คอลัมนิสต์

คดีฉาวข้อมูล "รั่ว" คนไทยฟ้องเฟซบุ๊กได้ไหม?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คดีฉาวข้อมูล "รั่ว" คนไทยฟ้องเฟซบุ๊กได้ไหม? : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

          งานนี้ต้องเคลียร์กันยาว หลังจากมหาเศรษฐีหนุ่ม “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอเฟซบุ๊กยอมรับว่า ข้อมูลผู้ใช้รั่วไปมากถึง 87 ล้านคน จากคาดการณ์ว่า 50 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นของผู้มีถิ่นอาศัยในอเมริกา ส่วนผู้ใช้จากประเทศอื่นๆ ประมาณ 16 ล้านคนที่รั่วไปด้วย

          ฝรั่งสาวกเฟซบุ๊กหลายคนเริ่มเตรียมจ้างทนายความ “ฟ้องร้อง” แล้ว เพราะถือว่าละเมิด “กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” แต่ถ้าเป็นคนไทยจะฟ้องร้องได้หรือไม่ ?

          ย้อนไปช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ปี 2016 บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจของอังกฤษ ‘เคมบริดจ์ อนาลิติกา’ นำข้อมูลที่ได้จากนักวิจัยที่รวบรวมข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊ก 50–80 ล้านคน มาช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เชื่อกันว่าข้อมูลพวกนี้ส่งผลให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งแบบหักปากกาเซียนทั่วโลก

 

 

คดีฉาวข้อมูล "รั่ว" คนไทยฟ้องเฟซบุ๊กได้ไหม?

 

 

 

          อธิบายวิธีการแบบง่ายๆ คือ มีนักวิจัยหนุ่มวัย 30 กว่าชื่อ โคแกน (Aleksandr Kogan) เกิดที่รัสเซียแต่ย้ายมาอยู่อังกฤษ เป็นผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โคแกนสร้างแอพพลิเคชั่น thisisyourdigitallife ทำนายบุคลิกภาพ โดยอิงหลักวิชาการด้านจิตวิทยา ทำเป็นแบบสอบถามเชื่อมกับข้อมูลที่สมาชิกเฟซบุ๊กกรอกทิ้งไว้ เช่น ชื่อ อายุ เพศ เพื่อน สถานที่เกิด เชื้อชาติ แหล่งที่ชอบท่องเที่ยว ห้างที่ชอบไปซื้อของ ฯลฯ

          แล้วรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ใช้หลักคณิตศาสตร์สถิติคำนวณสรุปว่า เป็นคนกลุ่มไหนชอบใช้ชีวิตแบบใด และน่าจะชอบพรรคการเมืองประเภทไหน นักการเมืองสไตล์ใด หากใครเป็นกลุ่มเป้าหมายก็ส่งคนเข้าไปติดต่อ “หาเสียงหรือขอคะแนนเสียง” ทันที

          เรื่องนี้ถูกแฉออกมาวันที่ 16 มีนาคม 2018 ช่วงแรกเฟซบุ๊กแก้ตัวว่า โคแกนเข้าถึงข้อมูลนี้ได้อย่างถูกต้อง แต่ว่าการส่งต่อข้อมูลให้พรรคการเมืองหรือบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

          แต่ไม่ค่อยมีคนเชื่อเท่าไรนัก หุ้นของเฟซบุ๊กร่วงลงไปทันที 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และลงไปเรื่อยๆ ล่าสุดคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท

          ถือเป็นวิกฤตคิรั้งใหญ่สุดของยักษ์สื่อสังคมออนไลน์ที่ปฏิวัติการสื่อสารของคนทั่วโลกกว่า 2 พันล้านคน

          ล่าสุด “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ประกาศข้อความขอโทษลงในเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 9 ฉบับ ในอเมริกา 3 ฉบับ ได้แก่ นิวยอร์กไทม์, วอชิงตันโพสต์ และ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ส่วนอีก 6 ฉบับเป็นของสื่ออังกฤษ เช่น เมล์, ซันเดย์ ไทมส์ เป็นต้น

          โดยเนื้อหาที่ลงเต็มหน้าหนังสือพิมพ์นั้น ประโยคแรกเป็นตัวอักษรขนาดใหญ่ว่า

          “We have a responsibility to protect your information. If we can't, we don't deserve it.”

          “เรามีหน้าที่รับผิดชอบคุ้มครองข้อมูลของคุณ ถ้าเราทำไม่ได้ แสดงว่าเราไม่คู่ควรที่จะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นั้น” 

 

 

คดีฉาวข้อมูล "รั่ว" คนไทยฟ้องเฟซบุ๊กได้ไหม?

 

 

 

          ส่วนเนื้อหาวรรคต่อไปบอกว่า มีนักวิจัยเอาข้อมูลไปเมื่อปี 2014 เฟซบุ๊กรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ทำอะไรในตอนนั้น และสัญญาว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก ตอนนี้ไม่อนุญาตให้มีแอพเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้มหาศาลแบบนี้อีกต่อไป ตอนนี้กำลังสืบสวนว่ามีแอพอะไรอีกบ้างที่เป็นแบบนี้ หากพบจะรีบจัดการและแจ้งให้ผู้ใช้ทราบทันที เพื่อปิดการใช้แอพเหล่านี้ และขอสัญญาว่าจะทำให้ดีกว่าเดิม
 
          เป็นที่น่าสงสัยว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอเมริกา ในอังกฤษมี 1 ล้านกว่าคนเท่านั้น แต่ทำไม “มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก” ทุ่มทุนขอลงในสื่ออังกฤษมากถึง 6 ฉบับ ?

          ตอนนี้หนุ่มมาร์คกำลังเตรียมขึ้นศาลของอเมริกาหลายข้อหา รวมถึงต้องบินไปเคลียร์กับหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของอังกฤษ คาดว่าโอกาสหลุดรอดไม่โดนทำโทษมีน้อยมาก

          สำนักข่าวรอยเตอร์ทำโพลล์สำรวจพบคนอเมริกันแค่ร้อยละ 40 เท่านั้น ที่เชื่อว่า “เฟซบุ๊ก” มีความพยายามและความสามารถปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ ส่วน “อเมซอน” มีผู้เชื่อร้อยละ 66 “กูเกิล” มีผู้เชื่อถือร้อยละ 62 และ “ไมโครซอฟท์” มีผู้เชื่อถือร้อยละ 60

          “นรินทร์ฤทธิ์ เปรมอภิวัฒโนกุล” กรรมการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ(TISA) วิเคราะห์โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเฟซบุ๊กว่า การรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้เกือบ 90 ล้านคน มีความเป็นไปได้ 2 อย่าง คือ

 

คดีฉาวข้อมูล "รั่ว" คนไทยฟ้องเฟซบุ๊กได้ไหม?

 

 

 

          กรณีแรก ระบบของเฟซบุ๊กยินยอมให้เอาข้อมูลเหล่านี้ไปอัตโนมัติ เพราะเป็นข้อมูลทั่วไปของผู้ใช้ที่ไม่ได้ปกปิดหรือเป็นความลับ สามารถกดค้นหาได้จากหน้าเพจเฟซบุ๊กอยู่แล้ว เพราะผู้ใช้ยินยอมเปิดเผยเอง และเฟซบุ๊กก็อาจมีรายได้จากส่วนนี้ด้วย เหมือนที่มีโฆษณาต่างๆ มาปรากฏในหน้าเพจของเรา โดยที่ไม่สามารถกดลบออกไปได้ เสมือนเป็นการตกลงยินยอมเปิดประตูบ้านให้ มิเช่นนั้นเฟซบุ๊กจะหารายได้จากไหนมาดูแลระบบให้คนทั่วโลกใช้ฟรีๆ

          “แต่กรณีนี้น่าสงสัยตรงที่ ระบบการค้นหานั้น หากมีใครมาค้นชื่อไม่กี่ร้อย กี่พันคนอาจทำได้ แต่ถ้ามาค้นเป็นหมื่นๆ รายชื่อขึ้นไป ระบบตรวจสอบหลังบ้านของเฟซบุ๊กต้องเจอความผิดปกตินี้อย่างแน่นอน จะบอกว่าไม่รู้เลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่อาจไม่รู้ว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกนำไปใช้ทางการเมือง หรือเอาไปวิเคราะห์พฤติกรรมเกี่ยวข้องกับผู้ลงคะแนนเสียง จนส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี”

          กรณีที่สอง คือ มีแฮ็กเกอร์อยู่เบื้องหลัง เข้าไปขโมยข้อมูลเหล่านี้ เพราะเห็นช่องว่างในระบบป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลที่เฟซบุ๊กทำได้ไม่ดีพอ แต่ถึงเป็นกรณีนี้ เฟซบุ๊กต้องรับผิดข้อหาหนักตามกฎหมายของอเมริกา ถือว่าทำให้ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ปล่อยให้คนอื่นดึงไปใช้โดยไม่ถูกต้อง คนอเมริกันให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก และมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย (Data privacy and Data protection)
"แต่สำหรับคนไทย ถ้ามีใครมาดึงข้อมูลพวกเราไปใช้ อาจลำบากที่จะไปฟ้องร้องเฟซบุ๊ก เพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีเพียงร่างกฎหมายชื่อ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ถกเถียงกันมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ประกาศใช้ ตอนนี้ใครอยากฟ้องเฟซบุ๊กคงลำบากหน่อย เพราะจะฟ้องข้อหาอะไร เราไปกรอกข้อมูลให้เขาเอง และไม่มีกำหนดว่าต้องมาขออนุญาตก่อนเอาไปใช้ เมื่อไม่มีกฎหมายนี้ก็แทบไม่มีความผิดทางอาญา คนไทยนิยมกรอกเลขที่บัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิด สถานที่อยู่อาศัย ข้อมูลพวกนี้ไม่ค่อยมีใครคิดว่ามันเป็นข้อมูลส่วนตัว หรือบางทีหน่วยงานรัฐเอาข้อมูลของพวกเราไปเปิดเผยเสียเอง ลงตามเว็บไซต์ต่างๆ"

 

 

คดีฉาวข้อมูล "รั่ว" คนไทยฟ้องเฟซบุ๊กได้ไหม?

 

 

          นรินทร์ฤทธิ์ กล่าวแนะนำทิ้งท้ายว่า วิธีป้องกันข้อมูลส่วนตัวที่ดีสุดคือพยายามอย่าไปสมัครหรือกรอกข้อมูลให้แก่อะไรทั้งสิ้น บางครั้งสมัครแอพพลิเคชั่นบางอย่างเผลอใส่ชื่อและรหัสผ่านของเฟซบุ๊กหรืออีเมลให้ไป โดยไม่ได้ระวังว่าอาจถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นด้วย ทุกครั้งที่สมัครอะไรใหม่ๆ ควรใช้ชื่อใหม่และพาสเวิร์ดอื่น ไม่ควรใช้ชื่อและรหัสเดียวกันทุกครั้ง

          สอดคล้องกับความเห็นของ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ตัวแทนเครือข่ายพลเมืองเน็ตที่กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้สาวกเฟซบุ๊กฟ้องร้องได้ยาก แต่ยังพอทำได้ในแง่ของความผิดทางแพ่ง หากมีการนำข้อมูลไปทำให้เสียหายหรือเสียชื่อเสียง

          “ในประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การดำเนินคดีฟ้องศาลทำได้ง่ายกว่า เพราะแค่มีใครเอาข้อมูลเราไปโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ผิดแล้ว แต่ของไทยเจ้าของข้อมูลต้องไปพิสูจน์ก่อนว่า เอาไปแล้วยังไงต่อ มีการเอาไปทำความเสียหายให้เจ้าของอย่างไร คาดว่าปีหน้าคนไทยอาจมีกฎหมายแบบนี้ออกมาปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว” อาทิตย์กล่าว

          เฟซบุ๊กเริ่มก่อตั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ในวันนี้ มีผู้ใช้เดือนละ 2 พันล้านคน หมายความว่าคนที่เราพบเจอ 1 ใน 4 ของประชากรโลก มีบัญชีเฟซบุ๊กเปรียบเทียบกับ 5 ปีที่แล้วมีผู้ใช้แค่ 1 พันล้านคน

          คนไทยพร้อมหรือยังที่จะฟ้องเฟซบุ๊ก หากมีการเปิดเผยว่าข้อมูลส่วนตัวของเราก็รั่วออกไปด้วย ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้เท่าทันเฟซบุ๊ก เพราะคนไทยใช้เฟซบุ๊กมากถึง 49 ล้านคน ถือเป็นอันดับ 8 ของโลก
 

 

คดีฉาวข้อมูล "รั่ว" คนไทยฟ้องเฟซบุ๊กได้ไหม?

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ