คอลัมนิสต์

บ้านพักตุลาการ ดอยสุเทพ "มิติกฎหมาย"เผชิญ"มิติสิ่งแวดล้อม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปมปัญหา บ้านพักตุลาการ เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า แม้จะทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ใช่คำตอบโจทย์ในบางเรื่องเพราะการอยู่ร่วมกันในสังคมโลกใบนี้ ยังมีปัจจัยอื่นอีกมาก

            โครงการก่อสร้างอาคารที่พักตุลาการและข้าราชการ ซึ่งประกอบด้วยบ้านพักผู้พิพากษา,อาคารชุดของตุลาการ รวมทั้งอาคารชุดของเจ้าหน้าที่ศาล บริเวณเชิงดอยสุเทพ อ.แม่ริม จ. เชียงใหม่ ใกล้กับเขตอุทยานแห่งชาติ ดอยสุเทพ-ปุย  กำลัง“งานเข้า” เมื่อชาวบ้านได้ออกมาคัดค้าน แสดงความไม่เห็นด้วย เรียกร้องให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาเหมือนเดิม   

          และถึงขั้นออกมาถือป้ายประท้วง  และส่งตัวแทนเดินเท้าจากเชียงใหม่ เข้า กทม. แต่โชคยังดีที่ทางรัฐบาล ได้รีบออกมาระงับเหตุและทางสำนักงานศาลยุติธรรมไหวตัวทัน ออกมาชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้ เรื่องจึงไม่ได้ลุกลามบานปลายใหญ่โต

          เรื่องนี้หากมองใน"มิติกฎหมาย"ต้องยอมรับว่า ทางด้าน “ศาลยุติธรรม” ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ มิอาจโต้แย้งได้ เนื่องจาก ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นทีี่“ราชพัสดุ” และกรมธนารักษ์ ได้ออกหนังสืออนุญาตให้ทางศาลยุติธรรมใช้ “ที่ดินราชพัสดุ” และต่อมากระทรวงการคลังได้อนุมัติให้สำนักงานศาลยุติธรรมใช้พื้นที่ก่อสร้างที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ,บ้านพักผู้พิพากษา และอาคารชุดสำหรับข้าราชการตุลาการ และเจ้าหน้าที่ศาล ซึึ่งทั้งหมดเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติของทางราชการ 

        และหากไปพลิกดู พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518  ก็จะพบว่าในมาตรา 5  บัญญัติว่า  ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ ดังนั้นกระทรวงการคลังในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์  จึงมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะให้สำนักงานศาลยุติธรรม ใช้ประโยชน์ในดินราชพัสดุได้  

       ข้างต้นที่กล่าวมานี้ คือ แง่มุมทางกฎหมาย

       แต่ในเรื่องนี้ ไม่ใช่มีเพียงแต่ในเรื่อง“มิติกฎหมาย” เพียงอย่างเดียว แต่มี “มิติสิ่งแวดล้อม ” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และดูเหมือนมีความสำคัญเหนือกว่า 

      เพราะที่ชาวบ้านและกลุ่มคนคัดค้าน ออกมาต่อต้านการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างบริเวณดังกล่าว เนื่องจากพวกเขามีความหวงแหน สิ่งแวดล้อมที่เป็น“สีเขียว” ไม่ใช่เรื่องที่ว่าทำถูกหรือผิดกฎหมาย  และจากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งเห็นเหมือนกับสิ่งปลูกสร้างเซาะเข้าไปในป่า ป่าแหว่ง ช่าง“แทงตา” ผู้คน จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับ“ความเหมาะสม” มากกว่า

       และในเว็บไซต์ change.org ซึ่งมี ดร.ทนง ทองภูเบศร์  เป็นเจ้าของแคมเปญรณรงค์คัดค้านโครงการนี้ ขณะนี้มีผู้สนับสนุนถึง 4 หมื่นกว่าคนแล้ว โดยมีการตั้งเป้าให้ถึง 5 หมื่นคน 

        นอกจากนี้เคยมีงานทางวิชาการที่เคยเผยแพร่ออกมาหลายชิ้นว่า จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ “แอ่งกระทะ” เป็นธารน้ำโบราณ มีที่สูงทางทิศตะวันตกและตะวันออก จังหวัดเชียงใหม่จึงเป็น “heat island” คือเป็นโดมความร้อน เมื่อมีความกดอากาศสูง “คาร์บอน” ที่เกิดจากในเมืองก็จะลอยขึ้นไปไม่ได้   ดังนั้นพื้นที่ป่าทุกจุดใน“เชียงใหม่” จึงเป็น “ปอด” ที่สำคัญมาก เพราะ เชียงใหม่เป็น“แอ่งกระทะ” เหมือนเรามีกระทะใบหนึ่งแล้วเอา “ฝาซึ้ง” ไปครอบไว้ ถ้าไม่เก็บรักษาป่าไว้ จะมีผลกระทบมาก

       สำหรับ “สำนักงานศาลยุติธรรม”  ซึ่งได้ออกมาชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับโครงการนี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมานั้น ต้องยอมรับว่า ค่อนข้างเข้าใจเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความรู้สึกของผู้คนทั่วไปเป็นอย่างดี 

       กล่าวคือ ไม่ได้ “ยืนกระต่ายขาเดียว” ว่าทำถูกกฎหมาย  แต่บอกว่า สิ่งที่ประชาชนให้ความห่วงใยในเรื่องนี้ โครงการนี้ ทาง“สำนักงานศาลยุติธรรม ”ก็พร้อมที่จะรับฟัง และรับข้อเสนอแนะต่างๆ ว่าจะให้ปรับปรุงแก้ไขอย่างไร 

      และให้ความสำคัญกับ“สิ่งแวดล้อม”เหมือนกัน โดยจากแผนที่ทาง “สำนักงานศาลยุติธรรม” ดำเนินการอยู่  ทุกคนจะอยู่กับ“สิ่งแวดล้อม”ได้ และยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปทำลาย“สิ่งแวดล้อม” แต่ต้องการจะอยู่กับ“สิ่งแวดล้อม” และรักษา“สิ่งแวดล้อม” ไว้  ซึี่งก็ช่วยลดดีกรีความร้อนแรงในเรื่องนี้ลงได้ระดับหนึ่ง 

       ประกอบกับในส่วนของรัฐบาล ก็มีความเคื่อนไหวในเรื่องนี้ โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ดูแลที่ราชพัสดุ ,กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดูแลป่าไม้, ตลอดจนกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่โดยรวม รวมทั้งฝ่ายกฎหมายของ คสช. ไปพูดคุยหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกับฝ่ายตุลาการ แล้วส่งข้อเสนอแนะมายังรัฐบาล เพื่อตัดสินใจต่อไป โดยรัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาและจะพยายามปรับพื้นที่ให้กลับสู่“สภาพเดิม” ให้ได้

       ล่าสุด แม่ทัพภาคที่3 ได้เป็นตัวกลาง ในการเปิดเวทีสาธารณะ  โดยมีมวลชนชาวเชียงใหม่ และกลุ่มภาคีขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ และหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือ และได้ข้อสรุป 4 ประเด็นที่จะนำเสนอต่อ ผบ.ทบ. ในฐานะ เลขาธิการ คสช.ต่อไป

      คือ 1.รื้ออาคารบางส่วน โดยมีคณะกรรมการ ไปดูพื้นที่จริง ว่าควรรื้อแค่ไหนเพียงไร 2.ให้ผู้รับเหมาทำงานให้เสร็จหรือหยุดเพียงเท่านี้ โดยรัฐจ่ายเงินให้ตามงวดงานที่หยุดไป 3. หากจะรื้อ รัฐบาลต้องหาพื้นที่ทดแทน และหางบประมาณมาสร้างบ้านพักให้กับศาลใหม่ 4.คืนพื้นที่ตามที่เห็นสมควรรื้อ ให้ทางราชพัสดุไปฟื้นฟูปลูกป่า

       ขณะเดียวกันทาง คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ( ก.บ.ศ.)  มีมติ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย โดยตระหนักถึง การอยู่ร่วมกับธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม และให้มีหนังสือเรียนนายกฯถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยหากรัฐบาล ให้ชะลอการใช้บ้านพักเฉพาะส่วนที่มีการคัดค้านไว้ชั่วคราวหรือดำเนินการอื่นในระหว่างฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ขัดข้อง

         เรื่องบ้านพักตุลาการ..จึงต้องติดชมกันต่อไปว่า จะลงเอยอย่างไร 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ