คอลัมนิสต์

 ม.เกษตรฯหนุนสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล“ขนคนดีกว่าขนรถ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เตรียมปลุกผี“ทางด่วน”ข้างม.เกษตรฯ หนุนสร้างรถไฟฟ้า“ขนคนดีกว่าขนรถ”

              หลังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้จัดให้มีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 เพื่อสรุปรูปแบบทางเลือกของโครงการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งข้อสรุปในวันนั้นได้มีการเสนอรูปแบบทางเลือกที่ให้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โดยมีโครงข่ายรถไฟฟ้าและระบบทางด่วนอยู่บนแนวสายทางเดียวกัน 

 ม.เกษตรฯหนุนสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล“ขนคนดีกว่าขนรถ"

           เป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี และระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนบน N2 และส่วนต่อขยายกับแนวโครงข่ายทดแทน N1 แนวคลองบางบัวและคลองบางเขน สร้างความไม่พอใจให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารและนิสิต ตลอดจนชุมชนใกล้เคียงรอบๆ มหาวิทยาลัย กระทั่งมหาวิทยาลัยโดยอธิการบดี “ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์” พร้อมผู้บริหารและนิสิตได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อยืนยันในการเสนอให้ยกเลิกโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือทั้งหมด และเห็นควรให้พิจารณาโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางขนาดเบาอย่างเดียว 

           ทั้งนี้ เพื่อลดมลภาวะที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังได้นำเสนอความเห็นบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงทางวิชาการ เพื่อประกอบการพิจารณาเชิงนโยบายให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศอย่างแท้จริงอีกด้วย 

 ม.เกษตรฯหนุนสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล“ขนคนดีกว่าขนรถ"

           “มหาวิทยาลัยขอยืนยันไม่สนับสนุนทางด่วนทุกรูปแบบเพื่ออนาคตลูกหลานชาวเกษตรและชาวชุมชนโดยรอบ อย่าคิดแค่ว่าเสียดายตอม่อ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบระยะยาว” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวยืนยันระหว่างการแถลงข่าวชาวเคยูสนับสนุนรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ณ ห้องกำพล อดุลยวิทย์ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มก. เมื่อบ่ายวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยย้อนอดีตให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เคยมีหนังสือลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 กราบเรียน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ขอยืนยันในการเสนอให้ยกเลิกโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ และเห็นควรให้พิจารณาโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางขนาดเบาทดแทน ตามข้อเสนอของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จวบจนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังไม่ได้รับทราบผลการพิจารณาของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประกอบกับนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา แต่ได้ปรากฏข่าวเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ว่าจะยังคงมีการดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและด้านตะวันตกเข้าด้วยกัน อีกทั้งจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนสายหลักอีกด้วย ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้เกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันมาอย่างต่อเนื่อง อันอาจนำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชนในชาติและความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานได้

 ม.เกษตรฯหนุนสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล“ขนคนดีกว่าขนรถ"

             อธิการบดีมก. เผยต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ได้ศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริง ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าวแล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างสูงต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและสังคม ซึ่งก่อนหน้านี้ ระหว่างวันที่ 21 กันยายน 2555 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และชุมชนต่างๆ ได้มีหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการดังกล่าวถึงการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกระทรวงคมนาคม รวม 14 ฉบับ พร้อมทั้งเสนอรูปแบบการดำเนินโครงการในรูปแบบอื่น ตลอดจนเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการก่อสร้างด้วย ซึ่งการหาแนวทางแก้ไขปัญหาการก่อสร้างโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีคำสั่งที่ 22/2556 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 แต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาการก่อสร้างโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 ที่มีผลกระทบกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” ซึ่งมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นกรรมการ ผลการประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวสรุปว่า เห็นควรยกเลิกโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ พร้อมทั้งเห็นควรให้ดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางขนาดเบาทดแทน ตามข้อเสนอของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)

           จากนั้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารกิจการภายใน ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มก. พร้อมด้วยคณาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 การศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี(บึงกุ่ม) ณ ห้องจูปีเตอร์ โรงแรมมิราเคิล จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เพื่อศึกษาทบทวนและเสนอแนะการดำเนินโครงการด้านคมนาคมขนส่งใดๆ เพื่อใช้ประโยชน์เสาตอม่อที่ก่อสร้างค้างไว้แล้วบนกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (ถ.เกษตร-นวมินทร์) เป็นการศึกษาความเหมาะสมทางวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ออกแบบเบื้องต้นและประมาณราคาค่าก่อสร้างโครงการ 

           ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาได้เสนอรูปแบบทางเลือกในการพัฒนาโครงการไว้ 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ รูปแบบที่ 1 การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน, รูปแบบที่ 2 การพัฒนาด้วยโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Coridor เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อจากตอน N2 กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9, รูปแบบที่ 3 การพัฒนาด้วยโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และส่วนต่อขยายกับแนวโครงข่ายทดแทน N1 แนวคลองบางบัวและคลองบางเขน และรูปแบบที่ 4 การพัฒนาทั้งสองระบบคือระบบขนส่งมวลชนและทางด่วนบนแนวสายเดียวกัน ซึ่งจากผลการศึกษาบริษัทที่ปรึกษาสรุปว่ารูปแบบทางเลือกที่ 4 มีความเหมาะสมที่สุด โดยระบบทางด่วนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรรีบดำเนินการ ส่วนระบบรถไฟฟ้าควรดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางสายหลักที่ต้องเสร็จสิ้นก่อนการเปิดใช้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เนื่องจากสายสีน้ำตาลเป็นฟีดเดอร์ที่จะเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างขนส่งมวลชนทางรางสายหลัก

                 ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม ได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมว่า มก.สนับสนุนการพัฒนาด้วยระบบขนส่งมวลชนโครงการรถไฟฟ้าสีน้ำตาล เนื่องจากเป็นวิธีการเดินทางที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในเมือง ช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศ ซึ่งขณะนี้กรุงเทพฯ กำลังเผชิญกับฝุ่นละอองที่เรียกว่า PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่สามารถเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจได้ อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งฝุ่นละอองนี้มีสาเหตุหลักมาจากการใช้รถยนต์ ดังนั้น การพัฒนาใดๆ ก็ตามจะต้องเป็นการพัฒนาเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่ส่งผลเสียต่อประชาชนในปัจจุบันและอนาคต ขณะที่ ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าวิธีการแก้ปัญหา PM2.5 ที่ดีที่สุดทำได้โดยการลดที่ต้นกำเนิดคือลดการใช้รถยนต์ ดังนั้นการก่อสร้างทางด่วนบนแนวสายทางนี้จะเป็นการดึงเอารถยนต์จำนวนมากผ่านเข้ามาในพื้นที่ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัย ทำงานและการศึกษาในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้น มก.จึงสนับสนุนทางเลือกที่ 1 คือการพัฒนาเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล 

           อย่างไรก็ตาม การทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากภาคสังคมในครั้งนี้มีผู้แทนจากชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณแนวสายทางเช่น ชุมชนบางบัว ชุมชนปัฐวิกรณ์ ผู้แทนจากหมู่บ้านธนะสิน ผู้แทนจากนวธานีและผู้แทนจากสภาวิชาการได้สนับสนุนข้อเสนอแนะของ มก.ในการพัฒนาเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เพื่อลดผลกระทบจากมลพิษต่อประชาชนในเมืองและยังส่งเสริมลดการใช้รถยนต์ที่สร้างมลภาวะ ที่สำคัญการสรา้งทางด่วนบนรถไฟฟ้าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากถนนประเสริฐมนูกิจ(เกษตร-นวมินทร์) มีปัญหาจราจรติดขัดเฉพาะบริเวณทางแยก การสร้างสะพานลอยข้ามทางทุกแห่งจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเพียงพอแล้ว หากมีการสร้างทางด่วนบนรถไฟฟ้าจะมีการสร้างตอม่อเพิ่ม ปัจจุบันถนนเกษตร-นวมินทร์มีตอม่อทำระยะ 40 เมตร หากมีทางด่วนจะมีการเพิ่มตอม่อเป็นทุกระยะ 20 เมตร ส่งผลทำให้ทัศนียภาพแย่ลงอย่างมาก นอกจากนี้ผู้แทนจากชุมชนต่างๆ ยังเป็นห่วงเรื่องการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางต่างระดับเชื่อมเข้ากับทางพิเศษฉลองรัฐ(รามอินทรา-อาจณรงค์) และบริเวณจุดขึ้นลงทางด่วนอีกด้วย

                                           ......................................................................................................................... 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ