คอลัมนิสต์

กาง “พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 35 ”มัด ? “เปรมชัย”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 35 ได้กำหนดความหมายของคำว่า"ล่า"ไว้กว้างมาก เพราะต้องการคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างจริงจัง

          กระแสแรงไม่เลิก กับกรณีจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ พร้อมพวกอีก 3 คน ขณะตั้งแคมป์พักแรม บริเวณห้วยปะชิเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

          พร้อมหลักฐาน อาวุธปืนยาว ปืนไรเฟิลติดลำกล้อง ปืนลูกซองแฝด และลูกกระสุนปืนจำนวนหนึ่ง

           ส่วนหลักฐานเนื้อสัตว์ มีทั้ง ซากไก่ฟ้าหลังเทา เก้ง หนังเสือดำ ถูกถลกสดๆ พร้อมด้วยเนื้อสัตว์แล่เป็นเนื้อแดงๆหลายกิโลกรัม

          พนักงานสอบสวนแจ้ง 9 ข้อหา นายเปรมชัยกับพวก ให้การปฏิเสธ และได้ประกันตัวไปในชั้นฝากขังศาล

          สำหรับ 9 ข้อหา( ไม่รวมถึงข้อหาที่งอกภายหลังซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกระทำต่อสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) ที่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับนายเปรมชัย ส่วนมากเป็นการกล่าวหาว่ากระทำความผิด ตามพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 แทบทั้งสิ้น

          นักกฎหมายด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม พลิกตำรา และชี้ให้เห็นว่า พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ได้มีการกำหนดความหมายของคำว่า“ ล่า” ไว้อย่างกว้างมาก เพราะต้องการคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างจริงจัง

        “ล่า ” ตามกฎหมายฉบับนี้ หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใดแก่สัตว์ป่าที่ไม่มีเจ้าของและอยู่เป็นอิสระ และหมายความรวมถึง การไล่ การต้อน การเรียก หรือการล่อด้วย

        มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง)

        จะเห็นได้ว่าแค่"พยายามล่า”ก็มีความผิดแล้ว

         มาตรา 19 ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในความครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือ ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง

         มาตรา 36 ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองหรือมิใช่

         หมายความว่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้ามทำการล่าสัตว์ทุกชนิดเด็ดขาด แม้ว่าสัตว์นั้นจะไม่ได้เป็นสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง ก็ล่าไม่ได้

         มาตรา 37 ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข

         “กฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดบทลงโทษไว้ในหลายมาตรา อาทิ มาตรา 47 เอาผิดกับผู้ที่ทำการล่าสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง โทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ,มาตรา 53 เอาผิดกับผู้ล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

        -ไม่ได้จับตอนยิง “เปรมชัย”อ้างไม่ได้ยิง“เสือดำ”หรือคนอื่นรับสารภาพว่ายิง“เสือดำ” เพียงคนเดียว ได้ไหม

        นักกฎหมายท่านนี้ เห็นว่า เป็นการ“ร่วมกัน”คนที่ถูกจับมีเพียง 4 คน นอกจาก “ เปรมชัย” แล้ว 2 คน เป็นลูกน้อง อีกคนเป็นพรานนำทาง ล้วนรู้จักกันทั้งสิ้น จะปฏิเสธว่าไม่ได้ร่วมรู้เห็นได้ยาก ซึ่งต่างจากการถูกจับที่เป็นคณะใหญ่มี 20-30 คน อาจมีคนใดคนหนึ่งอ้างว่าไม่ได้รู้เห็นกับการยิงสัตว์ป่าได้ง่ายกว่า

        -ไม่มีประจักษ์พยาน เป็นอุปสรรคทางคดีหรือไม่

         บางคดีไม่มีประจักษ์พยานก็ลงโทษได้ เช่น คดีหมอวิสุทธิ์ ฆ่าภรรยา โดยใช้พยานแวดล้อม คดีนี้มีพยานแวดล้อมหลายอย่างที่บ่งชี้ การยึดได้ปืนไรเฟิลซึ่งไม่ใช่ปืนที่มีไว้เพื่อป้องกันตัวแต่เป็นปืนใช้ล่าสัตว์, หาก่ไม่ได้ยิง ไม่ได้ล่าสัตว์ แล้วซากสัตว์ในที่เกิดเหตุมาจากไหนเต็มไปหมด ,การยึดปืนยาวได้หลายกระบอกที่บ้านนายเปรมชัย ก็นำสืบมาโยงได้ว่า น่าเป็นคนชอบล่าสัตว์

        -เขม่าดินปืนสำคัญแค่ไหน

        หากตรวจพบเขม่าดินปืนที่จำเลยคนใด ก็เป็นหลักฐานว่ามีการยิงสัตว์ป่า และต้องถือว่าร่วมกันยิง จะอ้างว่ายิงขึ้นฟ้า ยิงไล่นก คงไม่ได้เพราะมีสัตว์ป่าตายอยู่ในที่เกิดเหตุจำนวนมาก

       - อ้างยิงเสือดำเพื่อป้องกันตัว

         ธรรมชาติสัตว์ป่าเกรงกลัวคน ไม่ทำร้ายคนก่อน

      -อ้างซื้อซากสัตว์ป่ามาจากร้านอาหาร

      คงไม่มีร้านอาหารออกมายอมรับ เพราะมีความผิดข้อหาล่าสัตว์ป่าด้วย

     -อ้างพลัดหลงเข้าไปในเขตหวงห้าม

       เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตอุทยาน มีประกาศในพระราชกฤษฎีกาและลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาพร้อมภาพถ่าย เพื่อให้คนรู้ทั่วไป การอ้างว่าพลัดหลง เข้าไปในเขตหวงห้ามก็เท่ากับปฏิเสธว่าไม่รู้กฎหมายซึ่งอ้างไม่ได้ อีกทั้งการเข้าไปในอุทยานใด ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อน และเดินป่าได้ตามแนวเขตที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น อีกทั้งถูกจับขณะอยู่ในเขตหวงห้าม ไม่ได้ถูกจับเมื่อออกจากป่าแล้ว

      -อ้างถูกยัดหลักฐาน

     ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำอย่างนั้น ที่เกิดเหตุอยู่กันหลายคนและหากเจ้าหน้าที่ทำ เจ้าหน้าที่เองต้องรับโทษหนัก

     อย่างไรก็ตาม คดีนี้ต้องว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม 3 ศาล จะด่วนฟันธงว่าจำเลยผิดแล้วไม่ได้

      มีสิ่งหนึ่งที่ควรตะหนัก คือ หลายคดีที่โด่งดังเมื่อครั้งถูกจับกุมแต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลข้อเท็จจริงในคดีกลับเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เป็นข่าว

      การ “เกาะติดคดี” ของเราทุกคน จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ