คอลัมนิสต์

ระเบิดเวลาสหกรณ์ที่รอวัน...ตูมม!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คุมเข้ม4ปัจจัยเสี่ยงระบบการเงินสหกรณ์     เปิดใจอธิบดี“พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ”

           ไม่มีความรู้เรื่องการเงิน ไม่ได้ช่ำชองทางด้านนี้ แต่ต้องมารุกหนักนโยบายบริหารจัดการด้านการเงิน เมื่อก้าวขึ้นมารั้งตำแหน่งอธิบดี สำหรับ “พิเชษฐ์ วิริยะพาหะ" อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ หลังได้รับรู้ข้อมูลด้านการเงินของสหกรณ์ขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปัญหาและใกล้เวลาจะระเบิดเต็มที ส่วนหนึ่งเห็นได้จากบางสหกรณ์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการยักยอกเงินที่เกิดขึ้นในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น ปัญหาของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ หรือแม้กระทั่งสหกรณ์สโมสรรถไฟ ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้
               “จริงๆ แล้วผมไม่ได้มีความรู้เรื่องการเงินเลย ตอนที่เป็นสหกรณ์โคราช ท่านอธิบดีจุมพล(สงวนสิน) ก็ได้ย้ายผมมาเป็นผู้ตรวจแล้วมอบงานดูปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จากนั้นผมก็จัดตั้งทีมเข้ามาแก้ปัญหา ตอนแรกๆ เข้าไปที่สหกรณ์คลองจั่นไม่ได้ โดนด่าทุกวัน ทุกวันนี้พอรู้ว่าผมเข้าไปสมาชิกทุกคนก็รีบเข้ามาสวัสดีทักทาย ขอบคุณที่ได้ช่วยเขา” พิเชษฐ์ย้อนอดีตให้ฟัง
              จากนั้นไม่นานก็ก้าวขึ้นรั้งตำแหน่งรองอธิบดี พร้อมได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแลด้านการเงินของระบบสหกรณ์ทั่วประเทศ จุดนี้เองทำให้เขาได้รับรู้ถึงปัญหาระบบการเงินในสหกรณ์ทั้งระบบ โดยเฉพาะสหกรณ์ขนาดใหญ่ทั้งหลายที่มีความเสี่ยง เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนกับสหกรณ์ฯคลองจั่น
              ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีนี้เอง ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการเงินในระบบสหกรณ์อย่างทะลุ โดยมีทีมที่ปรึกษาจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เมื่อตรวจพบว่าสหกรณ์ใดมีปัญหาหรือเริ่มมีความเสี่ยงก็จะส่งข้อมูลให้แบงก์ชาติตรวจสอบ พร้อมขอคำแนะนำแนวทางป้องกัน ทำให้ต้องเดินเข้าออกระหว่างแบงก์ชาติกับกรมส่งเสริมสหกรณ์กือบทุกวันเพื่อร่วมประชุมกับทีมที่ปรึกษาจากแบงก์ชาติ ขณะเดียวกันยังได้มีการหารือการออกแบบระบบการตรวจสอบการเงินในระบบสหกรณ์ทั่วประเทศในระบบเรียลไทม์อีกด้วย
                “ตอนเป็นรองอธิบดีต้องเดินเข้าออกแบงก์ชาติเกือบทุกวันเพื่อประชุม ติดตามงาน เพราะปัญหาใหญ่ของสหกรณ์วันนี้คือเรื่องการเงิน หากไม่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในตอนนี้จะเกิดปัญหาใหญ่ในอนาคตแน่นอน วันนี้เงินในระบบสหกรณ์มีประมาณ 2.7 ล้านล้าน ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาเศรษฐกิจของประเทศจะพังพินาศหมด สหกรณ์ไม่เหมือนแบงก์ที่มีกฎระเบียบเข้มงวด ผมเคยถามทางแบงก์ชาติว่ามีโอกาสเกิดฟองสบู่อีกไหม เขาก็บอกว่ายากมาก เพราะเคยมีประสบการณ์มาแล้ว สามารถคุมได้ แต่สหกรณ์สิน่ากลัว มันเหมือนระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อ” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์สะท้อนปัญหาให้ฟัง พร้อมย้ำว่า

             จากการตรวจสอบข้อมูลทางการเงินของสหกรณ์ทั่วประเทศพบว่าขณะนี้มีหลายสหกรณ์ที่ใกล้จะระเบิดเต็มทีแล้ว หากไม่มีมาตรการมาป้องกันฟองสบู่ในสหกรณ์พร้อมจะแตกในทันที
              “เราจะไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า จะไม่ใช้ยาแรง แต่จะค่อยๆ ทำให้มันฝ่อทีละเล็กทีละน้อย จนเข้าสู่ปกติหรือไม่ก็ให้มันยุบไปเอง สหกรณ์ไหนสหกรณ์นั้นจะไม่ให้กระทบกับสหกรณ์อื่น แต่จะไม่ทำให้แตก เพราะถ้ามันแตกเมื่อไหร่ พังเลย จะกระทบกันเป็นลูกโซ่เลย สหกรณ์มันโยงใยกันหมด” พิเชษฐ์ให้มุมมอง
            หลังใช้เวลาเรียนรู้งานในตำแหน่งรองอธิบดีได้ไม่นาน ก็ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น ให้ก้าวขึ้นมารั้งตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เมื่อ พล.อ.ฉัตรชัยกระซิบกับเขาเมื่อครั้งไปตรวจราชการที่ จ.อุบลราชธานี ว่า “พิเชษฐ์ เดี๋ยวจะให้ช่วยงานหน่อย” เมื่อได้รับฟังเขาถึงกับอึ้งเพราะไม่รู้ว่านายจะใช้ให้ไปทำงานอะไร จากนั้นไม่นานมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ก็ออกมาให้นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ แทนนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข ที่ข้ามห้วยไปนั่งในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)
             ทันทีที่พิเชษฐ์ก้าวขึ้นนั่งในตำแหน่งอธิบดีวันแรกก็ประกาศนโยบายชัดเจนจะมุ่งแก้ปัญหาการเงินของสหกรณ์ทั้งระบบทั่วประเทศในทันที ถือเป็นอธิบดีคนแรกก็ว่าได้ที่กล้าชูนโยบายเรื่องการเงินนำหน้าการส่งเสริมและพัฒนา เหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา แต่ก็ใช่ว่าเรื่องการเงินจะเป็นปัญหาสำหรับเขา หลังได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ทางด้านการเงินจากแบงก์ชาติมาเต็มกระบุงเมื่อครั้งอยู่ในตำแหน่งรองอธิบดี ซึ่งสอดรับกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะนายทะเบียนจะต้องเข้าไปกำกับดูแลสหกรณ์ในสังกัดอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนบางสหกรณ์ที่เป็นปัญหาคาราคาซังอยู่ในขณะนี้  
              “ต้องยอมรับว่าวันนี้การเงินเป็นปัญหาใหญ่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ มันเหมือนระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รอวันระเบิด สมมุติว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางขยับสัก 50 สตางค์ หรือ 1 บาท ผมคิดว่าสหกรณ์ขยับตัวไม่ทันแน่นอน วันนี้ผมถึงต้องนั่งดูข้อมูลธุรกรรมการเงินของสหกรณ์ทั้งหมด โดยที่แบงก์ชาติช่วยออกแบบให้ สอนวิธีวิเคราะห์ให้ว่าจะดูอะไรบ้าง แต่วันนี้ยังติดปัญหาบางสหกรณ์ยังไม่รายงานข้อมูลบางตัวเข้ามา อ้างว่ากลัวจะถูกฟ้อง ที่จริงคือพยายามทีี่จะไม่รายงาน แต่ผมก็ไม่ยอมนะ ก็ได้ออกคำสั่งไปแล้ว ต้องทำเช่นเดียวกับแบงก์พาณิชย์ที่จะต้องรายงานข้อมูลทั้งหมด ถ้าทำอันนี้ไม่ได้ก็ไม่มีทางจัดการได้ ก็เหมือนคนตาบอดงมไปเรื่อย เพราะกรมมีอำนาจในฐานะนายทะเบียน ถ้าไม่รายงานก็จะมีบทลงโทษ อย่างวันนี้สหกรณ์สโมสรรถไฟก็มีรายงานเข้ามาแล้วว่าไปกระทบกับใครบ้าง” พิเชษฐ์เผยข้อมูล  
                เขายอมรับว่า การฝากเงินไขว้ระหว่างสหกรณ์ก็เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่อีกตัวที่น่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่มีการเฝ้าระวังของกรรมการสหกรณ์ ซึ่งจะต้องตรวจสอบฐานะการเงินของบุคคลหรือหน่วยงานที่นำมาฝากอย่างละเอียดก็อาจจะมีปัญหาในอนาคตได้ ที่ผ่านมามักยึดแต่รูปลักษณ์ภายนอกหรือเป็นความรู้จักมักคุ้นก็สามารถปล่อยเงินกู้ให้แก่บุคคลหรือกลุ่มองค์กรเหล่านั้นได้
 “ทุกวันนี้ฝากตังค์หรือปล่อยกู้แค่มองหน้ากัน แค่แต่งตัวดีดูน่าเชื่อถือเอาไปเลย 20 ล้าน ทั้งที่ฐานะเป็นอย่างไรไม่เคยไปดูเลย แต่วันนี้มันไม่ใช่ อย่างวันนี้เงินสหกรณ์สโมสรรถไฟช็อต เอามาช่วยหน่อย 700 ล้าน ก็ดัมพ์ไปเลย 700 ล้าน แล้วรถไฟเอาเงินไปไหนก็ไม่รู้ อำนาจอนุมัติของกรรมการสหกรณ์ก็ไม่มีกำหนดไว้ จะอนุมัติเท่าไหร่ก๋็ได้เหมือนกันทุกสหกรณ์ เราก็มาออกเกณฑ์ไปว่าการอนุมัติจะต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ที่คุณจะเอาไป และไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของทุนเรือนหุ้น”
              นอกจากนี้แล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยอธิบดีคนนี้ยังได้ออกเกณฑ์ในการกำกับความเสี่ยงทางด้านการเงินของสหกรณ์ใน 4 ด้านตามมาตรฐานของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ครอบคลุมการบริหารจัดการทางการเงินทั้งระบบ ซึ่งประกอบด้วย ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านดำเนินการ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ โดยแต่ละด้านจะใช้เกณฑ์ตามคำนแะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด แต่จะมีการปรับให้สอดคล้องกับกิจการของสหกรณ์ เพราะหากเข้มงวดเกินไปจะทำให้สหกรณ์เล็กๆ จะไม่โต ทั้งนี้ การวางเกณฑ์ดังกล่าวก็เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปในแนวทางเดียวกัน 
            “ตอนนี้ผมได้ออกเกณฑ์ไปแล้ว 7-8 ตัว อย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ก่อนไม่กำหนดเพดาน ตอนนี้กำหนดไม่เกิน 4.5 ปี ต่อไปจะลดลงปีละ 0.5 ไปเรื่อยๆ เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะเป็นตัวที่ปั่นเงินเข้ามา หรือการจำกัดอัตราเงินปันผล จะไม่ทำให้คนมีความรู้สึกว่าสหกรณ์เป็นแหล่งลงทุน เงินปันผลนี้ก็ห้ามนำกำไรทั้งหมดหลังหักตามกฎหมายซึ่งจะถูกกันไว้เป็นทุนสำรอง 10 เปอร์เซ็นต์และค่าบำรุงสันนิบาตส่วนที่เหลือนั้นห้ามนำมาปันผลให้สมาชิกเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ เราก็ไปคุมเพดานตรงนั้นเอาไว้” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผย   
            ไม่เพียงเกณฑ์กำกับความเสี่ยงทั้ง 4 ด้านที่ช่วยลดปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ แต่เขายังมีนโยบายลดการใช้เงินสดหน้าเคาน์เตอร์ โดยให้หันมาใช้บัตรสมาร์ทการ์ดหรือระบบคิวอาร์โค้ดแทนเพื่อลดความเสี่ยงในการทุจริตในระบบสหกรณ์ ซึ่งในปัจจุบันมีสหกรณ์มากว่า 200 แห่งที่หันมาใช้ระบบนี้เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว 
             “ในส่วนของสหกรณ์การเกษตรก็จะไปดูข้อระเบียบการกำกับ หน้าเคาน์เตอร์การจ่าายเงิน ทุจริตที่ผ่านมาสหกรณ์การเกษตรมีการยักยอกเพราะจ่ายเงินสด ผมก็ไปร่วมกับกรุงไทยว่าจะออกบัตรให้สมาชิกโอนเงินผ่านธนาคาร สมาชิกทีี่มาทำธุรกรรมทางการเงินก็ให้ใช้บัตรมาชำระแทนเงินสดหรือจ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด ถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะลดการทุจริตได้เยอะ วันนี้จ่ายเงินสมาชิกไปนั่งรอหอบเงินสดกลับบ้าน สหกรณ์เองก็หาเงินสดมากอง จ่ายไม่หมดก็หาข้ออ้างว่าเก็บรักษาเงินสดไว้ เก็บทุกวันๆ ก็เกิดการยักยอกไปเอง ถ้าวันนี้ไม่ขยับอีก 3-4 ปีจะไม่ทันเขาแล้ว เชื่อว่าอีกไม่เกิน 3 ปีจะใช้ระบบคิวอาร์โค้ดหมด” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์สรุปทิ้งท้าย 
 ระเบิดเวลาสหกรณ์ที่รอวัน...ตูม!
          วิกฤติทางการเงินจากสถาบันการเงิน แม้จะมีก็ไม่มากนัก เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว มาตรการกำกับจากธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยให้ระบบการเงินมั่นคงระดับหนึ่ง
แต่ไม่ใช่การเงินในระบบสหกรณ์ ไม่ว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ล้วนเป็นระเบิดเวลาที่ยังติ๊กๆ เขย่าหัวใจกันอยู่ตลอดเวลา !!!
          สหกรณ์การเงินเหล่านี้ เคยเป็นสหกรณ์ปิด สมาชิกเป็นคนในสังกัด เช่น หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือคนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่จำเพาะ
         แต่ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ที่ทุกแห่งเป็นสหกรณ์เปิด ทั้งเปิดจากข้างในออกไปข้างนอกหรือตรงกันข้ามกัน ปีกของเงินสยายกว้าง มันโบยบินไปทุกแห่ง ในนามของการลงทุน โดยเอาเงินของสมาชิกมาเป็นของเล่น
         กรมส่งเสริมสหกรณ์นั้นอยู่ที่งานส่งเสริม อยู่กับเกษตรกร เรื่องการเงินนั้นล้วนบอดใบ้ ไปไม่ถึง
การกำกับจึงอะลุ้มอล่วยช่วยเหลือกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างกรม ในฐานะนายทะเบียน และคำว่า “ส่งเสริม” กับสหกรณ์สมาชิก หรือระหว่างสหกรณ์สมาชิกด้วยกันที่พร้อมช่วยกันเอง ยามมีปัญหาการเงินชั่วครู่ยามและไม่ใหญ่เกินกำลัง
          นั่นทำได้เมื่อสหกรณ์ยังปิด ยังไม่มีแรงเย้ายวนใจแสวงหาผลกำไรเหมือนที่เป็นอยู่ขณะนี้
...สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สหกรณ์สโมสรรถไฟ สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ ฯลฯ ล้วนเป็นชนวนเชื้อปะทุที่พร้อมทำให้ระเบิดเวลาลูกใหญ่ทำงาน...ตูมมมมม...
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ