คอลัมนิสต์

ปริศนา...“รถหุ่นยนต์” ชนคนตาย... เขย่าตลาด 4 ล้านล้านบาท  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปริศนา...“รถหุ่นยนต์” ชนคนตาย... เขย่าตลาด 4 ล้านล้านบาท : โดย.... ทีมข่าวรายงานพิเศษ



          ทำไมรถอัจฉริยะกลายเป็น “ฆาตกร” แผนตลาดยานยนต์แห่งอนาคต 4 ล้านล้านบาท ต้องหยุดกะทันหัน .... 
  
          “อุบัติเหตุรถชนคนตาย” เมื่อคืนวันที่ 18 มีนาคม เปรียบเสมือน “สายฟ้าฟาดลงกล่องดวงใจ” ของวงการผลิตรถยนต์ทั่วโลก...ตลาดซื้อขาย 4 ล้านล้านบาทกลายเป็นฝันค้าง....

          ช่วงสิบปีที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เช่น วอลโว่ เบนซ์ นิสสัน ออดี้ เทสล่า รวมถึงเจ้าพ่อเทคโนโลยีกูเกิล ต่างสนใจแข่งขันผลิตรถหุ่นยนต์ หรือ “รถยนต์ไร้คนขับ” (driverless car) เพราะเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีรถยนต์ที่วิ่งตามท้องถนนกว่าหมื่นล้านคันทั่วโลกจะกลายเป็นเทคโนโลยีล้าหลังและไม่ปลอดภัย

          ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุว่าคนทั่วโลกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนประมาณปีละ 1.2 ล้านคนเฉพาะใน “สหรัฐอเมริกา” แต่ละปีเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเกือบ 6 ล้านครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 หมื่นกว่าคน บาดเจ็บกว่า 2 ล้านคน ส่วนเมืองไทยเสียชีวิตประมาณ 2.2 หมื่นคนในแต่ละปี

          เมื่อ “มนุษย์” ไม่สามารถขับรถยนต์ให้ปลอดภัยได้ “รถยนต์อัจฉริยะ” ที่ไม่ต้องอาศัยคนขับ มีเพียงผู้โดยสารนั่งยิ้ม นั่งคุย นั่งฟังเพลงชมวิว จึงกลายเป็นความฝันของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรยานยนต์มานานแสนนาน ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1950 หรือ 80 ปีที่แล้ว แต่ยุคนั้นแผนที่จีพีเอสยังล้าหลังอยู่มาก ทำให้ฝันคือฝัน ไม่ใกล้ความจริงเท่าไร...

 

ปริศนา...“รถหุ่นยนต์” ชนคนตาย... เขย่าตลาด 4 ล้านล้านบาท  

 

          จนกระทั่งวิศวกรของ “กูเกิล” ได้พัฒนาสุดยอด “แผนที่กูเกิล” สามารถดัดแปลงใส่ในอุปกรณ์เดินทางเกือบทุกชนิด “ความฝัน” เริ่มกลายเป็นจริง ค่ายรถยนต์ทั่วโลกเชื่อว่า “รถไร้คนขับ” จะปลอดภัยช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าซ่อมรถ-ทรัพย์สินที่เสียหาย ค่ารักษาพยาบาลคนเจ็บป่วย ค่าชดเชยคนเสียชีวิต ค่าฟ้องร้องคดี ฯลฯ
  
          ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รถยนต์เหล่านี้ผ่านขั้นตอนวิจัยและผลิตจนสำเร็จผ่านขั้นตอนทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยด้วยการทดลองขับขี่ในโรงงานเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงขั้นตอน “ทดลองขับในถนนจริง” การทดลองมีทั้งรถวิ่งโดยไม่มีมนุษย์อยู่ข้างใน หรือวิ่งแบบมีวิศวกรหรืออาสาสมัครนั่งอยู่ในรถด้วย แต่ไม่ให้ขับ ให้เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และคอยเหยียบเบรกกรณีที่รู้สึก “หวาดเสียว” หรือเกรงว่าจะไปชนรถคนอื่นหรือถูกรถอื่นมาชนเท่านั้น...

          การทดลองผ่านไปด้วยดี ทั้งค่ายรถอเมริกา ค่ายญี่ปุ่น ค่ายจีน และค่ายกูเกิล ไม่ได้มีเฉพาะรถเก๋งส่วนบุคคลเท่านั้น มีรถเมล์ รถเท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกขนาดใหญ่ ฯลฯ
 
         เว็บไซต์ researchandmarkets.com วิเคราะห์มูลค่าตลาดรถยนต์ไร้คนขับของปี 2017-2027 มีค่าไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท และในอีก 30 ปี

          ข้างหน้าจะพุ่งขึ้นไป 20 ล้านล้านบาท หมายถึง รถยนต์ที่ต้องใช้คนขับแทบจะหมดไปจากท้องถนน...
 
          แทบไม่น่าเชื่อเมื่ออาทิตย์ที่แล้วโครงการทุกอย่างต้องหยุดชะงักลง หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมในค่ำคืนวันที่ 18 มีนาคม 2561 ประมาณ 4 ทุ่มระหว่างที่บริษัท “อูเบอร์” (Uber) กำลังทดสอบการวิ่งของรถแท็กซี่ไร้คนขับ ด้วยรถวอลโว่รุ่น XC90 ในเมืองเทมพี รัฐอริโซนา ปรากฏว่า รถยนต์คันนี้พุ่งชนผู้หญิงเดินจูงจักรยานข้ามถนน “เอเลน เฮอร์ซเบิร์ก” หญิงผู้เคราะห์ร้ายวัย 49 ปี จนบาดเจ็บสาหัสและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

          นับเป็น “เหยื่อรายแรกของโลก” ที่เสียชีวิตจากการถูกรถหุ่นยนต์ชน วงการยักษ์ใหญ่ผลิตรถทั่วโลกถึงกับต้องเรียกประชุมด่วน หลายบริษัทสั่งระงับโครงการทดลองรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไว้ชั่วคราว โดยพื้นที่ทดลองนี้ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐและแคนาดา เช่น รัฐอริโซนา รัฐเพนซิเวเนีย และเมืองโตรอนโต

          วิศวกรยานยนต์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวนผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุกำลังวิเคราะห์ถึงวินาทีเกิดอุบัติเหตุอย่างละเอียด ความผิดพลาดเกิดขึ้น ณ จุดใด ทำไมสมองกลในรถยนต์ไม่สามารถวิเคราะห์และหยุดรถเองได้ เพราะที่ผ่านมาผู้ผลิตรถเทคโนโลยีไร้คนขับต่างมั่นอกมั่นใจ กล้าแข่งขันกันประกาศโฆษณาว่ารถหุ่นยนต์ปลอดภัยกว่ามาก ช่วยลดอัตราการตาย เป็นเสมือนมิติใหม่บนท้องถนน

          เจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นเพียงว่า รถวิ่งด้วยความเร็ว 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเขตกำหนดความเร็วไม่เกิน 56 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะเกิดเหตุรถยนต์ตั้งอยู่ในหมวดอัตโนมัติ และคนควบคุมรถวัย 44 ปีที่นั่งอยู่ภายในรถไม่ได้รับอันตรายใดๆ
  
          ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้รถอัจฉริยะที่หลอมรวมเทคโนโลยียานยนต์ขั้นสูงสุดกลายเป็นฆาตกร ....
   
          “ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย” ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยวิทยาการสื่อสารของมนุษย์และคอมพิวเตอร์ (HCCRU) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือเนคเทค หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์สมองกล “เอไอ” (Artificial Intelligence) อธิบายให้ฟังว่า รถยนต์ไร้คนขับ คือการใช้เทคโนโลยี “เอไอ” เป็นสมองกลทำงานตามคำสั่งที่ป้อนใส่เข้าไปรวมถึงประสานควบคุมอุปกรณ์รถยนต์ให้ขับเคลื่อนได้ เช่น สตาร์ทเครื่อง หยุดรถ เหยียบเบรก เข้าจอด ฯลฯ ส่วนประกอบสำคัญของการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ ได้แก่

          1.ระบบแผนที่ทำงานโดยใช้เสาสัญญาณ “จีพีเอส” ระบุตำแหน่งและข้อมูลการจราจร 2.ไลดาร์ LIDAR (Light Detection And Ranging) เป็นระบบเซ็นเซอร์ค้นหาวัตถุด้วยคลื่นความถี่ที่ตั้งเอาไว้ ช่วยในการตรวจจับสภาพแวดล้อมรอบตัวรถ 3.ตัวกล้อง ทำหน้าที่เป็นดวงตาช่วยดูและหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางตามท้องถนน 4.ระบบสมองกลหรือเอไอประมวลผลทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมบังคับ หรือคอนโทรลเลอร์ให้รถยนต์ทำตามคำสั่ง เช่น เปลี่ยนเลน หยุดรถ เลี้ยวซ้าย-ขวา เร่งความเร็ว ลดความเร็ว ฯลฯ

          "กรณีอุบัติเหตุชนคนตายที่เกิดขึ้นในรัฐอริโซนา ถ้านำเฉพาะข้อมูลเบื้องต้นที่เผยแพร่จากสื่อมวลชนมาพิจารณา คาดว่าความผิดพลาดไม่น่าเกิดจากสมองกลหรือเอไอ เพราะสภาพแวดล้อมปกติดีทุกอย่าง โดยปกติสมองกลจะประมวลผลผิดพลาดก็เพราะเกิดจากสภาพแวดล้อมผิดปกติกะทันหัน เช่น เกิดพายุทอร์นาโด หรือมีฝูงคนจำนวนมากกระโดดลงมาในถนน หรือน้ำท่วมฉับพลัน แต่จากภาพในข่าวทั้งสภาพถนน ไฟ ความสว่าง ทุกอย่างปกติเหมือนถนนทั่วไป แปลว่าสมองกลไม่น่าทำงานผิดปกติ แต่ไปผิดพลาดที่ระบบควบคุมบังคับรถยนต์ เช่น สั่งให้เบรกแล้วไม่เบรก หรือสั่งให้ลดความเร็วแต่ไม่ลง"

          ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหุ่นยนต์สมองกลกล่าวต่อว่า อีกไม่นานคงมีรายงานข้อมูลของอุบัติเหตครั้งนี้ออกมาอย่างละเอียดและวิเคราะห์ให้เห็นว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นตรงส่วนไหนบ้าง สำหรับเรื่องกฎหมายนั้น ต้องพิจารณาจากสัญญาของบริษัทอูเบอร์กับผู้โดยสารและคนขับว่ามีการตกลงกันว่าอย่างไร ใครจะรับผิดชอบเมื่อรถไปชนคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ตอนนี้กฎหมายเกี่ยวกับเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังไม่ชัดเจนนัก ขึ้นอยู่กับการตีความของหน่วยงานด้านกฎหมายของแต่ละประเทศ

          ระหว่างที่รอผลสอบนั้น “รถยนต์ไร้คนขับ” ที่มีแผนการขยายตลาดให้ทดลองวิ่งเต็มท้องถนนคงสะดุดหยุดลงอย่างไม่มีกำหนด...

          กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยบนท้องถนนออกมาเรียกร้องให้หยุดทดสอบรถหุ่นยนต์ในท้องถนนจริงจนกว่าจะพิสูจน์แน่ชัดว่า “เหยื่อ” รายนี้เสียชีวิตจากความผิดพลาดตรงส่วนใด
  
          ไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์เพียงแต่พริบตาเดียวอาจทำให้ตลาดรถยนต์ไร้คนขับที่คาดว่าจะเติบโตถึง 21 ล้านล้านบาทกลายเป็นแค่ความฝัน ?!?
  
          หากมองอีกด้านหนึ่ง เหตุการณ์ครั้งนี้อาจยืดระยะเวลา “ตกงาน” ให้คนกลุ่มหนึ่ง นั่นคือโชเฟอร์รถบรรทุกและรถยนต์รับจ้าง ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของอเมริกา (www.esa.doc.gov) คาดการณ์ว่าหากเทคโนโลยี “ยานพาหนะไร้คนขับ” เข้ามาเต็มท้องถนนเมื่อไร หมายความว่าตลาดแรงงานคนขับรถรับจ้าง 15.5 ล้านคนในอเมริกาจะได้รับผลกระทบทันที โดยเฉพาะกลุ่มรถบรรทุก อาจมีคนตกงานไม่ต่ำกว่า 3.5 ล้านคน เนื่องจากการใช้รถบรรทุกไร้คนขับ 1 คัน ทำให้ประหยัดค่าจ้างคนขับจาก 1.3 ล้านบาทต่อปี เหลือเพียง 9 แสนบาท
  
          สำหรับประเทศไทยแม้ยังไม่มีแผนการใช้ “รถหุ่นยนต์” เนื่องจากความไม่พร้อมของสภาพถนนและระบบการจราจร แต่ไทยเป็นแหล่งผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของค่ายยักษ์จากญี่ปุ่นหลายยี่ห้อ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องเฝ้าติดตามผลสอบคดีนี้อย่างใกล้ชิด...
  
          เพราะไทยผลิตรถยนต์เป็นอันดับ 12 ของโลก อันดับ 1 ในอาเซียน กำลังการผลิตประมาณ 2-3 ล้านคันต่อปี ปริศนาของอุบัติเหตครั้งนี้อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการผลิตรถยนต์อีกครั้งก็เป็นได้ ....
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ