คอลัมนิสต์

พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ สิทธิ "คนรักเพศเดียวกัน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เรียกร้องมานาน ให้มีกฎหมายรับรองสิทธิในการมีชีวิตคู่ของพวกเขา มาถึงตอนนี้ความหวังใกล้เป็นจริงแล้ว

         ตามที่กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเรียกร้องมานาน ให้ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองสิทธิหรือรับรองชีวิตคู่ 

          เริ่มต้นจากคู่รักชายรักชายที่ถูกปฏิเสธไม่ให้จดทะเบียนสมรส จึงยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ในปี 2555 โดยระบุว่าการกีดกันด้วยความแตกต่างทางเพศถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ

         

            กมธ.กฎหมายฯ จึงร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ยกร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ.... 

             แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกตีกลับด้วยเหตุของการปฏิวัติยึดอำนาจในปี 2557 จึงต้องนำร่างกฎหมายกลับมาเริ่มต้นศึกษายกร่างกันใหม่ 

             จากกฎหมายร่างแรกที่มีเนื้อหาเพียงแค่ 15 มาตรา ปรับแก้มาแล้วถึง 2 ครั้ง เพิ่มเป็น 60 มาตรา และท้ายสุด 63 มาตรา 

              โดยร่างกฎหมายแรกเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับล่าสุดเน้นให้ความคุ้มครองและการจัดการทรัพย์สินมรดก หน้าที่ดูแลคู่ชีวิตประหนึ่งคู่สมรส การเริ่มต้นและสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต

              "นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ"   ผ.อ.กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ชี้แจงว่า ในขั้นตอนยกร่างกฎหมายจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พบปัญหาอุปสรรคมากมาย อาทิ ความต้องการของคนรักเพศเดียวกัน ในแต่ละกลุ่ม มีความต้องการที่แตกต่าง จึงทำให้ยากในการประสานเพื่อหลอมรวมแนวคิด 

             นอกจากนี้ยังติดขัดในเรื่องความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ยังยึดติดในนิยมของคำว่าครอบครัวเป็นเรื่องของชาย-หญิง ความรักนอกเหนือจากนี้เป็นสิ่งที่บั่นทอนและทำลายสถาบันครอบครัว ขณะที่สังคมบางส่วนก็ยังมีอคติกับกลุ่มรักร่วมเพศ รวมถึงหลักศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอิสลามที่มองรักร่วมเพศเป็นความผิดร้ายแรง

            ดังนั้นร่างกฎหมายฉบับล่าสุด จึงตีกรอบให้แคบ โฟกัสลงไปที่การดูแลทรัพย์สินของคู่ชีวิต เพื่อไม่ให้กระทบวงกว้างจนต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ         

              ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการคุ้มครองสิทธิของบุคคลซึ่งไม่ได้รับการรับรอง จนเกิดปัญหาในเรื่องทรัพย์สินและการเซ็นอนุญาตให้รักษาพยาบาล โดยเฉพาะการผ่าตัดซึ่งจำเป็นต้องมีญาติสายตรงของคนไข้เซ็นยินยอม การยกร่างกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นเพียงแค่ออกเดินในก้าวแรก เปิดให้มีการคุ้มครองสิทธิฯ ยังไม่ไปไกลถึงให้มีการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน และไม่เข้าไปแตะในเรื่องคำนำหน้านาม   

            เริ่มต้นที่หมวดอารัมภบท มาตรา1-4 เป็นบททั่วไปและคำนิยาม เช่น นิยามความคำว่า “คู่ชีวิต”หมายความว่า บุคคล 2 คน ซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดและได้จดทะเบียน และนิยามทรัพย์สินของคู่ชีวิต รวมทั้งกำหนดให้ รมว.ยุติธรรม เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ. (จดทะเบียนคู่ชีวิตไม่ต้องไปอำเภอ ยังไม่ใช่ทะเบียนสมรส )

           หมวดที่ 1 การจดทะเบียนคู่ชีวิต มาตรา 5-13 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับอายุ ต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว ทั้ง 2 ฝ่าย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย การจดทะเบียนจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย ยื่นคำร้องขอตามแบบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด แสดงความยินยอมโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกคำยินยอม

          การจดทะเบียนจะกระทำไม่ได้ ในกรณีดังนี้ 

        1. ฝ่ายใดผ่ายหนึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตหรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

        2. บุคคลทั้งสอง เป็นญาติสืบสายโลหิตกัน 

        3. ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคู่สมรสแล้วหรือได้จดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว 

        4. บุคคลทั้ง 2 มีฐานะเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม

        หมวดที่ 2 ความสัมพันธ์ของคู่ชีวิต มาตรา 14-17 กำหนดให้คู่ชีวิตทั้งสองฝ่าย ต้องอุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน 

          กรณีที่คู่ชีวิตไม่สามารถอยู่ร่วมกันโดยปกติสุข หรือถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อาจร้องต่อศาลขอให้แยกกันอยู่ โดยศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้่ยงดูได้ตามควรแก่พฤติการณ์

          หมวดที่ 3 ทรัพย์สินและมรดกของคู่ชีวิต มาตรา 18-49 กำหนดเกี่ยวกับสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินก่อนจดทะเบียน สินส่วนตัว ทรัพย์สินคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สินในระหว่างมีชีวิตอยู่และภายหลังคู่ชีวิตเสียชีวิต

          หมวดที่ 4 ความเป็นโมฆะของการจดทะเบียนคู่ชีวิต มาตรา 50-56 กำหนดเงื่อนไขความเป็นโมฆะของการจะทะเบียนคู่ชีวิต สิทธิในการเรียกร้องค่าทดแทนหรือค่าเลี้ยงชีพ และอายุความ 1 ปี ของสิทธิเรียกร้องหลังการเป็นคู่ชีวิตสิ้นสุดลง

           หมวดที่ 5 การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต มาตรา 57-63 กำหนดเกี่ยวกับการสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิตด้วยการตาย การยุติการเป็นคู่ชีวิต หรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน โดยกำหนดเหตุแห่งการฟ้องยุติการเป็นคู่ชีวิตคู่ไว้ 12 ประเภท เช่น คบชู้ ,ประพฤติชั่วโดยทำให้ได้รับความอับอายอย่างร้ายแรง ถูกดูถูกเกลียดชัง, ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ, เหยียดหยามบุพการีของอีกฝ่าย, ละทิ้งกันเกิน 1 ปี , ต้องโทษจำคุกเกิน 1 ปี ,เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือเรื้อรังซึ่งเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง

          ในวันที่4 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำร่างกฎหมาย  จากนั้นเสนอร่างกฎหมายผ่าน  รมว.ยุติธรรม ส่งต่อเข้าสู่ ครม. หากได้รับความเห็นชอบในหลักการ ร่างกฎหมายจะถูกส่งไปให้กฤษฎีกาตรวจร่าง และเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิฯตั้งเป้าที่จะผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ได้ภายในอายุของรัฐบาลชุดนี้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ