คอลัมนิสต์

คสช.เอามั้ย? “ฉลามชล”  ต้นแบบ “พรรคจังหวัด”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จริงดิ ที่  “สนธยา” บอกนักข่าวว่า มาคุยกับนายกฯ เรื่องการพัฒนาท้องถิ่นในภาคตะวันออก ไม่มีการพูดเรื่องการเมือง หรือการเลือกตั้ง

          ไม่ผิดความคาดหมาย เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ ตราด-จันทบุรี ก็ต้องพบนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น

          เย็นวันจันทร์ที่ผ่านมา ตามโปรแกรม นายกฯ ลุงตู่ พบปะพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่นของจันทบุรี และ ภาคตะวันออก

          พรรคประชาธิปัตย์ นำทีมโดย สาธิต ปิตุเตชะ, ธารา ปิตุเตชะ, ปิยะ ปิตุเตชะ นายก อบจ.ระยอง พร้อมด้วยอดีต ส.ส.จันทบุรีทั้งสามคน ส่วน ทรงยศ เทียนทอง นายก อบจ.สระแก้ว ก็มาในฐานะผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ได้เกี่ยวกับ “ลุงเหนาะ” และพรรคเพื่อไทย

          ที่สื่อหลายสำนักเฝ้าจับตามองคือ สนธยา คุณปลื้ม แห่งพรรคพลังชล และ วิทยา คุณปลื้ม นายก อบจ.ชลบุรี  

          “สนธยา” บอกนักข่าวว่า มาคุยกับนายกฯ เรื่องการพัฒนาท้องถิ่นในภาคตะวันออก ไม่มีการพูดเรื่องการเมือง หรือการเลือกตั้ง

          เหตุที่พรรคพลังชล ตกเป็นเป้าการจับจ้องของสื่อ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวลือแพร่สะพัดว่า พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม ประสานกับพรรคพลังชล เพื่อต่อรองให้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แลกกับการพักโทษของ “กำนันเป๊าะ” สมชาย คุณปลื้ม

          เรื่องนี้ นายกฯ ประยุทธ์ ได้ออกมาปฏิเสธข่าวว่า ไม่มีความจริงแม้แต่น้อย รวมถึงโฆษกพรรคพลังชล ก็ออกมาชี้แจงว่า พรรคพลังชลยังไม่สามารถดำเนินการทางการเมือง ประชุมพรรคหรือเจรจากับใครได้

          พูดถึง “พรรคพลังชล” นั้น เกิดมาจากความปราชัยอย่างย่อยยับของ “บ้านใหญ่” เมืองชลฯ เมื่อการเลือกตั้งปี 2550 โดยหนนั้น พรรคประชาธิปัตย์ชนะยกจังหวัด 

          สาเหตุความพ่ายแพ้ของตระกูล “คุณปลื้ม” มาจากต้องสวมเสื้อพรรคชาติไทย, ไม่มีคนบ้านใหญ่นำทัพ และกำนันเป๊าะไม่ได้เป็นเสนาธิการเลือกตั้ง ประกอบกับกระแสเสื้อเหลืองมาแรงในเวลานั้น

          ด้วยเหตุนี่้ ตระกูลคุณปลื้ม จึงตัดสินใจตั้ง “พรรคพลังชล” โดยอาศัยการทำงานของ “วิทยา” นายก อบจ.ชลบุรี , ณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข (ลูกชายคนเล็กของกำนันเป๊าะ) และอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา (ตอนหลัง คสช.แต่งตั้งคนใหม่ไปแทน) สร้างผลงานสร้างคะแนน

          มินับรวม “ฉลามชล”ชลบุรี เอฟซี สโมสรฟุตบอลอาชีพแห่งแรกในประเทศไทย ที่สร้างฐานแฟนบอลอย่างเหนียวแน่น ภายใต้การบริหารงานของ วิทยา คุณปลื้ม

          ที่สุด พรรคพลังชลก็ประสบความสำเร็จ ในการเลือกตั้งปี 2554 ได้รับเลือกตั้งจากสนามเมืองชลฯ 6 ที่นั่ง และแบบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง รวมแล้ว 7 ที่นั่ง

        โมเดลแบบพลังชล จุดประกายให้พรรคขนาดกลางได้ปรับตัว โดยวางยุทธศาสตร์การหาเสียงไว้ที่ท้องถิ่น ไม่ต้องออกแรงวิ่งรอกหาเสียงแบบหว่านแหไปทั้งประเทศ

          พรรคชาติพัฒนาของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ก็กำลังจะกลายเป็น “พรรคโคราชบ้านเอ็ง” และพรรคชาติไทยพัฒนาของตระกูล “ศิลปอาชา” คงไม่แคล้วเป็น “พรรคเลือดสุพรรณ..มาด้วยกันไปด้วยกัน”

          พรรคมาตุภูมิ ได้พยายามออกแบบให้เป็น “พรรค 3 จังหวัดชายแดนใต้” แต่ก็ยังทำไม่บรรลุเป้าหมาย อาจจะต้องรอคอยเวลาหาพันธมิตรเพิ่มเติม

          กลุ่มมัชฌิมาของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ที่ปักธงไว้ 3 จังหวัดคือ สุโขทัย, ราชบุรี และชัยนาท ซึ่งทุ่มสรรพกำลังเต็มที่ ก็อาจได้ ส.ส. 7-8 ที่นั่ง

          กลุ่มผู้ก่อการจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ ก็คิดกันอยู่ในกรอบนี้คือ การสร้าง “พรรคจังหวัด” หรือพรรคท้องถิ่นนิยม มีเสียง ส.ส.ประมาณ 8-10 ที่นั่ง

          ฉะนั้น คอการเมืองหลายคนจึงวาดภาพการเมืองหลังเลือกตั้ง เราอาจได้รัฐบาลผสม 15 พรรค เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ก็เป็นได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ