คอลัมนิสต์

"คสช."ยิ่งเปลี่ยนโจทย์ ยิ่งเจอทางลำบาก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"คสช."ยิ่งเปลี่ยนโจทย์ ยิ่งเจอทางลำบาก : คอลัมน์... ขยายปมร้อน  โดย... ขนิษฐา เทพจร  

          ตอนที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ายึดอำนาจ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 อาจจะมีโจทย์สำคัญเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่ลามไปสู่ความรุนแรง ถึงขั้นใช้อาวุธเข้าทำร้ายกัน ส่งผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจ

          เมื่อเข้าสู่อำนาจทางการบริหาร, ทางนิติบัญญัติ ผ่านกระบวนการ มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), มีสภาปฏิรูป และมีคณะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โจทย์ที่ต้องสะสาง คือปัญหา 3 ระยะ ได้แก่ ยุติการคุกคามประชาชน, ปฏิรูปประเทศและวางระบบ กติกาใหม่ให้ประเทศ และเตรียมส่งต่อการบริหารให้รัฐบาลชุดใหม่

          ซึ่ง “โจทย์” ทั้ง 2 กรณี เข้าใจตอนเริ่มแรกว่าจะมีระยะไม่เกินปี 2558 และเลือกตั้งในปีถัดมา แต่ความเข้าใจที่ว่ากัน ไม่เป็นจริง เพราะหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ถูก “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” คว่ำ เมื่อ 6 กันยายน 2558 ทำให้ “โรดแม็พประเทศ” ที่จะส่งงานต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ มีความไม่แน่นอน

          แต่ในความไม่แน่นอน มีความแน่ชัดที่แฝงอยู่คือ การอยากอยู่ยาว ของ “คสช.”

          และความต้องการอยู่ยาว สะท้อนให้เห็นจากโจทย์ที่ผุดขึ้นใหม่อยู่เสมอ - วิธีที่นำไปสู่เป้าหมายซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามความพอใจของผู้มีอำนาจ

          ในบทวิเคราะห์หนึ่งที่ “คอการเมืองจากทุกพรรคการเมือง” กล่าวตรงกัน คือ เป้าหมายหนึ่งเดียว ให้ “พล.อ.ประยุทธ์” กลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” ภายหลังเลือกตั้ง          

          แต่วิธีที่นำไปสู่เป้าหมายนั้น ยังมีอุปสรรค คือ 1.เอาชนะเลือกตั้ง 2.รวมเสียงสนับสนุนในรัฐสภา โดยเฉพาะเสียงจาก ส.ส. ที่ต้องเกิน 225 เสียง เพื่อเพียงพอ ที่จะร่วมกับ ส.ว. 250 เสียง โหวตให้คนของทหาร เป็นนายกฯ ด้วยเสียงเกินครึ่งของสมาชิกรัฐสภา 750 คน และ 3.เสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎร ที่เพียงพอจะค้ำ “รัฐบาลทหาร” บริหารประเทศ ราบรื่นและไม่มีปัญหา เมื่อถูกฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบ
ดังนั้น โจทย์แรก คือ ชนะเลือกตั้ง กลายเป็นวิธีที่ คสช.ต้องคิดหาวิธี และปูทางไปสู่จุดนั้น

          ตามที่ "วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย" เดาทางไว้ คือ อุปสรรคต่อเป้าหมาย ที่ว่าด้วยการชนะเลือกตั้ง อาจเป็นงานหนักของ “ประยุทธ์” เพราะโพลล์ของฝ่ายความมั่นคง ที่สำรวจล่าสุดพบว่า ทุกเขตเลือกตั้ง “พรรคเพื่อไทย” ยังมีคะแนนนำและยังชนะคู่แข่ง ดังนั้น การแก้เกมของ “คสช.” คือ การยื้อเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุด

          สอดรับกับความเห็นของ “คุญหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย” ระบุว่า การเลือกตั้งไม่น่าเกิดขึ้นเร็ว พร้อมยกกรณีของการทุ่มงบประมาณ หลักล้านล้านบาท ลงสู่ชุมชนฐานราก ทั้งโครงการไทยนิยมยั่งยืน, บัตรสวัสดิการคนจน แม้วัตถุประสงค์ของรัฐบาลจะระบุเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ตรงกันข้าม

          ดังนั้น เจตนาที่ “คนการเมือง” มองกันออกคือ การทำทุกวิธี เพื่อขอเวลา สร้างคะแนนนิยมให้รัฐบาลปัจจุบัน ด้วยหวังว่าจะแปลงเป็นคะแนนเสียง ให้แก่ “พรรคการเมืองของ คสช.” ที่เตรียมลงสู่สนามการเมือง แม้ขณะนี้ยังไม่เปิดหน้า แต่คนการเมืองเชื่อแน่ว่าจะเกิดขึ้น

          หากวิธีการเอาชนะคู่แข่งทางการเมือง ด้วยกำลังงบประมาณและกลไกของราชการ ที่ฝ่ายการเมืองวิเคราะห์ ไม่ใช่ทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ และมิอาจการันตีความสำเร็จ

          แม้จะได้ผลดีแบบเฉพาะหน้า แต่ในเชิงการเมือง อาจเป็น “จุดตาย” ที่นักการเมืองนำไปขยายและโจมตีหลังจากนี้ได้ หรืออาจเป็นประเด็นเลวร้ายสุด คือการยกพฤติกรรม-กรณีที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ของ “รัฐบาลปัจุจุบัน” เป็นประเด็นที่สร้างเงื่อนไขให้ “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ล้มตั้งแต่ก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง

          ขณะที่โจทย์ที่สอง คือ การได้เสียงสนับสนุน เพียงพอที่จะดัน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ อีกรอบ

          สถานการณ์ล่าสุด ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ให้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ” เป็นตัวแทนพรรค คสช. เดินสายและวางเครือข่ายถึงกลุ่มขั้วทางการเมือง หลายกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มของพรรคจังหวัด เพื่อให้เป็นแรงสนับสนุนไม่ให้เก้าอี้นายกฯ หลุดไปอยู่ที่ใครอื่น และหากได้เสียงที่มากพอ จะเป็นหลักประกันต่อการทำงานในวาระที่ราบรื่น

          และการเปิดหน้าอ้าแขนรับ “สนธยา–อิทธิพล คุณปลื้ม” จากพรรคพลังชล ถือเป็นสัญญาณที่ “คสช.” ต้องการสะท้อนให้คนอื่นๆ เห็นว่า เมื่อยอมต่อรอง ผลประโยชน์ตอบแทนที่มอบให้ล่วงหน้า ย่อมถูกตอบแทน

          หากนักการเมืองที่อดอยากปากแห้ง หรือต้องการน้ำเลี้ยง หรือจังหวะสร้างคะแนนนิยม อาจยอมต่อรอง บนเงื่อนไขเจรจา ที่ คสช.ต้องการ !!

          ในกรณีเดียวกันนี้เอง นอกจากการดึง “พรรคการเมือง” ให้เป็น “พรรคเพื่อนคสช.” แล้ว ยังมีปรากฏการณ์ทำลายฐานคะแนนของพรรคการเมือง จากกรณีที่ “สกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม. ประชาธิปัตย์” ถูกตั้งเป็น รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังเข้าพบ “สมคิด” ที่ทำเนียบรัฐบาลไม่กี่วัน ถือเป็นจุดที่ “คนประชาธิปัตย์” จับตาว่า คือการให้ประโยชน์ตอบแทน เพื่อแลกกับการหาเสียงล่วงหน้าให้ “พรรค คสช.”

          อย่างไรก็ดี โจทย์ที่ คสช.วางไว้ และใช้วิธีที่นำไปสู่เป้าหมาย คือการสกัดไม่ให้พรรคเพื่อไทย รวมเสียงที่มากพอ เพื่อตั้งนายกฯ ของตนเอง หรือจัดตั้งรัฐบาลของตัวเอง ขณะเดียวกัน คือการบีบพรรคประชาธิปัตย์ ให้เข้าตาจน และยอมเข้าสวามิภักดิ์ กับ “คสช.”

          ทิศทางนี้ มีสิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ หากวันที่พรรคประชาธิปัตย์ เปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค จาก “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่มีท่าทีไม่ยอม “รัฐบาลคสช.” ไปเป็นบุคคลอื่น นั่นคือสิ่งที่การันตีได้ว่า คสช.จะชนะทุกฝ่ายและชนะได้ทุกทาง

          ในโจทย์ วิธีนี้ “คสช.” ต้องยอมรับและต้องพร้อมรับมือให้ได้ กับการต่อรองประโยชน์ ที่ “พรรคการเมือง” จะต้องได้รับอย่างสูงสุด ตามเดิมพันที่ “บิ๊กตู่” วางไว้ และยิ่งเดิมพันสูง การต่อรองเพื่อผลประโยชน์จะสูงเป็นทวีคูณ

          ไม่เช่นนั้น โจทย์สุดท้ายที่ “คสช.” ต้องเตรียมรับมือ คือ การใช้กลไกนิติบัญญัติ ตรวจสอบรัฐบาล อาจจะถูกงัดเป็นวาระแห่งชาติ และซัดจน “รัฐบาลหลังเลือกตั้ง” ยากจะรับมือ เหมือนอย่างที่พรรคแกนนำรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าพรรคไหน ถูกพรรคฝ่ายค้านจองกฐิน เปิดศึกซักฟอก จนเสียเครดิตไปนักต่อนัก

          แต่อุปสรรคนี้เชื่อว่า คสช.คงหาวิธีแก้ไข ด้วยกลไกและระบบที่เรียนกว่า “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ปราศจากการตรวจสอบ และพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา แต่เขาจะใช้วิธีใด ปูไปสู่จุดนั้น เชื่อแน่ว่า อีกไม่นานคงจะได้รู้กัน  และในบทสรุปส่งท้าย จากโจทย์วันแรก จนถึงวันนี้ที่ปรับเปลี่ยนถือเป็น “ปมปัญหา” ที่ คสช. ต้องคิดและตรึกตรองให้ดี

          เพราะยิ่งเปลี่ยน “โจทย์” ไปเยอะเท่าใด เท่ากับสร้าง “โจทก์” เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน.
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ