คอลัมนิสต์

“คดี 13 เด็กอุ้มบุญ”...ข้อกังขา?เลี้ยงทำสเต็มเซลล์  

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“คดี 13 เด็กอุ้มบุญ”...ข้อกังขา?เลี้ยงทำสเต็มเซลล์ :  ทีมข่าวรายงานพิเศษ


          เครือข่ายคุ้มครองสิทธิเด็กต่างตกตะลึง ! หลังคำพิพากษาคดี “13 เด็กอุ้มบุญ” เผยแพร่ออกมาว่าหนุ่มญี่ปุ่นเจ้าของน้ำเชื้อได้อำนาจเด็ดขาดในการดูแลเด็กทั้งหมด...ทั้งที่พฤติกรรมตั้งแต่แรกของหนุ่มคนนี้มีลักษณะผิดปกติ ไม่น่าจะเป็นเหมือนคนทั่วไปที่อยากมีลูกไว้สานสัมพันธ์ในครอบครัว..

          โดยเฉพาะข้อกังขาว่า การจ้างผู้หญิงไทยมาท้องเด็กสิบกว่าคนพร้อมๆ กันนั้น อาจเป็นกลุ่มแก๊งค้ามนุษย์ หรือมีอาการจิตใจไม่ค่อยปกติ รวมถึงหวังใช้อวัยวะเด็กเพื่อตัวเองในอนาคต ฯลฯ

          ความเป็นมาของเรื่องราวที่โด่งดังไปทั่วโลกนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 เมื่อ นายมิตซูโตกิ ชิเกตะ ลูกมหาเศรษฐีวัย 24 ปีชาวญี่ปุ่นเดินทางไปทั่วเอเชีย เพื่อจ้างวานหญิงสาวมาฉีด “สเปิร์ม” แล้วอุ้มท้องให้จนคลอด หรือที่เรียกว่า “แม่อุ้มบุญ” เฉพาะที่เมืองไทยในปี 2557 มีเด็ก 13 คนเกิดจากแม่ 11 คน เพราะมีเด็กฝาแฝดด้วย

          จากการสืบสวนของตำรวจสากลพบว่า นายชิเกตะติดต่อเอเย่นต์จ้างหญิงอุ้มบุญที่กัมพูชา เวียดนาม และอินเดีย หรือในประเทศอื่นๆ อีก คาดว่าอาจมีเด็กอีกถึง 30 กว่าคนที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการอุ้มบุญของเด็กไทยกลุ่มนี้

          ในเมื่อรูปคดีดูเหมือนหนุ่มชิเกตะไม่น่าจะมีพฤติกรรมปกติเท่าไรนัก แต่ทำไมคำพิพากษาจึงยกเด็กทั้งหมดให้อยู่ในการดูแลเป็นสิทธิขาดของเขาแต่เพียงผู้เดียว ?

          สืบเนื่องจาก การฟ้องคดีอุ้มบุญนี้ ผู้ที่ยื่นฟ้อง “ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง” คือนายชิเกตะ เพื่อร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้เยาว์ทั้ง 13 คน เกิดจากการตั้งครรภ์แทนโดยมารดาชาวไทย และเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชิเกตะ

          เมื่อตรวจดูพยานหลักฐานทั้งหมดพร้อมพิสูจน์ดีเอ็นเอ พบว่า เขาเป็นพ่อของเด็กทั้ง 13 คนจริง ซึ่งคดีนี้เกิดขึ้นก่อนกฎหมายใหม่บังคับใช้ นั่นคือ "พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558" ดังนั้น นายชิเกตะจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้เยาว์ ทั้ง 13 คน เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตัวเอง

 

“คดี 13 เด็กอุ้มบุญ”...ข้อกังขา?เลี้ยงทำสเต็มเซลล์  

 

          ระหว่างการรอพิสูจน์หลักฐานในชั้นศาลนั้น เด็กทั้งหมดอยู่ในการดูแลของสถานสงเคราะห์เด็กอ่อนปากเกร็ด และสถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์ ซึ่งนายชิเกตะได้ส่งตัวแทนเข้ามาเยี่ยมเยียนเด็กๆ ตลอด พร้อมยื่นหลักฐานว่าเขาเตรียมทรัพย์สินสมบัติและลู่ทางการศึกษาให้ลูกๆ ทั้ง 13 คนเป็นอย่างดี

          เช่น เปิดบัญชีกองทุนให้เด็กทั้งหมดที่ประเทศสิงคโปร์, เตรียมสถานที่อุปการะเลี้ยงดูในญี่ปุ่น พร้อมจ้างพยาบาลวิชาชีพและพี่เลี้ยงเด็ก, วางแผนส่งเข้าศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติ, ซื้อที่ดินและกำลังก่อสร้างที่พักอาศัยใกล้สวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางกรุงโตเกียวให้เด็กๆ เรียบร้อยแล้ว พร้อมยกตัวอย่างเด็กอุ้มบุญจากกัมพูชาที่ถูกนำกลับไปเลี้ยงดูที่ญี่ปุ่นอย่างดี พร้อมให้เหตุผลที่อยากมีลูกหลายคนเพราะอยากให้ช่วยสานต่อธุรกิจของครอบครัว

          มีการเปิดเผยเอกสารสถานะทางการเงินของนายชิเกตะ พบทรัพย์สินต่างๆ มูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท เฉพาะเงินปันผลจากบริษัทของบิดาก็ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท เนื่องจากบิดาเป็นประธานบริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีชื่อเสียงของประเทศญี่ปุ่น

          เมื่อสามารถพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่า ตัวเองเป็นพ่อเด็กจริง ดีเอ็นเอตรงกัน และมีทรัพย์สินมากพอที่จะเลี้ยงดูเด็กทุกอย่างเป็นอย่างดี ดังนั้น คำพิพากษาของศาลจึงระบุให้นายชิเกตะซึ่งเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้เยาว์ทั้ง 13 คนถือกำเนิดมา รับผิดชอบในการอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ พร้อมคำอธิบายว่า

          “เมื่อคำนึงถึงความผาสุก สวัสดิภาพและโอกาสของผู้เยาว์ทั้ง 13 คนอันพึงจะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดาที่แท้จริงที่ย่อมต้องมีความรักใคร่ผูกพันต่อบุตรโดยสายเลือดของตนเองและเป็นผู้มีความใกล้ชิดกับผู้เยาว์มากที่สุด โดยที่ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีความประพฤติบกพร่องเสียหายประการใด” เมื่อหลักฐานครบถ้วนทุกอย่าง ทำไมเครือข่ายสิทธิเด็กถึงกับ “ช็อก”

          “สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์” ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญสิทธิเด็ก ยอมรับว่าไม่คาดคิดมาก่อนว่าคดีนี้จะไม่มีตัวแทนจากหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เข้าไปยื่นคัดค้าน

          “เหตุผลที่ต้องยื่นคัดค้านเพราะดูจากพฤติกรรมของหนุ่มญี่ปุ่นคนนี้มีความผิดปกติแน่นอน เพราะใครจะอยากมีลูกพร้อมๆ กันทีเดียวหลายสิบคน ตามหลักสิทธิเด็ก พ่อแม่ต้องมีความสามารถในการให้ความอบอุ่นและดูแลลูกได้อย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่มีเงินแล้วจะเลี้ยงลูกได้ดี แม้ว่าจะไม่มีลักษณะของการค้ามนุษย์ แต่พวกเราเป็นห่วงว่า เขาอยากได้เด็กเพราะจะเอาไปทดลองวิทยาศาสตร์บางอย่าง หรือเลี้ยงเอาไว้สำหรับอนาคตนำไปปลูกถ่ายสเต็มเซลล์หรือเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เพราะฉะนั้นเครือข่ายคุ้มครองเด็กจะรวมตัวกันเพื่อหาวิธีให้เด็กๆ เหล่านี้ได้รับการคุ้มครองดูแลอย่างดีที่สุด”

          นายสรรพสิทธิ์ กล่าวต่อว่า คดีนี้ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ เพราะเป็นการยื่นคำร้องฝ่ายเดียว อาจต้องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เนื้อหาใน "พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546" ยื่นคำร้องขอคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามหลักประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็ก ด้วยเหตุผล 3 ข้อคือ 1.การกระทำของนายชิเกตะเป็นความผิดตามประกาศของแพทยสภา ที่ประกาศให้แพทย์ทำอุ้มบุญเฉพาะคู่สมรส ต้องไม่จ้างหญิงอื่นตั้งครรภ์แทนหรือไม่ให้ทำการค้า

 

“คดี 13 เด็กอุ้มบุญ”...ข้อกังขา?เลี้ยงทำสเต็มเซลล์  


          2.เป็นการกระทำที่ขัดต่อ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก” รวมถึงพิธีสารเลือกรับ เรื่องการขายเด็ก การค้าประเวณีเด็ก และสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก (The Optional Protocol on the Sale of Children, Child Prostitution and Child Pornography) เพราะหลักการนี้ห้ามซื้อขายเด็ก การจ้างผู้หญิงมาอุ้มบุญเด็กพร้อมกัน 13 คนนั้น เป็นการจ้างคลอดแล้วจ่ายเงิน มีเงื่อนไขไม่ให้แม่ยุ่งด้วยในอนาคต ลักษณะแบบนี้คล้ายสร้างฟาร์มโคนมหรือฟาร์มเพาะพันธุ์เด็ก มากกว่าสร้างครอบครัวที่หวังให้พ่อแม่ดูแลลูกๆ อย่างใกล้ชิด

          "ทางออกที่ดีสุดตอนนี้คือให้ พม.ยื่นร้องคัดค้านไม่ให้ยกเด็กทั้ง 13 คนไปเป็นสิทธิเด็ดขาดของนายชิเกตะ ด้วยการใช้มาตรา 28 ของกฎหมายคุ้มครองเด็ก ที่ระบุว่าผู้ปกครองต้องสามารถอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้เหมือนครอบครัวปกติ เมื่อยื่นคัดค้านแล้วก็ดำเนินการติดต่อรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อหาหน่วยงานมารับตัวเด็กไปหาครอบครัวทดแทน เพราะตอนนี้เด็กกำลังจะได้สัญชาติญี่ปุ่นแล้วตามสายเลือด อยากให้รัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาช่วยดูแลเด็กทั้งหมดอย่างใกล้ชิด รัฐบาลไทยคงยุ่งอะไรไม่ได้มากนัก" ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิเด็กกล่าวแนะนำ

          วินาทีนี้...ไม่มีใครกำหนดรู้ได้ว่า “อนาคต” ของเด็กทั้ง 13 คนนี้จะเป็นอย่างไร ?

           บางฝ่ายมองว่ายกให้อยู่กับครอบครัวมหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นก็ดี จบปัญหาไป เพราะเด็กมีสายเลือดตามพ่ออยู่แล้ว แต่อีกฝ่ายยังคง “คาใจ” ว่า ครอบครัวคนปกติทั่วไปจะอยากได้เด็กอายุเท่าๆ กัน 10-30 คนภายในเวลาเดียวกันไปทำไม ข้ออ้างเรื่องไว้ช่วยดูแลบริหารธุรกิจของครอบครัว ฟังแล้วไม่ค่อยมีเหตุผลมากนัก

          หรือว่าต้องการนำไปทดลองเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีการแพทย์บางอย่าง โดยเฉพาะ “การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ” หรือเอาไปทดลอง “เทคโนโลยีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์”  !?!

          “คม ชัด ลึก” สอบถามไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด ได้รับคำอธิบายว่า การเลี้ยงเด็กหลายสิบคนพร้อมๆ กันนั้น หากมองในแง่เทคโนโลยีทางการแพทย์ มีประโยชน์ได้ 2 กรณี คือ 1.การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ปัจจุบันสามารถทำได้ทั้งหัวใจ ไต ตา ตับอ่อน ฯลฯ แต่อาจมีปัญหาเรื่องของภูมิคุ้มกันในร่างกาย ถ้ามีการเปลี่ยนอวัยวะจากสายเลือดเดียวกัน เช่น พ่อให้ลูก ลูกให้พ่อ ภูมิคุ้มกันในร่างกายมีโอกาสยอมรับได้มากกว่าอวัยวะจากผู้อื่นที่ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน

          ส่วนกรณีที่ 2 การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ อาจต้องผ่านหลายขั้นตอนเพื่อความปลอดภัย หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าใช้เซลล์ร่างกายคนในครอบครัวเดียวกันจะดีกว่า ทั้งที่จริงแล้วควรใช้ของตัวเอง ไม่ต้องใช้ของลูกหรือคนอื่นๆ ด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ตัวเองทีละน้อยไปเรื่อยๆ ปัจจุบันมีเพียงเทคโนโลยีสเต็มเซลล์รักษาโรคกระจกตาเท่านั้นที่ได้ผล ส่วนอวัยวะอื่นๆ ยังไม่มีการยืนยัน

          “ไม่แน่ใจว่าพ่อญี่ปุ่นคนนี้ต้องการอะไรกันแน่ แต่การอยากมีลูกสิบกว่าคนพร้อมกัน คงไม่ใช่คนปกติทั่วไป ถ้าคิดแง่การทดลองทางการแพทย์อาจทำได้หลายอย่าง ควรมีการติดตามเด็กกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดจนเด็กโตว่าปลอดภัยจริง ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหนก็ตาม” ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นกล่าวทิ้งท้าย

          ด้าน “วิทัศน์ เตชะบุญ” อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวถึงการส่งมอบเด็กว่า กำลังนัดหมายฝ่ายนายชิเกตะให้มาพูดคุยรายละเอียดกันในอาทิตย์หน้าว่าจะมีแผนการเลี้ยงดูเด็กๆ อย่างไรในรายละเอียดทุกอย่าง ส่วนเรื่องที่กลุ่มเอ็นจีโออยากให้นำกฎหมายคุ้มครองเด็กมาใช้นั้น คาดว่าเป็นเรื่องยากเพราะศาลสั่งให้นายชิเกตะเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเรียบร้อยแล้ว รอเพียงขั้นตอนขอสัญชาติญี่ปุ่นเท่านั้น

          วินาทีนี้เครือข่ายเอ็นจีโอคุ้มครองเด็ก กำลังร่วมมือกันขับเคลื่อนว่าจะช่วยเด็ก 13 คนนี้ได้อย่างไร และที่สำคัญคือ

          การช่วยค้นหาวิธีป้องกันไม่ให้เทคโนโลยี “อุ้มบุญ” กลายเป็นโรงงานผลิตเด็กมาตอบสนองความต้องการที่ผิดปกติของผู้ใหญ่อย่างถูกกฎหมาย !?!
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ