คอลัมนิสต์

"หมื่นประยุทธ์" โล้อำนาจวาสนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเมืองคึกคักพร้อมกระแสตั้งพรรคหนุน "ประยุทธ์" นั่งเก้าอี้นายกฯอีกหนึ่งสมัย ชัดเจนขึ้น "สมคิด" ขุนพลเศรษฐกิจที่สวมหมวกขุนพลทางการเมือง จะปั้นฝันเป็นจริงหรือไม่

 

              การเมืองคึกคักพร้อมกระแสตั้งพรรคหนุน “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่งเก้าอี้นายกฯ ต่ออีกหนึ่งสมัยเริ่มชัดเจนขึ้น “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ขุนพลเศรษฐกิจที่คราวนี้สวมหมวกขุนพลทางการเมือง จะปั้นฝันให้เป็นจริงได้หรือไม่ 

              ขณะที่พรรคอื่นยังง่วนอยู่กับการยืนยันสมาชิกพรรค หรือลุ้นจะตั้งพรรคใหม่ได้หรือไม่ แต่มีพรรคการเมืองหนึ่งดูเหมือนจะขยับนำพรรคอื่นไปอยู่หนึ่งก้าว แม้ขณะนี้จะยังไม่ชัดเจนว่าจริงๆ แล้วจะใช้ชื่อพรรคที่กำลังตั้ง ใช้พรรคที่มีอยู่ หรือจดชื่อใหม่  เพื่อเป็นบ้านหลัก แต่การขยับเขยื้อนทางการเมืองเริ่มชัดเจน 

              พรรคที่ว่าถูกระบุว่าขับเคลื่อนโดย “ทีมสมคิด”  ที่ว่ากันว่าประกอบด้วยทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้อันประกอบด้วย “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ  “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

"หมื่นประยุทธ์" โล้อำนาจวาสนา

              สามประสานขุนพลเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้กำลังก่อการตั้งพรรคการเมืองที่มีจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหลังการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น  โดยชูเรื่องการสานต่อนโยบายและระบุว่าเป็นผู้นำที่เหมาะสมที่สุด

 

              “ผมสนับสนุนท่านนายกฯ ประยุทธ์นั่นแหละ เพราะหลายปีที่ผ่านมาเราเคยเห็นความไม่สงบใช่ไหม คุณอยากให้บ้านเมืองกลับไปอย่างนั้นไหม ถ้าบ้านเมืองสงบแล้วทุกอย่างที่ตามมาดีขึ้น มีการพัฒนาประเทศดีขึ้น มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น คนมีความสุขมากขึ้น ไม่ดีหรือ ถ้าบอกว่าจะให้สนับสนุนใคร ผมก็ต้องบอกว่าสนับสนุนท่านนายกฯ ประยุทธ์ แต่การสนับสนุนไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นรัฐมนตรีต่อ คนเรามันมีอายุขัย ผมจึงอยากเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาร่วมกัน ถ้าชอบนายกฯ ประยุทธ์ก็สนนับสนุนท่าน ถ้าไม่ชอบก็พรรคอื่น ไม่ได้ว่าอะไร”  (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 5 เม.ย.2561)

              “อยู่ในระหว่างการพูดคุยว่าประเทศจะต้องไปทางไหน และมองว่า ใครจะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ และนำพาประเทศต่อไป โดยกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ก็มาแรง ทั้งโพลล์ก็ต้องการให้เป็นนายกฯ เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งนายสมคิดบอกว่า หากนายกฯ สนใจหรือประชาชนเรียกร้องในการที่จะให้นั่งในตำแหน่งนายกฯ ต่อไป ซึ่งนายสมคิดและตนก็พร้อมที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ต่อ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นคนที่เหมาะสม” (สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ 9 เม.ย.2561)

              ถ้อยคำให้สัมภาษณ์จากปากทั้งสองคนเรียกว่าชัดกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว แม้ทางหนึ่งจะอ้อมแอ้มว่ายังไม่ตั้งพรรค แต่ก็ยอมรับในแนวทางและการชู “ประยุทธ์” เป็นผู้นำ

              ทั้งนี้มีข่าวว่าได้ทาบทาม “ประยุทธ์ ” ให้มานั่งเป็นหัวหน้าพรรค  แต่ก็ยังได้รับการปฏิเสธ  เพราะไม่ว่าใครก็ดูออกว่าหากเปิดตัวเป็นหัวหน้าพรรคจริงเมื่อไหร่เจ้าตัวจะช้ำขนาดไหน เพราะจากนี้ไปคมหอกคมดาบจะพุ่งตรงเข้าหาทุกทาง ดังนั้นทีมงานเสธ.ขุนทหารทั้งหลายลงความเห็นว่า แม้จะอยากเป็นนายกฯ ก็ต้องไว้ตัวบ้าง โดยยอมรับได้เต็มที่แค่ที่ปรึกษาพรรค นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ความเป็นกลางด้วย

              ขณะที่อีกมุมหนึ่งมองว่าการเป็นที่ปรึกษาพรรค หรือหัวหน้าพรรคเองก็ไม่ได้มีความต่างอะไรมากนัก เพราะยังไงคนก็รู้อยู่แล้วว่าเป้าหมายคืออะไร  หากการประกาศตัวเข้าร่วมในฐานะหัวหน้าพรรคจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้คนที่จะเข้ามาร่วมทำงาน ว่างานนี้ “ของจริง” 

              ซึ่งสุดท้ายก็ต้องแล้วแต่ “ประยุทธ์” ว่าจะเลือกแบบไหน  แต่อย่างหนึ่งที่เห็นชัดแม้ผู้นำตัวจริงยังไม่ตัดสินใจคือ “การสั่งสมกำลัง” 

              ก่อนอื่นต้องบอกว่าการตั้งพรรคเพื่อสืบต่ออำนาจครั้งนี้เปลี่ยนจากอดีต ที่ผู้นำรัฐประหารหากต้องการตั้งพรรคการเมืองปูทางมักจะใช้กำลังและการสนับสนุนจากทหารเป็นหลัก  แต่ครั้งนี้กลับเลือกใช้กลยุทธ์ที่ต่างออกไปกล่าวคือ คนที่นำหน้าไม่ใช่ขุนทหาร หากแต่เป็น “ขุนพลเศรษฐกิจ” เพื่อชูจุดเด่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

              นัยหนึ่งอาจเป็นเพราะความเชื่อใจ และอีกนัยหนึ่งอาจเป็นเพราะเข้าใจสภาพความเป็นไปของการเมือง ณ ปัจจุบันที่หากเปิดหน้าทหารเล่นอย่างเดียว ความหวาดระแวงจะมีมากกว่าความไว้ใจ แต่หากใช้ผู้เล่นแนวหน้าเป็นทีมเศรษฐกิจ ก็จะสร้างภาพให้เห็นความตั้งใจทำงาน

              และที่สำคัญอีกประการคือ “ความคร่ำหวอด” ในวงการเมืองของ “สมคิด”  เพราะเขาก็เคยเป็นหนึ่งในนักการเมือง เคยเป็นขุนพลของ “รัฐบาลทักษิณ” เป็นเจ้าของโครงการ “ประชานิยม” หลายๆโครงการ และวันนี้ก็เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ และ ไทยนิยม   เขาคุ้นเคยและเข้าใจนักการเมืองไม่แพ้ใครทำให้เขาสามารถเจรจาและรวบรวมสรรพกำลังจากนักการเมืองกลุ่มต่างๆ เพื่อให้พรรคดังกล่าวก่อเกิดและยิ่งใหญ่ให้จงได้

              สรรพกำลังที่กำลังไหลรวมมาอยู่พรรคใหม่ น่าสนยิ่งนักเอ่าเป็นว่าพรรคเก่าใครจะอยู่ก็อยู่ไป  แต่ใครสนใจก็ย้ายมา  โดยเฉพาะนักการเมืองแถวที่แม้จะไม่ใช่เบอร์หนึ่ง แต่ด้วยระบบเลือกตั้งใหม่ นักการเมืองแถวสองก็มีค่าในการดึงคะแนนนิยมและเพิ่มจำนวนส.ส. จึงมีหลายคนพร้อมจะเข้ามาอยู่กับพรรคนี้

              ว่ากันว่า “เสี่ยติ่ง” สัมพันธุ์ เลิศนุวัฒน์ และพรรคพวกที่ประกาศตั้งพรรคก่อนหน้านี้อาจมีเปลี่ยนใจเข้ามาร่วมพรรคใหม่   หรือนักการเมืองจากพรรคเดิมที่ตอนนี้ยังลังเลว่าจะอยู่ที่ไหนก็มีแนวโน้มสูงว่าจะเอนเอียงมาทางพรรคใหม่ โดยมีพลังดูดแรงสูงเป็นตัวเร่งในการตัดสินใจเช่นกลุ่ม “สะสมสมทรัพย์” ของนครปฐม  หรืออย่างล่าสุดที่ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์”  อดีตส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ก็ได้ไปพบ “สมคิด” ถึงทำเนียบรัฐบาล

              แต่ที่สำคัญคือความพยายามในการดึงกลุ่มกปปส.ที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองของตัวเองเช่นกันให้มาร่วมกันในพรรคใหม่  โดยก่อนหน้านี้ “ธานี-สุเทพ เทือกสุบรรณ” จะจัดตั้งพรรคขึ้นมาสู้ศึกเลือกตั้งในนามพรรคกปปส. โดยมีนโยบายเดียวกันคือชู “ประยุทธ์” เป็นนายกฯ 

              และเราก็เห็นความเป็นไปได้สูงเมื่อ “สกลธี ภัททิยกุล” หนึ่งในแกนนำกปปส. ที่เข้าไปพบ “สมคิด” พร้อม “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” ก็ได้รับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. จากคำสั่งของ “อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม. คนปัจจุบัน และจากการเปิดเผยของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคเดิมของ “สกลธี” ก็ยอมรับว่าตำแหน่งนี้มี “บิ๊ก คสช”. ให้มา  

              การพบเห็น “สกลธี” พบ “สมคิด” ในวันที่ 3 เมษายน ที่ทำเนียบ เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะก่อนนี้ได้พบกันและเจรจามาแล้วหลายครั้ง จนบรรลุข้อตกลงและพร้อมจะเปิดตัว

ดังนั้นจึงน่าจะชัดเจนว่าในอนาคต กปปส.และพรรคใหม่ของ “สมคิด” อย่างเลวร้ายที่สุดก็คือร่วมกันเดิน  แต่ทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือกลายมาเป็นพรรคเดียวกัน

              นอกจากการ “เดินสาย” ตั้งพรรคใหม่แล้ว  ยังมีภารกิจรวมเสียงพรรคเดิมเพื่อสนับสนุน “ประยุทธ์” ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะทำงานร่วมกับ “ภูมิใจไทย” ที่กำลังเนื้อหอม มีอดีตส.ส.หลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก พรรคชาติไทยพัฒนา ที่แม้จะเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคแต่อุดมการณ์คงเดิม หรือพรรคท้องถิ่นอย่างพรรคพลังชล ก็ไม่ปฏิเสธการเข้าร่วม

              โดยเชื่อว่าหากถึงวันนั้นเมื่อมีพรรค “สมคิด” เป็นแกน มีพรรคเล็กสนับสนุนทุกพรรค  “ประชาธิปัตย์” เองก็คงไม่ปฏิเสธการเข้าร่วม โมเดลรัฐบาลแห่งชาติอยู่ไม่ไกล และทิ้ง “เพื่อไทย” เป็นฝ่ายค้านกับพรรคอีกไม่กี่พรรค 

              นาทีนี้จึงเป็นการเดินเกมสั่งสมกำลังเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เพราะโจทย์ใหญ่ที่สุดคือพา “ประยุทธ์” กลับเก้าอี้นายกฯ หลังเลือกตั้งให้ได้ ภายใต้คอนเซ็ปต์รัฐบาลแห่งชาติ  แต่จะสำเร็จหรือไม่หนทางยังอีกยาวไกล  

              “สมคิด”  จะร่ายมนต์บทไหนถึงจะกล่อมทุกคนได้ แต่อย่าให้ถึงขนาดต้องงัดบท “กฤษณะกาลี” ออกมาเลย

-------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ