คอลัมนิสต์

ทำไม “สัตว์หายาก” 1,300 ชนิด ..ไม่ห้ามทรมาน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดประเด็นสวนสัตว์ทั่วไทย แหล่งกักขังทรมานสัตว์สุดๆ! : โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ


          คดีล่าเสือดำ ถลกหนังเอาหางต้มน้ำซุปของนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เริ่มร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจถึงระดับกลายเป็นไฟร้อนลนก้นข้าราชการเช้าชามเย็นชามจากหลายหน่วยงาน...

          ช่วงนี้ “กรมปศุสัตว์” ค่อนข้างโด่งดังในสื่อสังคมออนไลน์ เพราะโดนชาวเน็ตรุมกระหน่ำซ้ำเติม หลังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถอนแจ้งข้อหา “ทารุณกรรมสัตว์” นายเปรมชัยและพวก เพราะไม่เข้าข่ายข้อกฎหมาย โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกมาชี้ประเด็นว่า กรมปศุสัตว์ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพิกเฉยละเลยไม่รีบออกประกาศครอบคลุมสัตว์ป่าโดยเฉพาะสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง ทำให้นายเปรมชัยรอดข้อหานี้ไปได้

 

ทำไม “สัตว์หายาก” 1,300 ชนิด ..ไม่ห้ามทรมาน?

 

          สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยมีสัตว์คุ้มครอง 2 ชนิดได้แก่
  
          สัตว์ป่าสงวน หมายถึง สัตว์หายากสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หรืออาจสูญพันธุ์ไปแล้วในประเทศไทย มี 19 ชนิด เช่น แรด กระซู่ กูปรี ละอง สมัน เลียงผา นกแต้วแร้วท้องดำ ฯลฯ

          สัตว์ป่าคุ้มครอง หมายถึง สัตว์ป่าที่มีชื่ออยู่ในบัญชีแนบท้ายกฎหมาย ปัจจุบันมีประมาณ 1,300 ชนิด แบ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด แมลง 20 ชนิด ปลา 14 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ 12 ชนิด

 

ทำไม “สัตว์หายาก” 1,300 ชนิด ..ไม่ห้ามทรมาน?

 

          หมายความว่าสัตว์อื่นๆ นอกจาก 1,300 กว่าชนิดนี้ ที่ไม่อยู่ในบัญชีสามารถโดน “ทรมาน” ได้ใช่หรือไม่ ?

          ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) กว่า 90 องค์กรที่ผลักดันและร่วมร่างกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่ต้น ยอมรับว่าตอนนี้กระแสสังคมกำลังสงสัยว่า "ทำไมการล่าและการฆ่าสัตว์ป่าหรือสัตว์อื่นๆ จึงไม่ผิดกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ ?"

 

ทำไม “สัตว์หายาก” 1,300 ชนิด ..ไม่ห้ามทรมาน?



          คำถามนี้อธิบายได้ว่า “การฆ่า” หรือ “การล่า” ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 กับ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557 มีความหมายแตกต่างกัน การ “ฆ่า” สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองถือเป็นการ “ล่า” ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ รวมถึง “เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า” หรือกระทำด้วยประการอื่นใด แก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และ “การไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อ” ด้วย

          ส่วน พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ กำหนดว่า การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดที่จะทำให้สัตว์ได้รับ ความทุกข์ทรมานไม่ว่าร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือทำให้ตาย รวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชรา หรือสัตว์กำลังตั้งท้อง เพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควร หรือใช้ให้ทำงานอันไม่เหมาะสมกับสัตว์นั้น

 

ทำไม “สัตว์หายาก” 1,300 ชนิด ..ไม่ห้ามทรมาน?

 

          "จากนิยามทารุณสัตว์ยังไม่ครอบคลุมสัตว์ป่า หรือสัตว์ในธรรมชาติ เน้นไปที่สัตว์เลี้ยงมากกว่า ในอนาคตควรกำหนดให้คุ้มครอง “สัตว์ทุกประเภท” รวมถึงสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์ปีก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน และแมลง หมายความว่าต่อไปนี้ใครจะทำทารุณสัตว์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทไหนก็ตาม แต่ข้อเสีย คือปฏิบัติได้ยากมาก โดยเฉพาะการดำเนินคดีเพราะต้องมีกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง มีคนเสนอให้กำหนดเป็นรายชนิด-รายตัว จัดทำบัญชีใหม่หรือเอาบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครองที่มีอยู่มาใช้ได้เลย แต่ข้อเสียอาจไม่คุ้มครองสัตว์บางประเภท ต้องมีการออกประกาศบ่อยๆ"

          ดร.สาธิต แสดงความเห็นส่วนตัวว่า 1.อยากให้มีกำหนดหลักทั่วไปก่อนและค่อยกำหนดชนิด ประเภทของสัตว์ เพื่อความชัดเจน และกระทบสิทธิเสรีภาพการใช้ชีวิตของประชาชนให้น้อยที่สุด 2.ไม่อยากให้เอารายชื่อสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองมาประกาศใช้ทั้งหมด เพราะในบัญชีมีทั้งกัลปังหา ดอกไม้ทะเล และอื่นๆ นอกจากนี้ นกหรือสัตว์บางชนิด ไม่ได้อยู่ในบัญชี อาจไม่ได้รับการคุ้มครองไปด้วย

 

ทำไม “สัตว์หายาก” 1,300 ชนิด ..ไม่ห้ามทรมาน?



          “ผมขอให้กำลังใจคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมฯ ที่จะพิจารณาออกประกาศให้ครอบคลุมสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ขอให้ทำด้วยความละเอียดรอบคอบ บนพื้นฐานหลักวิชาการและผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน” ดร.สาธิตกล่าว

          นอกจากประเด็นเรื่องความหมายหรือ “นิยาม” ที่ทำให้นายเปรมชัยรอดพ้นข้อหาทรมานสัตว์ไปแล้ว ยังมีประเด็นความหนัก-เบาของ “บทลงโทษ”..

          ตามหลักการสากลแล้ว หากใครทำผิดกฎหมายหลายบท ให้ใช้บทที่ลงโทษหนักสุด “พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ” กำหนดโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 4 ปีปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท ส่วน “พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ฯ” โทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท

 

ทำไม “สัตว์หายาก” 1,300 ชนิด ..ไม่ห้ามทรมาน?



          กรณีของแก๊งอาเสี่ยกินซุปหมีจึงต้องตามเป็นไปตามกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักกว่า

          “สุรพล ดวงแข” อดีตคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ หนึ่งในคณะกรรมาธิการผลักดันกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ตั้งแต่เริ่มแรกคลอดเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว อธิบายให้ฟังว่า ช่วงแรกมีแนวคิดรวมสัตว์ป่าเข้าไปด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแย้งมาว่า กฎหมายสัตว์สงวนมีบทลงโทษเรื่องนี้อยู่แล้ว และหนักกว่าด้วย เพียงแต่ไม่มีคำว่า “ทรมาน” เท่านั้น แต่มีคำว่า ไล่ ล่า จับ ขัง ค้า ฯลฯ ซึ่งความหมายคล้ายคลึงกันมาก

          "ตอนนั้นผมก็ไม่ยอม เพราะอยากให้รวมสัตว์ป่าไปด้วย ไม่ใช่เฉพาะสัตว์เลี้ยง หมา แมว ในที่สุดมีการต่อในวรรคสุดท้ายให้รวมถึง สัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศและมอบหมายให้กรมปศุสัตว์ทำงานควบคู่กับกรมอุทยานฯ แต่ก็ล่าช้ากันมาหลายปี แต่เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้จัดประชุมเร่งด่วนแล้ว คิดว่าอีกไม่กี่วันนี้จะมีการประกาศรายชื่อเพิ่มเติมว่าจะคุ้มครองสัตว์อะไรเพิ่มเติมบ้าง แต่ที่ผมเป็นห่วงมากสุดคือ สัตว์ที่ถูกขังอยู่ในกรงของสวนสัตว์ทั่วประเทศไทย ตอนนี้ไม่มีกฎหมายป้องกันทารุณยังไม่ครอบคลุม ทั้งที่เป็นสถานที่กักขังและทรมานสัตว์สุดๆ ตรงนี้สังคมต้องช่วยกันดูแล เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่ถูกรวมอยู่ในสัตว์ป่า สัตว์ในธรรมชาติ สัตว์เลี้ยง และสัตว์ไม่มีเจ้าของ"

 

ทำไม “สัตว์หายาก” 1,300 ชนิด ..ไม่ห้ามทรมาน?

 

          สุรพลกล่าววิเคราะห์ทิ้งท้ายว่า คดีของนายเปรมชัยนั้น ตอนนี้เงียบมาก เชื่อว่าต้องมีการจ้างทีมทนายที่เก่งๆ ของประเทศไทยมาจัดการดูแลว่าความให้ เพราะฉะนั้นฝ่ายอัยการต้องเตรียมพร้อมและเตรียมตัวให้ดี ไม่แน่ใจว่ามีอัยการผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่าฯ หรือไม่ หากเริ่มต้นซักค้านไม่ดีไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องอาจเสียรูปคดีได้

          ล่าสุดวันที่ 25 กุมภาพันธ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกหนังสือชี้แจงว่า กรมปศุสัตว์จะเร่งประชุมคณะกรรมการเพื่อให้ได้ข้อสรุปนิยามของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 มีนาคม 2561

          จากข้อมูลข้างต้นสรุปได้ว่า ความกำกวมของ “นิยาม” และความหนักเบาของ “บทลงโทษ” ทำให้นายเปรมชัยหลุดพ้นจากกฎหมายทรมานสัตว์ฯ ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังมีอีกอย่างน้อยเกือบ 10 ข้อหา รวมถึงล่าสุดข้อหาปืนเถื่อน..

 

ทำไม “สัตว์หายาก” 1,300 ชนิด ..ไม่ห้ามทรมาน?

 

          ประชาชนชาวไทยและชาวโลกต้องช่วยกันเฝ้าติดตาม.. “คดีเสี่ยล่าเสือ” อย่างใกล้ชิด เพราะสุดท้ายคำตัดสินอาจพลิกล็อก กลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ได้ เพราะนี่ไม่ใช่แค่ เศรษฐีอยากโด๊ปซุปหางเสือเท่านั้น

          แต่คือการแสดงให้เห็นถึง “ความยุติธรรม” เพื่อตอบแทนบุญคุณ “สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ” ที่หล่อเลี้ยงมนุษย์มานานแสนนาน !?!
 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ