คอลัมนิสต์

“โบว์ ณัฏฐา” จากสาวอักษร สู่ “นักเคลื่อนไหวทางการเมือง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา เราได้เห็นนักสู้หน้าใหม่ๆขึ้นมาทุกครั้ง และครั้งนี้ก็เช่นกันที่มีคนรุ่นใหม่ก้าวมาอยู่แถวหน้า "โบว์ ณัฏฐา" เธอคือใคร?

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เริ่มเข้มข้นขึ้นในขณะนี้  เราเริ่มเห็นนักเคลื่อนไหวหน้าใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ และหนึ่งในหน้าใหม่ที่ก้าวมาอยู่แถวหน้าจนได้รับความสนใจว่าเธอเป็นใคร ทั้งท่วงทำนองในการทำกิจกรรมที่ไม่ก้าวร้าวแต่หนักแน่น และด้วยหน้าตาที่สะสวย ทำให้เธอตกเป็นเป้าความสนใจของหลายฝ่ายในขณะนี้ 

 “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา คือชื่อของเธอ ปัจจุบันอายุ 39 ปี  เธอเล่าว่าพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ ครอบครัวเป็นคนชั้นกลาง  จบการศึกษามัธยมต้นจากโรงเรียนสาธิตปทุมวัน  มัธยมปลายที่เตรียมอุดมศึกษา ก่อนจะก้าวตามสเต็ป เอนทรานซ์เข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ 

“สมัยเรียนก็ไม่ใช่เด็กกิจกรรมอะไรเลย มีออกค่ายอะไรยังไม่เคยไป พอจบมาสมัครงานเหมือนเด็กอักษรทั่วไป ไปอยู่ในองค์กรทำงานฝ่ายต่างประเทศ ฝ่ายสื่อมวลชน ฝ่ายสื่อสารองค์กร เคยเป็นพิธีกรอิสระ และปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เป็นวิทยากรเกี่ยวกับงานฝึกอบรมด้านบุคคลิภาพ ด้านการตลาด”

  เธอบอกว่า จากเด็กจนโตพื้นฐานเธอไม่ได้มีความสนใจเรื่องการเมืองเลยแม้แต่น้อย ขณะที่ครอบครัวก็ดูจะมีแต่พ่อของเธอเท่านั้นที่สนใจการเมือง 

สำหรับจุดเปลี่ยนที่หันเหมาเริ่มสนใจการเมืองคือเมื่อมีการรัฐประหารปี 2549 เธอรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง และเข้มข้นที่สุดหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 ที่เธอมองว่ามีคนที่ถูกละเมิดสิทธิมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นแรงผลักให้เธอเริ่มออกมาทำกิจกรรมต่างๆ โดยการชักชวนของ ทนายอานนท์ นำภา ซึ่งเป็นหนึ่งในนักกิจกรรม และได้จัดกิจกรรม “เปิดหมวกช่วยนักโทษการเมือง” เธอจึงไปช่วยเล่นดนตรี คือตีขิม ที่ถนนข้าวสาร เป็นจุดเริ่มต้นในการเคลื่อนไหวครั้งแรกของเธอ 

 “โบว์ ณัฏฐา” จากสาวอักษร  สู่ “นักเคลื่อนไหวทางการเมือง”

“จากนั้นก็ทำกิจกรรมไปเรียกร้องสิทธิให้ ไผ่ ดาวดิน และต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ตำรวจยกให้เป็นแกนนำ mbk39 จากผู้ร่วมกิจกรรมตัวเล็กๆ จะรู้จักเฉพาะในกลุ่มนักกิจกรรมเท่านั้น คนก็เริ่มรู้จักมากขึ้นในนามแกนนำ “mbk39” เพราะถูกตั้งข้อหาว่าเป็นแกนนำ” 

พอโดนตั้งข้อหาคนเริ่มสนใจเธอ เพราะเธอแอ็กชั่นเข้มข้นขึ้น ทั้งเรื่องการสื่อสาร ร้องเรียนที่ต่างๆ การแถลงเองในศาล การประกาศว่าจะไม่ประกันตัวทำให้ตอนนี้หากเธอไปตามสถานที่ต่างๆ ก็จะมีคนเข้ามาให้กำลังใจมากขึ้น คนรู้จักมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกว่า 

“ดีใจที่การรับรู้อยู่ในวงกว้าง ถ้าคนอยากจะต่อสู้กับอะไรบางอย่าง ต้องดีใจที่มีการสนใจเกิดขึ้น อาจจะทำให้รู้สึกแปลกไปบ้าง แต่ตอบโจทย์เป้าหมายสิ่งที่เราทำ” 

แน่นอนว่าเมื่อออกมาเคลื่อนไหวภาพที่ออกมาย่อมถูกมองว่าเป็นเสื้อแดงหรือเปล่า  “โบว์” ยืนยันว่า ตอนชุมนุมเสื้อแดงยังไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองและไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองเลยด้วยซ้ำ แต่คงหนีไม่พ้นที่คนจะคิดอย่างนั้น แต่ตัวเธอกลับมองว่า “ไม่ว่ากลุ่มไหน เสื้อสีอะไร หากข้อเรียกร้องของเขายังอยู่ในหลักของประชาธิปไตย เราก็มีความโน้มเอียงที่จะสนับสนุน ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำ แต่เราสนับสนุนเป้าหมายของเขา” 

“โบว์” ระบุว่าเป้าหมายการเคลื่อนไหนของเธอคือ “สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” อยากให้สังคมมีค่านิยมประชาธิปไตยบนหลักการที่เท่ากัน ทุกคนมีสิทธิมีเสียงในความต้องการ ทุกคนได้รับการดูแลด้วยการประสานประโยชน์ เพราะการที่รัฐและคนในสังคมเคารพในสิทธิมนุษยชน เคารพในความแตกต่างหลากหลาย 

มันคือ “ระบบแห่งความรัก” เพราะการที่คนเราจะเคารพสิทธิ เคารพความเห็นกัน ต้องมีความปรารถนาดีต่อกัน คือความรักรูปแบบหนึ่ง นั่นคือปลายทาง 

 “โบว์ ณัฏฐา” จากสาวอักษร  สู่ “นักเคลื่อนไหวทางการเมือง”

รากวัฒนธรรมไทยไม่ใช่ประชาธิปไตยอยู่แล้วแต่นั่นคือรุ่นที่ผ่านมา คนเราเกิดใหม่ทุกวัน เวลาคนเราเกิดใหม่ คนรุ่นใหม่อย่างเราจะอยู่ในบริบทของโลกใหม่ ที่มีอินเทอร์เน็ต มีโซเชียล คนรุ่นใหม่ในโลกใหม่ก็จะเลือกเองว่าอยากจะเป็นอย่างไร แม้รากวัฒนธรรมเราแทบจะตรงข้ามกับความเป็นประชาธิไตย มีผู้ใหญ่ ผู้น้อย ไม่เคยมีคำว่าคนเท่ากันอยู่ในประเทศนี้ คนเกิดขึ้นอยู่ในโลกใหม่ค่านิยมก็เปลี่ยนได้ สังคมไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นับจากวันนี้เราจึงอยากเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ใครที่ยังติดอยู่กับความคุ้นชินเดิมๆ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดและมองแบบใหม่ ว่า “คนรุ่นใหม่เกิดย่อมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” 

เรื่องนี้ไมได้วัดที่จำนวนคน แต่ทุกองคาพยพร่วมมือกัน การขับเคลื่อนทางสังคมที่ชัดเจนและมีเป้าหมายที่ดี จะใหญ่ขึ้นอยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้ใหญ่ขึ้นที่จำนวนคนบนถนน แต่ใหญ่ขึ้นที่ความกระตือรือร้นของสื่อ ใหญ่ขึ้นที่การแสดงความเห็นบนโซเชียล ใหญ่ขึ้นที่การออกมาร่วมกิจกรรม ทุกองคาพยพต่างลงแรงจนเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด ทั้งศาล บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม สื่อ คนในสังคม นักวิชาการ จะใหญ่ขึ้นในลักษณะนี้ ไม่จำเป็นว่าใหญ่แบบคนกี่พันต้องมาอยู่บนถนน

ส่วนที่การเคลื่อนไหวในช่วงนี้คนไม่ค่อยกล้าออกมา  “โบว์” มองว่าเพราะคนกลัวสิ่งที่เราเผชิญ ไม่ใช่ถูกดุแต่เป็นการถูกปืนจ่อหัว เพราะอำนาจเผด็จการ คืออำนาจปืน และผู้คนตื่นตระหนกในคำว่า “ชุมนุม” เนื่องจากติดภาพเดิมว่าต้องมีการด่า มีความรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งอยากให้คิดใหม่ว่า ภาพมันเปลี่ยน ไม่จำเป็นต้องไปจบที่จุดเดิม เป็นความขัดแย้งที่สร้างสรรค์ได้ อยากให้คนมีจิตนาการใหม่ละทิ้งความคุ้นชินเดิม 

“การเคลื่อนไหวคนรุ่นนี้ต่างจากที่สังคมไทยคุ้นชินอย่างสิ้นเชิง มีความเป็นธรรมชาติความปัจเจกสูงมาก มีข้อดีข้อเสีย ข้อเสียคือคนมองว่าไม่มีการจัดตั้งแล้วจะประสบความสำเร็จได้ยังไง ไม่เข้มแข็งหรือเปล่า แต่ข้อดีคือ เป็นอิสระจริง อิสระจากทุกสิ่ง ไม่มีท่อน้ำเลี้ยง มันไม่มี คือไม่มี เป็นธรรมชาติ อาจจะมั่วๆ นิดนึง แต่คือธรรมชาติของการเคลื่อนไหว” 

“โบว์” เล่าอีกว่า จากคนธรรมดาจนมีคดีติดตัว ไม่คิดว่าเวลานี้จะมาถึงเร็วขนาดนี้ แต่เมื่ออยู่วงกิจกรรมมาก็จะเห็นคนอื่นถูกดำเนินคดีมาก่อนเลยทำให้ไม่ได้ตื่นเต้นมากขนาดนั้น ถ้าคนที่ไม่เคยไปเยี่ยมใครที่คุกเลย ไม่เคยรู้จักเพื่อนที่โดนดำเนินคดีมาก่อนเลยก็จะตกใจ แต่เนื่องจากเคยไปเยี่ยม คนรอบตัวเรามีคดีเยอะแยะ ก็ต่อสู้กันได้ยาวๆ และโดยเฉพาะคดี ม.116 เรามีรายละเอียดอ่านกฎหมายทีละคำ จึงไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย

“งงตัวเองเหมือนกันออกมาอยู่แถวหน้าได้อย่างไร เพราะไม่มีใครจริงๆ ถ้ามีคนทำเราก็กลับไปใช้ชีวิตปกติ”

---

สัมภาษณ์พิเศษ โดย  โอฬาร เลิศรัตนดำรงกุล

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ