คอลัมนิสต์

ปัญหาพิษสุนัขบ้า ทางออกที่ทุกฝ่ายต้องจับมือกัน!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ดราม่าหา "คนผิด" เรื่องวัคซีนพิษสุนัขบ้า มีคำตอบจาก ผู้รู้!! อย่าง นสพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า ว่าอย่างนี้!!!

          เรื่องราวของ “โรคพิษสุนัขบ้า” ที่กำลังทำชาวบ้านร้านตลาดตระหนกตกใจมากกว่าปกติตอนนี้ ก็เพราะความฮิตของโรคนี้ ชักจะมากเกินไปแล้ว !!

          เพราะแต่ละวัน หน้าข่าวสารจะมีการรายงานถึงปัญหาผู้ได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า ที่นับวันจะพบมากขึ้นถี่ขึ้น 

          อย่างล่าสุด ชาวเน็ตแชร์สนั่น! ที่ จ.ตรัง มีการพบผู้เสียชีวิต 1 คน เป็นชาย อายุ 44 ปี อยู่ที่ ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ โดยได้รับเชื้อจากการถูกลูกสุนัขวัย 2 เดือน ที่เลี้ยงไว้กัดและข่วน 

          ขณะที่่กรมปศุสัตว์เพิ่งประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้าไปแล้ว 13 จังหวัด ซึ่งถูกจัดในพื้นที่สีแดง แปลว่าแรงมาก !! คือ จ.สุรินทร์ ชลบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา น่าน บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ร้อยเอ็ด สงขลา ระยอง ตาก และศรีสะเกษ และยังมีพื้นที่เฝ้าระวังอีก 42 จังหวัด เท่านี้ก็เกือบทั่วทั้งประเทศไทยแล้ว

          ที่สุด คนไทยจึงเริ่มหันมามองรอบตัว กระทั่งนึกออกว่า ที่ผ่านมาทางการจะมีการออกตระเวนฉีดวัคซีนให้แก่สุนัขและแมว ตามบ้าน แต่ถ้าใครสังเกตดีๆ จะพบว่าข่าวคราวเงียบหายไปสองสามปีแล้ว

          เพราะไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่จากทางการมาฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์เลย !

          เรื่องนี้ จึงนำมาสู่การขุดคุ้ยของหน้าข่าวสาร จนถึงบางอ้อว่า ที่จริงแล้ว เรื่องนี้มีปมปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น สามารถอธิบายให้เห็นภาพเข้าใจง่าย แบ่งเป็น 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          1. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะผู้ตรวจสอบการใช้เงินภาครัฐ

          2. กรมปศุสัตว์ ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาวัคซีน

          3. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในปี 2543 “กรมปศุสัตว์” ได้กำหนดมอบหน้าที่การจัดซื้อวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า และการจัดหาสัตวแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนทั้งกับสัตว์เลี้ยงตามบ้านและสัตว์จรจัด ให้แก่ อปท.

          หลังจากนั้นภาพของการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ ที่เทศบาล หรือ อบต. ต่างๆ ทำกันในช่วงฤดูร้อน ก็ปรากฏเป็นภาพชินตาที่จะมีรถมาประกาศเชิญชวนคนไทยนำสัตว์เลี้ยงออกมารับการฉีดวัคซีนทุกๆ ปี

          แต่แล้วช่วงปี 2557 สตง.ได้เข้าตรวจสอบการใช้งบประมาณปี 2556 ของ อปท. และได้ออกมารายงานว่า พบการใช้งบไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า ที่กำหนดให้ “กรมปศุสัตว์” เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาวัคซีน

          ตอนนั้นจึงมีการเรียกเงินคืน และสอบวินัยเจ้าหน้าที่เทศบาลกันอลหม่าน จน อปท.จำต้องยกเลิกโครงการซื้อวัคซีนออกบริการฉีดให้แก่สัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัดทั้งประเทศ

          ยิ่งต่อมาในปี 2559 สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่สถานการณ์พิษคนที่ทะเลาะกันเองก็แรงพอกัน

          เพราะในขณะที่ สตง. ยังคงยืนยันว่า อปท. ไม่ใช่ผู้ที่จะดำเนินการเรื่องวัคซีน “กรมปศุสัตว์” จึงได้ยื่นคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ตีความ ตัดสินว่า สรุปแล้ว อปท.มีอำนาจจัดซื้อวัคซีนหรือไม่

          คำตอบจากกฤษฎีกา ตรงข้ามกับความเห็นของ สตง. เพราะกฤษฎีกาเห็นว่า อปท.สามารถจัดซื้อได้

          แต่เรื่องก็ยังไม่จบ จนหลายคนวิพากษ์วิจารณ์กันว่า สตง. เกรงว่า อปท. จะมีการใช้งบแบบไม่ชอบมาพากล เพราะปัญหานี้หลายคนก็ยอมรับว่ามีอยู่ในระบบราชการของไทยเรา และช่วงที่ รัฐบาล คสช.เข้ามาก็ประกาศลั่นว่าจะล้างบางคนคนทุจริต

          แต่ สตง.อาจจะกลัวโกงหนักมาก ถึงขนาดยังคงตามเกาะติดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการกล่าวหาว่าวัคซีนที่จัดซื้อไม่ได้คุณภาพ จัดซื้อราคาแพงเกินไป จน “อย.” ต้องเข้ามาแทรกแซงเรื่องการนำเข้าวัคซีน ทำให้วัคซีนพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยขาดสต็อกไประยะหนึ่ง

          หนำซ้ำ อปท.เอง ก็ไม่กล้าตั้งงบจัดซื้อ เพราะกลัวว่าจะมีปัญหากับ สตง. ตามมาอีก นั่นคืออาจจะถูก สตง.ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินผิดประเภท

          แต่ปัญหาคือ เมื่อ อปท.ต้องปล่อยมือเรื่องนี้ ปรากฏว่ากรมปศุสัตว์เอง ก็ไม่ไหวจะเคลียร์ เพราะก็ไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง ทั้งงบประมาณที่จำกัด และมีบุคลากรไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โรคพิษสุนัขบ้าแพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงเวลานี้

          แต่ล่าสุด 12 มีนาคม ที่ผ่านมา ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุชี้แจงทำนองว่าทั้งหมดเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะ สตง.มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด และ อปท.ก็ชี้แจงแล้วในมุมเดียวกัน 

          โดยปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้ออกระเบียบว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 และ สตง.ได้เสนอแนะให้ อปท.ดำเนินการตามแนวทางข้างต้น

          พูดง่ายๆ ว่า สตง.ไม่ได้เข้ามาก้าวก่ายใดๆ แล้ว และอปท.ก็รับทราบ หากแต่ยังไม่ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้

          เรื่องนี้สอบถามไปยัง นสพ.พรพิทักษ์ พันธ์หล้า หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้มุมมองว่า ไม่ควรกล่าวโทษว่างานนี้เป็นหน้าที่หรือเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายไหนเพราะทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนเอง ต้องดูแลสัตว์ของตนเองด้วย

          และยอมรับว่าช่วงนับแต่เกิดปัญหาระหว่างสตง.และอปท. นั้น มีตัวเลขการระบาดของพิษสุนัขบ้าที่สูงขึ้นจริง แต่ยังมีอีก 2 สาเหตุที่เป็นต้นตอคือ

          1.ทางการมีการค้นหาเชิงรุกในส่วนของสัตว์ติดเชื้อจึงพบมากขึ้น และ 2. ภูมิคุ้มกันของสัตว์เองที่มีภาวะลดลง ซึ่งเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยที่ผู้เลี้ยงไม่ดูแลสัตว์ของตนเอง และการเข้าถึงของวัคซีนที่ลดน้อยถอยลงตามข้างต้น

          พร้อมย้ำว่า เรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย และทุกคนที่จะเข้ามาช่วยกันดูแล! 

//////////////

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เฟซบุค พรพิทักษ์ พันธ์หล้า 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ