คอลัมนิสต์

ค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้าน...รัฐรอดจ่าย?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยังต้องลุ้นกันต่อไป...สำหรับค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้าน ว่ารัฐจะรอดตัวจากการต้องจ่ายเงินให้กับเอกชนหรือไม่..ศาลอื่นอาจมองต่างมุมศาลปกครองกลางก็ได้

          “คดีคลองด่าน” ที่ศาลปกครองกลางเพิ่งพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดก่อนหน้านี้มีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินกว่า 9 พันล้านบาท ตามสัญญาโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ให้กับกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรวม 6 บริษัท จนคณะรัฐมนตรี ต้องมีมติอนุมัติงบกลางเพื่อชำระเงินกว่า 9 พันล้านบาทให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า  เอ็นวีพีเอสเคจี โดยแบ่งชำระเป็น 3 งวด

        เหตุที่ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในครั้งนี้ เนื่องจากหลังจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาบังคับให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินกว่า 9 พันล้านบาทตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กรมควบคุมมลพิษได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างถึงคำพิพากษาของ 3 ศาล คือ

        1.คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง ที่พิพากษา จำคุก 10 ปี นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ที่ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับคลองสาธารณประโยชน์และที่เทขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้าม นำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษ เพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

         2.คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิตในคดีฉ้อโกง ที่กรมควบคุมมลพิษ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กรรมการกลุ่มบริษัทเอกชนและนายวัฒนา อัศวเหม  มีการแบ่งหน้าที่กันทำ กลุ่มหนึ่งเป็นผู้รวบรวมที่ดินนำมาขายให้แก่กรมควบคุมมลพิษ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ก่อสร้างโครงการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน โดยทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวออกโฉนดโดยมิชอบแล้วนำมาขายให้กับกรมควบคุมมลพิษใช้ก่อสร้างโครงบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มีเจตนาทำให้กรมควบคุมมลพิษ ได้รับความเสียหาย นำผลประโยชน์ไปแบ่งปันกัน และศาลแขวงดุสิต พิพากษาจำคุกกรรมการกลุ่มบริษัทเอกชนและนายวัฒนา คนละ 3 ปี และปรับบริษัทเอกชนรายละ 6,000 บาท

        3.คำพิพากษาของศาลอาญา ที่พิพากษาจำคุกคนละ 20 ปี  นายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ,นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์พิบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา  อดีตผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ ฐานเอื้อประโยชน์กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี ผู้ก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน

         ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วจึงเห็นว่า มีการเอื้อประโยชน์ สมรู้ร่วมคิด ไม่ตรงไปตรงมา กระบวนการทำสัญญาไม่ชอบ สัญญาโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย จึงเกิดขึ้นโดยมิชอบ ดังนั้นการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจากสัญญาที่มีกระบวนการที่มิชอบจึงขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินกว่า 9 พันล้านบาทให้แก่กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี 

        ทำไมศาลปกครองใหญ่กว่าอนุญาโตตุลาการ

         ก็เพราะว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่มีสภาพบังคับได้เอง คู่สัญญาจึงต้องมาพึ่งศาลในกรณีที่ไม่มีการยอมรับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีทั้งมายื่นฟ้องให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและยื่นฟ้องให้คำบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ  

         ดังนั้นการนำคดีขึ้นสู่ศาล แม้ว่าจะมีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้วจึงเป็นเรื่องปกติ ที่ผ่านมาก็มีคดีแบบนี้ขึ้นสู่ศาลปกครองมาแล้วหลายคดี

         สำหรับคดีนี้ต่อจากนี้ไปก็ต้องรอดูว่า ทางกลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี  จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน หรือไม่ เพราะหากไม่มีการอุทธรณ์ คดีจึงจะถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ทำให้กรมควบคุมมลพิษ ไม่ต้องชำระเงิน 9 พันกว่าล้านบาทตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ

         แต่ถ้ากลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี  ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง (ซึ่งน่าเชื่อว่าคงยื่นอุทธรณ์ เพราะเงินเกือบหมื่นล้านบาท คงไม่มีใครยอมให้หลุดมือไปง่ายๆ) ยังมีสิทธิลุ้นหรือไม่

       คดีนี้ ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ  โดยมองในมุมของการขัดต่อความสงบเรียบร้อย เนื่องจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เป็นการบังคับตามสัญญาที่มีกระบวนการที่มิชอบ ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของศาลปกครองกลาง  

        แต่ยังมีอีกมุมหนึ่ง ที่อาจมองได้เช่นกันว่า การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน  กระทบต่อการลงทุนในประเทศไทยได้ เพราะการทำสัญญาทางธุรกิจมักใช้ระบบอนุญาโตตุลาการกัน ซึ่งศาลเองก็คำนึงถึงประเด็นนี้เช่นกัน เพียงแต่ว่าจะให้น้ำหนักในทางไหนมากกว่ากันระหว่างการกระทบต่อการลงทุนและการขัดต่อความสงบเรียบร้อย โดยศาลปกครองกลาง ตีความกฎหมายอย่างเครงครัดว่า เมื่อขัดต่อความสงบเรียบร้อย ก็ให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 

      “ แต่ศาลอื่นอาจชั่งน้ำหนักแล้วให้ความสำคัญกับการที่จะเกิดการกระทบต่อการลงทุนหากเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการมากกว่าในเรื่องการขัดต่อความสงบเรียบร้อยก็ได้ ” 

       ส่วนกรณีถ้าหากศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลชั้นต้น เพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ  คดีถึงที่สุด ในส่วนของเงินที่กรมควบคุมมลพิษ ได้จ่ายให้กับกลุ่มกิจร่วมค้าฯไปแล้ว 2 งวด รวมกว่า 5 พันล้านบาท กรมควบคุมมลพิษ ก็ต้องเรียกร้องคืนจากกลุ่มกิจการร่วมค้าฯหากทางกลุ่มกิจการร่วมค้าฯไม่ยอมคืนให้ กรมควบคุมมลพิษ ก็ต้องยื่นฟ้องต่อศาลเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนต่อไป

       สำหรับเรื่องค่าโง่ ที่ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลให้กับเอกชนนั้น ที่ผ่านมามีหลายคดี ไม่ว่าจะเป็น ค่าโง่ดอนเมืองโทลล์เวย์ จำนวน 1,500 ล้านบาท,ค่าโง่โครงการโฮปเวลล์  จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท , ค่าโง่จีที200 นับพันล้าน และค่าโง่อื่นๆอีกหลายโครงการ

      “ค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้าน” จะซ้ำรอยโครงการอื่นที่รัฐต้องเสียเงินให้กับเอกชนหรือไม่..ติดตามชม 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ