คอลัมนิสต์

เช็กชื่อสมาชิกพรรค กับดัก "ไพรมารีโหวต"  อาจเข้าทางเกม "ดูด"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช็กชื่อสมาชิกพรรค กับดัก "ไพรมารีโหวต"  อาจเข้าทางเกม "ดูด"  : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย...   อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ 

 

          ครบกำหนด 1 เดือนสำหรับห้วงเวลายืนยันสมาชิกพรรคเดิม ตามที่ คสช.ขีดเส้นเวลาเอาไว้ตั้งแต่ 1-30 เมษายน เล่นเอาแต่ละพรรคเห็นตัวเลขแล้วใจหาย เพราะตัวเลขที่เหลือนั้น น้อยกว่าที่หลายคนคิดเอาไว้ รู้ทั้งรู้ว่าการกำหนดเช่นนี้จะทำให้ตัวเลขสมาชิกที่มีอยู่หายไปจำนวนหนึ่ง แต่เอาเข้าจริงกลับหายไปเยอะกว่าที่คาดเอาไว้มากโข ก่อนนี้แต่ละพรรคเชื่อว่าตัวเลขสมาชิกที่คาดว่าจะมีกลับมายืนยันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 20% แต่พอถึงเวลากลับเป็นเช่นนั้นไม่

          อย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่เดิมมีสมาชิกเป็นอันดับหนึ่ง ประมาณ 2,500,000 คน แต่เมื่อครบกำหนดมีสมาชิกยืนยันเพียง 1 แสนคน หายไปไม่มากไม่น้อย 2,400,000 คน หรือเหลืออยู่น้อยกว่า 5% ด้วยซ้ำไป ส่วนพรรคเพื่อไทย พรรคอันดับหนึ่งจากการเลือกตั้ง เดิมมีสมาชิก 130,000 คน ครั้งนี้หดวูบเหลือ 10,000 คน หรือเหลือไม่ถึง 10% พรรคภูมิใจไทยที่เดิมมี 120,000 คน คราวนี้เหลือ 1,700 คน ไม่ถึง 2% ด้วยซ้ำ พรรคชาติไทยพัฒนา เดิมมี 25,000 คน มาคราวนี้เหลือ 2,500 คน หรือ 10% พรรคที่มีสัดส่วนมากหน่อยก็คือพรรคชาติพัฒนา 18,000 คน ก็เหลือ 5,500 คน แต่ทั้งหมดก็มาจากพื้นที่นครราชสีมา

เช็กชื่อสมาชิกพรรค กับดัก \"ไพรมารีโหวต\"  อาจเข้าทางเกม \"ดูด\"

          ปัจจัยที่ทำให้สมาชิกลดหายไปขนาดนี้เพราะความยุ่งยากของกระบวนการยืนยัน เพราะไหนจะต้องมาด้วยตนเอง ต้องแสดงสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมหนังสือรับรองว่ามีคุณสมบัติครบตามกฎหมาย ยังต้องมีการจ่ายเงินค่าบำรุงพรรค 100 บาท ไม่ลดก็มหัศจรรย์

          ว่ากันว่างานนี้ คสช.ทำสำเร็จ เพราะลดช่องว่างพรรคเก่าพรรคใหม่ลงได้สมใจ หลายพรรคจำนวนสมาชิกไม่ต่างจากพรรคตั้งใหม่

          นอกจากสมาชิกที่หดหายแล้ว การไม่มายืนยันตัวตนยังเหมือนเป็นการปลดล็อกอดีตนักการเมืองให้กลายเป็นคนที่ไม่มีสังกัด แน่นอนว่าท่ามกลางกระแส “ดูด” หลายคนย่อมจับตาว่าใครจะไปใครจะอยู่

 

 

เช็กชื่อสมาชิกพรรค กับดัก \"ไพรมารีโหวต\"  อาจเข้าทางเกม \"ดูด\"


          อย่าง พรรคเพื่อไทย เป้าหมายอันดับหนึ่งก็มีหลายคนที่ไม่มายืนยัน ไม่ว่าจะเป็น “สมศักดิ์ เทพสุทิน” กลุ่มสะสมทรัพย์ ที่มีผู้มายืนยันเพียง “อนุชา สะสมทรัพย์”  หรือกลุ่ม “วาดะห์”  ที่จะออกไปตั้งพรรคประชาชาติ   

          ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำพรรคยืนยันว่าอดีต ส.ส.หน้าเดิมยังอยู่เกือบครบ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไปร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส. เมื่อครั้งวิกฤติการเมืองปี 2556-2557  และมีเพียง 4 คนที่จะไม่มาร่วมกับพรรคคือ  “สกลธี ภัททิยกุล” ที่ปัจจุบันไปเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. “ชื่นชอบ คงอุดม” บุตรชาย ชัช คงอุดม หรือ ชัช เตาปูน “ธานี เทือกสุบรรณ" และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ซึ่งชัดเจนว่าสองคนแรกน่าจะไปร่วมกับพรรคของรัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ คาดว่าจะรออีกคนคือ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ว่าจะไปร่วมด้วยหรือไม่ ขณะที่ตระกูล “เทือกสุบรรณ” นั้น “สุเทพ” น่าที่จะไม่เล่นการเมืองด้านหน้าแต่เลือกจะอยู่เบื้องหลัง แต่ก็ต้องดูว่าจะเล่นในนามพรรคใหม่ของรัฐบาล หรือพรรค กปปส.

          ส่วน พรรคภูมิใจไทย นั้น ขณะนี้เรียกได้ว่า เนื้อหอมเหลือหลาย นอกจากเลือดจะไม่ไหลออกแล้ว ยังมีการเติมเลือดเข้าไปอีก โดยจะเป็นกลุ่ม ส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น “ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์” อดีต รมช.พาณิชย์ ลูกชาย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รวมไปถึงพื้นที่ จ.นราธิวาส ที่มี “กูเซ็ง ยาวอฮะซัน” นายก อบจ. และ “กูเฮง ยาวอฮะซัน” อดีต ส.ส.นราธิวาส ชาติไทยพัฒนา

          พรรคชาติไทยพัฒนา ดูจะเจ็บช้ำไม่น้อยทั้งจากจำนวนสมาชิกที่ลดลงและจากนักการเมืองที่ทำท่าจะไม่อยู่ด้วย โดยคนที่ยังอยู่โดยมากคือคนที่อยู่ร่วมกันมาแต่ต้นโดยเน้นที่ จ.สุพรรณบุรี ทั้ง "โพธสุธน” และ “เที่ยงธรรม” นอกจากนี้ยังมีจากอ่างทองอย่าง “ปริศนานันทกุล” และที่สำคัญ “ชาดา ไทยเศรษฐ” ยังอยู่กับพรรคนี้

          แต่คนที่คาดว่าจะออกไปก็คือคนที่เคยย้ายเข้ามาอย่าง “ลูกยอด” ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ ส่วนที่เหลือเคยลาออกไป เช่น “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” ที่ขณะนี้ยังบวชอยู่ “วินัย ภัทรประสิทธิ์” โดยมีข่าวมาก่อนหน้านี้ว่า อาจจะไปร่วมงานกับพรรคอื่นอย่างพรรคภูมิใจไทย แต่ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจน รวมถึงกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้อีกด้วย

 

เช็กชื่อสมาชิกพรรค กับดัก \"ไพรมารีโหวต\"  อาจเข้าทางเกม \"ดูด\"

 

          ต้องบอกว่าขั้นนี้เป็นขั้นต้นเท่านั้น เพราะแม้วันนี้ยังไม่มายืนยัน แต่ในอนาคตเมื่อเปิดให้สมัครสมาชิกพรรคได้ใหม่  ก็อาจจะกลับเข้ามา เนื่องด้วยการเมืองหากยังไม่ถึงที่สุดอะไรก็ย่อมเปลี่ยนได้

          อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการ “ดาวน์ไซส์” ครั้งนี้ หลายคนตั้งเป้าไปที่พรรคใหญ่ แต่เอาเข้าจริงพรรคที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยอาจเป็นพรรคกลางและพรรคเล็ก และอาจเป็นหนึ่งในแผน “ดูด” 

          หากดูจากสมาชิกที่เป็นอยู่จะเห็นว่าแต่ละพรรคมีสมาชิกแค่เพียงน้อยนิดเท่านั้น แต่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดความสำคัญของสมาชิกพรรคไว้คือ มีส่วนร่วมในการทำ “ไพรมารีโหวต”  

          โดยกฎหมายกำหนดว่าการจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้นต้องทำ “ไพรมารีโหวต” ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบปาร์ตี้ลิสต์ ถ้าทำไพรมารีโหวตไม่ได้ ก็ส่งผู้สมัครไม่ได้ ซึ่งกติกาการทำนั้นอิงกับสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัด

          โดยขั้นต่ำสุดที่ไม่มีสาขาพรรค อย่างน้อยหากอยากส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในจังหวัดใดต้องมีสมาชิกพรรคอยู่ในนาม “ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด” จำนวน 100 คน หมายความว่าหากอยากส่งผู้สมัครครบทุกเขตเลือกตั้ง ก็จำเป็นต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อย 7,700 คน โดยเฉลี่ยไปจังหวัดละ 100 คน

          หากดูตัวเลขเบื้องต้นจะเห็นว่ามีเพียงสองพรรคเท่านั้นที่ตัวเลขอยู่ในขั้นปลอดภัย คือประชาธิปัตย์ ที่มีสมาชิก 100,000 คน และเพื่อไทย ที่มี 10,000 คน อย่างไรก็ตาม ต้องไปดูว่าสมาชิกนั้นกระจายครบทุกจังหวัดหริือไม่

          ส่วนพรรคอื่นจะเห็นว่าตัวเลขพื้นฐานมีไม่ถึงลำดับความต้องการขั้นต้นด้วยซ้ำไป และยิ่งกับพรรคที่เรียกว่าพรรคประจำจังหวัด จะเห็นว่าตัวเลขอาจจะปลอดภัยเฉพาะในจังหวัดที่ตัวเองอยู่ แต่กับจังหวัดอื่นนั้นอาจจะไม่เพียงพอและส่งผู้สมัครไม่ครบทุกจังหวัด ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้กระทบกับคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถกาบัตรได้ใบเดียว พ่วงกันทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นหากไม่มีผู้สมัครแบ่งเขตก็จะเสียคะแนนบัญชีรายชื่อหรือคะแนน “ป๊อปปูลาร์โหวต” ไปโดยปริยาย

          โจทย์นี้ทำให้พรรคกลาง พรรคเล็ก ต้องคิดให้ดี ไม่ว่าจะเป็นชาติไทยพัฒนา ที่ฐานหลักอยู่ที่ภาคกลางไม่กี่จังหวัด พรรคชาติพัฒนาที่ฐานอยู่ จ.นครราชสีมา พรรคพลังชล ที่ปักหลักอยู่ที่ชลบุรี หรือกลุ่มจังหวัดต่างๆ หากหาสมาชิกที่อื่นไม่ได้หรือแก้โจทย์ของปัญหานี้ไม่แตก มีหวังเป็นพรรคเล็กตลอดกาล ส่วนคะแนนบัญชีรายชื่อที่หวังจะแชร์ก็อาจจะไม่ได้  

          แต่ครั้นจะเปิดรับสมัครก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะรัฐธรรมนูญและกฎหมายทำให้การเป็นสมาชิกพรรคเป็นภาระ ไม่ว่าจะเป็นการเสียสิทธิบางประการ อีกทั้งยังมีเรื่องของการต้องจ่ายเงินค่าสมัคร รวมทั้งมีข้อกำหนดปลีกย่อยอีกมากมาย ทำให้เชื่อได้ว่าการหาสมาชิกในครั้งนี้จะไม่ง่าย ยิ่งในระยะเวลาจำกัดเช่นนี้หากเชื่อกันว่าการเลือกตั้งจะเกิดในปี 2562

 

เช็กชื่อสมาชิกพรรค กับดัก \"ไพรมารีโหวต\"  อาจเข้าทางเกม \"ดูด\"

 

          จึงมีเสียงเรียกร้องให้ “หัวหน้า คสช.” ปลดล็อกการทำไพรมารีโหวต  

          แต่หากไม่ปลดล็อกไพรมารีโหวต มีผู้มองว่าอาจจะเข้าทาง “พลังดูด” เพราะหากโจทย์เป็นอย่างนี้การมารวมกับพรรคใหญ่ย่อมมีโอกาสมากกว่า และอย่าว่าแต่พรรคเก่าเลย พรรคใหม่ที่จะตั้งขึ้นก็ต้องประสบความยากลำบากเช่นกัน นี่คือรูปแบบการเมืองที่จะเปลี่ยนไป เกมนี้ลึกล้ำยิ่งนัก เพราะเป็นการกดดันกลายๆ

          สมัยก่อนอาจจะมีคำพูดว่าใครเข้าใจและเล่นกับกติกาเป็นก็จะเป็นผู้ได้เปรียบ  แต่มาถึงวันนี้ต้องบอกว่า ใครที่ถือกติกา คนนั้นก็กุมความได้เปรียบทุกประตู 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ