คอลัมนิสต์

ฉลุย"ไฮสปีดเทรน"3สนามบินเตรียมร่างทีโออาร์ร่วมทุนเอกชน50ปี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฉลุย"ไฮสปีดเทรน" 3 สนามบิน เตรียมร่างทีโออาร์ร่วมทุนเอกชน50ปี  : บายไลน์   ทีมข่าวคมชัดลึก www.komchadluek.net  


                  
         เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 มีการพิจารณาอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง, สุวรรณภูมิ, อู่ตะเภา) รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินกว่า 236,700 ล้านบาท
   
         ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (27 มี.ค.) มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  โดย ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กม. ในรูปแบบร่วมทุนกับเอกชนหรือพีพีพี (PPP Net Cost) โดยภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนด้านงานโยธา โดยมีระยะเวลา 50 ปี สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้จะจัดทำร่างเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เพื่อหาผู้ประมูลโครงการและจะเสนอเข้าครม.อีกครั้ง

 

ฉลุย"ไฮสปีดเทรน"3สนามบินเตรียมร่างทีโออาร์ร่วมทุนเอกชน50ปี

 

         ณัฐพร กล่าวอีกว่า ครม.ยังอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีอำนาจร่วมลงทุนกับเอกชนที่ได้รับเลือก และอนุมัติค่างานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดินและสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการรถไฟความเร็วสูงในกรอบวงเงิน 3,570.29 ล้านบาท รวมทั้งอนุมัติกรอบวงเงินร่วมลงทุนกับเอกชนในกรอบวงเงิน 119,425.75 ล้านบาท โดยรัฐทยอยจ่ายให้เอกชนแบ่งจ่ายเป็นรายปีไม่ต่ำกว่า 10 ปี และให้รัฐรับภาระหนี้โครงสร้างพื้นฐานโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ของร.ฟ.ท. ในวงเงิน 22,558.06 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ร.ฟ.ท. สำนักงานอีอีซี และส่วนงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อไป
   
         นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้พื้นที่ที่เป็นทางรถไฟวิ่งผ่านรวมถึงรอบๆ สถานีเป็นพื้นที่พิเศษด้วยเพื่อรองรับหากมีการพัฒนาเชิงพาณิชย์ จะได้ครอบคลุมถึงในนั้นด้วย เช่น พื้นที่มักกะสัน และแอร์พอร์ตลิงก์ขณะที่ค่าโดยสารจะถูกกว่าการเดินทางโดยวิธีอื่น รวมถึงระยะเวลาที่ใช้น้อยลงด้วย ซึ่งหลังจากนี้ขั้นตอนต่อไปอยู่ที่การร่างเงื่อนไขโครงการ (ทีโออาร์) การสรรหาผู้ประมูล และได้ตัวเลขงบประมาณก็จะเข้าครม. อีกครั้งโดยเร็วที่สุด 
   

 

ฉลุย"ไฮสปีดเทรน"3สนามบินเตรียมร่างทีโออาร์ร่วมทุนเอกชน50ปี

 


         ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนงานโยธา ติดตั้งระบบเดินรถและซ่อมบำรุงตลอดอายุสัญญา พร้อมสิทธิพัฒาพื้นที่รอบ 9 สถานี ประกอบด้วย ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา ระยะทาง 226 กิโลเมตร รวมที่ดินมักกะสัน 140 ไร่ และศรีราชาอีก 30 ไร่ เนื่องจากรัฐบาลกำหนดให้สถานีมักกะสันเป็นเกตเวย์เชื่อมพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ทั้งยังได้สิทธิการเดินรถและพัฒนาพื้นที่ 8 สถานีที่จอดรถแอร์พอร์ต เรลลิงก์ (พญาไท-สุวรรณภูมิ) รวมในสัมปทานเดียวกันด้วย เพื่อรองรับผู้ใช้บริการซิตี้ ไลน์ (รับส่งระหว่างสถานี)

         ส่วนทรัพย์สินของแอร์พอร์ตลิงก์ยังเป็นของร.ฟ.ท. แต่พนักงาน 400-500 คนของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก ร.ฟ.ท.จะต้องเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) ที่จะเปิดใช้ปี 2563 ด้วย

 

ฉลุย"ไฮสปีดเทรน"3สนามบินเตรียมร่างทีโออาร์ร่วมทุนเอกชน50ปี

 

         ในขณะที่เอกชนรายใหม่ที่รับสัมปทานรถไฟเชื่อม 3 สนามบินนั้นจะได้สิทธิบริหารและเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ เพราะเป็นแนวเส้นทางเดียวกัน สามารถบริหารปรับปรุงระบบเก่าใหม่ได้ รวมถึงซื้อรถใหม่ด้วย เนื่องจากการบริหารของเอกชนจะคล่องตัวกว่าการรถไฟ 
 
          จากนี้ไปจะเป็นการร่างเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โครงการให้แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2561 และเริ่มประกวดราคาในเดือนเมษายน 2561 จากนั้นจะให้เอกชนเตรียมเอกสารเพื่อยื่นประมูลระยะเวลา 4 เดือน  ซึ่งคาดว่าจะได้ผู้คัดเลือกและลงนามในสัญญาได้ไม่เกินเดือนธันวาคม 2561   

         ก่อนหน้านี้  จเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้แจงในรายละเอียดของโครงการ โดยระบุว่าโครงการดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1.ส่วนที่เป็นรถไฟแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เส้นทางเดินรถปัจจุบัน (พญาไท-สุวรรณภูมิ) 2.ส่วนรถไฟแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-ดอนเมือง 3.ส่วนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา 4.ส่วนการพัฒนาที่ดินมักกะสันในเชิงพาณิชย์ และ 5.ส่วนการพัฒนาที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ทั้งนี้มีระยะสัมปทาน 50 ปี โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 5 ปี และระยะเวลาใช้พื้นที่ 45 ปี ซึ่งจากผลการศึกษาโครงการนี้จะใช้ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร ช่วงพญาไท-ดอนเมือง และลาดกระบัง-อู่ตะเภา รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร   

 

ฉลุย"ไฮสปีดเทรน"3สนามบินเตรียมร่างทีโออาร์ร่วมทุนเอกชน50ปี

 

         สำหรับการเดินรถช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ความเร็ว 160 กม./ชม. ขณะที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ใช้ความเร็ว 250 กม./ชม. ส่วนค่าโดยสาร ซิตี้ ไลน์ คิดค่าแรกเข้า 13 บาท และเก็บ 2 บาท/กม. และค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงคิดค่าแรกเข้า 80 บาท และเก็บ 1.80 บาท/กม. โดยค่าโดยสารจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินอู่ตะเภา และจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินอู่ตะเภา จะอยู่ที่ประมาณ 500 และ 300 บาทต่อเที่ยว ตามลำดับ
     
         อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อดังกล่าว เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (แอร์พอร์ต เรลลิงก์) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากสถานีพญาไทไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบังไปยังสนามบินอู่ตะเภา และจ.ระยอง พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน  ซึ่งการเดินรถในช่วงที่ผ่านกรุงเทพฯ ชั้นใน อัตราความเร็วจะอยู่ที่ 160 กม./ชม. และจะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 250 กม./ชม.ในเขตนอกเมือง
    
         ส่วนสถานีรถไฟความเร็วสูงมีจำนวน 10 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา สถานีอู่ตะเภา และสถานีระยอง โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นทางยกระดับ โดยมีส่วนที่เป็นอุโมงค์ คือ ช่วงถนนพระรามที่ 6 ถึงถนนระนอง 1 ช่วงเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิ ช่วงผ่านเขาชีจรรย์ และช่วงเข้าออกสถานีอู่ตะเภา รวมทั้งจะมีการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงบนพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ บริเวณ จ.ฉะเชิงเทราด้วย
    
         ในขณะที่แนวเส้นทางโครงการจะผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยเริ่มต้นที่บริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งขนานไปตามเขตทางรถไฟปัจจุบันเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ข้ามถนนประดิพัทธ์ และเชื่อมเข้ากับสถานีพญาไทของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (เออาร์แอล) ซึ่งจะวิ่งบนโครงสร้างปัจจุบันของโครงการเออาร์แอล วิ่งผ่านสถานีมักกะสัน และเข้าสู่สถานีสุวรรณภูมิ
  

 

ฉลุย"ไฮสปีดเทรน"3สนามบินเตรียมร่างทีโออาร์ร่วมทุนเอกชน50ปี

 


         ส่วนเส้นทางจากสถานีสุวรรณภูมิจะใช้แนวเส้นทางของโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งใช้แนวเส้นทางเลียบทางรถไฟสายตะวันออกในปัจจุบัน ยกเว้นบริเวณสถานีฉะเชิงเทรา ซึ่งจะต้องเวนคืนที่ดินใหม่เพื่อให้รัศมีความโค้งของทางรถไฟสามารถทำความเร็วได้ โดยสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทราจะตั้งอยู่ด้านข้างของถนนทางหลวงหมายเลข 304 ประมาณ 1.5 กิโลเมตรไปทางทิศเหนือของสถานีรถไฟเดิม หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะเข้าบรรจบกับเขตทางรถไฟเดิม และผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นปลายทางของรถไฟเดิม จากนั้นจะวิ่งอยู่บนเกาะกลางของถนนทางหลวงหมายเลข 363 และ 36 ไปสิ้นสุดที่สถานีปลายทาง จ.ระยอง บริเวณจุดตัดของทางหลวงหมายเลข 36 กับ 3138 
    
         ถึงกระนั้นโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง เชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 236,700 ล้านบาทนั้น ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โครงการรถไฟฟ้าทางคู่เชื่อมโยงการขนส่งทั้งภาคเหนือ กลาง อีสานและใต้ รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งโครงการทั้งหมดจะเห็นความชัดเจนก่อนสิ้นปีนี้ 
                                                

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ