คอลัมนิสต์

สงครามทุบรถ ที่แท้สาวกระบะแค่คราวเคราะห์?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลูกค้าไม่ใช่ “พระเจ้า” สำหรับคุณป้า ปัญหานี้จึงเรื้อรังเรื่อยมา โดยมีหลักฐานสำคัญเป็นบรรดาป้ายต่างๆ ที่ป้ามาติดไว้ จนประตูอัลลอยลายพร้อยไปด้วยกราฟิตี้ราชการ!

          จากคลิปที่มีป้า 2 คน เข้าไปใช้ขวาน และพลั่ว ทุบรถกระบะคันหนึ่ง ที่มาจอดขวางทางเข้าออกหน้าบ้าน โดยไม่ปลดเบรกมือ ทั้งที่มีป้ายติดอยู่อย่างชัดเจนบนประตู ในขณะที่ยังมีป้าอีกคนหนึ่ง คอยบีบแตรเรียกอยู่ในรถจนนาน ก็ไม่ปรากฏตัว 

          ที่สุดเรื่องราวก็นำมาสู่การเอาเรื่องกันในทางกฎหมาย ระหว่างเจ้าของบ้านกับเจ้าของรถ จนโด่งดัง ร้อนระอุไปทั่วประเทศ !!

          จนป้าๆ ได้ฉายา “ป้าทุบรถ" ไปแล้ว ขณะที่ในโซเชียล ก็ได้แฮชแท็กร้อน “#ได้ยินเสียงเเตรตั้งนานแล้ว แต่พอดีว่ายังซื้อของไม่เสร็จ” ตามมาติดๆ

          จริงอยู่ที่ฉายานี้ จะไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจสำหรับป้าๆ 3 สาวแห่งตระกูล “แสงหยกตระการ” คือ รัตนฉัตร อายุ 61 ปี (มือขวาน), ราณี อายุ 57 ปี (มือพลั่ว) และ บุญศรี อายุ 65 ปี พี่ใหญ่ (มือบีบแตร) เพราะพวกเธอเองก็ต้องเจอโทษในหลายกระทงไม่ต่างกับฝ่ายคู่กรณี

          แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้สะท้อนภาพความขัดแย้ง ที่เกาะกัดกินสองฝ่ายมานาน ซึ่งอีกฝ่ายที่ว่า ไม่ใช่สาวเจ้าของรถกระบะ

          แต่เป็น “ตลาดนัด” โดยอาจไล่ตั้งแต่เจ้าของตลาด พ่อค้าแม่ขาย ไปจนถึงหน่วยงานที่ควรจะมีบทบาทดูแลปัญหาตรงนี้ ที่เป็นคู่กรณีตัวจริงเลยทีเดียว !!

 

          ที่หัวร้อนเพราะโดนมาเยอะ

          ความจริงอีกด้านหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการทุ่มเถียงกันว่า “ใครผิดใครถูก” นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ป้าๆ ไม่สามารถออกจากบ้านตัวเองได้ จากการจอดรถขวางทางเข้าออกบ้านโดยบรรดา “ลูกค้า” ตลาดนัด

          แต่ลูกค้าไม่ใช่ “พระเจ้า” สำหรับคุณป้า ปัญหานี้จึงเกิดขึ้นเรื้อรังเรื่อยมา โดยมีหลักฐานสำคัญเป็นบรรดาป้ายต่างๆ ที่ป้ามาติดไว้ จนประตูอัลลอยลายพร้อยไปด้วยกราฟิตี้ราชการ !

          ทั้ง ป้ายคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อม, ป้ายเรื่องคดีการจอดรถ, ป้ายที่ระบุว่าตลาดทำผิดสถานที่, ป้ายอธิบายความจริงวันนี้, ป้ายห้ามจอดรถกีดขวางประตูบ้าน แถมยังมีป้ายที่ป้าต้องพึ่งความเชื่อ คือ ป้ายขอสาปแช่งผู้ที่มาจอดรถขวางประตู

          ซึ่งหากวิเคราะห์จากที่ป้าทั้งสามได้ตั้งโต๊ะแถลงต่อสื่อที่หน้าบ้าน ช่วงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็ทำให้หลายคนเห็นใจทางฝ่ายป้าทุบรถมากขึ้น โดยป้าบุญศรีได้กล่าวว่า

          “ที่ผ่านมา คุณแม่ไม่สบาย ต้องเข้าออกอยู่เป็นประจำ เป็นโรคปอด แต่รถออกไม่ได้ เพราะรถมาจอดหน้าบ้าน ทำให้ต้องไปอยู่โรงพยาบาลหลายเดือน ตอนนี้ก็เสียชีวิตไปแล้ว”

          “เพื่อนบ้านพ่อไม่สบายก็ออกจากบ้านไม่ได้ และอีกคนขาหัก รถพยาบาลก็เข้าไม่ได้ บางคน ต้องลงไปกราบที่ถนนเพื่อขอร้องก็เคยมาแล้ว”

          ขณะที่ยังสำทับว่า ไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุ แต่เป็นการปกป้องสิทธิของตัวเอง เป็นเรื่องสุดวิสัยที่เราต้องทำลงไป

          หลักฐานหนึ่ง คือ ภาพที่มีการแชร์กันในโลกออนไลน์ กับภาพบ้านป้าที่ถูกรายล้อมไปด้วยตลาดนัดและลานจอดรถของตลาดนัด

          ทั้งนี้ บ้านป้านั้นตั้งอยู่เลขที่ 37/208 ซอยศรีนครินทร์ 55 แขวงหนองบอน เขตประเวศ หรือภายในบริเวณ “หมู่บ้านเสรีวิลล่า” ติดกับสวนหลวง ร.9 ขณะที่ตลาดนัดดังกล่าวก็อยู่ตรงที่เดียวกัน เรียกกันทั่วไปว่า “ตลาดสวนหลวง ร.9”

          พูดง่ายๆ ว่า บ้านของป้าอยู่ตรงกลางสมรภูมิการจับจ่ายซื้อของ ชนิดที่ตำราพิชัยสงครามฟันธงเลยว่า “เสียเปรียบ” !!

          และถ้าจะพูดเรื่องปฏิสัมพันธ์กับชาวตลาด ต้องบอกว่าสองฝ่ายเป็นศัตรูกันอย่างชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายตลาดและผู้ค้าขาย พากันตีความไปเป็นเรื่องของชนชั้น

          แต่สงครามนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดเอาไม่กี่วันมานี้

 

ย้อนรอย ปมร้าว

          สงครามก่อนจะมาถึง “วันทุบรถ” ที่จริงเริ่มมาเมื่อหลายปีก่อน โดยหากค้นข้อมูลจะพบว่า มันเริ่มก่อตัวช่วงปี 2551 ขณะที่ตลาดนัดแห่งนี้ ได้ขยายให้กว้างขวางใหญ่โตขึ้น

          แต่ในการขยายนี้ กลับส่งผลต่อผู้อยู่อาศัยเดิมที่เป็นชาวหมู่บ้านเสรีวิลล่า เนื่องจากมีการตั้งเต็นท์ติดกับรั้วบ้านพักอาศัย โดยระหว่างการติดตั้งก็มีคนงานปีนขึ้นปีนลงรั้วบ้านตลอดเวลา

          ผู้พักอาศัยจึงเกรงกลัวจะไม่ปลอดภัย จนต้องหิ้วหลักฐานไปร้องสื่อมวลชน และร้องเรียนสำนักงานเขตประเวศ และผู้ร้องเรียนก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็ป้าทุบรถนี่แหละ

          แต่ดูเหมือนว่า เรื่องราวไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คือ ไม่ว่าป้าๆ จะเข้าร้องเรียนสำนักงานเขตกี่ครั้ง แต่ทุกอย่างยังเดินรอยเดิม แถมตลาดยังขยายกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ

          นอกจากนี้ สิ่งที่ป้าๆ เจอคือ โดนข่มขู่ทางโทรศัพท์ และการรู้สึกว่าถูกเพิกเฉยจากเจ้าหน้าที่ แถมยังเคยเจอเหตุเพลิงไหม้ปริศนาขึ้นที่ข้างรั้วบ้านในตอนดึก

          และยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายขอเข้าตรวจค้นที่บ้าน โดยอ้างว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมาว่ามีการกักขังหน่วงเหนี่ยว และมีการค้าประเวณี

          ที่สุดพวกเธอจึงตัดสินใจพึ่งอำนาจศาล โดยยื่นฟ้องผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตประเวศ สำนักงานเขตประเวศ และ กรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครอง ว่าร่วมกันดำเนินการโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และละเลยต่อหน้าที่ ปล่อยให้มีการดำเนินกิจการตลาดนัดข้างบ้านของตน ซึ่งมีตลาดนัดรุ่งอรุณ และตลาดนัดไม่มีชื่อ (แต่เรียกรวมกันว่าตลาดนัดสวนหลวง) สร้างความเดือดร้อนรำคาญ จนไม่สามารถอยู่ได้อย่างปกติสุข จึงขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองระงับการดำเนินกิจการตลาดนัดดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษา

          แน่นอน พวกเธอชนะคดี ในช่วงปี 2553 ศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวตามที่ขอ

          แต่ถึงกระนั้น ตลาดนัดดังกล่าว ยังคงเปิดกิจการตามปกติ ซึ่งทำให้ทางเจ้าของบ้านชุดเดิม เดินหน้าต่อในปี 2555 จนมีคดียิบย่อยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามมายาวเป็นห่างว่าว

          และตลาดก็ยังคงเป็นสาเหตุของปัญหาเดิมๆ จนมาถึงวันที่ “คราวเคราะห์” มาตกกับสาวเจ้าของรถกระบะ ที่ไม่อ่านป้ายให้ละเอียดเสียก่อนจอดก็ได้

          แน่นอนในทางกฎหมาย เอาเฉพาะฝ่ายป้า ก็ผิดเต็มๆ ตามข้อหาที่พวกเขาจะต้องเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้

          แต่ในทางสังคม แม้จะต้องถูกตราหน้าว่า “ทำเกินกว่าเหตุ” แต่มันอาจเป็นการประกาศหมุดหมายแห่งความ “สุดทน” ของป้าจริงๆ

          ว่านี่ไม่ใช่สงครามชนชั้น แต่มันคือการอยู่ร่วมกันอย่างมีกฎกติกา !

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ