คอลัมนิสต์

เสียงสะท้อน ตอนอวสาน 'ลิโด สกาลา' ได้เวลาปิดม่าน!!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชนกลุ่มน้อยผู้ให้โอกาสที่นี่มาตลอดด้วยค่าตั๋ว หรือจะสู้ข้อเท็จจริงที่ว่า “ทั้ง 2 โรงขาดทุนบักโกรก!!”

 

               เมื่อกฎแห่งกาลเวลา คือ ทุกอย่างย่อมเปลี่ยนแปลง และ กฎแห่งธุรกิจ คือ สัญญาต้องเป็นสัญญา !

               โรงภาพยนตร์ที่อยู่คู่นักดูหนังมานานอย่าง ลิโด และ สกาลา ก็มีอันจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสัญญาทางธุรกิจ

               จริงอยู่ที่อาจทำร้ายจิตใจใครอีกหลายคน ที่ต้องเรียกว่าเป็น “กลุ่มคนรักโรงลิโด สกาลา” ด้วยความคลาสสิก ยูนีคไม่เหมือนใคร

เสียงสะท้อน ตอนอวสาน 'ลิโด สกาลา' ได้เวลาปิดม่าน!!

 

เสียงสะท้อน ตอนอวสาน 'ลิโด สกาลา' ได้เวลาปิดม่าน!!

               แต่ชนกลุ่มน้อยผู้ให้โอกาสที่นี่มาตลอดด้วยค่าตั๋ว หรือจะสู้ข้อเท็จจริงที่ว่า “ทั้ง โรงขาดทุนบักโกรก!!”

               จนทั้งเจ้าของพื้นที่ และเจ้าของโรงหนังผู้ขอเช่าพื้นที่ ตกลงกันเรียบร้อยเสร็จสรรพแล้วว่า ไปดีกว่า! จำต้องปล่อยให้ฝ่ายคนดู ฝันเก้อกันต่อไปในฤดูร้อนนี้

 

ฝ่ายคู่สัญญา : ความจริงสำคัญที่สุด

               กว่าที่คนไทยจะเข้าใจถึงความจริงข้อนี้ เจ้าของพื้นที่อย่าง สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็กลายเป็นผู้ร้ายไปโดยปริยาย ด้วยเชื่อกันว่า จะนำพื้นที่คืนเพื่อไปสร้างศูนย์การค้า

               ที่สุดช่วงวันสิ้นปี คืนวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา เจ้าของพื้นที่ดังกล่าว ได้ออกมาชี้แจงผ่านเพจเฟซบุ๊ก CU Property ใน 3 ประเด็นดังนี้

               1.สำนักงานยังไม่มีแผนการรื้อทุบใดๆ ทั้งสิ้น

               ยืนยันว่าเราไม่มีความประสงค์ที่จะขอคืนพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลาแต่อย่างใด เรายังคงอยากให้ผู้เช่าประกอบการในส่วนอาคารสกาลาทั้งหมดต่อไป จนกว่าเวลาเหมาะสม และ “ผู้เช่า” ยืนยันในเจตนาที่จะเลิกประกอบการสกาลาพร้อมๆ ไปกับลิโด (เป็นผู้ประกอบการรายเดียวกัน) เนื่องจากแบกรับการขาดทุนไม่ไหว

               นอกจากนี้ ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ได้มีการเจรจาขอให้สกาลาอยู่ต่อไป แต่ขอให้คืนเฉพาะลิโด เนื่องจากปัจจุบันสภาพพื้นที่ใต้อาคารที่แบ่งล็อกให้เช่า มีสภาพเก่าทรุดโทรม มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย จึงจะขอกลับมาพัฒนาพื้นที่เองเมื่อสัญญาสิ้นสุด

               2.ทางสำนักงานฯ กำลังหารูปแบบการดำเนินการที่เหมาะสมกับสกาลา

               ที่ผ่านมาทางสมาคมสถาปนิกสยามได้แสดงความสนใจที่จะขอใช้พื้นที่สกาลาเป็นพื้นที่แสดงกิจกรรมของสมาคม และยังมีองค์กรอื่นที่สนใจอยากให้อนุรักษ์ไว้เพื่อพัฒนาพื้นที่ส่วนโรงภาพยนตร์ในการจัดกิจกรรมต่างๆ เชิงสร้างสรรค์ และสอดคล้องกับอาคารที่เป็นอยู่

               3.สัญญาเช่าของลิโดเป็นสัญญายอมความที่ผ่อนผันให้ดำเนินธุรกิจ ถึง 31 ธันวาคม 2559 เท่านั้น แต่สำนักงานได้ผ่อนปรนให้อยู่ต่อเนื่องมาตลอดปี 2560

               โดยผู้เช่ามีความประสงค์ที่จะขอคืนพื้นที่ลิโดสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 และขอเวลาขนย้ายถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2561 ซึ่งจะขอยุติการเช่าของสกาลาไปพร้อมกันด้วย

               โดยระหว่างนี้ ผู้เช่าจะขอจัดฉายภาพยนตร์แบบฟิล์มที่รวบรวมจากนานาประเทศ ในเดือนเมษายน 2561 และภาพยนตร์เงียบในเดือนพฤษภาคม 2561 ทางเจ้าของพื้นที่ก็ตกลง โดยให้ขยายระยะเวลาเช่าไปจนสิ้นสุดกิจกรรมดังกล่าว และยังให้การช่วยเหลือ โดยผ่อนปรนค่าเช่าระหว่างนี้้อีกด้วย

 

ฝ่ายคนดู นักท่องฝันในทุ่งลาเวนเดอร์

               จะกล่าวหาว่าคนดูหนัง เอาความสุข โลกสวยของตนเองเป็นที่ตั้ง ก็เกินไป เพราะอย่างไรเสีย พวกเขาคงไม่สามารถทำอะไรได้นอกจาก “พร่ำบ่น” ด้วยเสียดาย

               นั่นเพราะโรงหนังสกาลา ถือว่ามีอายุยาวนานตั้งแต่ปี พ..2505 โดยเป็นโรงหนังแห่งแรกในย่านสยามสแควร์ และเป็นความคลาสสิกร่วมสมัย ที่มีเสน่ห์

               เจ้าของคือ “พิสิฐ ตันสัจจา” ที่ริเริ่มธุรกิจโรงหนังนี้ ทั้ง ลิโด สกาลา และ โรงหนังสยาม ทั้งหมดอยู่ภายใต้ “เครือเอเพ็กซ์”

               บางทีด้วยความที่ผ่านร้อนหนาวมามาก เพราะอย่าง โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ที่เขาปรับปรุงจากโรงละครจนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม แต่ในที่สุดในวันหนึ่งในปี 2532 ที่นั่นก็ถึงคราต้องปิดตัว

               ก็คงเช่นเดียวกันกับ ลิโด สกาลา ที่เมื่อกาลเวลาผ่านจากที่เคยยึดหัวหาด กลับลดบทบาทลงมาเป็น “ทางเลือก” ให้แก่ผู้ชื่นชอบความย้อนยุค คลาสสิก เรโทร !

               อาจเป็นสูทสีเหลืองอ๋อยของพนักงานที่ลิโด หรืออาจเป็นความลุ่มลึกของบรรดาหนังนอกกระแส ยิ่งดูยาก ยิ่งสนุก ! แต่ใครจะสะท้อนถึง "เสน่ห์ของโรงหนังทั้งสองนี้ได้เท่าคนที่เป็นแฟนจริงๆ

               อย่าง อาจารย์อธิป นุวัตติวงศ์ อายุ 34 ปี ประจำภาควิชาโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เล่าว่า เติบโตมาในย่านนี้ ดูหนังที่สกาลามาร่วม 20 ปีแล้ว

เสียงสะท้อน ตอนอวสาน 'ลิโด สกาลา' ได้เวลาปิดม่าน!!

               เกิดมาก็เจอแล้ว ที่นี่เป็นโรงหนังแนวอาร์ต ต่างจากโรงหนังทั่วไป แต่อันนี้จะมีหนังที่อเมริกาหรืออังกฤษส่งมาฉาย และเป็นหนังที่โรงหนังทางธุรกิจไม่รับฉาย (หนังนอกกระแส) เพราะว่ามันไม่ใช่หนังทำเงิน"

               ต้องบอกว่า เสียดาย และเสียดายมาก ไม่มีที่ไหนแล้ว ที่ดินตรงนี้เป็นทองคำ ใครๆ ก็อยากได้ แต่มันอาจจะได้เวลาแล้วก็ได้ หนังอาร์ตก็อาจจะหลีกไปอยู่ในโรงใดโรงหนึ่ง"

               และกับเจ้าหน้าที่สาวแห่งสภากาชาด น้ำมนต์ อุทยมกุล อายุ 34 ปี ก็เป็นอีกคนที่ชื่นชอบโรงหนังสกาลา เรียกว่ามาดูหนังที่นี่ทุกสัปดาห์ ด้วยหลงใหลในบรรยากาศที่ออกแนวย้อนยุค มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม

เสียงสะท้อน ตอนอวสาน 'ลิโด สกาลา' ได้เวลาปิดม่าน!!

               สกาลาเป็นเหมือนซิกเนเจอร์ของย่านนี้ เรามาแล้วได้รับบรรยากาศที่ดีในทุกๆ ครั้ง ถือว่าเรามาผ่อนคลายด้วย เพราะที่นี่จะเงียบไม่วุ่นวาย ทุกคนที่ดูที่นี่เป็นประจำก็คงจะเสียดาย และเข้าใจว่ามันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง”

               ที่นี่ไม่ใช่แค่เป็นโรงหนัง สถาปัตยกรรมของที่นี่ก็สะท้อนว่าสกาลาอยู่มาได้นานขนาดไหน แล้วมันเป็นที่จดจำ สกาลาก็คือสกาลา มีที่เดียว สุดท้ายแล้วมันก็อยู่ในมือของกลุ่มนักลงทุน เราเป็นแค่ประชาชนที่เป็นผู้บริโภค เลือกซื้อ เลือกใช้”

               สุดท้าย แต่คงไม่ท้ายสุด คือ มลทิพย์ แสนคนึง อายุ 36 อาชีพ พนักงานบริษัทเอกชน เธอออกตัวว่านานๆ จะมาดูครั้งหนึ่ง แต่ก็ชื่นชอบที่นี่ เพราะมีความเป็นธรรมชาติของโรงหนังดั้งเดิมจริงๆ

               "เวลาเราไปดูหนังในโรงตามห้าง เรารู้สึกว่าโรงหนังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของห้าง แต่ที่นี่โรงหนังคือโรงหนัง คือตัวเอกของสถานที่ เป็นความเก่าของบรรยากาศโรงหนังจริงๆ”

               แต่ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เป็นธรรมดา โดยส่วนตัวคิดว่าหากมีการปรับปรุงพื้นที่ อยากให้คงความเป็นโรงหนังไว้ คงเอกลักษณ์ไว้ คนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของสกาลาจริงๆ คงใจหาย แต่คนทั่วไปอาจจะไม่รู้สึกกระทบอะไรก็เป็นได้”

               สุดท้ายพื้นที่แห่งนี้จะถูกนำไปใช้ในรูปแบบใดและด้วยวิธีการใด คงเป็นเรื่องของอนาคต...

 

เสียงสะท้อน ตอนอวสาน 'ลิโด สกาลา' ได้เวลาปิดม่าน!!
 

เรื่องโดย นงนุช พุดขาว - อรสา อ่ำบัว คมชัดลึกออนไลน์

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ