คอลัมนิสต์

ทำไมปัญหาสุนัขจรจัดไทยไม่จบสิ้น!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

มองดราม่าเซตซีโร่ แล้วย้อนดูตัวเอง ...ทำไมปัญหาสุนัขจรจัดไทยไม่จบสิ้น!!

 

          ถ้าไม่มีเรื่องปัญหาพิษสุนัขบ้าเข้ามาทำความแตกตื่นและคร่าชีวิตคนไป 5 รายหนนี้ บางทีปัญหาเรื่องสุนัขจรจัดก็อาจยังไม่ได้รับการพูดถึง และปล่อยให้ดำรงคงอยู่แก้ปัญหากันไปแบบเดิมๆ

          แต่พอเรื่องลุกลามมาจนถึงวิธีการ “เซตซีโร่” ฝ่ายออเจ้ารักหมาก็ดาหน้าออกมาค้าน เป็นดราม่าท่วมจอพอๆ กัน!!

          แน่นอนตามหลักแล้วนักวิชาการก็พากันออกมาชี้ชัดว่า ปัญหา “จำนวน” ประชากรสุนัขและแมวจรจัดไม่ใช่ “ปัจจัย” ที่ทำให้ปัญหาพิษสุนัขบ้ากลับมารุนแรงอีกครั้งปีนี้

          แต่ในความเป็นจริงคนรักหมาลองมองดูตัวเองหรือไม่ว่า อะไรคือต้นเหตุที่ทำให้เวลานี้ภาครัฐจึงออกมาแย้มๆ วิธีการ “เก็บภาษีคนเลี้ยง!!” จนได้

 

ทำไมปัญหาสุนัขจรจัดไทยไม่จบสิ้น!!

 

          ถ้าจะย้อนไปดูจะว่าไปปัญหาสุนัขจรจัดมีมานานกว่าช่วงอายุคนก็ว่าได้ เพราะสังคมไทยผูกติดวิถีชีวิตไว้กับวัด วันหนึ่งก็เกิดเอาวิถีของสัตว์เลี้ยงที่บ้านไปขึ้นกับวัดด้วย

          สุดท้ายจาก “หมาบ้าน” สู่ “หมาวัด” และกลายเป็น “หมาข้างถนน” ออกลูกหลานเป็นสุนัขจรจัดทั่วไป

          และที่จริงถ้าจะพูดถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้เชื่อหรือไม่ว่าหากนับทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมแล้วมีมากมายกว่า 50 ฉบับ!! ร่ายออกมาไม่พอเนื้อที่

          แต่สรุปตัวที่สำคัญคือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 พูดง่ายๆ ว่าไทยเริ่มตื่นตัวเรื่องนี้ราวปีนั้น

          ซึ่งที่ผ่านมาทั้งด้วยกฎหมายเหล่านี้และการรณรงค์ทั่วไปโดยมูลนิธิเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ทำให้มีมาตรการในการดูแลป้องกันแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดออกมามากมาย

          แต่ปรากฏว่าปัญหาไม่ได้ลดลงเลย โดยช่วงปี 2559 สำนักงานปศุสัตว์ทั่วประเทศออกมารายงานว่าในไทยมีสุนัขจำนวนทั้งหมด 6.7 ล้านตัว เป็นสุนัขมีเจ้าของกว่า 6.05 ล้านตัว และเป็นสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ 750,000 ตัว

          หนักกว่านั้นคือ ปีนั้นเองที่มีรายงานว่าพบตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าสูงขึ้น คือกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง!

          กระทั่งนำมาสู่คำถามในวันนี้ว่าควร “เซตซีโร่” สุนัขและแมวจรจัดหรือไม่ หรือทางเลือกใหม่คือ ไปเก็บตังค์เอากับคนเลี้ยง!!

 

ทำไมปัญหาสุนัขจรจัดไทยไม่จบสิ้น!!

 

          หลายคนอาจอยากรู้ว่าที่ผ่านมาบ้านเมืองเราใช้วิธีการใดกันมาบ้างในการพยายามแก้ไขปัญหานี้ เท่าที่รวบรวมได้และเป็นวิธีที่พูดถึงกันบ่อยครั้งที่สุด เช่น

          -เซตซีโร่ สำหรับวิธีการนี้ก็มีข้อมูลที่ทำให้ตกใจว่าที่จริงบ้านเราเคยใช้วิธีนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2498 โดยวิธีเอาสารพิษชนิดหนึ่งป้ายปาก จนกระทั่งมาถึงปี 2535 ถึงได้เริ่มหยุดวิธีนี้ เพราะเป็นวิธีที่ล้มเหลว ได้รับเสียงต่อต้ายจากสังคมและกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ จากนั้นผู้มีหน้าที่ก็หันมาใช้วิธีการแบบที่ไม่ทำร้ายจิตใจคนไทย ไล่ตั้งแต่

          -ทำหมัน ฉีดวัคซีน อย่างที่รู้กันไปแล้ววิธีการนี้ทำมานาน เบสิกและง่ายสุดแล้ว โดยการดำเนินการของกรมปศุสัตว์เองก็แท็กทีมกับองค์กรปกครองส่วนทองถิ่นดำเนินการเรื่องทำหมัน ฉีดวัคซีน

          แน่นอนช่วงหนึ่งบ้านเมืองเรามีปัญหาเรื่องนี้ซึ่งพูดกันไปช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณที่กินเวลาตั้งแต่ช่วง 2557-2559 ทำให้การดำเนินการตรงนี้เหมือนเป็นช่วงสุญญากาศ คือไม่มีรถรับฉีดวัคซีนและทำหมันฟรีเข้าบริการยังพื้นที่

 

ทำไมปัญหาสุนัขจรจัดไทยไม่จบสิ้น!!

 

          แต่ทุกคนยอมรับกันดีว่าสามัญสำนึกเบื้องต้น คือ การทำหมันในสุนัขเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของเจ้าของในการดูแลสุนัขอันดับแรก ดังนั้นผู้เลี้ยงสามารถพาสุนัขและแมวไปเข้ารับการฉีดตามคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ได้เลยไม่ต้องรอของฟรี! แต่..สุดท้ายปัญหาก็ยังมีอยู่!

          -การฝังชิพและขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง เรื่องนี้ที่เห็นชัดคือช่วงปี 2548 ที่ กทม. มีการออก “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548" เพื่อควบคุมการเลี้ยงสุนัขที่มีเจ้าของในกรุงเทพฯ โดยห้ามไม่ให้ปล่อยสุนัขในที่หรือทางสาธารณะ เพื่อไม่ให้สร้างความเดือดร้อนให้คนทั่วไป ฯลฯ

          วิธีการคือให้เจ้าของนำสุนัขหรือแมวไปขึ้นทะเบียนและฉีดไมโครชิพ ช่วงแรกที่ประกาศมีการทำให้ฟรี 50,000 ชิ้น หลังจากนั้นเจ้าของต้องเสียค่าใช้จ่ายตามคลินิกเอง

          โดยตอนนั้นถึงกับประากศว่า หากกทม.ตรวจพบว่าสุนัขไม่มีชิพก็จะโดนปรับถึง 5,000 บาท โดยสิ่งที่เจ้าของจะต้องมีคือ เอกสารยืนยันใบรับรองการฉีดไมโครชิพ สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของสำเนาทะเบียนบ้านที่สุนัขอาศัยอยู่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของบ้านกรณีที่เจ้าของสุนัขเช่าอาคารชุดอยู่ หนังสือรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาไม่เกิน 1 ปี และหนังสือรับรองการผ่าตัดทำหมัน

          งานนี้ถ้าเอากทม.เป็นต้นแบบสำหรับจังหวัดอื่น ปรากฏว่าไม่ได้ผลเพราะแทนที่ประชาชนจะกลัวถูกปรับ กลับเลี่ยงเป็นการไม่ให้ความร่วมมือนำสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียน โดยช่วงปี 2552 พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ ขณะเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ถึงกับออกมาระบุมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไปร้องเรียนที่ศาลปกครอง เจ้าหน้าที่จึงต้องชะลอดำเนินการออกไป แล้วกลับมาใช้วิธีการเบสิกแบบเดิมคือการทำหมัน (ข่าวจากเดลินิวส์ 24 ส.ค. 2552)

 

ทำไมปัญหาสุนัขจรจัดไทยไม่จบสิ้น!!

 

          -ศูนย์พักพิงและมูลนิธิ วิธีการดูจะเป็นวิธีที่โลกสวยและอะลุ้มอล่วยที่สุดแล้ว คือไม่ทำให้เจ็บ ไม่ต้องฆ่า และคนไทยไม่ต้องเสียสตางค์ คือการหาที่พักให้น้องหมาแมวไร้สังกัด!!

          แต่น่าตกใจที่ว่าวิธีการนี้ซึ่งมีมานานแล้วและมีในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ผลคือไม่ได้ช่วยให้ปัญหาลดลงอย่างที่เห็นเลยเหมือนกัน

          อย่างที่กทม.ซึ่งมีทั้งศูนย์พักพิงสุนัขจรจัดประเวศ โดยตัวเลขช่วงปี 2559 มีประมาณ 800 ตัว ถ้าล้นก็จะขนย้ายไปไว้ที่ศูนย์สาขาที่ศูนย์พักพิงสุนัขทับทัน จ.อุทัยธานี รองรับสุนัขได้เกือบ 8,000 ตัว ซึ่งปีเดียวกันอยู่ประมาณ 5,500 ตัว แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้หมดไป ไม่เช่นนั้นเราคงไม่กลับมาพูดถึงกันอยู่ตอนนี้ (หากแต่ยังมีลุ้นกันว่าหากปีงบประมาณ 2561 ที่กทม.จะพัฒนาศูนย์ควบคุมสุนัขจรจัดประเวศ ให้เป็นศูนย์ควบคุมสุนัขต้นแบบ จะเห็นผลขนาดไหน)

          เช่นเดียวกับวิธีการของเอกชน มูลนิธิต่างๆ ที่บ้านเมืองเรายังมีภาคเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยดูแลปัญหาเหล่านี้อีกมากมายหลายองค์กร แต่ทำไมดูเหมือนว่าปัญหาก็ยังไม่จบสิ้น ทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงการดำเนินการต่างๆ ทุกวิธีที่ว่ามา ก็ยังมีการดำเนินการกันอยู่ไม่ได้หยุดไปอย่างถาวร

          -เก็บภาษี สุดท้ายเรื่องนี้จึงวกกลับมาที่ปัญหาตั้งต้น คือ “เจ้าของผู้เลี้ยง” นั่นเพราะในเมิื่อวิธีการตามข้างต้นไม่ได้ผล จึงไม่น่าแปลกที่รัฐบาลนำเสนอวิธีการเก็บภาษีคนเลี้ยง ที่แม้จะมีการพูดถึงมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่เคยทำมาก่อน!! จนมีคนกลุ่มหนึ่งอดคิดไม่ได้ว่าหรือจะได้ผล!

 

ทำไมปัญหาสุนัขจรจัดไทยไม่จบสิ้น!!

 

          แต่แน่นอนที่ผลตอบรับส่วนใหญ่จากประชาชน คือ “ค้าน” ตามสูตร แต่ในเนื้อหาของการค้านมีสาระสำคัญจากเพจดังต่างๆ ออกมาให้ความเห็น

          เช่น Dog Nation ทีม (เพื่อ) ชาติหมา ออกมาระบุว่า หากหลีกไม่พ้นการจัดเก็บภาษีสัตว์เลี้ยงจริงๆ ควรเริ่มดำเนินการกับฟาร์มเพาะพันธ์สัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร และทำอย่างเป็นรูปธรรม แต่ที่กลัวคือภาษีนั้นเก็บแล้วไปใช้ทางนี้จริงหรือไม่?

          และยังมีเพจ Drama Addict ที่ออกมาพูดแบบแทงตรงเลยว่า ไม่น่าจะได้ผล!!

          “การเก็บภาษีในสถานการณ์แบบนี้ยิ่งสันดานคนไทยเป็นยังไงก็รู้กันอยู่ พอมีการประกาศให้เก็บภาษีปุ๊บ ร้อยขี้หมากอง คนจะเอาหมาแมวมาปล่อยกันทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะกลัวต้องจ่ายภาษีเพิ่ม แล้วปัญหาหมาแมวจรจัดก็จะเลวร้ายขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ”

          ราวกับจะสรุปสงท้ายบทความเลยว่าวิธีการต่างๆ ที่ออกมา ตามหลักการแล้วได้อยู่ แต่ที่ไม่ได้ผลน่าจะเพราะ “จิตสำนึก” ของคนเลี้ยงล้วนๆ!

          หรือจะต้องกลับไปแก้กันที่วิชาหน้าที่พลเมือง ขนาดนั้นเลย!?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ