คอลัมนิสต์

ขยายผล"บางระกำโมเดล"ปี61ปรับปฏิทินนาปี-เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขยายผล "บางระกำโมเดล" ปี 61 ปรับปฏิทินนาปี-เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว : คอลัมน์... เจาะประเด็นร้อน บายไลน์ - ทีมข่าวคมชัดลึก  www.komchadluek.net


        
          กระทรวงเกษตรฯ ขยายผลเพิ่มพื้นที่ดำเนินโครงการบางระกำโมเดลต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำทำให้การเพาะปลูกข้าวได้ผลผลิตดี  กรมชลประทานได้ฤกษ์ปล่อยน้ำทำนาปีเริ่มวันที่ 1 เมษายน หลังประสบผลสำเร็จในปีที่ผ่านมา ข้าวนาปีไม่ได้รับความเสียหาย ชาวบ้านมีรายได้เสริม และยังใช้เป็นแก้มลิงธรรมชาติตัดยอดน้ำได้มากกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมเมืองสุโขทัยและลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างได้อีกด้วย
    
          “หลังจากประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจในการดำเนินโครงการบางระกำโมเดลปี 2560 ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมด โดยไม่ได้รับความเสียหายใดๆ และในช่วงน้ำหลากยังสามารถใช้พื้นที่เป็นแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำ ลดความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยในเมืองสุโขทัยพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งในปี 2561 นี้ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานขยายพื้นที่โครงการฯเพิ่มขึ้นจากเดิม 265,000 ไร่ เป็น 382,000 ไร่ ทำให้รองรับปริมาณน้ำได้มากกว่า 550 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมรับน้ำได้เพียง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกับให้ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี ในปีนี้ให้เร็วขึ้นเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2561”

 

ขยายผล\"บางระกำโมเดล\"ปี61ปรับปฏิทินนาปี-เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว 
วิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตร
 


   
          วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยกับสื่อมวลชนระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าของโครงการบางระกำโมเดล ก่อนเป็นประธานในพิธีเปิดการส่งน้ำเพื่อเริ่มต้นการเพาะปลูกข้าวฤดูนาปี ตามโครงการบางระกำโมเดลปี 2561 ที่บ้านวังขี้เหล็ก ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก พร้อมพบปะประชาชนในพื้นที่และมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา 

          หลังประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บางระกำโมเดล ทำให้กรมชลประทานได้ปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำเขตชลประทานให้เร็วขึ้น จากเดิมที่เคยปลูกในเดือนพฤษภาคมมาเป็นเดือนเมษายน เพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเดือนกรกฎาคม หลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะได้รับจากอุทกภัย และยังใช้พื้นที่นาที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำในฤดูน้ำหลากได้อีกด้วย 

 

ขยายผล\"บางระกำโมเดล\"ปี61ปรับปฏิทินนาปี-เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว  สภาพคลองส่งน้ำเข้านาในพื้นที่โครงการ

 

          ซึ่งการปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีของพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำให้เร็วขึ้นในปีนี้ ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายกว่า 265,000 ไร่ ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร โดยเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมดโดยไม่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย
    
          ทั้งนี้หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งโครงการ กรมชลประทานได้ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่น้ำรองรับปริมาณน้ำหลากจากลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำสาขา ตลอดจนปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ สามารถนำน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและช่วยตัดยอดปริมาณน้ำได้ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมควบคุมระดับน้ำไม่ให้กระทบต่อเส้นทางสัญจรหลักของราษฎร ช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจของ จ.สุโขทัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
   
          อย่างไรก็ตามในระหว่างที่กักเก็บน้ำไว้ในทุ่งบางระกำนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ได้บูรณาการหน่วยวยงานในสังกัดในการส่งเสริมอาชีพ โดยนำพันธุ์ปลามาปล่อยลงในทุ่งให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมในการทำประมงและยังส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตจากปลา และผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรและชุมชน ในช่วงฤดูน้ำหลากได้ถึงวันละ 300-500 บาทต่อครัวเรือน  หลังสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย จึงได้ระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ โดยได้คงปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ในทุ่ง สำหรับให้เกษตรกรใช้ในการเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง) ต่อไป

 

ขยายผล\"บางระกำโมเดล\"ปี61ปรับปฏิทินนาปี-เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว  ประตูระบายน้ำ

 

          “ความสำเร็จของโครงการบางระกำโมเดลในปี 2560 ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ทันก่อนฤดูน้ำหลาก มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถปรับตัวและดำรงชีพได้ตามวิถีชีวิตที่อยู่กับน้ำ จับสัตว์น้ำทำการประมงในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้มีรายได้เสริม อีกทั้งยังช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและสถานที่ราชการของ จ.สุโขทัย รวมทั้งช่วยหน่วงน้ำไว้ไม่ให้ลงไปกระทบกับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง" ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทานเผย พร้อมย้ำว่า
     
          จากความสำเร็จดังกล่าว กรมชลประทานจึงได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายผลโครงการพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยการปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี ที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 ซึ่งกรมชลประทานได้เริ่มส่งน้ำเข้าไปในระบบชลประทานเตรียมพร้อมไว้ให้แล้วตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2561 เป็นต้นมา พร้อมกันนี้ได้ขยายพื้นที่โครงการเพิ่มขึ้นจากเดิม 265,000 ไร่ เป็น 382,000 ไร่ สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้มากขึ้น จากเดิม 400 เป็น 550 ล้านลูกบาศก์เมตร  

          วอนรัฐช่วยหาตลาดจำหน่ายปลาช่วงน้ำท่วม
          ชลอม วันประยูร เกษตรกรหมู่ 10 ต.ท่าช้าง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เล่าว่า หลังกรมชลประทานส่งน้ำในวันนี้ (1 เ.ม.ย.) แล้ว พรุ่งนี้ก็มีความพร้อมทำนาปีตามกรอบระยะเวลาที่ทางกรมชลประทานกำหนดและทำให้เสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกับปีที่แล้ว ซึ่งสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวจากเดือนละ 5,000 บาท เป็น 7,000 บาท  

 

ขยายผล\"บางระกำโมเดล\"ปี61ปรับปฏิทินนาปี-เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว  ชลอม วันประยูร


    
          “หลังจากเข้าร่วมโครงการปีที่แล้วทำให้ไม่ได้รับผลกระทบเรื่องน้ำเหมือนปีก่อนๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมสูงจนไม่สามารถเกี่ยวข้าวได้ ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว และยังประสบปัญหาการแย่งใช้น้ำจากเกษตรกรในพื้นที่เดียวกันอีก”
   
          ขณะที่ วิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ นายกเทศมนตรีตำบลบางระกำเมืองใหม่ระบุว่า บางระกำมีประชาชนทั้งสิ้น 3,800 ครัวเรือน โดยธรรมชาติทุกปีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังจำนวน 3,200 ครัวเรือนแต่จะทำอย่างไรให้คนบางระกำอยู่กับน้ำได้ โดยหลังจากน้ำลดแล้วอาจทำถนนให้สูงพ้นน้ำท่วมพร้อมกับทำประตูระบายน้ำ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ท่วมขังกลายเป็นแก้มลิงไปในตัว ต่อจากนั้นก็ปล่อยปลา สร้างอาชีพใหม่ให้ประชาชน เข้าตำราในน้ำมีปลาในนามีข้าว
     
          “อย่าลืมว่าเวลาที่เจอปัญหาหน่วงน้ำ เราเดือดร้อน 4 เดือนเต็ม อาชีพรองรับคือหาปลา แต่ไม่มีตลาดขาย ทั้งๆ ที่บางระกำเป็นเมืองที่มีปลาอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นจึงขอให้รัฐพิจารณาโครงการสร้างอาชีพที่ยั่งยืน โดยขอให้ช่วงเวลาที่เราหน่วงน้ำ 4 เดือน ที่ตลาดรับซื้อปลา อาจจะใช้เทคโนโลยีห้องเย็นมาเก็บปลาเพื่อแปรรูปจะทำให้เกษตรกรมีตลาดขาย มีรายได้จริง” นายกเทศมนตรีตำบลบางระกำเมืองใหม่กล่าววิงวอน

          กว่าจะมาเป็น “บางระกำโมเดล” 
          นิยามคำว่า “บางระกำโมเดล” เป็นที่รับรู้ในปี 2554 หลังจากหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือต้องประสบภัยน้ำท่วม และพิษณุโลกก็เป็นหนึ่งในหลายพื้นที่ ซึ่งเผชิญปัญหา โดยเฉพาะ อ.บางระกำ
          
          สอดคล้องกับแนวทางของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ต้องการให้เกิดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเชิงบูรณาการ คำว่า “บางระกำโมเดล” จึงถูกบัญญัติขึ้นมาในการประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2554 ณ กระทรวงมหาดไทยในการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย  

 

ขยายผล\"บางระกำโมเดล\"ปี61ปรับปฏิทินนาปี-เพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว 


    
          การนำ “บางระกำโมเดล” ใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเชิงบูรณาการกับจังหวัดอื่นๆ หัวใจสำคัญที่ถูกอ้างถึงก็คือ “2 P 2 R” เริ่มจาก 1.การเตรียมการว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร 2.เมื่อเกิดปัญหาให้รีบช่วยเหลือขั้นต้น 3.รีบฟื้นฟูเยียวยา และ 4.แก้ปัญหาในระยะยาว 
     
          ส่วนการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วม มีการจัดทำเครื่องมือบริหารจัดการน้ำท่วม อาทิ การขุดลอกแม่น้ำยมสายเก่า การขุดลอกคลองบางแก้ว การขุดลอกคลองเกตุ คลองกล่ำ การขยายประตูระบายน้ำคลองบางแก้ว การทำแก้มลิงในเขต อ.บางระกำ ซึ่งโครงการเหล่านี้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งแบบยั่งยืน  
                               

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ