คอลัมนิสต์

เผย4จุดอ่อนไหวคนไทยตกเป็นเหยื่อตลาดครีมปลอม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เผย4จุดอ่อนไหวคนไทยตกเป็นเหยื่อตลาดครีมปลอม : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน /  [email protected] 

          4 องค์ประกอบ ที่นักการตลาดต้องชูจุดเด่นของสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้ ผู้บริโภคก็พร้อมยอมจ่ายเงิน ประกอบด้วย PINT ได้แก่ ปกป้อง (Prevent), เห็นผลเร็ว (Impact), จากธรรมชาติ (Natural) และเรื่องราว แฟชั่น (Trendy)

          สะเทือนวงการอาหารเสริมและความงาม หลังตำรวจมีหมายจับผู้ต้องหา 8 คน ในเครือข่าย บริษัท เมจิกสกิน จำกัด พร้อมทลายแหล่งผลิตสินค้าที่ไม่มี อย. และตรวจค้นบ้านหลังหนึ่ง ที่มีทรัพย์สิน รวม 21 ล้านบาท คือรถเบนซ์หรูสีดำ เงินสด 19 ล้านบาท และแหวนทอง 53 วง

          เมจิกสกินกลายเป็นยี่ห้อดังขึ้นมาอีก จากเดิมที่โปรโมทสินค้าหลายยี่ห้อ อย่าง apple slim, slim milk, snow milk, Fern, เมจิก สกิน, ชิโนบิ, ตรีชฎา และ Mezzo โดยมีวิธีการเสนอขายคือให้ดารา คนดังกว่า 50 คน รีวิวสินค้า 

 

เผย4จุดอ่อนไหวคนไทยตกเป็นเหยื่อตลาดครีมปลอม

 

          บริษัทนี้มีเจ้าของคือ “เจ๊เฟิร์น" หรือ วรรณภา พวงสน ที่เคยให้สัมภาษณ์ผ่านหลายสื่อเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ถึงชีวิตที่ดราม่า จากเคยรวย ถูกโกงและลำบาก จนร่ำรวยเพราะผลิตและขายเมจิกสกิน ถูกจัดให้เป็นเน็ตไอดอล แม่ค้าออนไลน์ที่สร้างรายได้จากการขายของทางออนไลน์ มีคนติดตามจำนวนมาก ที่โชว์ตัวเลขในเฟซบุ๊กมียอดติดตามประมาณ 1.4 ล้านคน

          ว่ากันว่าปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ เป็นเพราะผู้บริโภคไทยอ่อนไหวกับราคาและคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพของครีมอย่างรวดเร็ว โดยไม่ศึกษาข้อมูล โดย “อิษณาติ วุฒิธนากุล” ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิลด์พาแนล(ไทยแลนด์) หรือ KPW ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอัตราหมุนเวียนสูง (FMCG- Fast Moving Consumer Goods) ให้ความเห็นกรณีดังกล่าวว่า เพราะตลาดไทยอยู่ในช่วงของการเรียนรู้ หลังจากเข้าสู่วิวัฒนาการความสวยงามในระดับพื้นฐาน จนขยายไปสู่ระดับผลิตภัณฑ์บำรุง และดูแลความสวยงามที่หลากหลาย กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่กลุ่มระดับพรีเมียมที่มีมาตรฐาน และราคาสูงขึ้น

 

เผย4จุดอ่อนไหวคนไทยตกเป็นเหยื่อตลาดครีมปลอม

 

          ผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอัตราหมุนเวียนสูง อธิบายว่า กลยุทธ์การตลาดที่มีผลิตภัณฑ์ครีมเข้ามาจำหน่ายในโลกออนไลน์มากมาย โดยที่ผู้บริโภคในตลาดยังไม่รู้เท่าถึงอันตรายของพิษภัยของสารเคมีและส่วนผสม โดยเทรนด์ที่ผู้บริโภคอ่อนไหว จาก 4 คุณสมบัติ ที่บางครีมอาจจะมีการโฆษณาที่เกินจริง 

          แต่เมื่อมี 4 องค์ประกอบ ที่นักการตลาดต้องชูจุดเด่นของสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้ ผู้บริโภคก็พร้อมยอมจ่ายเงิน ประกอบด้วย PINT ได้แก่ ปกป้อง (Prevent), เห็นผลเร็ว (Impact), จากธรรมชาติ (Natural) และเรื่องราว แฟชั่น (Trendy) โดยเฉพาะการปกป้อง ที่เน้นป้องกันมากกว่าการรักษา เช่น การยืดอายุผิวอ่อนเยาว์ โดยการปกป้องผิวหน้าจากมลภาวะ ส่งผลทำให้ครีมกันแดด หรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยอดขายเพิ่ม 11%, การเห็นผลรวดเร็ว หากพุ่งเป้าไปที่ประสิทธิภาพทั้งขาว ชุ่มชื้น ลดริ้วรอย จะส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

          รวมทั้งการชูเรื่องคุณสมบัติจากธรรมชาติ กลายเป็นกิมมิก ที่หากนำมาเป็นจุดขายย่อมเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น เพราะผู้บริโภคอ่อนไหวและกังวลกับเคมีมากขึ้น ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติจึงมียอดขายเพิ่มขึ้น อาทิ แชมพูเนเชอรัล ยอดขายเพิ่มขึ้น 31% และปริมาณขายเพิ่ม 41% รวมถึงแบรนด์เดอม่า ที่ยอดขายเติบโต 25% เพราะใช้จุดขายจากธรรมชาติ

 

เผย4จุดอ่อนไหวคนไทยตกเป็นเหยื่อตลาดครีมปลอม

 

          และสุดท้ายเรื่องราว กับแฟชั่น ผู้บริโภคไทยชอบฟังเรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์ และผสมผสานกับแฟชั่น (Story & Trendy) หลายแบรนด์เก่าแก่ เมื่อรีแบรนด์ใหม่ให้ทันสมัยและขายเรื่องราวขององค์กรกลับเพิ่มยอดขายได้อย่างเช่น ศรีจันทร์ ที่ช่วยเพิ่มยอดขายได้เข้ากับผู้บริโภคในยุคนี้   

          “อิษณาติ” อธิบายว่า แม้ว่าบางคุณสมบัติสรรพคุณรวมอยู่เพียงเล็กน้อย เช่นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ที่ในโฆษณาบอกไม่หมดว่า คำว่าธรรมชาติที่ว่าก็ยังมีส่วนผสมของสารเคมี แต่ผู้บริโภคไทยยังมีความรู้น้อยในการศึกษาข้อมูลอย่างถ่องแท้จึงตัดสินใจซื้อโดยขาดการศึกษาในรายละเอียดของผลิตภัณฑ์

          ขณะที่ “ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในท้องตลาดปัจจุบันมี 5-6 แสนรายการ และมีที่ขอจดแจ้งก่อนปี 2558 ก่อนมี พ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับใหม่ออกมา ซึ่งจะหมดอายุประมาณเดือนกันยายนนี้ที่จะถึง ประมาณ 4 แสนรายการ ดังนั้นจะทราบตัวเลขผลิตภัณฑ์ที่แน่นอนประมาณเดือนกันยายน 2561 เพราะบางอันอาจเลิกผลิตไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ต่อไปในอนาคต อย.จะทำงานเชิงรุกมากขึ้น โดยมีวิธีให้ผู้บริโภคตรวจสอบฉลากด้วยวิธีง่ายๆ และแม่นยำ การใช้เลข 13 หลักอาจจะทำให้ตรวจสอบยากหรือยุ่งยากเกินไป ดังนั้นอาจจะมีการทำคิวอาร์โค้ดติดไปยังตัวผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคสามารถสแกนตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

          ที่ผ่านมา อย.ได้มีการส่งหนังสือขอความร่วมไปยังต้นสังกัดของดารานักแสดง นักร้อง พริตตี้ เน็ตไอดอล ที่อยู่ในความดูแลให้มีความระมัดระวังในการรีวิวสินค้าที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของอย. ไม่ให้มีการโฆษณาเกินจริงและต้องมีวิจารณญาณในการโฆษณา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 แล้ว 

          "ดังนั้นหากผู้ใดมีการฝ่าฝืนรีวิวจะอ้างว่าไม่ได้รับเงินหรือผลตอบแทนไม่ได้ โดยความผิดของผู้โฆษณาจะมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ส่วนการเรียกดาราที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการนั้น เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะตรวจสอบ หากดาราคนใดมีส่วนเกี่ยวข้องก็อาจจะทำหนังสือเรียกให้มารายงานตัวและเสียค่าปรับต่อไป"  รองเลขาธิการ อย.กล่าว

 

เผย4จุดอ่อนไหวคนไทยตกเป็นเหยื่อตลาดครีมปลอม

 

          ทั้งนี้ อย.มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบการโฆษณาในสื่อต่างๆ แต่ต้องยอมรับว่าระยะหลังการทำงานค่อนข้างลำบาก เพราะผู้ประกอบการมีความระมัดระวัง เช่น การขอเป็นเพื่อนในไลน์ จะต้องรอแอดมินยืนยันและบางครั้งจะมีการโทรเช็กก่อนว่าเป็นลูกค้าจริงหรือไม่  ซึ่งผู้บริโภคต้องมีวิจารณญาณในการตัดสินใจก่อนซื้อ 

          อย่างไรก็ตาม กรณีนี้สถานประกอบการไม่ถูกต้องตามที่มีการจดแจ้งไว้กับอย. และอย.ได้มีการส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน ซึ่งการตรวจสอบก็ต้องใช้เวลา

          คำถามคือว่า ทำไมถึงมีดารานักแสดงเข้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์รีวิวผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของ “บริษัท เมจิกสกิน จำกัด” ถึง 56 คนเลยทีเดียว ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นตรวจสอบสินค้าดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ผ่านการทดลองใช้และประทับใจแล้วหรือไม่ ถึงได้มารีวิวสินค้า      

          ทั้งนี้ บริษัท เมจิกสกิน จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 271/37 ตรอกวัดท่าตะโก อ.ในเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา อยู่ในหมวดธุรกิจ การขายส่งเครื่องสำอาง จำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเสริมความงาม มีกรรมการรายเดียว คือ นายกร พวงสน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ทำหน้าที่ดูแลด้านการเงินของบริษัท ถูกออกหมายจับและมอบตัวแล้ว

 

เผย4จุดอ่อนไหวคนไทยตกเป็นเหยื่อตลาดครีมปลอม

 

          งบการเงิน ระบุมีสินทรัพย์รวมประมาณ 9 แสนบาท มาตั้งแต่ปี 2556 จนปี 2559 มีสินทรัพย์รวม 1,014,482 บาท ส่วนหนี้สิน จาก 5,000 บาท เพิ่มเป็น 121,236 บาท รายได้รวมในปี 2556-2558 ประมาณ 3,958 บาท ปี 2559 เพิ่มเป็น 1,120,513.24 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 28,207.73 ส่วนตัวเลขขาดทุนตั้งแต่ปี 2556-2558 ประมาณ 1,041 บาท ปี 2559 ขาดทุน 87,587 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8,308.35 เพราะมีการแจ้งรายจ่ายจาก 5,000 บาท เป็น 1,208,100 บาท ในปี 2559

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ