คอลัมนิสต์

ความฝันของพรรคใหม่ ความฝันของใคร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ความฝันของพรรคใหม่ ความฝันของใคร : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...  อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ


          เรียกได้ว่าคึกคักยิ่งนัก เมื่อพรรคการเมืองใหม่ทยอยเปิดตัวขึ้นเรื่อยๆ กับล่าสุดพรรค “ประชาชาติ” ที่ผู้ไปจดทะเบียนชื่อว่า “สุรพล นาควานิช” ซึ่งเป็นที่รับทราบว่าเขาเป็นทีมงานของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” แกนนำกลุ่ม “วาดะห์” ซึ่งเป็นกลุ่ม ส.ส. มุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

          “วาดะห์” คือใคร ทำไมถึงได้รับความสนใจ เด็กๆ รุ่นใหม่อาจจะงงๆ “วาดะห์” แปลเป็นภาษาไทยว่า “เอกภาพ” เป็นการรวมกลุ่มของ ส.ส. และนักการเมืองในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งคือ “เด่น โต๊ะมีนา” และ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ส.ส.พรรคกิจสังคม ในขณะนั้น  ครั้งแรกได้ส่งผู้สมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาก็เข้าไปร่วมพรรคความหวังใหม่ และ “วันนอร์” ก็ได้เป็นถึงเลขาธิการพรรค
ต่อมา “วาดะห์” ก็ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทย แต่แล้วในปี 2548 พวกเขาก็ลดความสำคัญลงเมื่อแพ้การเลือกตั้งในปี 2548 ไม่มี ส.ส.ในพื้นที่แม้แต่คนเดียว จากนั้นเมื่อพรรคถูกยุบ ส.ส.ก็แยกย้าย และไปอยู่ตามพรรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พรรคประชาราช พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคพลังประชาชน และพรรคมาตุภูมิ ก่อนที่บางคนจะกลับมาสังกัดเพื่อไทย
     
          กลุ่ม “วาดะห์” เป็นรูปแบบการเมืองที่เป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดีของนิยามคำว่า "พรรคการเมือง” ตามหลักรัฐศาสตร์ เพราะเป็นการรวมกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน คนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน และพยายามเข้าสู่ระบบเพื่อให้อุดมการณ์ของตนได้รับการผลักดันให้เป็นนโยบายระดับชาติ

          แน่นอนว่า “อุดมการณ์” และ ผลประโยชน์ร่วมของนักการเมืองกลุ่ม “วาดะห์” คือนโยบายเพื่อคนมุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ และมุ่งผลประโยชน์ต่อประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เดิมพวกเขาอาจจะเลือกใช้วิธีไปรวมอยู่กับพรรคการเมืองใหญ่ แต่คราวนี้พวกเขาตัดสินใจกลับมาในนามพรรค “พลังประชาชาติ” โดยพวกเขาระบุว่า “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีใครรู้ปัญหาดีเท่าเรา”

          มิใช่พรรคพลังประชาชาติพรรคเดียวเท่านั้นทีได้รับความสนใจ และเป็นลักษณะการรวมตัวของคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกัน แต่ยังมีพรรคอีกมากที่มีลักษณะดังกล่าว จะแตกต่างก็เพียงแนวคิดและอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็นพรรค “ทางเลือกใหม่” ที่มี “ราเชน ตระกูลเวียง” เป็นผู้จดตั้งพรรค และมีแนวร่วม กปปส. จำนวนมากมาร่วมเป็นสมาชิกพรรค หรือพรรค “เกรียน” ของ “สมบัติ บุญงามอนงค์” หรือ “บก.ลายจุด” นอกจากนี้ ยังมีพรรคอีกจำนวนมากที่ทยอยจดแจ้งในช่วงนี้

          ต้องบอกกันว่าพรรคการเมืองที่เกิดใหม่จำนวนมากในช่วงนี้ไม่ถือว่าแปลก และไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ผิดธรรมชาติแต่อย่างใด หากแต่มีที่มาที่ไป อย่างแรกคือการเปิดให้เคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งแรกในรอบสี่ปีนับแต่รัฐประหาร จากความอั้่นจึงดูเหมือนทุกอย่างจะทะลักกันมาในคราวเดียว

          แต่เหตุผลประการต่อมาคือเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน กล่าวคือตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป คสช.จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเช็กยอดสมาชิก มุมหนึ่งเหมือนกับเป็นการคลายล็อกให้เริ่มขยับได้ แต่เอาเข้าจริงนัยของคำสั่งหัวหน้า คสช. ระบุว่า หากสมาชิกคนใดประสงค์จะเป็นสมาชิกต่อไปต้องทำหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคด้วยตัวเอง หากใครไม่มีหนังสิือยืนยันก็ถือว่าไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคอีกต่อไป

          ซึ่งจากการเขียนเช่นว่า คล้ายกับเป็นการปลดพันธนาการระหว่าง สมาชิกพรรคบางคนกับพรรค ใครที่ไม่ประสงค์จะอยู่ต่อกับพรรคก็ไม่ต้องทำอะไร แค่เพียงอยู่นิ่งๆรอให้ครบ 30 วันเขาก็จะเป็นอิสระจากพรรคเดิม แน่นอนว่าจะมีนักการเมืองจำนวนมากที่ต้องการย้ายพรรคด้วยเหตุผลต่างๆ จะอาศัยจังหวะนี้ปลดปล่อยตัวเอง และแน่นอนว่ามีบางพรรคกำลังรอช้อนตัวเหล่านกแตกรัง และมีคนการเมืองจำนวนหนึ่งวางแผนในการตั้งพรรคใหม่เพื่อรองรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น

          นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอันว่าด้วยระบบเลือกตั้งที่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองแม้ไม่ชนะในระบบแบ่งเขต สามารถใช้คะแนนทั่วประเทศมาแชร์เก้าอี้ ส.ส.ได้ ทำให้หลายพรรคมีความหวังว่าจะเข้าไปมีสิทธิมีเสียงในสภา เพราะจากการคำนวณคร่าวๆ คาดว่า หากได้คะแนนถึง 75,000 คะแนน ก็จะมี ส.ส. 1 คน ซึ่งดูไม่มากเกินไปนักหากรวมคะแนนจากทั้งประเทศ ยิ่งมีฐานเสียงจาก “นักการเมืองแตกรัง” ยิ่งจะทำให้ฝันเป็นจริงได้ไม่ยาก

          หลายคนจึงมองเห็นความฝันอยู่ตรงหน้าว่าวันเลือกตั้งจะมีปากมีเสียง เข้าไปมีส่วนแบ่งในอำนาจบ้าง ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย และผู้ที่หวังลงเลือกตั้ง

          และระบบการเมืองตามรัฐธรรมนูญใหม่ยังวางระบบเพื่อให้เกิดรัฐบาลผสม ความฝันที่ว่าจึงดูใหญ่ขึ้น นอกจากจะหวังมีที่นั่งในสภา ยังอาจถึงขั้นเข้าร่วมรัฐบาลและกลายเป็นรัฐมนตรีได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่ามีโอกาสผลักดันนโยบายและอุดมการณ์เพิ่มขึ้น

          พรรคที่มีเยอะจึงไม่แปลก  และคนที่หวังจะเข้าไปสู่การผลักดันนโยบายก็ไม่แปลก

          แต่จะแปลกตรงที่หากมีใครบางคนใช้ระบบเช่นว่า “หยิบชิ้นปลามัน” หวังเข้ามาเป็นนายกฯ คนนอก ขณะที่คนอื่นแข่งกันแทบเป็นแทบตายเพื่อชิงคะแนนนิยมจากเจ้าของอำนาจอธิปไตย คนเช่นนี้สิจึงจะเป็นคนแปลกในระบอบประชาธิปไตย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ