คอลัมนิสต์

ยาเสพติด!!ยิ่งจับยิ่งเยอะ ผลงานเด่นหรือนโยบายล้มเหลว..?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยาเสพติด!!ยิ่งจับยิ่งเยอะ ผลงานเด่นหรือนโยบายล้มเหลว..? : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน โดย... อนุรักษ์ เพ็ญสวัสดิ์ ทีมล่าความจริง



          การบุกทลายเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ โดยเฉพาะขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ หรือแม้แต่การจับกุมนักร้อง-นักแสดง รวมทั้ง “เน็ตไอดอล” ยังมีให้เห็นเป็นข่าวครึกโครมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งเป้าหมายไปยังกลุ่ม “ไฮโซ” หรือแวดวงคนมีชื่อเสียงในสังคม ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศไทยอยู่ในระดับวิกฤติจริงๆ

          แม้ข่าวการปราบปรามยานรกทุกชนิด หลายต่อหลายครั้งเรียกได้ว่า “บิ๊กลอต” ถูกนำเสนอผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ ออนไลน์ และโทรทัศน์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยในห้วง 10 ปีมานี้ มีวิวัฒนาการในด้านปริมาณอย่างเห็นได้ชัด จากยาบ้าหลักหมื่นเม็ดก็ขึ้นผลงานเป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ก่อนขยับมาเป็นแสนเป็นล้านเม็ด ปัจจุบันจับได้หลัก 10 ล้านเม็ดขึ้นไป เช่นเดียวกับ “ยาไอซ์” ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา จับได้ 5 กิโลกรัม ก็ถือว่ามโหฬาร แต่ทุกวันนี้ถ้าจับได้แค่นี้ถือว่าเป็นเพียง “ปลาซิวปลาสร้อย” เพราะมีการจับและยึดได้ตั้งแต่ 100 กิโลกรัม จนถึง 1 ตัน ขณะที่ตำรวจก็ปรับกลยุทธ์ มีหลากหลายยุทธวิธีในการปราบปรามขบวนการค้ายานรกเหล่านี้ แต่คำถามคือ ทำไม “ยิ่งจับ ยิ่งเยอะ” ซึ่งดูเหมือนว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

          ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าเมื่อมีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ระบุว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยกลายเป็น “ทางผ่าน” ระดับ “ซูเปอร์ไฮเวย์” ของยาเสพติดแทบทุกชนิดไปแล้ว โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ในทุกภูมิภาคของโลก

          ศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศไทยว่า แหล่งผลิตใหญ่ยังคงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมี 2 แหล่งสำคัญ คือ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ และ ชายแดนประเทศจีน เมื่อผลิตแล้วก็ลักลอบนำเข้ามาทางชายแดนภาคเหนือ กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ก่อนนำมาพักไว้ในพื้นที่ปริมณฑล รอบๆ กรุงเทพมหานคร จากนั้นก็ทยอยนำลงไปสู่ภาคใต้ ส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซีย และขนส่งทางทะเลไปยังหลายประเทศทั่วโลกที่มี “พรีออเดอร์”

 

ยาเสพติด!!ยิ่งจับยิ่งเยอะ ผลงานเด่นหรือนโยบายล้มเหลว..?

 

          "ยาเสพติดแต่ละประเภทที่พรีออเดอร์จากลูกค้าทั่วโลก จะมีตลาดลูกค้าและความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ยังนิยมใช้ยาบ้า รวมถึงบังกลาเทศ และรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ส่วนยาไอซ์จะแพร่ระบาดในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สำหรับประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา นิยมยาเสพติดประเภท กัญชา เฮโรอีน และโคเคน แต่ที่น่าตกใจคือ ยาเสพติดแทบทุกชนิดถูกส่งผ่านประเทศไทย ทำให้บ้านเรามีสถานะเหมือนซูเปอร์ไฮเวย์ยาเสพติด” เลขาธิการ ป.ป.ส. อธิบาย

          “คุก” กับ “ความตาย” ของขบวนการค้ายาเสพติดถูกเมินไปโดยปริยาย แม้ตำรวจจะจับกุมตรวจยึดได้จำนวนมาก วิสามัญฆาตกรรมก็ไม่ใช่น้อย แต่ยาเสพติดกลับไม่ได้หมดไป มิหนำซ้ำจำนวนของผู้ที่รับจ้างขนสินค้ามีมากขึ้น เนื่องจากเม็ดเงินค่าจ้าง “ยั่วยวนใจ” เพราะพวกเขาสามารถกำหนดราคาค่าขนส่งยาเสพติดได้สูงมาก โดยราคาแปรผันไปตามความเสี่ยง จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ปราบเท่าไหร่ ก็กลับมีการลักลอบขายยานรกแบบทวีคูณ ประหนึ่งว่า “ผลงานเด่น” แต่นโยบายกวาดล้างยาเสพติดยังไม่ได้ผล เพราะถ้าได้ผล การจับแบบมหึมาเช่นนี้ยาเสพติดควรจะหมดไปจากบ้านเราไปแล้ว

          ความยากในการปราบเครือข่ายค้ายาเสพติด เป็นคดีที่สืบสวนยาก เนื่องจากผู้ต้องหามีการร่วมมือกันเป็นขบวนการ ซึ่งแตกต่างจากคดีอาญาทั่วไป อย่าง ฆ่าคนตาย ลักทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โดยคดีเหล่านี้ส่วนมากจะมีพยานช่วยตำรวจบ้าง แต่คดียาเสพติดต้องใช้ระยะเวลา กลุ่มขบวนการนักค้ายาเสพติด จะลักลอบทำกันในที่ลับกับกลุ่มที่รู้จักกันเท่านั้น เพื่อไม่ให้ข้อมูลมาถึงเจ้าหน้าที่ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่มีสิทธิได้รู้ได้เห็น อาจจะได้ยินข่าวบ้างว่า ใคร บ้านไหนขาย แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้าให้ข้อมูลต่อตำรวจเพราะกลัวว่าจะเกิดอันตราย

          สอดคล้องกับมุมมองของ พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) กล่าวว่า สาเหตุที่มีการจับกุมยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น เพราะเครือข่ายยาเสพติดเหล่านี้จะกระจายกันขนส่งยาเสพติดหลากหลายวิธี แต่ละครั้งจะขนไปจำนวนไม่มาก เช่น วันนี้ใช้วิธีการลำเลียงยาเสพติดแบบที่ 1 แล้วถูกตำรวจจับกุมได้ก็จะเปลี่ยนไปเป็นวิธีที่ 2 หรือ 3 หมุนเวียนกันไป แล้วนำยาเสพติดไปรวมพักไว้ในสถานที่ใดที่หนึ่งภาคใต้ เพราะสามารถส่งออกทางทะเลได้ง่าย ทั้งอันดามันและอ่าวไทย ไปให้นายทุนที่อยู่เบื้องหลังในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วก็จะส่งต่อไปยังประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศในตะวันออกกลางด้วย

 

ยาเสพติด!!ยิ่งจับยิ่งเยอะ ผลงานเด่นหรือนโยบายล้มเหลว..?

 

          ตำรวจพยายามสืบสวนหาข่าวในทุกมิติ โดยเฉพาะการจับผู้บงการ หรือผู้สั่งการ ที่การสืบสวนยากกว่าการจับกุมกลุ่มรับจ้างลำเลียงหรือขนยาเสพติด ซึ่งในทางปฏิบัติจริงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยาเสพติดไม่ได้ขายตามศูนย์การค้าหรือตลาดนัด คนไม่รู้จักก็ไม่ขายให้อีก ยิ่งรายใหญ่ๆ จะไม่แบ่งขาย แต่จะขายเป็นลอตๆ บางครั้งตำรวจก็ต้องอำพรางตัวเป็นสายลับแฝงเข้าไปในกลุ่มนักค้ายาเสพติด นับเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายอย่างมาก ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ แม้ตัวเองจะเป็นผู้ทุ่มเททำงานหนักมากก็ตาม แต่ก็ไม่มีโอกาสชี้แจงหรือเล่าถึงประสบการณ์การทำงานให้ประชาชนให้รับรู้เพราะหากมีภาพหลุดไปในข่าว หรือกลุ่มนักค้ายาเสพติดจับได้อาจเกิดอันตรายต่อผู้สืบสวน ตำรวจสืบสวนจึงต้องเป็นผู้เสียสละ ทุ่มเท หรือปิดทองหลังพระมาตลอด

          บช.ปส. ในฐานะหน่วยงานหลักจึงได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง กำหนดยุทธศาสตร์เน้นสืบสวนไปถึงตัวผู้บงการ หรือนายทุน ที่เป็น “คีย์แมน” มากกว่าการจับกุมกลุ่มรับจ้างลำเลียง หากกลุ่มผู้บงการหรือนายทุนถูกจับ ก็จะไม่มีเงินหล่อเลี้ยงเครือข่ายเหล่านี้ได้ เฉกเช่นการจับกุมเครือข่ายราชายาเสพติดลาว ไซซะนะ แก้วพิมพา ก่อนจะขยายผลยึดทรัพย์เครือข่ายทั้งหมด เสมือนการ “ขุดรากถอนโคน” จนหยุดกิจการไปเลย และเป็นที่มาวาทะเด็ดของ พล.ต.ท.สมหมาย ที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า “เราจะทำให้ขบวนการค้ายาเสพติดจนยิ่งกว่าขอทานให้ได้”


          “กลุ่มรับจ้างมีหลากหลายกลวิธี ทั้งอำพรางซุกซ่อนในตัวรถ ดัดแปลงเป็นช่องลับต่างๆ การลำเลียงยาเสพติด มีรถนำขบวน รถสำรวจเส้นทาง หรือที่เรียกว่า สเก๊าท์หน้า แล้วให้รถที่ขนยาเสพติดขับตามมาอีกที กลุ่มคนเหล่านี้เมื่อถูกจับได้และถูกส่งเข้าเรือนจำก็กลายเป็นว่า คนจากเครือข่ายที่หนึ่งไปพบกับเครือข่ายที่สอง ที่สาม ฯลฯ ไปแลกเปลี่ยนยุทธวิธีการหลบหนีตำรวจกันในเรือนจำอีกทอด ดังนั้นเรือนจำจึงกลายเป็นเหมือนสถานที่พบปะของกลุ่มนักค้ายาเสพติด บางคนไม่เข็ดหลาบเมื่อพ้นโทษออกมาก็ทำผิดอีกซ้ำ แถมยังมีช่องทางมากขึ้น รู้จักนายทุนรายอื่นๆ มากขึ้นด้วย แม้ทางเรือนจำจะพยายามปลูกฝังจิตสำนึก เปลี่ยนพฤติกรรม และเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดแล้วก็ตาม” พล.ต.ท.สมหมาย ระบุ

          พล.ต.ท.สมหมาย บอกด้วยว่า การร่วมมือในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของตำรวจปราบปรามยาเสพติด กับอัยการ เมื่อเทียบปัจจุบันกับในอดีตที่ผ่านมา พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการเอาผิดขบวนการค้ายาเสพติด ที่มีการพัฒนาองค์กรให้ซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการยึดทรัพย์ผู้สมคบกับขบวนการค้ายาเสพติด ซึ่งปัจจุบันทำงานในลักษณะ คณะกรรมการพิจารณาคดียาเสพติด ประกอบไปด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปปส. ป.ป.ง. อัยการ กระทรวงยุติธรรม ดีเอสไอ ฯลฯ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพรวดเร็ว

 

ยาเสพติด!!ยิ่งจับยิ่งเยอะ ผลงานเด่นหรือนโยบายล้มเหลว..?

 

          ด้าน ชนิญญา ชัยสุวรรณ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด อธิบายว่า การทำงานของอัยการที่ผ่านมา ได้มีการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องกับตำรวจ แต่อาจจะไม่เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชน อย่างไรก็ตามในความร่วมมือในยุคปัจจุบัน สองหน่วยงานมีความร่วมมือใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ยังมีมาตรการในการดูแลผู้เสพที่ทางกฎหมายถือว่าเป็นผู้ป่วย ต่อจากนี้จะมีการช่วยเหลือด้านวิชาชีพ ภายหลังการบำบัด เพื่อไม่ให้ผู้เสพกลับมาเสพอีกครั้ง

          นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในประเทศไทย โดยเฉพาะ ยาไอซ์ ยาบ้า และกัญชาแล้ว ยาเสพติดอีกหนึ่งประเภทที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐจับตาอย่างใกล้ชิดก็คือ “เฮโรอีน” โดยข้อมูลสถิติที่ตำรวจและสำนักงาน ป.ป.ส. เก็บรวบรวมได้ พบประเด็นน่าสนใจก็คือ ออเดอร์สั่งซื้อยาเสพติดประเภทเฮโรอีนจากต่างประเทศ กำลังมีความต้องการเพิ่มสูงมากขึ้น และการลำเลียงเฮโรอีนส่งไปยังประเทศที่สามกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง หรืออาจจะเรียกได้ว่า “เฮโรอีนคัมแบ็ก” หลังจากที่ยาเสพติดประเภทนี้หายไปจากแฟ้มการจับกุมของตำรวจนานหลายปี

 

ยาเสพติด!!ยิ่งจับยิ่งเยอะ ผลงานเด่นหรือนโยบายล้มเหลว..?

 

          ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เฮโรอีนเป็นชื่อยาเสพติดที่คุ้นหูคนไทยมากที่สุด โดยเฉพาะเฮโรอีนตราสิงโตเหยียบโลก จากผู้ค้าระดับโลกนาม “ขุนส่า” หรือ จางซีฟู แต่หลังหมดยุคขุนส่า และประเทศไทยแก้ปัญหาแบบถูกวิธี ทำให้เฮโรอีนห่างหายไปจากวงการ ก่อนที่ยาบ้ากับยาไอซ์จะเป็นยาเสพติดที่มาแรงแซงโค้งในห้วง 10 ปีหลังมานี้

          การแพร่ระบาดของยาเสพติดที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ลุกลามไปถึงกลุ่มดารา นักร้อง และคนมีชื่อเสียงที่เป็นไอดอลของสังคม กลายเป็นภาพสะท้อนว่า การนับตัวเลขสถิติการจับกุม กับของกลางที่ยึดได้ อาจไม่ใช่ปัจจัยชี้่ขาดความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเสมอไป
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ