คอลัมนิสต์

"​ไพรมารี่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ" ตัดตอน "ผู้หญิง"​ สู่การเมือง??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"​ไพรมารี่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ" กติกาตัดตอน "ผู้หญิง"​ สู่เวทีการเมือง : รายงานพิเศษโดย ขนิษฐา เทพจร

 

               เมื่อ สังเวียนการเลือกตั้งทั่วไป เริ่มเห็นเค้าลาง ว่าจะเกิดขึ้นเป็นแน่ หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มฟอร์มทีมและวอร์มอัพเป็น หนึ่งในคู่แข่งขันของพรรคการเมืองในระบบ

               แต่สังเวียนการเมืองรอบนี้ คงไม่ใช่เป็นเพียงการแข่งขันของเพศชายเท่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ นักการเมือง ผู้หญิง เข้ามามีบทบาทต่อสนามการเมืองมากขึ้น ทั้งในนาม ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งเขต และ ระบบบัญชีรายชือ

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม “สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา” ร่วมกับ International Republican Institute (IRI) จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “โอกาสและข้อท้าทายต่อนักการเมืองหญิงในช่วงการเมืองเปลี่ยนผ่าน”. โดยมีนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวผู้หญิง และ อดีตนักการเมืองหญิงจากพรรคการเมืองหลัก ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาบทบาทสตรีทางการเมือง

โดยจุดโฟกัสสำคัญ​ คือ รัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้เปิดพื้นที่การเมือง ชายและหญิง อย่างเท่าเทียม ภายใต้วิธีปฏิบัติ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) พรรคการเมือง ที่ออกแบบให้ทำไพรมารี่โหวต ทั้ง แบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ นั้น คือทางลำบาก ที่อาจเข้าข่ายทางตัน ของ ผู้หญิงบนเวทีการเมือง

 

"​ไพรมารี่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ" ตัดตอน "ผู้หญิง"​ สู่การเมือง??

 

                เริ่มต้นเวที ได้เริ่มจากการปูพื้นฐานและสร้างความเข้าใจต่อกระบบการเลือกตั้งใหม่ โดยดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า” กล่าวตอนหนึ่ง ว่า การเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม คือ วิธีการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส. เขต, ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ตามสูตรคำนวณ เพื่อหาจำนวน ส.ส.ของพรรคที่ลงแข่งขันเลือกตั้งพบว่า พรรคใหญ่ที่มีสิทธิได้รับเลือกตั้งจาก ระบบเขตต้องไปพิจารณาให้ดีต่อการส่งบุคคลลงสมัคร แต่หากคนเด่นที่ส่งลงเลือกตั้งพลาด เท่ากับว่าบุคคลนั้นจะไม่ได้รับเลือกเข้ารัฐสภา ขณะที่ระบบดังกล่าวดูเหมือนมีโอกาสกับพรรคกลาง หรือ พรรคเล็ก เพราะแม้จะไม่ชนะในเขตเลือกตั้ง แต่โอกาสได้เป็นส.ส. ยังมี ในส่วนของบัญชีรายชื่อ หากส่งครบทั้ง 350 เขต

               “ดูเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย​ เพราะต้องผ่านขั้นตอนการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ ไพรมารี่โหวต ที่มีข้อกำหนดให้ยึดของการมีสาขา และจำนวนสมาชิกสาขาขั้นต่ำ 500 คน จึงเชื่อว่าในอนาคตจะมีการแย่งตั้งสาขาพรรคและหาสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในที่ตั้งสาขาเพิ่มมากขึ้น เพราะมีความผูกผันกับการทำไพรมารี่โหวต เพราะผู้อยากลงสมัครส.ส.เขต ต้องไปยื่นเจตจำนงผ่านสาขาหรือผู้แทนประจำจังหวัด แต่ปัญหาสำคัญ​คือ สาขาของพรรคจะมีพื้นที่รับผิดชอบเท่าใด ซึ่งมีผู้ตีความว่า สาขาต้องรับผิดชอบ 1 เขต แต่คนทำงาน ตีความว่า ดูทั้งจังหวัด เท่ากับว่ามีความจำเป็นที่ต้องหาสมาชิกของสาขาให้ได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ผมจึงมองว่าหากปลดล็อคช้ายิ่งเพิ่มความลำบาก” นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ระบุ

"​ไพรมารี่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ" ตัดตอน "ผู้หญิง"​ สู่การเมือง??

               ขณะที่การทำไพรมารี่โหวต บัญชีรายชื่อ “ดร.สติธร” บอกว่าเป็นความยากเช่นกันเพราะต้องส่งผู้ยื่นเจตจำนง 150 คนให้สาขาพรรคเลือก ดังนั้นผู้อยากจะลงสมัครต้องไปหาเสียงให้ครบ 77 จังหวัดเพื่อได้คะแนนพอเป็นตัวแทนพรรคสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยการส่งบัญชีไพรมารี่โหวตจะเรียงลำดับตัวอักษร ขณะที่หัวหน้าพรรคอยากลงบัญชีรายชื่อพรรคอาจจะต้องลงแข่งขันเช่นกัน

              อย่างไรก็ดี ถึงประเด็นนี้ ผู้ร่วมเสวนา ตั้งคำถามว่า หัวหน้าพรรรคอาจไม่ต้องลงแข่งขันกรณีนี้ เพราะอยู่ในอันดับหนึ่ง โดยอัตโนมัติ แม้จะถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ถือเป็นคุณกับพรรค​ ขณะที่บัญชีไพรมารี่โหวตผู้สมัครบัญชีรายชื่อตามลำดับอักษร ถือเป็นความยากที่จะถูกเลือก หากมีอักษรอยู่ลำดับท้าย

            จากนั้นวงเสวนา ได้เริ่มแลกเปลี่ยนความเห็นว่าระบบไพรมารี่โหวตนั้น อาจจำเป็นต้องใช้ มาตรา 44 แก้ปัญหา โดยรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เสนอ เพราะหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญ และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดไม่ใช่หลักรับประกันที่จะให้สิทธิ ผู้หญิง ผ่านเข้าสู่ระบบการเมือง​อย่างแท้จริง ดังนั้นประเด็นที่เป็นทางออกตอนนี้ คือ ควรนำบทบัญญัติที่ว่าต้องทำไพรมารี่โหวต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไปใช้บังคับในการเลือกตั้งครั้งถัดไป เพื่อขอเวลาทำความเข้าใจและให้ความรู้กับประชาชน

             สอดคล้องกับความเห็น"ลัดดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย" ที่สนับสนุนให้ฉีกรัฐธรรมนูญก่อนการเลือกตั้ง เพราะการออกแบบระบบให้ผู้หญิงเข้าสู่สนามการเมืองนั้น เกิดทางตันและปิดกั้นโอกาสที่จะเข้าสู่การเมืองตามระบบของผู้สมัคร แบบส.ส. บัญชีรายชื่อ

            “กติกาที่ออกแบบ ทำให้เป็นเรื่องยาก ที่ ผู้ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อจะข้ามเขต เพราะในแต่ละเขตย่อมมีตัวเลือกของเขาไว้แล้ว ดังนั้นโอกาสของนักการเมืองหญิงที่จะเข้าสู่เวทีการเมืองด้วยระบบบัญชีรายชื่อจะยิ่งกลายเป็นทางตัน สุดท้ายเราอาจสูญเสียนักการเมืองหญิงที่มีประสบการณ์เข้ามาทำงานการเมือง” ตัวแทนอดีตส.ส.หญิง จากพรรคเพื่อไทย ระบุ

             ขณะที่ดร.รัชดา ธนาดิเรก อดีตส.ส.กทม.​พรรคประชาธิปัตย์ระบุว่า ไม่มีความหวังอื่นของผู้หญิงที่จะมีช่องทางเข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง นอกจากใช้ มาตรา 44 แก้ปัญหาใช่หรือไม่ อย่างไรก็ตามขอให้เข้าใจว่าที่ผ่านมาระบบบัญชีรายชื่อเป็นช่องทางหนึ่งของผู้หญิง แต่เมื่อเจอระบบให้ทำไพรมารี่โหวตผู้สมัครบัญชีรายชื่อที่เขียนไว้ ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอาจถูกตั้งคำถามว่าจะเป็นการกระทำที่เกินกว่าบทบัญญัติใน รัฐธรรมนูญ มาตรา 90 วรรคสาม ที่กำหนด ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมต่อการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัคร โดยคำนึงถึงผู้สมัครจากภูมิภาคและความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง เขียนไว้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บอกให้ทำไพรมารี่โหวตของผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่พ.ร.ป.พรรคการเมืองทำเกินไป ดังนั้นตนมองว่าคนที่ไม่มีความเข้าใจต่อการเขียนกฎหมาย ควรยุติ เพื่อให้การเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยมีคุณภาพมากกว่านี้

            ดร.รัชดา ขยายความด้วยว่า การจัดลำดับผู้สมัครบัญชีรายชื่อโดยพรรค จะทำอย่างไร ทั้งการเรียงลำดับผู้สมัครตามตัวอักษร แต่ไม่ได้เป็นไปตามลำดับการเลือกของประชาชนที่เป็นสมาชิกสาขา หรือ จะกำหนดลำดับ ทุกๆ 4 คนให้มีผู้หญิง 1 คน อาจจะเป็นปัญหาของตัวแทนภาคได้

 

"​ไพรมารี่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ" ตัดตอน "ผู้หญิง"​ สู่การเมือง??

            “เมื่อ10ปีที่แล้ว เพิ่งเข้าสู่วงการการเมือง ยอมรับว่าคนของสาขาพรรค ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครเปิดใจที่อยากจะรู้จัก ไม่สนใจว่าจะมีความตั้งใจเท่าไร เพราะเขามีคนที่รักและอยากส่งเสริม ดังนั้นการคาดหวังว่าจะเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน ที่ประชาชนเลือกคนเข้ามา เป็นไปไม่ได้กับบริบทสังคมไทย สิ่งสำคัญใครจะยอมสละเวลาทำงานมาเลือกคนที่ไม่รู้จัก สุดท้ายต้องระดมคนมา ทำให้วิธีตามกฎหมายนั้นไม่ใช่การเปิดพื้นที่ให้ผู้สมัครหน้าใหม่ต่อสนามการเมือง”​ ดร.รัชดา ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ

             แต่ มาตรา 44 ที่ถูกหยิบยก ยังถูกตั้งเป็นประเด็นด้วยว่า จะเป็นทางออกของปัญหาหรือไม่ เพราะกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกำหนดบทบัญญัติไว้ตายตัว และคำนึงถึงเสียงสมาชิกเป็นหลัก

            โดยดร.พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์อาจารย์ภาคสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกตัวว่า เป็นผู้ร่วมยกร่างประเด็นที่เกี่ยวข้อง ยอมรับว่า ระบบไพรมารี่โหวตที่บัญญัติไว้ อาจจะแก้ไขยาก ซึ่งตนอยากให้ลองดู หากลองทำแล้วไม่เป็นผลจะนำไปสู่การแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป

            อย่างไรก็ดี นักเคลื่อนไหวผู้หญิง อย่างสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ตัวแทนขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศเรียกร้องให้ใช้สิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองเขียนให้ใช้ระบบไพรมารี่โหวต ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 วรรคสาม และไม่ขอยอมรับ แม้การกระทำที่เสนอจะทำให้เรื่องถูกยืดออกไปก็ต้องยอม

            นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอให้ นำประเด็นขยายวงสู่สาธารณะ โดย"วิว-เยาวภา บุรพลชัย" อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคชาติพัฒนา" ตั้งคำถามต่อระบบที่ถูกออกแบบ ที่มีลักษณะกีดกันมากกว่าเสริมโอกาสของ เพศหญิงในเวทีการเมือง ดังนั้นการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหา ควรสร้างเครือข่ายร่วมจากกลุ่มสตรีและเพศหญิงทุกระดับ โดยขยายผลสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อสร้างความตระหนักต่อบทบาทการทำงานและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งเวทีการเมืองและสังคมวงกว้าง

            ขณะที่ ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย “นาที รัชกิจประการ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อบอกว่าปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้หญิงมีที่ยืนบนเวทีการเมือง ต้องพิสูจน์ตนเองและทำให้เป็นที่ยอมรับจากประชาชน ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ส่วนแนวคิดที่จะแก้ไขกติกา ที่ถูกบล็อกไว้ เชื่อว่าไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจุดที่ต้องคิดใหม่ คือ การคิดและสร้างกิจกรรมที่เพิ่มบทบาทสตรีในสังคมอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการยอมรับ

 

"​ไพรมารี่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ" ตัดตอน "ผู้หญิง"​ สู่การเมือง??

            ท้ายสุดของเวทีเสวนา ในระยะสั้น คือ การสะท้อนไปยังหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ให้ตระหนักถึงบทบาทของสตรีในพรรคการเมือง ผ่านการลงสมัครรับเลือกตั้ง พร้อมเตรียมสื่อสารไปยังสังคมวงกว้างต่อกติกาที่เป็นข้อจำกัด ของ ผู้หญิง ที่จะเข้าสู่เวทีและสนามการเมือง.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ