คอลัมนิสต์

หลังได้สิทธิ์คนไทย  "มานิ" ชนเผ่าตกสำรวจจะไปต่ออย่างไร 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ"คนป่า" ได้สิทธิความเป็นคนไทย สิ่งที่ท้ายทายคือ เขาจะใช้ชีวิตอย่างไร ท่ามกลางสังคมภายนอกที่มีทั้งยาเสพติดและสิ่งยั่วเย้ามากมาย โดยปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย

          ภายหลังกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้รับการประสานจากเอ็นจีโอกลุ่มบางกอกคลินิก ขอให้เข้าช่วยเหลือเสิร์ฟสิทธิความเป็นคนไทยให้กับคนป่าตกสำรวจ "เผ่ามานิ" ซึ่งตั้งถิ่นพำนักอยู่ในจ.สตูล  นับจากปี 2553  มีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง พบว่า "มานิ"เป็นชนเผ่าที่กลุ่มชาติพันธุ์ติดแผ่นดินไทยมานานนับร้อยปี  หรือที่คนเมืองเรียกขานในชื่อ เงาะป่า ซาไก แต่ที่ผ่านมาการดำเนินการของจังหวัดยังมีข้อขัดข้อง

            การเรียกร้องเพื่อให้สิทธิความเป็นคนไทยให้"มานิ" ถูกผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง "มานิ"ในทับของ เฒ่าไข่ หรือ ไข่ ศรีมะนัง และแอ๊ด ศรีมะนัง  ลูกชาย ได้รับบัตรประชาชน  แต่ครั้นจะขยายสิทธิให้ครอบคลุมสมาชิกในครอบครัวอีกเกือบ 50 ชีวิต ฝ่ายปกครองก็ถามหาหลักประกันเพื่อความเชื่อมั่นไม่ให้มีการนำบุคคลนอกชาติพันธุ์ "มานิ"เข้ามาสวมสิทธิ

             ปลายปี 60 กระทรวงยุติธรรม จึงส่งทีมนักนิติวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่ตรวจดีเอ็นเอ สร้างฐานข้อมูลดีเอ็นเอพร้อมแผนผังครอบครัว ใช้เป็นหลักฐานประกอบการออกบัตรประชาชน แต่ก็ยังมี"มานิ"หลายชีวิตที่หวาดกลัวการตรวจเลือด หลบหนีเข้าป่าทำให้ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันอีกพักใหญ่  

             หลังได้สิทธิ์คนไทย  "มานิ" ชนเผ่าตกสำรวจจะไปต่ออย่างไร 

             สุดท้ายกรมคุ้มครองสิทธิและหน่วยงานภาคีต้องทำความเข้าใจกับฝ่ายปกครองถึงอัตลักษณ์ที่ชัดเจนของชาวมานิ เริ่มจากลักษณะเบ้าหน้าเป็น นิกโกร-นิกกรอย ผิวดำ ผมหยิกติดหนังศีรษะ ต่างจากชาวเลมอร์แกนและชาติพันธุ์อื่น จึงยากที่จะนำคนสัญชาติอื่นมาสวม  

            ที่สำคัญ "ชาวมานิ" ตกสำรวจหลงเหลืออยู่ในป่าไม่เกิน 400 คน กระทรวงมหาดไทย จึงไม่ขัดข้องยอมให้บัตรประชาชนกับ"มานิ"ทุกคน โดยไม่ต้องตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ

          หลังชาว "มานิ"ได้รับบัตรประชาชน เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน " ปิติกาญจน์ สิทธิเดช"  อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ลงพื้นที่ติดตามความเป็นอยู่ของ มานิ อีกครั้ง พร้อมเปิดเผยว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯ เข้ามาช่วยเหลือผลักดันการพิจารณาให้สถานะบุคคลแก่ชาวมานิ เพื่อให้เข้าถึงสิทธิและหน้าที่ รวมถึงมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะ "มานิ" เป็นกลุ่มดั้งเดิม เป็นคนไทยตกสำรวจ มีถิ่นอาศัยอยู่ในเทือกเขาบรรทัด โดยชาว"มานิ"จะย้ายถิ่นฐานตามแหล่งอาหารที่สมบูรณ์กว่าทำให้ตกสำรวจการทำสำมะโนประชากร แต่ปัจจุบันความสมบูรณ์ของอาหารในป่าเริ่มลดลง ชาวมานิจึงมีความคิดไม่อยากเคลื่อนย้าย และเข้ามารับจ้างทำงานมากขึ้น

     

             "หลังได้รับบัตรประชาชนแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ ชุมชน และชาวมานิ เพื่อวางแผนร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้มีความสมดุลในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมปัจจุบัน อีกทั้ง"มานิ"ยังมีหน้าที่ต้องไปเลือกตั้งและเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายชาวสตูลที่ได้รับเลือกเป็นมรดกโลกด้านธรณีวิทยา  สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะเยาวชน"มานิ" เริ่มชอบขี่มอเตอร์ไซค์ แต่พวกเขาไม่มีใบขับขี่ ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้วินัยจราจร อาจก่ออันตรายต่อตัวเองและผู้อื่นได้  แต่วันนี้ยังพอเบาใจได้เพราะยังไม่ปรากฏข้อมูลชาวมานิก่อคดีอาญา ต่างจากชนเผ่าอะบอริจินในออสเตรเลีย ที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมเมืองได้ หลายคนหันไปพึ่งสุราแล้วก่ออาชญากรรม " อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯระบุ

    หลังได้สิทธิ์คนไทย  "มานิ" ชนเผ่าตกสำรวจจะไปต่ออย่างไร 

                 จิ๋ม ชาวมานิ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อยู่ที่อ.มะนังและมีชื่อรับบัตรประชาชน แต่ไปรอที่อำเภอทั้งวันก็ยังไม่ได้รับบัตร จึงกลับมาที่ทับ ก่อนจะอพยพมาตั้งทับใหม่ที่อุทยานแห่งชาติธารปลิว จ.สตูล   วิถีชีวิตในแต่ละวันก็จะหาของป่า แต่ตอนนี้ของป่าหายากขึ้น จึงต้องไปรับจ้างกรีดยางในพื้นที่ เมื่อเจ็บป่วยก็จะรักษาด้วยสมุนไพร  หากป่วยรุนแรงรักษาไม่หายก็ต้องไปโรงพยาบาล ถ้าได้รับบัตรประชาชนก็จะได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีกว่า สำหรับเด็กชาวมานิรุ่นใหม่ก็อยากอ่านออกเขียนได้ รวมถึงสิทธิในการช่วยเหลืออื่นๆที่จะตามมา

                ไข่ รักษ์ละงู กล่าวว่า ชาวมานิในอ.ละงู สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องเสียเงิน เพราะหมอเห็นว่าพวกตนเป็นคนป่าไม่มีเงินมาจ่ายค่ายา แต่ก็ต้องการมีบัตรประชาชนให้ถูกต้องเพราะจะทำให้เข้าถึงสิทธิได้ดีกว่า โดยหลักๆ"ชาวมานิ"ต้องการแค่สิทธิการรักษาพยาบาล  ส่วนเงินสงเคราะห์คนจน หรือสิทธิการเข้าถึงระบบการศึกษาเป็นเรื่องรอง ไม่ต้องกลัวว่าชาวมานิจะถูกหลอก เพราะพวกตนได้รับคำตักเตือนให้เก็บรักษาบัตรประชาชนให้ดี  อย่าเอาบัตรประชาชนไปให้คนแปลกหน้า เพราะพวกเขาอาจนำบัตรประชาชนของ"มานิ"ไปใช้ทำผิด

              น.พ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผอ.โรพยาบาลละงู กล่าวว่า ชาวมานิส่วนใหญ่มักจะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย ไม่เคยมีประวัติเป็นเบาหวานความดันเหมือนกับคนเมือง ส่วนใหญ่จะมาโรงพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยหนัก โคม่าปางตาย เช่น ไข้มาเลเรียขึ้นสมอง คลอดลูกไม่ออก หรือติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่อชาวมานิเริ่มมีบัตรประชาชนในปี 60 สิ่งแรกที่พวกเขาได้รับเท่าเทียมกับคนไทยด้วยกันคือ การเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ฝากครรภ์ ทำคลอด ให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทาน

หลังได้สิทธิ์คนไทย  "มานิ" ชนเผ่าตกสำรวจจะไปต่ออย่างไร 

               สำหรับสิทธิการเข้าถึงการศึกษาและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ  ยังเป็นเรื่องยากที่จะให้เด็กมานิออกจากป่าไปโรงเรียนและเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป ควรเริ่มต้นจากการสอนให้พวกเขาสื่อสารได้รู้เรื่อง บวกลบและคิดเลขได้เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ตอนนี้พวกเขาสามารถพูดและฟังภาษาพื้นเมืองของภาคใต้ได้บ้าง ส่วนปัญหาการให้ที่ดินทำกินแก่ชาวมานิ ยังเป็นประเด็นที่อาจถูกคนในพื้นที่คัดค้าน เพราะบางส่วนยังมองว่าหากกันเขตอุทยานให้มานิก็ควรให้ที่ดินกับคนพื้นที่อื่นๆด้วยแนวทางที่อาจเป็นไปได้คือ การสร้างหมู่บ้านวัฒนธรรมให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตดั้งเดิมต่อไป ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชม และซื้อสินค้าของชาวมานิ  ซึ่งมีความถนัดในการหาของป่า น้ำผึ้ง และสมุนไพร

              นายดารากร เต็งรัง และนางศุภลักษณ์ ทิพย์สมบัติ สองสามีภรรยา ชาวอ.ทุ่งหว้า จ.สตูล เกษตรชาวสวนยาง  เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมา เกิดโรคระบาดในทับของชาวมานิ ชาวมานิออกจากป่ามาขอความช่วยเหลือ ตนจึงช่วยแบกคนป่วยขึ้นรถไปส่งโรงพยาบาล  จากจุดนั้นทำให้ชาวมานิไว้เนื้อเชื่อใจ มีอะไรก็จะมาปรึกษา  ยอมรับว่าในช่วงแรกๆ ชาวมานิมีความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ เมื่อมานิพ่อแม่ป่วยเด็กๆก็ไม่มีอาหารกิน และจะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่รอดในสังคมปัจจุบัน  จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องความเป็นคนไทยให้กับชาวมานิ  

           " ส่วนกลุ่มเด็กๆจะวนเวียนมาขอดูโทรทัศน์ พวกเขาชอบดูละครหลังข่าวโดยเฉพาะละครบู๊ วันไหนไม่มีละครบู๊ที่บ้านผมจะไม่มีแขก บางครั้งออกไปกรีดยางยังได้ยินเสียงเด็กๆชาวมานิร้องเพลงละครดังแว่วออกมาจากชายป่า ในช่วงที่ยังไม่มีครูจิตอาสาก็ได้แต่หวังให้พวกเขาเรียนรู้ชีวิตภายนอกเอาจากละคร"

หลังได้สิทธิ์คนไทย  "มานิ" ชนเผ่าตกสำรวจจะไปต่ออย่างไร 

            นายสุชาติ ลออ  หัวหน้าจุดตรวจด่านธารปลิว กล่าวว่า อุทยานไม่ได้เข้าไปขับไล่หรือจับกุมชาวมานิที่มาปลูกทับอยู่ในป่า เพราะชาวมานิอยู่ในเทือกเขาบรรทัดมานานกว่า 100 ปีก่อนประกาศเขตอุทยานในปี 2518 ที่สำคัญวิถีของชาวมานิไม่ได้แผ้วถางทำลายป่า  อาหารหลักๆคือหัวเผือก หัวมัน กล้วยป่า และสัตว์จำพวกไก่ป่า หมูป่า กบ งู ค่าง และลิง โดยเป็นการล่าเพื่อกินประทังชีวิต ในทับของมานิไม่มีการสะสมอาหาร ไม่มีทรัพย์สิน อาจมีเสื้อผ้าไม่กี่ชุดเอาไว้สวมใส่เวลาออกไปพบผู้คนภายนอกบ้าง ส่วนใหญ่ชาวมานิจะมีอายุไม่ยืน จากการสอบถามเมื่อมีคนในทับเสียชีวิต ชาวมานิจะนำศพไปทิ้งที่ผาตามพิธีกรรมของมานิ ซึ่งสถานที่ไม่เป็นที่เปิดเผยว่าอยู่ในตำแหน่งใด 

              ประเด็นท้าทายหลังมานิได้บัตรประชาชน   คือ เขาจะใช้ชีวิตอย่างไรท่ามกลางสังคมภายนอกที่มีทั้งยาเสพติด ค้ามนุษย์  ค้าสัตว์ป่า และสิ่งยั่วเย้ามากมาย  จากข้อมูลเด่นชัดที่พบว่าเยาวชนมานิชอบขี่มอเตอร์ไซค์ ยิ่งทำให้ต้องสร้างเกราะคุ้มกันไม่ให้เขาตกเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด  โดยสภาปฏิรูปต้องเข้ามามีบทบาทในการสร้างหมู่บ้านวัฒนธรรมให้ชาวมานิอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งรูปแบบดังกล่าวไม่ใช่การมอบผืนป่าให้มานิใช้ทำกินเพราะอ่อนไหวที่จะถูกแรงต้านจากคนในชุมชน  

             ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับความพร้อมในการหย่อนบัตรเลือกตั้ง หรือหน้าที่ในการเกณฑ์ทหาร ซึ่งชาวมานิยังไม่มีความพร้อม รัฐบาลอาจจำเป็นต้องออกคำสั่ง เพื่อยกเว้นสิทธิและหน้าที่บางประการให้กับมานิ  

         นอกจากนี้ยังต้องทำความเข้าใจถึงหน้าที่ในการแจ้งเกิด-แจ้งตาย โดยเฉพาะกรณีเสียชีวิต ต้องแจ้งตายเพื่อจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียน ก่อนนำศพไปทิ้งผาตามพิธีกรรมเดิม

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ