คอลัมนิสต์

“เป็นต่อ” เลือกแบบไหน“ประยุทธ์” ไม่เจ็บตัว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระแสข่าว "บิ๊กตู่" จะเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคการเมืองใหม่ ทำให้หลายคนจับตาหนทางการกลับสู่ตำแหน่งนายกฯหลังเลือกตั้ง ทางไหนเป็นไปได้ ทางไหนเจ็บตัว มาวิเคราะห์กัน

ในบรรดาพรรคใหม่ที่ทั้งจดจองแล้ว และมีข่าวว่าจะจัดตั้งขึ้นมีสามพรรคที่ได้รับการจับตาหนึ่งคือพรรค “มวลมหาประชาชนฯ” ที่คาดว่ากลุ่ม กปปส. จะตั้งขึ้น สองพรรคของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ที่ถูกมองมุมหนึ่งว่าเป็นพรรคก้าวหน้า แต่อีกมุมหนึ่งอาจถูกมองว่าเป็นปัญหากับกลุ่มอำนาจปัจจุบัน และอีกพรรคคือ “พรรคพลังประชารัฐ” โดยพรรคสุดท้ายนี้ได้จดจองชื่อกับ กกต. เรียบร้อยแล้ว

พรรคพลังประชารัฐจดแจ้งโดย “ชวน ชูจันทร์” ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรตลาดน้ำคลองลัดมะยม 

ดูเผินๆแล้วอาจจะไม่มีอะไรน่าสนใจมาก ถ้าหนึ่งชื่อพรรคไม่ได้สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลอย่าง “สานพลังประชารัฐ” และถ้าก่อนหน้านี้ไมีมีข่าวกระซิบออกมาก่อนว่าคนในรัฐบาลเตรียมจัดตั้งพรรคในชื่อดังกล่าว ทั้งเพื่อเป็นการสานต่อโครงการของรัฐบาล รวมถึงเปิดทางสำหรับ คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้อยู่ในอำนาจต่อไป

ล่าสุดกับการออกมาเปิดเผยว่า อาจจะมีชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นประธานที่ปรึกษา และอาจไปถึงขั้นเข้าสู่ระบบการเสนอชื่อเป็นนายกฯ โดยเป็นหนึ่งในสามของบัญชีรายชื่อนายกฯที่เสนอได้ตามรัฐธรรมนูญ

แต่หากมาดูตามกระบวนการตามระบบที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญจะเห็นว่าไม่ได้มีแนวทางเดียวที่หาก “พล.อ.ประยุทธ์” ปราถนาจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง หากแต่มีถึงสองกระบวนการ อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงปัจจัยทางการเมืองและความเป็นจริงก็จะเห็นได้ว่าทางใดมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

ทางแรกคือวิธีการให้ ใส่ชื่อเข้าไปในบัญชีรายชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอเป็นนายกฯ ซึ่งแตะละพรรคจะเสนอได้ไม่เกินสามคน และมีข้อแม้ว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้อง “ยินยอม” และยินยอมได้เพียงพรรคเดียวเท่านั้น

ว่ากันว่า มีพรรคจำนวนไม่น้อยที่ประกาศตัวพร้อมจะสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” และมีหลายพรรคพร้อมที่จะให้ชื่อของ “พล.อ.ประยุทธ์” เข้าไปอยู่ในรายชื่อ แต่คำถามคือเจ้าตัวจะยอมหรือไม่

ประการแรกเป็นเพราะช่วงเลือกตั้งนั้น “พล.อ.ประยุทธ์” จะอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ และแน่นอนหากนายกฯ ไปปรากฏในบัญชีรายชื่อพรรคใดพรรคหนึง พรรคนั้นย่อมต้องถูกจับตาเป็นพิเศษ ต้องไม่ลืมว่า คสช. นั้นประกาศตัวเข้ามาสู่อำนาจในฐานะกรรมการห้ามทัพ ดังนั้นการกระโดดลงมาเป็นผู้เล่น ย่อมต้องถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง และแน่นอนต้องถูกถามตั้งแต่วันเปิดตัว ขณะที่พรรคดังกล่าวต้องถูกมองว่าได้รับสิทธิพิเศษในการดำเนินการต่างๆ

ที่สำคัญยังมีดาบอาญาสิทธิ์ตามมาตรา 44 ยิ่งจะทำให้ดูว่าพรรคนั้นมีความได้เปรียบกว่าพรรคอื่นอยู่มากโข ต่อให้ไม่ทำก็หนีไม่พ้นข้อครหาอยู่ดี

ประการต่อมา การที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ยินยอมให้ชื่อตัวเองเข้าไปอยู่ในบัญชีของพรรคก็เท่ากับเป็นการประกาศกลายๆว่าเขาจะลงเลือกตั้งในนามพรรคนี้ แม้จะไม่เป็น ส.ส.ก็ตาม และแน่นอนการเลือกตั้งก็เป็นกระบวนการวัดความนิยมที่เป็นทางการที่สุด

คงจะเป็นเรื่องที่งดงามมากหาก พรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ท่านคงมีความชอบธรรมในการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากพรรคดังกล่าวได้รับการเลือกตั้งมาด้วยเสียงอันน้อยนิด อย่าว่าแต่ถึงขนาดพรรคต่ำสิบเลย แค่ไม่ถึง 50 หรือไม่สูสีกับพรรคอันดับต้นๆ หากมีการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ แม้จะทำได้ตามกระบวนการ แต่การถามถึงความชอบธรรมจะกระหึ่มขึ้นทันที

ไม่รวมถึงการถูกโจมตีระหว่างการเลือกตั้ง หนทางนี้จะทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” บอบช้ำจนเกินไป ฟันธงได้เลยว่าโอกาสที่เขาจะปรากฏชื่อในตอนนี้แสนจะริบหรี่

ไม่เหมือนกับทางที่สอง ที่เปิดช่องไว้ตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถตกลงกันว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯได้ เมื่อนั้นก็จะเข้าสู่ถนนเส้นดังกล่าว โดยสามารถขอให่เปิดประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งหมายถึงประชุมระหว่าง ส.ส. ที่ผ่านการเลือกตั้ง และ ส.ว. ที่แต่งตั้งมาโดย คสช. เพื่อเลือกนายกฯรัฐมนตรี และของดเว้นการใช้บัญชีชื่อนายกฯของพรรคการเมือง

ซึ่งหากหากปรารถนา  ชื่อของ “พล.อ.ประยุทธ์” จะปรากฏมาในขั้นตอนนี้ เพราะอย่างน้อยก็ดูไม่เหมือนความอยากที่จะ “เป็นต่อ” หากแต่คล้ายเป็นการอัญเชิญมาเป็น อันเนื่องมาจากสถานการณ์พิเศษที่พรรคการเมืองเองที่ตกลงไม่ได้

เจ้าตัวก็จะสามารถบอกได้ว่าจำเป็นต้องมาเป็นเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรี 

 คลับคล้ายคลับคลากับ “เปรมโมเดล” ที่พรรคการเมืองต่างเชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีใช่ช่วงทศวรรษที่ 2520

ส่วนเรื่องเสียงสนับสนุนนั้นไม่ต้องห่วง เพราะนอกจากพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งที่ประกาศตัวชัดเจนแล้วยังมีพรรค ส.ว. ที่ตั้งโดย คสช. อีก 250 คน

หนทางนี้จึงดูสดใสและโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว โอกาสที่จะมาถึงขันนี้สูมากเนื่องด้วยระบบเลือกตั้งอันไม่เอื้อให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และตามเส้นทางนี้เขาจะไม่ช้ำมากนักเหมือนทางแรก

ปัจจัยเสี่ยงจึงมีเพียงอย่างเดียวสำหรับ คสช. คือมีพรรคใดพรรคหนึ่งกวาดเสียงถล่มทลายชนิด “แลนด์สไลด์” เหมือนที่ เพื่อไทยเคยทำได้มาแล้ว

----------

“เป็นต่อ”  เลือกแบบไหน“ประยุทธ์” ไม่เจ็บตัว

“ชวน ชูจันทร์” ผู้จดจองชื่อพรรคพลังประชารัฐ

ตามที่มีข่าวว่าจะมี พล.อ.ประยทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นประธานที่ปรึกษา น่าจะเป็นการคาดการณ์ไปเอง เ้พราะเรายังไม่ได้ติดต่อใครทั้งสิ้น มีแค่การจดแจ้งเพื่อจองชื่อพรรคเท่านั้น จากนี้จึงจะเป็นกระบวนการตั้งพรรค

ส่วนที่มีข่าวว่าจะมีคนในีรัฐบาลมาร่วมเปิดตัวนั้นเขาได้ปฏิเสธ  และพูดถึงเรื่องแนวคิดการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกัภาครัฐ ว่าจะทำอย่างไรและจะสร้างทัศนคติของชาวบ้านกับพรรคการเมืองใหม่อย่างไร เพราะชาวบ้านมองพรรคการเมืองไม่ดี  ดังนั้นหากไม่ยุ่งกับพวกนี้ได้จะดีที่สุด โจทย์เราคือการเมืองต้องไม่กลับสู่ที่เดิม เราเสียหายมาพอแล้ว

“ทางออกของประเทศต้องยึดแนวทางประชารัฐเพราะไม่น่ามีวิธีอื่น เดิมต่างคนต่างทำ ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ประสานกัน คอร์รับชั่น ประชาชนเพิ่งตนเองไม่ได้ จึงมาคิดร่วมกัน วาทกรรมเรื่องความเกลียดชังนำชาวบ้านมาทะเลาะกันต้องไม่มีอีกต่อไปแล้ว น่าสนใจมากกว่าจะเอาใครมาเป็นอะไรในพรรค”

เมื่อถามว่า จะเอาเจ้าของนโยบาย “ประชารัฐ” มาร่วมทำงานหรือไม่ ชื่อเราอาจจะไปพ้องกับนโยบาย แต่เป้าหมายอยากให้เกิดพลังของประชาชนกับภาครัฐร่วมมือกัน รัฐทำอะไร ชุมชนทำอะไร ชาวบ้านทำอะไร

ทั้งนี้การตั้งพรรคมีผู้ร่วมงานเป็นอดีต ส.ส. ส.ว. ที่เคยทำงานกับชาวบ้านด้วยกัน แต่ยังไม่ขอเอ่ยชื่อ กกต. ก็ยังไม่รับจดทะเบียนจึงขอให้ทุกอย่างเรียบร้อยเสียก่อน

ต้องขอบคุณสื่อที่นำเสนอว่าจะมี รัฐมนตรีเข้ามาทำพรรคการเมืองด้วย เพราะจะทำให้รู้ว่าแนวทางเราจะทำอย่างไร 

“วันนี้เรายังไม่ได้ติดต่อใครและยังไม่มีใครติดต่อมา แต่สุดท้ายต้องเปิด ต้อง รอ กกต. บอกมาว่าอนุญาตให้จดแจ้งได้เสียก่อน”

----

รายงาน โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ