คอลัมนิสต์

ถึงเวลาต้อง"เผือก"กับ"บขส."ยับยั้งคุกคามทางเพศบนรถทัวร์!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถึงเวลาต้อง"เผือก"กับ"บขส."ยับยั้งคุกคามทางเพศบนรถทัวร์! : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม

 

          ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! การคุกคามทางเพศสามารถเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ และกลางวันแสกๆ โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ อาทิ รถเมล์ รถไฟ รถทัวร์ รถไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ ซึ่งคนที่ถูกคุกคามส่วนใหญ่เป็น “ผู้หญิง” ถามว่า ทำไมการคุกคามทางเพศจึงเกิดขึ้นกับระบบขนส่งสาธารณะ นั่นก็เพราะว่าการคุกคามทางเพศไม่ใช่แค่การข่มขืนกระทำชำเรา หรือจับต้องของสงวนเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นได้ด้วย กิริยา วาจา และสายตา

          หญิงสาวหนึ่งในอีกจำนวนไม่น้อยที่มีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะ เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า เธอแต่งตัวใส่ชุดแม็กซี่เดรส เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส จากสถานีเพลินจิตไปลงสถานีจตุจักร ตอนนั้นในขบวนคนเยอะมาก เมื่อถึงสถานีสยาม คนลงเปลี่ยนขบวน จู่ๆ มีคุณป้าคนหนึ่งมาสะกิด จึงเห็นว่ากระโปรงขาด เป็นรอยถูกกรีด ยาวประมาณเมตรกว่า ทันทีที่เห็นก็รู้สึกตกใจ จากนั้นคนในขบวนช่วยกันหาเข็มกลัดมาแก้ขัด โดยใช้เข็มกลัด 40 กว่าตัวมากลัดกระโปรงที่ขาด ก่อนจะตัดสินเดินออกไปหาเจ้าหน้าที่ประจำสถานีเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยเฉพาะภาพจากกล้องวงจรปิด สำหรับใช้เป็นหลักฐานเอาผิดกับคนที่กรีดกระโปรง 

 

 ถึงเวลาต้อง"เผือก"กับ"บขส."ยับยั้งคุกคามทางเพศบนรถทัวร์!

 

          คำตอบที่สาวผู้เคราะห์ร้ายรายนี้ได้รับเหมือน “ดับฝัน” เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีกล้องวงจรปิด สิ่งที่เธอทำได้อย่างเดียวคือทำใจยอมรับ แล้วกลับบ้านไปครุ่นคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็คิดไม่ตกว่าจะต้องรับมืออย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่หมายถึงผู้หญิงคนอื่นๆ ด้วย เพราะมันส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน รู้สึกชีวิตไม่ปลอดภัย พอถามคนรอบตัวก็ โป๊ะเชะ! กลายเป็นว่าคนรอบตัวเจอเหตุการณ์แบบนี้เยอะ แต่ไม่มีใครบอก โดยมีเพื่อนบางคนเจออวัยวะเพศถูไถเห็นเป็นคราบติดกระโปรง สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความหวาดระแวงไม่อยากนั่งรถสาธารณะ จนสุดท้ายต้องซื้อรถขับเอง

 

 ถึงเวลาต้อง"เผือก"กับ"บขส."ยับยั้งคุกคามทางเพศบนรถทัวร์!

 


          ด้วยเหตุนี้องค์กรแอ็คชั่นเอด (ActionAid) ประเทศไทย ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายรณรงค์เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง (Safe Cities for Women) จึงจัดแคมเปญ “ถึงเวลาเผือก” เพื่อยับยั้งปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ โดยริเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ร่วมรณรงค์กับกระทรวงคมนาคม และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ล่าสุดทางเครือข่ายได้เข้ารณรงค์กับ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ผ่านทาง จิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. โดยมอบ “คู่มือเผือก” ซึ่งเป็นคู่มือต้นแบบการอบรมพนักงานขนส่งสาธารณะ ที่จะใช้ป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถขนส่งสาธารณะ พร้อมกับร่วมกันหาทางออกในการป้องกันการคุกคามทางเพศที่จะเกิดขึ้นบนรถทัวร์อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมนำเสนอข้อมูลการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นบนรถทัวร์อีกด้วย

          สำหรับ “คู่มือเผือก :รู้ เข้าใจ ช่วยเหลือได้ เมื่อเกิดภัยคุกคามทางเพศ” ระบุไว้ว่า แนวทางการจัดการสถานการณ์การคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะนั้น หากพนักงานให้บริการพบเห็นสิ่งผิดปกติ เช่น ผู้โดยสารมีสีหน้าอึดอัด ไม่พอใจ หรือแสดงท่าทีว่าต้องการความช่วยเหลือ หรือพบเห็นผู้โดยสารที่มีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการคุกคามทางเพศต่อผู้โดยสารอื่น เช่น จ้องมองอย่างผิดปกติ ยืนเบียดชิดผู้โดยสารอื่นเกินความจำเป็น หรือใช้อุปกรณ์สื่อสารส่องไปยังบุคคลอื่น พนักงานควรมีวิธีการในการจัดการกับสถานการณ์นั้นๆ อาทิ การมองช้อนใต้กระโปรง อาจส่งเสียงเตือนในลักษณะที่ไม่ระบุเจาะจงตัวผู้กระทำการคุกคามและเพื่อเตือนให้ผู้ถูกคุกคามระมัดระวังตัว หากยังไม่หยุดพฤติกรรม พนักงานอาจเตือนด้วยเสียงอันดังขึ้น เพื่อให้ผู้ถูกคุกคามเกิดความละอาย และหยุดพฤติกรรม

 

 ถึงเวลาต้อง"เผือก"กับ"บขส."ยับยั้งคุกคามทางเพศบนรถทัวร์!

 

          วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ อธิบายว่า การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นมีทั้งการแตะเนื้อต้องตัว การลวนลามด้วยสายตาและคำพูด ซึ่งในรถขนส่งสาธารณะมีโอกาสเกิดขึ้นได้สูง แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว โดยมีโอกาสเกิดขึ้นที่มีการกระทำจากผู้โดยสารด้วยกันเอง พนักงานรถกับผู้โดยสาร และผู้โดยสารกับพนักงานต้อนรับบนรถ การคุกคามทางเพศสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นชายกับหญิง หญิงกับชาย ชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง และสิ่งที่เกิดขึ้นคนมักมองเป็นเรื่องเล็กน้อย ปล่อยให้ผ่านไป ไม่กล้าไปแจ้งความ ขณะเดียวกันในไทยก็ยังไม่มีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติ ดังนั้น ทางเครือข่ายได้เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับปัญหานี้ เพราะได้พบ ได้ยิน ได้รับรู้การบอกเล่าจากผู้ถูกกระทำที่เป็นคนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนการโพสต์เรื่องราวผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ จึงได้ร่วมกันเก็บข้อมูลโดยมีทีมนักวิชาการช่วยเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบจากผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะทุกเพศ เพื่อดูว่าสถานการณ์ปัญหาเป็นอย่างไร

          จากการเก็บข้อมูลกว่าปีเศษ ในภาพรวมพบว่า คนทุกเพศร้อยละ 35 หรือมากกว่า 1 ใน 3 บอกว่าตัวเองเคยเจอเหตุการณ์ขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะ แต่ผู้หญิงเป็นเป้าการคุกคามทางเพศมากที่สุด โดยมีผู้หญิงถึงร้อยละ 45 หรือเกือบครึ่งถูกคุกคามทางเพศ แต่เมื่อถามถึงเหตุการณ์เกิดเมื่อไหร่ มากกว่าครึ่ง คือ ร้อยละ 52 ตอบว่าเป็นเหตุที่เกิดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จึงถือเป็นปัญหากระทบคนจำนวนมาก ซึ่งต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยในงานวิจัยนี้เมื่อถามว่าเป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์การถูกคุกคามแล้วทำอย่างไร ร้อยละ 13 บอกว่านิ่งเฉย หลีกเลี่ยง เดินหนี แต่ก็มีร้อยละ 28 ที่ตอบว่าแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำรถ

 

 ถึงเวลาต้อง"เผือก"กับ"บขส."ยับยั้งคุกคามทางเพศบนรถทัวร์!
วราภรณ์ แช่มสนิท

 

 

          ทั้งนี้ ประเภทของการขนส่งสาธารณะที่เกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศบ่อยที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง ร้อยละ 50 รองลงมาคือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้อยละ 11.4 รถแท็กซี่ ร้อยละ 10.9 รถตู้ ร้อยละ 9.8 และ รถไฟฟ้า ร้อยละ 9.6 ส่วนการคุกคามทางเพศที่พบบ่อยสุด คือ อันดับหนึ่งร้อยละ 18.8 การลวนลามด้วยสายตา เช่น มองช้อนใต้กระโปรง ตั้งใจจ้องมองหน้าอก มองเข้าไปในอกเสื้อ อันดับสองร้อยละ 15.4 การแต๊ะอั๋ง ถูกเนื้อต้องตัว จงใจเข้ามาเบียด ส่วน การผิวปากแซว พบเป็นอันดับที่สาม คิดเป็นร้อยละ 13.9 ขณะที่ การพูดแซว พูดแทะโลม พูดเกี้ยวพาราสี เป็นอันดับสี่ ร้อยละ 13.1 และอันดับห้าของพฤติกรรมการคุกคามทางเพศ ร้อยละ 11.7 คือ การชวนคุยเรื่องเพศ เรื่องลามก นอกจากนี้ ยังมีการคุกคามรูปแบบอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นการโชว์อวัยวะเพศ การถูอวัยวะเพศเสียดสีสำเร็จความใคร่ ตลอดจนการสะกดรอยตาม

          ด้าน รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย บอกว่า ในกรุงเทพฯ มีผู้ถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะจำนวนไม่น้อย แต่ผู้โดยสารอาจไม่ตระหนักว่าการคุกคามทางเพศคืออะไร จึงมีวัตถุประสงค์ในการทำโครงการ เพื่ออยากสร้างความตระหนักให้ประชาชน, ลดการคุกคามทางเพศได้, เพื่อนร่วมทางต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา และต้อง “เผือก” คือ เข้าไปแทรกแซงหากเกิดเหตุการณ์ขึ้น, การมีมาตรการกลไกจากภาครัฐ ช่องทางการร้องเรียนขอความช่วยเหลืออย่างมีระบบ ทางรัฐตอบสนองอย่างรวดเร็วว่องไว หรือเครื่องมือ เช่น กล้องวงจรปิด 

 

 ถึงเวลาต้อง"เผือก"กับ"บขส."ยับยั้งคุกคามทางเพศบนรถทัวร์!
รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง

 

 

          “ที่ผ่านมายังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางโครงการจึงจัดทำขึ้นเพื่อให้เห็นว่า คนโดนคุกคามมีจำนวนเท่าไหร่ ลักษณะแบบไหน พฤติกรรมแบบใด ใครเป็นเป้า ทำให้เห็นว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้น เป็นตัวสะท้อนว่ามีปัญหานี้อยู่ และน่าจะได้รับการแก้ไข เมื่อมีข้อมูลจากการวิจัยพบว่า โอกาสเสี่ยงการถูกคุกคามทางเพศมีมากบนรถสาธารณะ จึงต้องมอบคู่มือเผือก พร้อมหารือแนวทางป้องกันและป้องปรามกับทาง บขส.” น.ส.รุ่งทิพย์ ระบุ

          ขณะที่ จิรศักดิ์ บอกว่า รู้สึกยินดีที่มีหน่วยงานภายนอกมาพบปะ บขส. เพื่อหาแนวทางป้องกันการถูกคุกคามทางเพศในรถสาธารณะ และทำข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับการป้องกัน เพราะปัญหานี้ยังไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างชัดเจน และขอบคุณเครือข่ายสำหรับข้อเสนอแนะ ตลอดจนการฝึกอบรมให้พนักงาน บขส. การให้องค์ความรู้ การตระหนักถึงสิทธิเมื่อถูกคุกคามทางเพศ โดยทาง บขส.พร้อมให้ความร่วมมือ ไม่มีข้อขัดข้อง ตลอดจนข้อเสนอที่ให้ติดกล้องวงจรปิดบนรถทัวร์ รถตู้บขส. ก็จะรับพิจารณา และเร่งรัดพูดคุยกับผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการป้องปราม รวมถึงการป้องกันอาชญากรรมในรูปแบบอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นบนรถโดยสารสาธารณะ และหากเกิดเหตุขึ้นก็จะได้มีหลักฐานมัดตัวผู้กระทำผิด

 

 ถึงเวลาต้อง"เผือก"กับ"บขส."ยับยั้งคุกคามทางเพศบนรถทัวร์! จิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล

 

          ถึงแม้เรามีกลไกการป้องกันก็ยังมีช่องว่าง ความปลอดภัยจะเกิดได้จริงถ้าทุกคนร่วมกันเป็นหูเป็นตา พลังเงียบเป็นกลไกสำคัญที่สุดสำหรับหยุดการคุกคามทางเพศในระบบขนส่งสาธารณะ เพราะการคุกคามที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้ที่ประสบเหตุโดยตรง ทําให้รู้สึกอึดอัด หวาดกลัว หรือไม่ปลอดภัยในการเดินทาง บางคนอาจถึงขั้นต้องปรับเปลี่ยน พฤติกรรมการแต่งกาย หลีกเลียงที่จะเดินทางในบางช่วงเวลา เพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกคุกคามทางเพศ ทั้งที่พวกเขาหรือเธอควรมีสิทธิที่จะใช้บริการขนส่งสาธารณะได้อย่างปลอดภัย
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ