คอลัมนิสต์

คนหนุ่ม 4.0 ท้าทายวัยชรา 2.0 คนตุลาตายแล้ว?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปาฐกถาพิเศษของเสกสรรค์ มาถูกที่ถูกเวลา เมื่อคนหนุ่มสาวรุ่น 4.0 จะก่อร่างสร้างพรรคการเมือง

          เช้าวันนี้ (9 มีนาคม) ที่หอประชุมศรีบูรพา(หอประชุมเล็ก) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยองค์ปาฐกของปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16 คือ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” และหัวข้อปาฐกถาชื่่อ “ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย”

          “เสกสรรค์” ที่แหละเป็นผู้เรียกขานกลุ่มคนที่เคยร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์สังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ว่า “คนเดือนตุลา”

          ปาฐกถาพิเศษของเสกสรรค์ มาถูกที่ถูกเวลา เมื่อคนหนุ่มสาวรุ่น 4.0 จะก่อร่างสร้างพรรคการเมือง ซึ่งประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย สำหรับก้าวแรก “นิติศาสตร์หนุ่ม” กับ “ไพร่แสนล้าน”

          ด้วยการตลาดแบบไวรัลเมื่อมีการติดแฮชแท็ก “ช่วยธนาธรตั้งชื่อพรรค”ถูกกระจายบนทวิตเตอร์ทำให้มีผู้พบเห็น และเกิดความรู้สึกในเชิงบวกต่อการก่อเกิดพรรคการเมืองยุค 4.0

          ทีมงานของ“ปิยบุตร แสงกนกกุล” กับ“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ก็หวังจะสร้าง “ปรากฏการณ์ตูน” ภาคการเมือง

          นี่เพียงแค่ยกแรกของการเริ่มต้น “เปลี่ยนการเมืองไทย”

0000

           ขณะที่คนเดือนตุลา ในวัย 60-70 ปี บางส่วนกำลังเตรียมการจัดตั้งพรรคมวลมหาประชาชน หรือพรรค กปปส. และอีกส่วนหนึ่ง ยังเป็นตัวผู้เล่นหลักให้กับพรรคเพื่อไทย

           เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คนเดือนตุลารอดชีวิตออกมาจากป่าเขา พร้อมๆกับความพ่ายแพ้ของพรรค และการถดถอยของฝ่ายซ้ายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

           พวกเขาหลายคนได้กลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นนักการเมือง นายแพทย์ นักวิชาการ ปัญญาชน เอ็นจีโอ ศิลปิน นักธุรกิจ ข้าราชการระดับสูง ฯลฯ

          แทบไม่น่าเชื่อว่า ฝ่ายซ้ายไทยที่ประสบความล้มเหลวในการต่อสู้ตามอุดมการณ์สังคมนิยม จะประสบความสำเร็จในการขยายบทบาททางการเมืองเป็นจำนวนมาก ระหว่างปี 2529-2554 

          การเลือกตั้ง 27 ก.ค.2529 “คนเดือนตุลา” พาเหรดเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น จาตุรนต์ ฉายแสง, ธัญญา ชุนชฎาธาร, สุนัย จุลพงศธร, ภูมิธรรม เวชยชัย ,มหินทร์ ตันบุญเพิ่ม ฯลฯ มีทั้งอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง

          ส่วน ชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ ,วิทยา แก้วภราดัย และสุธรรม แสงประทุม ไปสังกัดพรรคก้าวหน้า ของอุทัย พิมพ์ใจชน

          เมื่อเกิดกลุ่ม 10 มกรา คนเดือนตุลาก็ถอยทัพออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และบางส่วนไปช่วยงานพรรคประชาชน ของ เฉลิมพันธุ์ ศรีวิกรม์

          จบการเลือกตั้งปี 2531 พรรคประชาชนต้องยุบรวมกับพรรคอื่น คนเดือนตุลาก็แยกย้ายกันไป บางกลุ่มไปช่วยงาน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และอีกกลุ่มหนึ่งไปช่วย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตั้งพรรคความหวังใหม่

          หลังเหตุการณ์พฤษภา 2535 คนเดือนตุลาจำนวนมากแห่ไปสังกัดพรรคพลังธรรม จนเกิดคำว่า “สายบ้าน” ด้าน พินิจ จารุสมบัติ ได้พาเพื่อนพ้องพ้องน้องก่อตั้งพรรคเสรีธรรม

          การเลือกตั้ง 2 ก.ค.2538 คนเดือนตุลาสายบ้านในพรรคพลังธรรม แยกตัวออกไปตั้งพรรคนำไทย แต่ก็มีอดีตฝ่ายซ้ายกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาเป็นทีมงานของ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งตอนนั้น “มหาจำลอง” เชิญชวนไทคูนโทรคมนาคมเมืองไทยมาเป็นหัวหน้าพรรค

           ปี 2542 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, ภูมิธรรม เวชยชัย, เกรียงกมล เลาหไพโรจน์ และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ร่วมด้วยช่วย “ทักษิณ” ตั้งพรรคไทยรักไทย

           หลังเลือกตั้งปี 2544 ยุคโชติช่วงชัชวาลของคนเดือนตุลาในไทยรักไทย มีหลายคนได้เป็นรัฐมนตรี และบางคนขยับขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี

          การเลือกตั้งทั่วไปปี 2548 คนเดือนตุลาบางกลุ่มไปตั้งพรรคมหาชน หวังหยุดยั้งการเติบโตของระบอบทักษิณ แต่พ่ายแพ้อย่างย่อยยับ

          เมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 เกิดความแตกแยกทางการเมืองในหมู่คนเดือนตุลา และระเบิดออกมาเป็นรูปธรรมผ่านความขัดแย้ง “การเมืองสีเสื้อ” 

          จนถึงวันนี้ คนเดือนตุลาฟากทักษิณ ยังหวังจะคืนสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง และคนเดือนตุลา สาย กปปส. ก็วางแผนชูธงประชาธิปไตยแบบไทย ต้านการกลับมาของทุนสามานย์

         รูปธรรมชัดๆคือ การต่อสู้ระหว่าง พรรคเพื่อไทย กับพรรคมวลมหาประชาชน ในสมรภูมิเลือกตั้งครั้งใหม่

          การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้ายของคนหนุ่มสาวเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้ว และอาจจะเป็นอรุณรุ่งของคนรุ่นใหม่ ที่จะพลิกโฉมการเมืองไทยให้พ้นไปจาก “สังคมขั้วสี” 

          แต่หากโชคร้าย คนรุ่นใหม่ยังทำงานการเมืองแบบ 2.0 ก็เป็นเคราะห์กรรมของประเทศไทยอีกหน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ