คอลัมนิสต์

เมื่อศาลเดินเผชิญเรือนจำ... มิติใหม่ยุติธรรมไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อศาลเดินเผชิญเรือนจำ... มิติใหม่ยุติธรรมไทย : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน  โดย...  อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ ทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22

          ปัญหา “นักโทษล้นคุก-ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” นับเป็นอีกหนึ่งวิกฤติในกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา

          ข้อมูลล่าสุดจากกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงอยู่ในเรือนจำทั้งหมดถึง 330,000 คน ขณะที่จำนวนผู้ต้องขังที่ทุกเรือนจำในประเทศไทยรองรับได้ อยู่ที่ 200,000 คนเท่านั้น มีส่วนเกินอยู่มากกว่า 100,000 คน นี่คือสภาพ “ความแออัด” ที่สูงในระดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว

          ความพยายามแก้ไขปัญหา “นักโทษล้นคุก-ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ” มีมาตลอด แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ ล่าสุดในรัฐบาล คสช. มีการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ และ พ.ร.บ.คุมประพฤติ เพื่อเปิดทางให้ใช้ “มาตรการทางเลือกแทนการคุมขัง”

          แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า รัฐจะเลือกปล่อยตัวผู้กระทำความผิดโดยไม่ต้องรับโทษ “จำคุก” ไปเสียหมด แต่วิธีการคือการใช้การกำหนดโทษแบบใหม่ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ “การลงโทษที่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด” ซึ่งเป็นหลักสากลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

          โดยการกำหนดโทษ นอกจากจะต้องคำนึงถึงลักษณะและความรุนแรงของการกระทำความผิดแล้ว ยังควรพิจารณาประกอบปัจจัยอื่นๆ ของตัวผู้กระทำความผิดเองด้วย เช่น ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม สภาพความผิด ความรู้สึกสำนึกและการพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น ตลอดจนเหตุอื่นอันควรปรานี

 

 

เมื่อศาลเดินเผชิญเรือนจำ... มิติใหม่ยุติธรรมไทย

 

          หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า ข้อมูลเหล่านี้ศาลจะได้มาจากไหน คำตอบก็คือได้จาก “พนักงานคุมประพฤติ” ที่จะต้องลงพื้นที่ “สืบเสาะ” และจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดโทษ ซึ่งข้อมูลบางอย่าง เมื่อศาลได้รับไปแล้ว อาจเลือกใช้การลงโทษรูปแบบอื่นนอกเหนือจากการ “จำคุก” ในการลงโทษคนผู้นั้นให้เหมาะสมสอดคล้องกับการกระทำความผิดและเหตุปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ของตัวผู้กระทำ นี่คือรูปแบบหนึ่งของ “มาตรการทางเลือกแทนการคุมขัง”

          แต่ปัญหาสำคัญในกระบวนการยุติธรรมไทย ก็คือหน่วยงานหลักในกระบวนการยุติธรรมที่สำคัญ 3 หน่วยงาน ที่เรียกว่า “สายพานยุติธรรม” คือ ตำรวจ อัยการ และศาล มักทำงานแยกส่วนกัน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ควบคู่กัน ทั้งราชทัณฑ์ และคุมประพฤติ แม้ด้านหนึ่งอาจส่งผลดีในแง่ของการ “ตรวจสอบ-ถ่วงดุล” แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ โดยเฉพาะวัฒนธรรม “การพิจารณาเฉพาะหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน”

          ฉะนั้นหากกระบวนการชั้นก่อนฟ้องทำสำนวนมาไม่ดี โอกาสที่จะเกิด “แพะในคดีอาญา” รวมถึงศาลกำหนดโทษโดยไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิด ย่อมมีอยู่สูง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา “นักโทษล้นคุก” ตามมา

          นี่เองคือจุดเริ่มต้นโครงการของกระทรวงยุติธรรม ที่นอกจากจะให้กรมคุมประพฤติมีบทบาทมากขึ้นในการสืบเสาะข้อมูลของผู้ต้องขังในคดีต่างๆ ตามกฎหมายใหม่แล้ว ยังได้มีการนำ “คณะผู้พิพากษา” เข้าไปเยี่ยมชมเรือนจำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพูดคุยเพื่อรับทราบประวัติและข้อมูลต่างๆ กับผู้ต้องขังโดยตรงแบบตัวต่อตัว

 

เมื่อศาลเดินเผชิญเรือนจำ... มิติใหม่ยุติธรรมไทย

 

          นับเป็นมิติใหม่ของกระบวนการยุติธรรมไทยที่เดินอยู่บนหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง

          เรือนจำเป้าหมายที่คณะผู้พิพากษาลงพื้นที่ คือ เรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น และเรือนจำภูเขียว จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการ “ส่งเสริมพลังอำนาจผู้ตัดสินกับผู้ถูกตัดสินในกระบวนการยุติธรรมเพื่อสังคมสุขภาวะ” ในโครงการกำลังใจ ของสำนักกิจการในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ร่วมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกระทรวงยุติธรรม
การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการนำคณะผู้พิพากษาเข้าไปเยี่ยมชมความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ และพูดคุยกับผู้ต้องขังอย่างใกล้ชิด เพื่อรับทราบประวัติ ภูมิหลังของผู้ต้องขังแต่ละคน รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อร่วมกันวิเคราะห์โครงสร้างระบบกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อหาทางในการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น 

          โดยเฉพาะแนวนโยบายที่รัฐบาลมอบหมายให้ “กรมคุมประพฤติ” เข้าช่วยเหลือในชั้นของกระบวนการสืบเสาะและพินิจผู้ต้องหาคดีต่างๆ เพื่อศาลมีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ขึ้นในการพิจารณาคดีและกำหนดโทษ

          “เมทินี ชโลธร” ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ อธิบายว่า การนำเจ้าหน้าที่จากกรมคุมประพฤติเข้ามาช่วยสืบเสาะข้อมูลของผู้ต้องขังนั้น สามารถช่วยแก้ไขปัญหานักโทษล้นคุกได้ เพราะศาลจะสามารถพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนคดีแต่ละคดี ประกอบกับข้อมูลจากครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ซึ่งบางครั้งข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำขึ้นสู่ชั้นการพิจารณาในศาล

          ฉะนั้นหากเจ้าหน้าที่จากกรมคุมประพฤติเข้ามาช่วยในการสืบเสาะและพินิจผู้ต้องหา ก็จะทำให้ศาลได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลนี้จะบ่งชี้ถึงประวัติ ภูมิหลัง การศึกษา ความเป็นอยู่ ครอบครัว หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมของตัวผู้ต้องหา ทั้งหมดเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่าผู้ต้องหาจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้หรือไม่ จากนั้นก็จะนำไปสู่การกำหนดโทษที่เหมาะสมต่อไป

          “ข้อมูลหรือภูมิหลังเกี่ยวกับตัวผู้กระทำความผิด เป็นข้อมูลสำคัญที่จะทำให้เราสามารถกำหนดโทษที่เหมาะสมกับผู้นั้น ถ้าเขารับสารภาพ แต่ข้อมูลบางอย่างไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของศาลเลย เช่น จบการศึกษาจากที่ใด ที่บ้านมีคนดูแลไหม พร้อมแก้ไขฟื้นฟูด้วยตนเองโดยไม่ต้องเข้ามาใช้ระบบของเรือนจำ ไม่ต้องอยู่ในห้องขังได้หรือไม่ ถ้ามีการสืบเสาะโดยเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อมาที่ศาลทั้งหมด ทั้งประวัติการศึกษา การทำงาน ครอบครัว สิ่งแวดล้อม ศาลก็จะใช้ดุลพินิจได้ว่าจะสาามารถคืนเขากลับบ้าน แล้วเขาจะไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกหรือไม่” ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กล่าว

          มุมมองของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ สอดคล้องกับ “บัลลังก์ จิระบุญศรี” เลขานุการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่เห็นว่า การสืบเสาะข้อมูลของผู้ต้องหาและผู้ต้องขังนั้น ถือเป็นวิธีการที่ดีมากสำหรับช่วยในการพิพากษาของศาล เพราะศาลต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาอย่างรอบด้าน เพื่อทราบถึงความนึกคิดของตัวผู้ต้องหาว่า ควรได้รับโอกาสในการกลับตัวกลับใจหรือไม่ โดยข้อมูลหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ การเยียวยาความเสียหายหรือการชดใช้จากการกระทำความผิดที่ก่อขึ้น เพื่อให้ศาลสามารถตัดสินโทษได้เหมาะสมกับความผิดที่ก่อขึ้นมา

 

เมื่อศาลเดินเผชิญเรือนจำ... มิติใหม่ยุติธรรมไทย

 

          “ข้อมูลจากการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติ จะทำให้เราได้ทราบความรู้สึกนึกคิดของฝ่ายผู้เสียหายด้วยว่าเห็นควรให้โอกาสผู้กระทำผิดหรือไม่ รวมถึงข้อมูลการเยียวยาความเสียหาย การขอขมาลาโทษว่าได้ทำหรือไม่ ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ศาลจะนำมาประมวล และนำมากำหนดโทษที่เหมาะสมกับจำเลยคนนั้นๆ ต่อไป” เลขานุการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ระบุ

          ขณะที่มุมมองของฝ่ายวิชาการอย่าง “ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ บอกว่า นโยบายนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรนำมาพัฒนาและใช้จริงเป็นอย่างมาก เพราะหลายคดีเท่าที่เคยศึกษาพบว่า ผู้ต้องหาบางคนไม่ได้เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติด แต่กลับต้องมาติดคุกอย่างเหมารวม ฉะนั้นการสืบเสาะข้อมูลความเชื่อมโยงที่แท้จริง จะช่วยให้ศาลได้ใช้ดุลพินิจในการตัดสินคดี และสามารถคัดกรองความผิดให้แต่ละบุคคลได้

          จากแนวคิดและมุมมองของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดที่กล่าวมา ชัดเจนว่าการผสานข้อมูลกันมากขึ้นระหว่างหน่วยงานใน “สายพานยุติธรรม” และการใช้ “มาตรการทางเลือกแทนการคุมขัง” เพื่อให้การลงโทษได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดอย่างแท้จริง คือการอำนวยความยุติธรรมในระดับสูงสุดให้กับประชาชน บนฐานของ “หลักนิติธรรม”

          บุกคุกแดนอิเหนา... เมื่อ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” เริ่มทำงาน
          ปัญหา “นักโทษล้นคุก” หากเจาะเฉพาะ “เรือนจำหญิง” จะพบประเด็นอ่อนไหวและซับซ้อนยิ่งกว่า ที่สำคัญปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรหญิงในเรือนจำสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก และมากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ภาพรวมนักโทษในไทยมีทั้งหมด 330,000 คน เป็นนักโทษหญิง 45,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 และมีอัตราการเติบโตของผู้ต้องขังหญิงระหว่างปี 2550-2560 อยู่ที่ร้อยละ 8

          เมื่อเจาะลึกไปดูประวัติและข้อมูลของผู้หญิงที่ถูกคุมขังในเรือนจำ พบว่าเป็นผู้กระทำผิดครั้งแรกถึงร้อยละ 78 และร้อยละ 80 มาจากข้อหายาเสพติด พวกเธอเหล่านั้นมีสถานะเป็นมารดาถึงร้อยละ 78 และร้อยละ 50 ยอมรับว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ จึงตัดสินใจร่วมในการกระทำความผิด

          นี่คือความซับซ้อนของ “เรือนจำหญิง” ที่มีความเปราะบางจาก “เพศภาวะ” ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็เช่น ถูกจับตอนตั้งครรภ์ แล้วไปคลอดลูกในเรือนจำ ก็ต้องให้นมลูก เลี้ยงดูลูกกันหลังกำแพงคุก อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นการจัดการภายในเรือนจำจึงต้องแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย

          และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ไทยผลักดัน “ข้อกำหนดกรุงเทพ” หรือ Bangkok Rules ซึ่งหมายถึง “ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดที่เป็นหญิง” โดยได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ และไทยก็มีหน้าที่อนุวัตให้ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” นี้มีผลในทางปฏิบัติจริง ทั้งเรือนจำในประเทศไทย ในอาเซียน และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก
สำหรับเพื่อนบ้านของเราในอาเซียนประเทศหนึ่งที่นำ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ไปขับเคลื่อนในเรือนจำหญิงแล้ว ก็คือ ประเทศอินโดนีเซีย หรือแดนอิเหนาที่คนไทยรู้จักกันดี 

 

เมื่อศาลเดินเผชิญเรือนจำ... มิติใหม่ยุติธรรมไทย

 

          เมื่อเร็วๆนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ UNODC หรือสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ได้เสด็จเยือนกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และทรงเข้าเยี่ยมชม “เรือนจำหญิงตังเกอรัง” พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงยุติธรรม และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

          “เรือนจำหญิงตังเกอรัง” เป็นหนึ่งในเรือนจำที่ร่วมขับเคลื่อน “ข้อกำหนดกรุงเทพ” เพื่อยกระดับมาตรการการดูแลผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำให้เหมาะสมกับ “เพศภาวะ” และความเปราะบาง

          เรือนจำหญิงแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ชานเมืองของกรุงจาการ์ตา รองรับผู้ต้องขังได้ 250 คน แต่ปัจจุบันกลับมีผู้ต้องขังมากกว่า 400 คน และพวกเธอเหล่านั้นมากกว่าร้อยละ 86 ต้องโทษในคดียาเสพติด แน่นอนว่าเรือนจำแห่งนี้กำลังเผชิญภาวะ “นักโทษล้นคุก” ไม่ต่างกับประเทศไทย แต่ความมุ่งมั่นบริหารจัดการเรือนจำให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ภายใต้แนวทางของ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ทำให้สถานการณ์ภายในเรือนจำดีวันดีคืน

          เฮอริน ชันดราวาติ หัวหน้าเรือนจำหญิงตังเกอรัง เล่าว่า รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ทั้งการดูแลด้านโภชนาการให้เพียงพอกับจำนวนผู้ต้องขัง ดูแลด้านสุขภาพและอนามัย ตลอดจนการสร้างทักษะอาชีพ รวมถึงการปฏิบัติกับผู้ต้องขังต่างชาติให้สอดคล้องกับหลักศาสนา แม้กระทั่งการดูแลบุตรของผู้ต้องขังหญิงที่ต้องเติบโตภายในเรือนจำ

          ฉะนั้นการนำ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” มาปรับใช้ จึงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และกฎหมายของอินโดนีเซีย โดยเน้นการอบรมและพัฒนาทรัพยากรบุคคล อย่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เพื่อให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้มีความรู้สึกผ่อนคลาย ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำอย่างมีความสุข และเตรียมความพร้อมในการออกไปใช้ชีวิตปกติในสังคมภายนอกภายหลังพ้นโทษ

          ด้าน “ชลธิช ชื่นอุระ” หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า การนำ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ไปยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ต้องขังหญิงที่มีความต้องการพื้นฐานแตกต่างจากผู้ต้องขังชายนี้ อินโดนีเซียให้ความสำคัญไปที่การแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดในเรื่องการฝึกอาชีพ และด้านสุขภาพของผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะกรณีผู้ต้องขังที่มีบุตรระหว่างต้องโทษ

          ชลธิช ชี้ด้วยว่า การนำ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ไปปรับใช้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ถือเป็นร่มใหญ่ในการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำ ไม่เพียงแค่ในภูมิภาคนี้ แต่ยังหมายถึงทั่วโลก เพราะนี่คือภาพสะท้อนหนึ่งของ “หลักนิติธรรม” อันเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน

          บทบาทในการฟื้นฟูผู้ที่เคยกระทำความผิด โดยเฉพาะกลุ่มที่ “ก้าวพลาด” แน่นอนว่าการบังคับให้สิ้นอิสรภาพอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการควบคุมสังคมให้มั่นคงปลอดภัย แต่นั่นยังอาจไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน หากไม่ย้อนไปทำความเข้าใจถึงเหตุผลที่พวกเขาและเธอเหล่านั้นได้ตัดสินใจเลือกกระทำความผิด ซึ่งโดยมากหนีไม่พ้นปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

          ฉะนั้นการพัฒนาทักษะ เสริมศักยภาพ และสร้างองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพสุจริต เพื่อให้พวกเขาและเธอสามารถออกไปใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ในยามพ้นโทษ จึงน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและสร้างสังคมสันติสุขอย่างแท้จริง

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ