คอลัมนิสต์

“ระยะเวลา” ผวจ. สั่งผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตำแหน่ง..สำคัญไฉน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผู้ว่าฯ สั่งผู้ใหญ่บ้านที่มีพฤติกรรมไม่สุจริตในการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อล่วงพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดไปแล้ว จะถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

        โดย นายปกครอง

        การเลือกผู้ใหญ่บ้านต้องเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

         หากการเลือกผู้ใหญ่บ้านไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้พ้นจากตำแหน่งโดยเร็วภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่นายอำเภอมีคำสั่งแต่งตั้ง ตามมาตรา ๑๓ วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) .. ๒๕๕๑

          แต่การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดออกคำสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านที่มีพฤติกรรมไม่สุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่ง เมื่อล่วงพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดไปแล้ว จะถือว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? และระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด “เก้าสิบวัน” นั้นมีความสำคัญอย่างไร?

            วันนี้ “นายปกครอง” นำคดีปกครองในเรื่องดังกล่าวมาให้ผู้อ่านได้ศึกษา ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์กับทั้งผู้ประสงค์ที่จะสมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นแนวทางในการใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป

           มูลเหตุของคดีนี้ คือ นายเก่ง (นามสมมุติ) ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่มีการร้องคัดค้านว่า “การเลือกผู้ใหญ่บ้านไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เพราะมีการย้ายบุคคลเข้าทะเบียนบ้าน เพื่อหวังผลการเลือกผู้ใหญ่บ้าน

           นายอำเภอจึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏว่ามีการแจ้งย้ายบุคคลเข้าในทะเบียนบ้านโดยบุคคลที่แจ้งย้ายเข้า มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกับนายเก่ง และไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านเลขที่ที่แจ้งย้ายเข้าจริง จึงเป็นการกระทำที่มีจุดประสงค์เพื่อหวังผลการเลือกผู้ใหญ่บ้าน ทำให้การเลือกผู้ใหญ่บ้านไม่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม

           หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับรายงานจากนายอำเภอ ก็ได้มีคำสั่งให้นายเก่งพ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

            โดยเป็นการออกคำสั่งเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาเก้าสิบวันตามที่กฎหมายกำหนด

           แต่นายเก่ง เห็นว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดให้พ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงยื่นอุทธรณ์และปลัดกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งยกอุทธรณ์ และนายเก่ง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งที่ให้พ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน

          คดีนี้นอกจากศาลปกครองสูงสุดจะได้วินิจฉัยความสำคัญของระยะเวลาการออกคำสั่งตามที่กฎหมายกำหนด ศาลปกครองสูงสุดยังได้วินิจฉัยว่าการเลือกผู้ใหญ่บ้านเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่?

          โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า มีการแจ้งย้ายบุคคลเข้าในทะเบียนบ้านโดยมิได้อาศัยอยู่จริงและเป็นการย้ายเพื่อหวังผลการเลือกผู้ใหญ่บ้าน อีกทั้งมีน้ำหนักเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้ฟ้องคดี (นายเก่ง) เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นการย้ายบุคคลที่ไม่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ประจำในหมู่บ้านซึ่งไม่มีสิทธิเลือกผู้ใหญ่บ้าน โดยมีเจตนาหวังผลการเลือกผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งส่งผลให้การเลือกผู้ใหญ่บ้านไม่สุจริตและเที่ยงธรรมตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) .. ๒๕๕๑

           ส่วนการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมิได้ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านภายในเก้าสิบวันตามที่กฎหมายกำหนดจะมีผลทำให้เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

           ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยประเด็นนี้ว่า กฎหมายไม่ได้มีบัญญัติผลในทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นตามมาในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้มีคำสั่งภายในกำหนดระยะเวลาและวัตถุประสงค์ในการตราพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้การเลือกผู้ใหญ่บ้านเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

         ดังนั้น ระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้ผู้ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมพ้นจากตำแหน่งภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่นายอำเภอแต่งตั้งตามมาตรา ๑๓ วรรคห้าแห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) .. ๒๕๕๑ จึงเป็นเพียงระยะเวลาที่กฎหมายมีเจตนาที่จะให้มีผลเป็นการเร่งรัดปฏิบัติราชการเท่านั้น

          คำสั่งให้ผู้ฟ้องคดี (นายเก่ง) พ้นจากตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๑๕๓/๒๕๖๐)

         จากคำพิพากษาดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้อธิบายถึงความสำคัญของเจตนารมณ์กฎหมายที่มุ่งประสงค์จะคุ้มครองให้การเลือกผู้ใหญ่บ้านเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อให้การเลือกผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้แทนของรัฐได้บุคคลที่ดี มีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริตเป็นหลักเพื่อให้การบริหารราชการ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง หากผู้สมัครเข้ารับการเลือกผู้ใหญ่บ้านมีการดำเนินการที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการบริหารราชการแผ่นดิน
         ดังนั้น ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นเพียง กรอบเวลาที่เร่งรัด ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจด้วยความรวดเร็วหากข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่ามีการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ