คอลัมนิสต์

 เปิดเวทีถกสารตกค้างใน“ผักไฮโดรฯ”!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 เปิดเวทีถกสารตกค้างใน“ผักไฮโดรฯ”   มั่นใจค่า“ไนเตรท”เทียบมาตรฐานอียู

              หลังมีการแถลงข่าวขององค์กรเอกชนรายหนึ่งว่า “มีการตรวจพบสารเคมีตกค้างในผักไฮโดรโปนิกส์สูงเกินมาตรฐานและมากกว่าผักทั่วไป” สร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภค จนเกิดความกลัวในการบริโภคผักที่ปลูกโดยระบบไม่ใช้ดินหรือไฮโดรโปนิกส์อย่างกว้างขวาง กระทั่งเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ชมรมปลูกพืชไม่ใช้ดินแห่งประเทศไทย จึงได้เชิญผู้ประกอบการผักไฮโดรโปนิกส์จากแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์, เชียงใหม่, นครราชสีมา, กรุงเทพฯ, ชลบุรี จำนวนกว่า 70 รายมาร่วมประชุมหารือกัน ที่ห้องประชุม 201 ตึกวชิรานุสรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อกรณีดังกล่าว

                 รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ประธานชมรมปลูกพืชไม่ใช้ดินแห่งประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์การเชิญผู้ประกอบการมาร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยย้ำว่า ชมรมทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนทางวิชาการแก่ผู้ประกอบการปลูกพืชไม่ใช้ดินเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับธุรกิจแต่อย่างใด หลังจากที่มีข่าวเรื่องสารพิษตกค้างในผักดังกล่าว คณะกรรมการชมรมได้มีการนัดประชุมและดำเนินการไปแล้ว โดยจัดทำคลิปแถลงชี้แจงแก่สาธารณะไปแล้ว 2 ตอน ตอนที่ 1 กรณีการเก็บตัวอย่างเพื่อนำไปวิเคราะห์ของผู้ออกข่าวที่น้อยเกินไปไม่ถูกต้องตามหลักสถิติ และห้องปฏิบัติการที่ใช้วิเคราะห์เพียงแห่งเดียว ซึ่งโดยหลักการต้องมีเป็นอย่างน้อย 2 แห่ง เพื่อเป็นการยืนยัน 

                    “กรณีการสุ่มเก็บตัวอย่างของผู้เผยแพร่ข่าวดังกล่าวนั้น ได้เก็บตัวอย่างผักไฮโดรโปนิกส์จำนวน 30 ตัวอย่างที่วางจำหน่ายในห้างทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 12 แห่ง พบว่า มีผักไฮโดรโปนิกส์จำนวน 19 ตัวอย่าง จากผู้ประกอบการ 17 ราย จำนวน 15 แบรนด์ ตรวจพบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวน 25 ชนิดตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ข้อสังเกตคือ จำนวนผักตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบเพียงเท่านี้ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ผลิตผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งมีมากกว่า 1,000 ราย ปริมาณการผลิตผักไม่น้อยกว่า 20 ตันต่อวัน ดังนั้น ตัวอย่างนี้จึงไม่สามารถเป็นตัวแทนตามหลักสถิติที่จะตัดสินว่าผักไฮโดรโปนิกส์ทั้งหมดเต็มไปด้วยสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน”

           ประธานชมรมปลูกพืชไม่ใช้ดินฯ เผยต่อว่า นอกจากนี้ยังมีรายงานอีกว่าได้ตรวจพบสารไนเตรทตกค้างในผักสลัดเกินค่ามาตรฐานของอียู ในระดับ 199-2,500 ppm มี 1 ตัวอย่างที่เกินมาตรฐาน ส่วนผักไทยที่ปลูกโดยไม่ใช้ดิน ได้แก่ คะน้า ผักกาดฮ่องเต้ ผักโขมแดง และผักบุ้งจีน พบการตกค้างของไนเตรทระหว่าง 2,976-6,019 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ข้อเท็จจริงกฎระเบียบของอียูล่าสุด ปี 2011 ได้ประกาศค่ามาตรฐานไนเตรทที่ปลูกในแต่ละสภาพพื้นที่มีความแตกต่างกัน คือ การปลูกแบบกลางแจ้งระดับไนเตรท 3,000 ppm และปลูกในโรงเรือน (แสงน้อย) 4,000 ppm ซึ่งจะเห็นว่าผลวิเคราะห์ผักไฮโดรโปนิกส์ที่ระบุว่ามีไนเตรทตกค้างเกินมาตรฐานอียู จึงไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ที่มีระดับไนเตรทเกินตามที่กล่าวอ้าง รวมทั้งการใช้ค่าไนเตรทตกค้างในผักไทยเทียบเคียงกับมาตรฐานอียูก็ไม่เหมาะสม เพราะชนิดของผักแตกต่างกัน สภาพแวดล้อมการปลูกก็ต่างกัน โดยเฉพาะประเทศไทยนั้นเป็นเขตร้อนแสงแดดมาก ทำให้ไนเตรทสลายตัวได้เร็วกว่ายุโรปซึ่งเป็นเขตหนาว 

         จากบทความของ ดร.เอกสิทธิ์ วัฒนปรีชานนท์ ตีพิมพ์ในเคหการเกษตร ฉบับเดือนมกราคม 2561 ระบุว่า ในประเทศญี่ปุ่นมีการจำหน่ายผักไฮโดรโปนิกส์กันทั่วไป สาธารณรัฐประชาชนจีนที่กำลังมีสภาพเศรษฐกิจเจริญก้าวหน้ามาก ประชาชนมีอำนาจซื้อสูง ก็มีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ไฮโดรโปนิกส์มากขึ้นตามรายได้ที่สูงขึ้น เรื่องปริมาณไนเตรทที่เรากลัวกันอยู่ที่การจัดการที่เหมาะสม ก็ไม่เป็นอันตรายเหมือนกับการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ความปลอดภัยจึงมาอยู่ที่ความรับผิดชอบของเกษตรกรที่ปลูกต้องเข้มงวดกับการใช้อัตราความเข้มข้นของสารละลายปุ๋ยให้เหมาะสมกับพืช การทิ้งช่วงให้ผักดูดน้ำที่มีสารละลายเจือจาง 2 วันก่อนเก็บเกี่ยว ก็จะลดปริมาณไนเตรทได้อย่างปลอดภัย

           รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยอมรับว่า การปลูกพืชผักไม่ว่าจะปลูกในดินหรือไม่ใช้ดิน ก็มีโอกาสพบสารไนเตรทตกค้างได้ เพราะไนเตรท (NO3-) เป็นรูปของธาตุไนโตรเจนที่รากพืชดูดไปใช้เพื่อการเจริญเติบโต ปริมาณการสะสมของไนเตรทขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการปลูก เช่น แสงแดด ชนิดพืช ช่วงเวลาปลูก (หน้าร้อน หน้าหนาว หน้าฝน) รวมถึงการจัดการในฟาร์ม สำหรับเทคนิคการลดไนเตรทสามารถทำได้ดังนี้ ประการแรกใช้ความเข้มข้นสารละลายธาตุอาหารที่ไม่สูงเกินไป ผักสลัด ใช้ 1.2-1.4 มิลลิซีเมนต์ต่อเซนติเมตร ผักบุ้ง และโขมจีน 1.2 ผักคะน้า และกวางตุ้ง 1.8 และควบคุมค่าให้คงที่ตลอดการปลูก ประการต่อมาถ้าทำได้ควรเปลี่ยนถ่ายสารละลายเป็นน้ำธรรมดา 2 วันก่อนเก็บเกี่ยว หรืออย่างน้อย ลดความเข้มข้นสารละลายลงครึ่งหนึ่ง และประการที่สามในระหว่างปลูก ควรจัดสภาพแวดล้อมให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ได้แสงแดดเต็มที่ เพื่อการสังเคราะห์แสงที่ดี  

           ขณะที่ อ.วีรพล นิยมไทย กรรมการชมรม ย้ำว่า การเผยแพร่ข่าวสารโดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องก่อน นอกจากทำให้ผู้บริโภคแตกตื่นแล้วยังทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย บางฟาร์มไม่มีโอกาสได้ชี้แจงข้อเท็จจริง จะเห็นว่าเรื่องไนเตรทที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอย่างสหภาพยุโรปมีการแก้กฎระเบียบค่าตกค้างสูงสุด (MRL) ของไนเตรทในสินค้าพืชผักเพื่อให้ผู้ผลิตผักสามารถปฏิบัติตามได้ เช่น การกำหนดไนเตรทตกค้างสูงสุดในผักโขมสด 3,500 ppm ผักโขมดอง แช่แข็งหรือแช่เย็น 2,000 ppm, ผักกาดหอมสด 3,000-5,000 ppm, ผักกาดแก้ว 2,000-2,500 ppm และผักร็อกเก็ต 6,000-7,000 ppm ทั้งนี้ปริมาณค่าไนเตรทขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการปลูกและฤดูกาลปลูกนั้นๆ ด้วย

              ด้าน อรสา ดิสถาพร อดีตผู้เชี่ยวชาญพืชผัก กรมส่งเสริมการเกษตรกรรมการชมรมอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ประเด็นข่าวที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นสิ่งดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการเกิดการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ การสื่อสารควรจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกิดผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจโดยสุจริต รวมทั้งผู้บริโภคไทยที่ควรมีการบริโภคผักปลอดภัยเพื่อสุขภาพตามมาตรฐานอนามัยโลกวันละ 400 กรัม (4 ขีด) ดังนั้นจะต้องมาวิเคราะห์ว่าปัญหาแท้จริงเกิดจากสาเหตุใด และจะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย 

                 อย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคม 2561 นี้ ทางชมรมปลูกพืชไม่ใช้ดินแห่งประเทศไทย จะนำสื่อมวลชนและผู้สนใจไปเยี่ยมชมฟาร์มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขนาดใหญ่เพื่อการส่งออกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ด้วย           

 3 แนวทางสร้างกลุ่มผู้ประกอบการผักไฮโดรฯเข้มแข็ง

               1.เนื่องจากชมรมปลูกพืชไม่ใช้ดินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้ทางวิชาการแก่ผู้ประกอบการ จึงตกลงกันว่าจะดำเนินการจัดทำไกด์ไลน์ (Guideline) การใช้สารเคมีและชีวภัณฑ์ในการปลูกผักไม่ใช้ดินอย่างถูกต้องและปลอดภัยให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือมือใหม่ได้นำไปปฏิบัติเป็นแนวทาง

            2.จะดำเนินการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในแต่ละภูมิภาคมือใหม่ๆ ได้เข้าใจและตระหนักเพื่อนำไปสู่การผลิตผักที่ปลอดภัย

             3.การประชุมผู้ประกอบการครั้งนี้ได้เน้นย้ำแนะนำให้ผู้ประกอบการช่วยกันรวมตัวเพื่อสร้างเครือข่าย(คลัสเตอร์)ในพื้นที่ของตนเองให้เข้มแข็ง เพื่อดูแลกันเอง โดยปฏิบัติตามมาตรฐาน QGAP อย่างเคร่งครัดต่อไป

             อย่างไรก็ตาม จากการประชุมคณะกรรมการชมรมปลูกผักไม่ใช้ดินฯเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มติที่ประชุมได้แบ่งงานการดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจทั้งผู้ผลิตและผู้ประกอบการ ผู้ค้า เป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้ การผลิตผักทุกชนิดในระบบไม่ใช้ดินทั้งในไทยและทั่วโลกมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นวิธีการผลิตที่ควบคุมสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ดี สามารถใช้ปัจจัยการผลิตได้อย่างถูกต้องแม่นยำกว่าการปลูกบนดิน โดยเฉพาะอนาคตการพัฒนาการผลิตผัก (รวมทั้งไม้ดอกไม้ประดับ) และสมุนไพรมูลค่าสูงแบบ Plant factory โดยใช้หลอดไฟแสงเทียมจากพลังงานโซลาร์เซลล์  เป็นต้น

                                                                     .........................................................................

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ