคุยกับทางนิติบุคคลของอาคารแล้วว่าจะขอย้ายลงมาชั้นล่าง และได้ไปดูห้องแล้ว ซึ่งห้องมีสัดส่วนพื้นที่กว้างขวางพอจะดูแลลูกและให้ลูกพักฟื้นได้

 

บทเรียนราคาแพงเมื่อพ่อแม่ทิ้งลูกอยู่ลำพัง..!!

 

          ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม 2558 ก็มีเหตุการณ์เด็กชายอายุเพียง 3 ขวบ พลัดตกจากคอนโดชั้น 8 ลงมาเสียชีวิต ที่ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยครั้งนั้นผู้เป็นพ่อปล่อยลูกน้อยไว้ในห้องเพียงลำพังเพียง 10 นาที เพื่อไปเอาของที่ชั้นล่าง พอกลับมาก็สายเกินไปที่จะช่วยลูกให้พ้นจากความตายก่อนวัยอันควรได้ จึงสะท้อนให้เห็นว่า แม้จะเพียงเวลาสั้นๆ พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็ไม่ควรทิ้งลูกเอาไว้เพียงลำพัง !!

          จากเหตุสลดที่เกิดขึ้นกับ “รัตติกาล” สะท้อนให้เห็นความจำเป็นและจำใจของคนเป็นพ่อแม่ ที่ต้องทิ้งลูกไว้แม้จะไม่อยากทำ แต่ความจนมันน่ากลัว การคำนึงถึงลูกว่าต้องกินอิ่มนอนหลับจึงมาก่อนความปลอดภัยที่นึกไม่ถึง และยังมีอีกหลายครอบครัวที่ประสบชะตากรรมปัญหาปากท้องแบบนี้ เพียงแต่ไม่เป็นข่าว หรือเกิดเรื่องราวสะเทือนใจ หลายครอบครัวพยายามสู้ด้วยลำแข้งเพียงลำพัง โดยไม่ยื่นมือง้อขอใครช่วย แต่จริงๆ แล้ว สามารถโทรแจ้งหมายเลข 1300 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ก่อนสิ่งที่กระทำและดำเนินอยู่จะกลายเป็นบทเรียนราคาแสนแพงไปตลอดชีวิต..!!

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ