คอลัมนิสต์

อาชีพเปลี่ยน !! ถึงเวลา “มหาวิทยาลัย” ต้องเปลี่ยน ??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“แทร็กการประกอบการชีวิต” ถึงเวลา “มหาวิทยาลัย” ต้องเปลี่ยน ?? : ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด

 

                 ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงทัศนะเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการตั้งคณะการเรียนการสอนต่างๆของมหาวิทยาลัย ซึ่งอาจารย์ให้แง่คิดที่อาจทำให้เกิดคำถามว่า ตอนนี้ถึงเวลาที่ควรปรับรูปแบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยแล้วหรือยัง??

                 "คมชัดลึกออนไลน์" เห็นว่าเป็นบทความที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับการปฏิรูปการศึกษา จึงนำมาเผยแพร่ต่อ เนื้อความมีดังนี้..

                 “ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยออกแบบมาในฐานอาชีพ เราจึงมีคณะ/สาขาวิชา/หลักสูตรต่างๆที่สอดคล้องกับอาชีพแต่ละอาชีพเป็นหลัก

                 แต่เมื่ออาชีพหรือการประกอบการจริงในปัจจุบันไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานอาชีพอย่างเดียวเหมือนเดิม แต่ตั้งอยู่บนฐานการประกอบการ/ชีวิตของคนแต่ละคนมากขึ้นเรื่อยๆ ความเป็นอาชีพในระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยจึงน่าจะมีความสำคัญน้อยลง (แต่มิได้หมดไป)

                 มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องปรับตัวโดยการเพิ่มแทร็กการเรียนรู้ในการประกอบการ/ชีวิตของคนแต่ละคนมากขึ้น นอกเหนือไปจากการเรียนรู้ในสายอาชีพที่แต่ละคณะ/สาขาวิชา/ที่เราคุ้นเคยอยู่เดิม

                 คำว่า แทร็กการประกอบการชีวิต หมายความเป็น “แทร็ก” หรือช่องทางการเรียนรู้/สำเร็จการศึกษาอีกช่องทางหนึ่ง โดยไม่จำเป็นต้องไปสังกัดกับคณะ/สาขาวิชาใดแบบตายตัวเหมือนเดิม

                 แทร็ก การเรียนรู้ในสายการประกอบการชีวิตของคนแต่ละคน ในมหาวิทยาลัยยุคใหม่ จะตั้งอยู่บน 4 องค์ประกอบที่สำคัญคือ

                 หนึ่ง ทักษะ (หรือ skill) ที่จำเป็นและเป็นประโยชน์สำหรับชีวิตและการประกอบการของนักศึกษาคนนั้น โดยผู้เรียนสามารถเลือกที่จะเรียนในทักษะต่างๆจำนวนหนึ่งเช่น 10 ทักษะ (เช่น กราฟฟิก โปรแกรมเมอร์ บาริสต้า data analytics บัญชี ทำอาหาร ทำผม ออกแบบ ฯลฯ)

                 ซึ่งการเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในคณะใดคณะหนึ่ง หรือแม้กระทั่ง มหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่งอีกต่อไป และ 10 ทักษะที่เลือกมานั้นก็ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกับรุ่นพี่หรือเพื่อนเพื่อนที่เรียนหรือ หรือประกอบการชีวิตที่ใกล้เขียนกัน

                 สอง การประกอบการชีวิต ซึ่งจัดเป็นโครงงานที่สำคัญที่สุดในการวัดผลในระดับมหาวิทยาลัย โดยผู้เรียนจะต้องดำเนินการประกอบการชีวิตนั้นอย่างจริงจังจนสัมฤทธิ์ผลและสามารถดำเนินกิจการต่อเนื่องได้ทันทีหลังจากจบการศึกษา และสามารถสรุปเป็นบทเรียนบทเรียนสำหรับผู้อื่นได้ (รูปแบบการสรุปอาจมีได้หลายวิธีเช่นกัน)

                 สาม วิชาพื้นฐาน ซึ่งมีจำนวนไม่มากนักและไม่ใช่วิชาที่ให้เรียนรู้แบบทั่วไป แต่เป็นวิชาพื้นฐานที่จำเป็นและตรงแปลงมาเป็นเกณฑ์ในการวัดความสำเร็จของการประกอบการชีวิตในข้อข้างต้น

                 เช่น หากเรียนวิชาพื้นฐานทางสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาก็อาจได้เกณฑ์พื้นฐานในการประกอบการที่จะไม่เพิ่มคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือเกณฑ์พื้นฐานที่จะเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สอดคล้องกับการประกอบการนั้น

                 หรือหากเรียนวิชาพื้นฐานเศรษฐศาสตร์สุดท้ายต้องได้เกณฑ์ชี้วัดเศรษฐกิจศาสตร์ว่า การตกลง การตกลงในการประกอบการตามองค์ประกอบที่สองนั้นจะเป็นไปอย่างเป็นธรรมสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

                 กล่าวโดยย่อ ในขณะที่ผู้เรียนเป็นผู้เลือกสำคัญในองค์ประกอบที่หนึ่งและสอง มหาวิทยาลัยและอาจารย์จะเป็นผู้เลือกสำคัญในองค์ประกอบที่สาม เพื่อให้มิติในการวัดผลในองค์ประกอบที่สองมีความสมดุล แล้วจึงนำมิติและเกณฑ์การเรียนรู้เหล่านั้น มาจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนจนเข้าใจ และพร้อมนำความเข้าใจเหล่านั้นไปสู่การวัดผลต่อไป

                 สี่ การแบ่งปัน ก่อนสำเร็จการศึกษาผู้เรียนต้องแสดงความสามารถในการแบ่งปันความรู้ประสบการณ์บทเรียนจากการประกอบการของตนหรือจากทักษะของตนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างน้อย 2 รูปแบบ เช่น การจัดฝึกอบรม การจัดนำเที่ยว การทำเพจหรือกลุ่มในโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

                 ทั้งนี้ การจัดการแบ่งปันบทเรียน/ทักษะ/ความรู้ในองค์ประกอบที่สี่นี้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ สำหรับการเรียนรู้ในองค์ประกอบที่หนึ่ง (ทักษะ) ของผู้เรียนรุ่นใหม่ในรุ่นต่อๆ ไป เมื่อถึงจุดนี้ การเรียนรู้ของคนรุ่นหนึ่งจะถูกส่งต่อไปยังคงรุ่นหนึ่งอย่างเป็นธรรมชาติ (มากขึ้น) ตามการเลือกและการออกแบบของผู้ให้และผู้รับ

                 ขอย้ำว่ามหาวิทยาลัย แทร็กการประกอบการชีวิต ไม่ใช่การเข้ามาแทนที่การจัดการศึกษาในรูปแบบคณะสาขาวิชา แต่เข้ามาเป็นตัวเลือกเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเพิ่มเติมความรู้ของตนในรูปแบบและวิธีทางที่ตรงเป้าหมายของตนมากที่สุด

                 เช่นเดียวกันมหาวิทยาลัยแทร็กการประกอบการชีวิต ยังช่วยยกระดับบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจากการเตรียมคนเพื่อให้องค์กรจ้างงาน (แล้วค่อยไปสร้างงานอีกต่อหนึ่ง) มาสู่บทบาทในการช่วยให้เกิดการ “สร้างงาน” ของผู้เรียนโดยตรง

                 ซึ่งการปรับบทบาทดังกล่าว จะทำให้มหาวิทยาลัยได้องค์ความรู้ที่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้ดีกว่าบทบาทเดิม"

                 อย่างไรก็ตาม ตอนท้าย ดร.เดชรัตน์ บอกไว้ว่า โพสต์นี้เขียนโดยผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการศึกษา และไม่ประสงค์จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ด้วย

 

อาชีพเปลี่ยน !! ถึงเวลา “มหาวิทยาลัย” ต้องเปลี่ยน ??

 

อาชีพเปลี่ยน !! ถึงเวลา “มหาวิทยาลัย” ต้องเปลี่ยน ??

(ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ