คอลัมนิสต์

กทม.ยึดคืนหอศิลป์?ถ้าจะดับฝันมวลชน..ไม่ง่าย!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทม.ยึดคืนหอศิลป์?ถ้าจะดับฝันมวลชน..ไม่ง่าย! : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน

 

          เรื่องราวที่สภากรุงเทพมหานครจะนำหอศิลป์กรุงเทพฯ กลับไปดูแลเองทำเอาสังคมใจหายใจคว่ำ จนถึงกับออกมาล่ารายชื่อร่วมแสดงจุดยืน “ไม่เห็นด้วย” และลามไปถึงการเสนอให้ถอดผู้ว่าฯ คนปัจจุบันออกไป

          วันนี้คำตอบล่าสุดจากปากผู้ว่าาชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อาจทำให้หลายคนพอโล่งใจ

          แต่ถ้าย้อนไปดูก็ยังอยากรู้ว่าเอาเข้าจริงๆ เหตุผลที่ต่างฝ่ายต่างอ้างเอ่ยมีหลักคิดอะไรกันแน่ 

          คำอธิบายชุดแรกอาจเรียกว่าเป็นเรื่องราวของหนทางพิสูจน์หัวใจ เพราะการก่อเกิดของหอศิลป์ กทม. ที่ผ่านยุคสมัยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถึง 3 สมัย สะท้อนว่ากว่าจะได้มามันไม่ง่ายเลย! 

          หากนับจุดตั้งต้นจริงๆ ตั้งแต่ปี 2537 ในการประชุมเตรียมการนิทรรศการครบรอบ 20 ปี ของ “แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” โดยวงนั้นมีการพูดคุยถึงการจัดนิทรรศการครั้งใหญ่ เพื่อแสดงภาพรวมของศิลปะในรัชกาลที่ 9

          ที่สุดราวกับมีใครกดปุ่ม จู่ๆ ประกายไฟแห่งการจัดตั้งหอศิลป์ขนาดใหญ่จึงเกิดขึ้น เมื่อผู้ว่าฯ กทม. พิจิตต รัตตกุล หรือ “ดร.โจ” ได้ตกลงกับคณะกรรมการโครงการศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ที่จะจัดสร้างหอศิลปะร่วมสมัยขึ้น จนมีการเซ็นอนุมัติโครงการในวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 จัดงบปี 2544 ไว้ 185 ล้านบาท

 

กทม.ยึดคืนหอศิลป์?ถ้าจะดับฝันมวลชน..ไม่ง่าย!


          แต่แล้วการเดินทางของหอศิลป์ที่ทำท่าว่าจะมีอนาคตสดใสก็มีอันสะดุดลงในยุคสมัยของผู้ว่าฯ สมัคร สุนทรเวช (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว)

          โดยราวปี 2544 เขาประกาศยกเลิกและทบทวนโครงการโดยให้เหตุผลว่า กทม. ไม่มีงบประมาณมากมายขนาดนั้น ข่าวช่วงนั้นระบุว่า งบปาเข้าไปถึง 300 ล้านบาท!

          แต่ผู้ว่าฯ หมัก กลับปิ๊งไอเดียที่จะเปลี่ยนหอศิลป์เป็นพื้นที่การค้าตามรูปแบบการใช้พื้นที่แถบนั้นแทน คือ มีแผนสร้างอาคารสูง 30 ชั้น ทำศูนย์การค้า อาคารที่จอดรถ โดยมีสัดส่วนการใช้ประโยชน์อาคารจัดแสดงงานศิลปะ 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ และอีก 50 เปอร์เซ็นต์จะทำคอมเพล็กซ์ มีร้านค้า ศูนย์อาหาร

          แน่นอนหนนั้นบรรดาศิลปินและคนทํางานศิลปะออกมาเคลื่อนไหวกันครึกโครมเกิดเป็น ‘เครือข่ายศิลปินรณรงค์เพื่อหอศิลป์ร่วมสมัยเฉลิมพระเกียรติแห่งกรุงเทพมหานคร’ ขึ้น

          ที่ฮือฮาคือการจัดกิจกรรมวาดภาพเขียนยาว 4 กิโลเมตร ในหัวข้อ “ฉันเรียกร้องหอศิลป์ ไม่เอาศูนย์การค้า” การจัด “ART VOTE” โหวตเพื่อหอศิลป์ ฯลฯ จนมีการฟ้องร้อง ซึ่งศาลปกครองกลางได้ประทับรับคำร้อง โครงการสุดยดโปรเจกท์ของผู้ว่าฯ หมัก จึงยังไม่เกิดขึ้น 

 

กทม.ยึดคืนหอศิลป์?ถ้าจะดับฝันมวลชน..ไม่ง่าย!

 

          แต่แล้วโครงการได้กลับมาเริ่มเดินหน้าอีกครั้งในยุคของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ราวช่วงปี 2547 เกิด ‘ปฏิญญาศิลปวัฒนธรรม’ ข้อตกลงระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่จะร่วมกันพัฒนางานด้านศิลปวัฒนธรรมกันสืบไป โดยมี “มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ที่จะเป็น “ผู้ดูแล” หอศิลป์ของคนเมืองแห่งนี้

          งบประมาณการจัดสร้างในยุคของผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ที่สุดแล้ว สภากทม.อนุมัติงบประมาณด้วยตัวเลขการก่อสร้างเหนาะๆ 504 ล้านบาท! โดยมีการเปิดโครงการเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2548 กระทั่งแล้วเสร็จเปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ.2551

          คนไทยสมใจได้หอศิลป์กรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่ที่สี่แยกปทุมวัน เป็นอาคารสูง 9 ชั้น (ไม่รวมชั้นใต้ดิน) มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 25,000 ตร.ม. ทั้งห้องแสดงงานศิลปะ พื้นที่โถง ห้อง Auditorium ขนาด 222 ที่นั่ง เป็นโรงภาพยนตร์และจัดการแสดงต่างๆ ห้องสตูดิโอ จุคนได้ 250 คน ห้องประชุม ห้องสมุด ส่วนเก็บรักษาผลงานศิลปะ พื้นที่ร้านค้า และพื้นที่จอดรถ

          โดยใครๆ ก็สามารถไปทำกิจกรรม ทั้งแสดงดนตรี จัดฉายหนัง หรือจัดอีเวนท์ต่างๆ ได้ นอกเหนือจากการแสดงงานศิลปะล้วนๆ ได้

          ทั้งนี้กรรมการมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะมีผู้ว่าฯ  กทม. เป็นประธาน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 13 คน โดยมีวาระ 2 ปี และยังมีคณะกรรมการบริหารมูลนิธิที่ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยการแต่งตั้งจากกรรมการมูลนิธิรวม 10 ท่าน

 

กทม.ยึดคืนหอศิลป์?ถ้าจะดับฝันมวลชน..ไม่ง่าย!

 

          ปัจจุบัน อภิรักษ์ โกษะโยธิน ยังคงนั่งเป็นประธานกรรมการมูลนิธิ และมี ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต เป็นประธานกรรมการบริหารหอศิลป์ โดยยังมีคณะกรรมการที่ปรึกษาอยู่อีกชุด ซึ่งเป็นบุคลากรจากทางกทม. แน่นอน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธานกรรมการที่ปรึกษาและยังมีปลัดและรองปลัดกทม.ร่วมในกรรมการที่ปรึกษาด้วย

          เวลาผ่านมาถึงยุคของผู้ว่าฯ อัศวิน มุมมองของหอศิลป์ถูกตีความใหม่ โดยคำอธิบายอีกชุดจากฟากฝั่งของกทม. ที่มีแนวคิดที่จะนำหอศิลป์กลับมาดูแลเอง มาจากการตีความโดย “สภากรุงเทพมหานคร” ซึ่งคนละชุดกับอดีตแน่นอน เพราะเป็นชุดของ ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภา กทม. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนหน้า ผู้ว่าฯ อัศวิน ตามมาราว 2 ปีเท่านั้น!

          สภากทม.ชุดนี้ให้ข้อสังเกตว่า การบริหารหอศิลป์นั้น มูลนิธิไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับกทม. เพราะเป็นนิติบุคคล เข้าข่ายเป็นเอกชนตามมาตรา 96 และการเข้ามาบริหารของมูลนิธิไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภากทม. และรมว.มหาดไทย จึงอาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว

          สำหรับข้อเสนอเบื้องต้นช่วงที่เป็นข่าวมี 2 แนวทางคือ 1.ให้มูลนิธิดำเนินการให้ถูกต้อง คือให้สภา กทม.เห็นชอบ รมว.มหาดไทยลงนาม แล้วบริหารต่อไป หรือ 2.กทม.นำมาบริหารเอง

          ทั้งนี้ มูลนิธิมีสัญญาบริหารหอศิลป์เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2554 จะหมดสัญญาในปี 2564 มีความเป็นไปได้ที่ว่าอาจรอให้หมดสัญญาดังกล่าวก่อน เพราะที่ผ่านมา กทม.ได้สนับสนุนงบประมาณให้หอศิลป์ปีละกว่า 40 ล้านบาท มีเพียงปีที่ผ่านมาที่ไม่ได้ให้งบประมาณ แต่ดูเรื่องของค่าน้ำค่าไฟ

 

กทม.ยึดคืนหอศิลป์?ถ้าจะดับฝันมวลชน..ไม่ง่าย!

 

          ที่สุดสิ่งนี้ทำให้ศิลปินต้องออกมาคัดค้านจำนวนมากอีกครั้งโดยข่าวจากผู้จัดการไลฟ์ ระบุคำชี้แจงของ ‘ปวิตร มหาสารินันทน์’ กรรมการหอศิลป์ ระบุว่า มูลนิธิมีสัญญาโอนสิทธิ์การดูแลบริหารจัดการถูกต้องครบถ้วน

          ส่วนข่าวที่ว่ามูลนิธิมีการบริหารจัดการขาดทุนมากกว่า 80 ล้านบาท ก็ไม่เป็นความจริง หากแต่ตัวเลขปีที่แล้ว หอศิลป์มีค่าใช้จ่ายทั้งหมด 75 ล้านบาท โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก กทม. 45 ล้านบาท แต่ก็ยังมีเงินที่สนับสนุนโดยบริษัทห้างร้านต่างๆ หรือจากการบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งปีที่แล้วทางหอศิลป์หาเงินได้เอง 37 ล้านบาท หากรวมกับที่ กทม.ให้มารวมแล้วเท่ากับ 82 ล้านบาท

          ขณะที่หากถามถึงกิจกรรมต้องเรียกว่าเป็น “ขาขึ้น” ด้วยซ้ำ เพราะที่นี่มีกิจกรรมตกปีละราว 400 กว่ากิจกรรม

          หันมาข้างประชาชน แน่นอนถ้าจับสัญญาณดูแล้ว เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนโยงไปเรื่องการเมือง! เพราะในเมื่อพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แสดงออก และที่ผ่านมามีกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และกลุ่มอื่นๆ ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยใช้พื้นที่หน้าหอศิลป์เปิดฉากแสดงจุดยืนทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง

          แต่ขณะเดียวกันกระแสคัดค้านจากศิลปิน ประชาชน และคนหลากหลายวงการ จนมีการรณรงค์เข้าชื่อคัดค้านผ่านทาง change.org เมื่อ 12 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ก็ไม่ควรดูเบาว่าจะนำพาไปถึงจุดไหนได้บ้าง?

          ก็ไม่รู้ว่าเพราะพลังเหล่านี้หรือไม่ที่ทำให้ประโยคนี้ออกมาจากปากของพ่อเมืองกทม.ทางเฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน ในช่วงเย็นของวันที่ 14 พฤษภาคม ระหว่างที่การล่ารายชื่อยังคงดำเนินต่อไป

 

กทม.ยึดคืนหอศิลป์?ถ้าจะดับฝันมวลชน..ไม่ง่าย!

 

           “Ars longa vita brevis” ซึ่งแปลได้ว่า ”ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”

          “ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนมีพื้นที่สาธารณะปราศจากการแทรกแซงเพื่อสร้างสรรค์งานศิลป์ ไม่ว่าจะใช้เพื่อการแสดงออก เพื่อศึกษาหรือร่วมแบ่งปันงานศิลป์ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในจุดสำคัญของประเทศที่ใช้ในการทำกิจกรรมเหล่านี้”

          "กทม.ไม่เคยคิดและไม่มีทางที่จะทำลายสถานที่แสดงศิลปะและวัฒนธรรม เพียงแต่ต้องการพัฒนาสถานที่นี้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย กทม.ก็จะไม่เข้าไปยุ่ง”

          แน่นอนสิ่งนี้หลายคนอดตีความไม่ได้ว่า กทม. กำลังถอยแล้ว!

          แต่แม้ว่าจะเป็นเช่นนั้นคนไทยก็ยังต้องรอดูต่อไป เพราะสัญญาการบริหารหอศิลป์ที่กำลังจะหมดในปี 2564 อาจจะมีเซอร์ไพรส์อีกรอบก็ได้!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ