คอลัมนิสต์

ไอ้เสือ(กสทช.)ไม่ถอยจริง ! อุ้มมือถือต่อ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ กวาดบ้านกวาดเมือง โดย ลมใต้ปีก

ไอ้เสือ(กสทช.)ไม่ถอยจริง ! อุ้มมือถือต่อ

 

 

 

               “ถอยดีกว่า...ไม่เอาดีกว่า...เธอเล่นเปลี่ยนใจทุกครั้งหลังอาหาร ก็ใครจะไปทานทนได้ ถอยดีกว่า...ไม่เอาดีกว่า...ไม่อยากต่อคิวหัวใจกับเธอ ไม่รู้จะได้เบอร์อะไร”
               บางช่วงบางตอนเพลงของ อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์ ในบทเพลง ถอยดีกว่า คงจะใช้ได้กับสถานการณ์ของ กสทช. ในขณะนี้ หลังจากที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกอาการอย่างสังเกตได้ชัดในการอุ้ม 2 ยักษ์ใหญ่ค่ายมือถือ
               โดยช่วยพยายามที่จะเหลือหรือผ่อนปรนการชำระหนี้ โดยอาศัยเรื่องความเดือดร้อนของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลด้วยวิธีการสอดไส้ ทำให้สังคมและสื่อออกมาวิพากษ์วิจารณ์ จนกระทั่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องเอาวาระที่ ฐากร สอดไส้อุ้ม 2 ยักษ์ใหญ่ค่ายมือถือออกจากวาระใน คสช. และให้ กสทช. กลับไปปรับปรุง
               ถึงแม้ว่าสังคมจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู แต่ กสทช. ในขณะนั้นก็ยังยืนยัน 9 เหตุผลที่จำเป็นต้องพักและยืดเวลาในการชำระหนี้กว่า 1.3 แสนล้าน ให้กับ 2 ยักษ์ใหญ่ค่ายมือถือ โดยอ้างข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดเสนอให้รัฐบาลยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้ายออกไป เพราะคิดว่าทำให้รัฐบาลมีรายได้กว่า 3,600 ล้านบาท จากดอกเบี้ย 1.5% ตามอัตราของธนาคารแห่งประเทศไทย แทนที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการ 2 รายไปกู้ธนาคารพาณิชย์ และยังบอกอีกว่า รัฐบาลน่าจะมีรายได้จากการประมูลคลื่น 4G ย่าน 1800 MHz ที่จะจัดขึ้น เป็นเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วย แต่รัฐอาจไม่ได้รายได้ดังกล่าว หากไม่ยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้าย ซึ่งเป็นเหตุผลที่สังคมฟังแล้วไม่เข้าท่า จนกระทั่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ และก็คงอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ว่า นายฐากรคงเป็นบุคคลเหนือมนุษย์? เพราะสามารถล่วงรู้อนาคตและคาดการณ์ผลประโยชน์และผู้เข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ล่วงหน้าได้ถึงขนาดนั้น

 

 

 

               ท้ายที่สุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ได้ตัดสินใจแถลง “ถอยแล้ว” ไม่เอาเรื่องมาตรการอุ้ม 2 ยักษ์ใหญ่ผู้ประกอบการค่ายมือถือเข้ามาร่วมผสมโรงกับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เห็นว่าพลังงานของสังคมจับต้องอยู่ อันที่เป็นความเดือดร้อนจริงๆ สังคมจะยอมรับและให้ความสนับสนุนออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยา แต่อันไหนที่ไม่ใช่ความเดือดร้อนจริง ซึ่งสังคมก็รู้อยู่แล้วว่า 2 ค่ายใหญ่มือถือนี้มีผลประกอบการที่มีกำไรและจ่ายปันผลได้ โดยเฉพาะบางค่ายสามารถจ่ายปันผล และผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของหุ้นอยู่สิงคโปร์ก็ได้รับปันผลทุกปี กลับจะยัดไส้มาตรการช่วยเหลือไม่จำเป็นใส่มือ คสช. อีก ซึ่งไม่เป็นธรรม
               เพราะฉะนั้น เป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้วที่คุณฐากรตัดสินใจจะไม่ฝ่าฝืนกระแสสังคมที่จะไปอุ้ม 2 ยักษ์ใหญ่ค่ายมือถือนั้นอีก 
               ขอให้ กสทช. เดินหน้าที่จะทำอะไรตรงไปตรงมาแบบนี้ ไม่ใช่ไปดันทุรังอุ้มผู้ประกอบการมือถือโดยอาศัยความเดือดร้อนของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และต่อไปนี้ก็ต้องทำเรื่องเสนอต่อ คสช. ในเรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ที่ปัญหามาจากการคาดการณ์ทางธุรกิจผิด ประกอบกับพายุสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดียที่โหมกระหน่ำ ตลอดจนความผิดพลาดของ กสทช. เองในการจัดการทีวีดิจิทัลตั้งแต่ต้น ต้องถือได้ว่าเป็นความผิดพลาดร่วมกันที่วันนี้จะต้องหาทางออกเพื่อให้ผู้ประกอบการและธุรกิจทีวีดิจิทัลที่นำข่าวสารต่างๆ สื่อสารไปยังประชาชนอยู่รอด และให้สามารถเดินต่อไปได้ และพนักงานในระบบกว่า 3,000 คน ไม่ตกงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรตระหนักและต้องทำอย่างยิ่ง
               อย่างไรก็ตาม การที่ กสทช. ยื้อเรื่องการประมูลคลื่น 1800 ออกไปโดยข้ออ้างรอความชัดเจนในการเลือกบอร์ด กสทช. ก่อนนั้นทำให้ค่ายมือถือสองยักษ์ใหญ่ ได้ประโยชน์เต็มๆ ในการเก็บส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นและเพิ่มโอกาสในการแสวงหามาตรการใหม่เพื่อช่วยให้ 2 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ มี “ข้อเสนอใหม่” ให้ทั้งสองค่ายมีโอกาสในการชิงคลื่น 1800 ที่ต้องการปิดตลาดค่ายอื่นด้วย

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ