คอลัมนิสต์

หัวใจของพรรคการเมือง สุดท้ายอยู่ที่ประชาชน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ขณะนี้การเมืองกำลังคึกคักจากการจัดตั้งพรรคใหม่ บางพรรคถูกจับตาจากสังคม บางพรรคถูกจับตาจากอำนาจรัฐ บางพรรคถูกตัดสินไม่ให้เกิด แต่สุดท้ายผู้ตัดสินจะอยู่ที่ประชาชน

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ไปขอจดจองชื่อพรรคการเมืองเพื่อดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 โดยผู้ที่ไปขอจดจองมีความประสงค์จะใช้ชื่อพรรคว่า “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”

แทบจะทันทีที่ กกต. ไม่รับจดจองชื่อพรรคดังกล่าว โดยอ้างข้อกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก โดยในรัฐธรรมนูญมาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

ขณะที่กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ ก็กำหนดลักษณะต้องห้ามของพรรคการเมืองไว้ในมาตรา 10 ประกอบมาตรา 14 กล่าวคือ ต้องไม่มีลักษณะดังต่อไปนี้ (1) เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ (2) ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (3) อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ และ (4) ครอบงำหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ

ด้วยข้อกำหนดเช่นนี้จึงอาจทำให้ กกต.ตีความว่าพรรค “คอมมิวนิสต์” แห่งประเทศไทย อาจจะเข้าข่ายที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่วนข้ออื่นนั้นน่าจะเป็นข้อแห่งการคาดการณ์และเหตุผลประกอบ เพราะเมื่อพรรคยังไม่เกิด นโยบายยังไม่ออก ข้อเท็จจริงเช่นว่าจึงยังมิอาจพิสูจน์ทราบได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความแตกแยก หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย

แน่นอนผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตย่อมเห็นต่าง เพราะพวกเขาตีความว่า พวกเขาใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง “ตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ” โดยไม่ได้ไปใช้วิธีอื่นและเลือกที่จะเข้าสู่ระบบการตั้งพรรคการเมือง ซึ่งเป็นพื้นฐานเสรีภาพทางการเมืองเบื้องต้นของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 

เอาเข้าจริงแล้วตามหลักการทางรัฐศาสตร์ พรรคการเมืองเป็นการรวมตัวของกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มความคิด กลุ่มอุดมการณ์ในแนวเดียวกัน และรวมตัวกันเพื่อผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายในระดับรัฐเพื่อสนองผลประโยชน์ของกลุ่มตนเอง  ในประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้วจะมีเพียงสองพรรคหรือสามพรรคที่ได้รับความนิยม   แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งประเทศมีเพียงสองหรือสามพรรคเท่านั้น หากแต่อุดมไปด้วยพรรคเล็กพรรคน้อยเป็นจำนวนมาก เพราะนั่นคือสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง ที่จะหาทางตอบสนองการรวมกลุ่มผลประโยชน์  

นอกจากนี้ขนาดประเทศที่เราเรียกว่ามีประชาธิปไตยจ๋า ก็ยังไม่ปิดกั้นให้ตั้งพรรคการเมืองที่มีแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ เช่นที่สหรัฐอเมริกาก็มีพรรคการเมืองที่ยึดอุดมการณ์ดังว่า หรืออังกฤษก็ไม่ต่างกัน บางพรรคถึงขนาดประกาศว่ายึดมั่นในอุดมการณ์แบบนีโอนาซี แต่ก็ไม่ได้รับการปิดกั้นมิให้รวมกลุ่มแต่อย่างใด

เพราะที่สุดแล้วหัวใจของระบอบประชาธิปไตยจะอยู่ที่คนส่วนใหญ่เห็นชอบกับนโยบายที่นำเสนอหรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้ใช้อำนาจในการตัดสินว่าเขาอยากให้พรรคการเมืองแบบใดเข้าไปขับเคลื่อนนโยบาย อุดมการณ์ หรือผลประโยชน์แบบไหน  

ต้องไม่ลืมว่าหลักการของประชาธิปไตยคือเชื่อมั่นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย พวกเขาจะเป็นผู้กำหนดอนาคตของตัวเอง และในประเทศต่างๆ ก็พิสูจน์ทราบชัดว่าเมื่อพัฒนาแล้วแนวคิดพรรคการเมืองประเภทสุดโต่ง สร้างความแตกแยก หรือถือมั่นในอุดมการณ์อื่นอันมิใช่อุดมการณ์ประชาธิปไตย แม้ถูกตั้งได้แต่ก็ไม่สามารถสอดแทรกเข้ามาเป็นนโยบายของรัฐได้

และหากคนที่ต้องการจะเปลี่ยนรูปแบบรัฐเพื่อไม่ให้เป็นประชาธิปไตย ก็ย่อมไม่เลือกใช้วิถีทางในการจัดตั้งพรรคการเมืองตั้งแต่แรก  แต่หันไปสู้ในแนวทางอื่น

สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือ สนับสนุนให้ประชาชนตระหนักรู้ในสิทธิทางการเมืองของตนเอง และการต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตย  

การก่อตั้งพรรคการเมือง และนโยบายที่นำเสนอออกมาแน่นอนว่าย่อมไม่เป็นที่ถูกอกถูกใจของทุกคน และมีผู้ที่ไม่พึงใจกับนโยบายที่พรรคใดพรรคหนึ่งนำเสนอ หากเป็นนโยบายอนุรักษนิยมก็แน่นอนว่ากลุ่มก้าวหน้าก็มักจะไม่พอใจ เช่นเดียวกับนโยบายของกลุ่มสมัยใหม่ก็มักทำให้ผู้ที่ยึดมั่นกับจารีตขัดเคืองอยู่ไม่น้อย แต่ประชาธิปไตยมีทางออกเสมอ โดยหากใครไม่พอใจนโยบายของพรรคใดก็สามารถรวมกลุ่มคนที่มีความเห็นของตัวเองตั้งพรรคการเมืองเพื่อนำเสนอนโยบายในแบบที่ต้องการ และผลักดันให้ประชาชนวงกว้างยอมรับ นี่คืือรูปแบบที่ควรจะเป็น

การมองว่าพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ดี ไม่มีอุดมการณ์ที่ถูกต้อง แล้วไปฆ่าตัดตอนจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอและได้รับการยอมรับ  จะเกิดอะไรขึ้นหากกลุ่มความคิดถูกปฏิเสธโดยรัฐ พวกเขาจะหันไปใช้แนวทางอื่นหรือไม่ นี่จึงเป็นคำถามที่ควรคิดให้รอบคอบ 

เมื่อหลักคิดชัดเจน และเชื่อมั่นในการตัดสินใจของประชาชน อนาคตเราก็คงไม่ต้องเห็นทหารต้องลำบากลากรถถังแบกปืนออกมารัฐประหารกันอีก

-------

(คอลัมน์ขยายปมร้อน ทาง หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 21 มี.ค. 2561 โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ )

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ