คอลัมนิสต์

“ป้าทุบรถ” ไม่ใช่แค่เรื่อง “บังเอิญ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คดี "ป้าทุบรถ" ที่จอดขวางหน้าบ้าน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะปัญหาที่แท้จริงอาจอยู่ที่ระบบโครงสร้างเชิงสังคมและกฎหมายที่ไม่อาจเป็นที่พึง

ประเด็นเรื่องผู้ที่ทุบรถซ่ึ่งมาจอดขวางหน้าบ้านตัวเองที่ตลาดสวนหลวงกลายเป็นเรื่องถกเถียงของสังคมว่าสมควรทำหรือไม่ แน่นอนเสียงแตกเป็นสองทาง

มุมหนึ่งเห็นด้วยกับฝั่งที่ทุบรถ เพราะมองว่าได้รับความเดือดร้อนมาเป็นเวลานาน และการจอดรถขวางทางเข้าออกบ้านก็สร้างความเดือดร้อนไม่น้อย บางคนยกตัวอย่างความเดือดร้อนที่เคยได้รับ หลายคนเคยสูญเสียมากถึงขนาดชีวิตคนที่รักจากเหตุการณ์คล้ายๆกัน

ขณะที่อีกมุมหนึ่งก็มองว่าแม้ฝ่ายที่จอดรถจะทำไม่ถูก แต่การไปทุบรถนั้น “เกินกว่าเหตุ” หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าอีกฝั่งก็บอกว่าหากไม่เหลืออดใครจะไปทำ แต่อีกฟากก็บอกต่อให้เหลืออดก็ไม่มีสิทธิ์ทำ

ต่างฝ่ายต่างถือหาง บางคนถึงขั้นทะเลาะเบาะแว้งกันไปเลยก็มี ทั้งๆที่บ้านก็ไม่ได้อยู่ที่ตลาดสวนหลวง หรือเป็นผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่เรื่องราวอย่างนี้มันกระทบกระแทกความรู้สึกอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะฝั่งที่รู้สึกว่าถูกเบียดเบียนมาโดยตลอดแต่่ไม่มีทางต่อสู้ หรือแก้ไขใดๆ ส่วนอีกฝั่งก็มองว่าการทุบรถเป็นการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา ซึ่งไม่ว่าใครก็ไม่มีสิทธิไปทำลายทรัพยฺสินผู้อื่น

เรื่องนี้ว่ากันแบบตรงไปตรงมา ถ้าตัดเอาเฉพาะเหตุการณ์ช่วงนี้ต้องบอกว่าผิดทั้งคู่ ผู้ที่จอดรถขวางประตูบ้านและใส่เกียร์ไว้นั้น อย่างไรก็ผิดเพราะการจอดขวางปิดทางเข้าออกบ้านอื่นนั้นไม่สามารถทำได้ ทั้งเป็นการละเมิด  ลองนึกดูว่าะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนในบ้านมีเรื่องรีบด่วนชนิดคอขาดบาดตาย แต่ไม่สามารถออกมาได้เพราะติดรถที่จอดขวางเพื่อไปซื้อของ   ส่วนที่ระบุว่าเป็นบ้านร้างนั้นคงฟังไม่ขึ้น เพราะเป็นการทึกทักเอาเอง  

ที่น่าสนใจคือมีการบอกว่า “ได้ยินเสียงแตร” แต่ยังซื้อของไม่เสร็จ ยิ่งทำให้่เห็นภาวะขาดจิดสำนึกและไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของตัว

ส่วน “ป้า” ที่ออกมาทุบรถนั้นตามกฎหมายก็ต้องบอกว่า ผิดเช่นกัน เพราะกระบวนการจัดการปัญหาก็ควรว่ากันตามกฎหมาย และการตอบโต้นั้นกฎหมายก็มีหลักของความได้สัดส่วน ซึ่งในกรณีนี้มองได้ว่าเกินกว่าเหตุอยู่ไม่น้อย  

ทางที่ควรคือหากมีใครมาจอดรถขวางก็ควรไปแจ้งตำรวจมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป  เพราะ “เมื่อคุณถูกละเมิด ก็ไม่ได้หมายความว่าไปละเมิดคนอื่นต่อได้”

อย่างไรก็ตามเมื่อดูทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือเป็นแค่บันดาลโทสะแบบปกติ หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องเกิืดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่งนั่นเพราะกระบวนการโครงสร้างทางสังคมที่เป็นปัญหา นั่นเพราะไม่ใช่พวกเธอไม่เคยต่อสู้ตามกระบวนการ  หากแต่มีการร้องเรียนมาเป็นระยะๆ แต่เรื่องราวกลับไม่ถึงไหนดูทั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ต้องบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือเป็นแค่บันดาลโทสะแบบปกติ หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องเกิืดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่งนั่นเพราะกระบวนการโครงสร้างทางสังคมที่เป็นปัญหา นั่นเพราะไม่ใช่พวกเธอไม่เคยต่อสู้ตามกระบวนการ  หากแต่มีการร้องเรียนมาเป็นระยะๆ แต่เรื่องราวกลับไม่ถึงไหน

 ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าทีเ่ทศกิจก็ไม่สามารถช่วยได้  เมื่อกระบวนการยุติธรรม ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมต่อผู้ถูกละเมิดได้ก็ไม่แปลกที่เราจะเห็นกระบวนการ “ศาลเตี้ย” เช่นนี้

โดยเฉพาะสังคมจำนวนมากที่สะใจและเห็นใจการกระทำเช่นนี้ เพราะพวกเขาล้วนเคยถูกละเมิดชนิดที่กฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้ ด้วยเหตุผลต่างๆนาๆ และเชื่อได้ว่าแทบทุกคนต่างก็ต้องเผชิญเหตุการณ์เช่นนี้ หรือแม้แต่ท่านที่กำลังอ่านก็น่าจะเคยมีประสบการณ์เช่นนี้

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเจอคนไม่มีจิตสำนึกของการอยู่ร่วมกัน ไม่แปลกที่เราจะเจอคนที่พร้อมจะละเมิดผู้อื่นเพื่อความสะดวกของตัวเอง  แต่จะเป็นเรื่องแปลกทันทีหากระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของรัฐไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้  และแปลกเข้าไปใหญ่เมื่อเรื่องแบบนี้กลายเป็นเรื่องไม่แปลกของสังคมไทย

ยิ่งนำมาประกอบกับประเด็นของละครที่กำลังดังอย่าง “ล่า” ที่มีการแบ่งฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำของ “ตัวเอก” มีความเหมาะสมหรือไม่่ที่ไล่ล่าเหล่าคนร้ายที่มาข่มขืนเธอ แต่กฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้  ที่น่าคิดไปกว่านั้นคือ ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นแค่นิยาย แต่น่าสนใจว่าคนทั่วไปเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมที่เราเป็นอยู่ เพราะข่าวเหล่าอาชญากรหลายต่อหลายรายที่ไม่ต้องรับผิด หรือรับผิดเพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ก่อนที่จะออกมาทำผิดซ้ำมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลายิ่งตอกย้ำความเชื่อว่าการจัดการด้วยตัวเองเป็นเรื่องที่กระทำได้

หรือแม้แต่เรื่องของ “เจ้าสัวนักล่า”  ที่คนทั่วไปก็เชื่อไปแล้วว่าที่สุดเ “พรานบรรดาศักดิ์” คงไม่ต้องรับโทษอะไรมากมายแม้จะมีหลักฐานหลากหลาย

หรือการที่คนที่มีอภิสิทธิ์ในสังคมสามารถกระทำการต่างๆได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย หรือกฎหมายไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมให้เขาได้ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลมี ม.44 ไว้เป็นเกราะป้องกันตัว

คำถามคือ เราจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอยู่ร่ำไปเช่นนั้นหรือ  เพราะหากถึงวันนี้ก็ไม่แปลกที่เราจะมีศาลเตี้ยอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง และจะเป็นอย่างไรหากทุกคนใช้ศาลเตี้ยตัดสินตามความเชื่อของตนเอง   และเมื่อประชาชนต้องออกมาปกป้องกันเองจะเกิดอะไรขึ้น เพราะอีกฝ่ายก็ย่อมต้องป้องกันตัวเพราะอาจมองว่าถูกละเมิด  เมื่อนั้นคำว่าดินแดนมิคสัญญีและภาวะรัฐล้มเหลวก็อยู่ไม่ไกล

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกชน หรือเป็นเื่องเฉพาะบุคคล หากแต่เป็นเรื่องระบบรัฐและโครงสร้างทางกฎหมายที่คำ้จุนความสงบสุขให้บ้านเมือง หากไม่มีเสาเช่นว่าคอยค้ำยันเมื่อนั้นสังคมจะเป็นเช่นไรก็สุดจะจินตนาการ  แต่บอกได้เลยว่าสภาพที่เป็นอยู่นี้ก็ไม่ไกลจากเรื่องดังกล่าวเท่าไหร่

การจะดึงสังคมกลับมาสู่ภาวะปกติคือการทำให้บ้านเมืองอยู่ในหลัก “นิติรัฐ นิติธรรม” ที่กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมมีไว้ปกป้องผู้ถูกละเมิดและถูกกระทำ

-------

คอลัมน์ขยายปมร้อน  โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ  ทาง หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 21 ก.พ. 2561

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ